TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnology‘ย่านนวัตกรรม’ ปั้นยาก แต่คุ้มค่าความสำเร็จ

‘ย่านนวัตกรรม’ ปั้นยาก แต่คุ้มค่าความสำเร็จ

หลายองค์กรในไทยให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา โดยนวัตกรรมส่วนใหญ่เป็นการสร้างมาใช้ในองค์กรภายในเป็นหลัก และมีบางส่วนเป็นการสร้างนวัตกรรมเพื่อบริการลูกค้า แต่ยังไม่เห็นการต่อยอดนวัตกรรมสู่ภาพรวมของการใช้งานในสังคมวงกว้างมากนัก หน่วยงานภาครัฐจึงร่วมกันผลักดันให้มีการสร้างนวัตกรรมในระดับพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะการปั้น ย่านนวัตกรรม หรือ Innovation District จากการสร้างจุดเชื่อมความร่วมมือของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวกับ The Story Thailand ว่า จากวันแรกที่มีการสร้างความร่วมมือเพื่อทำย่านนวัตกรรมนั้น มีความยากและความท้าทาย 3 เรื่องหลัก คือ เรื่องแรก จะทำอย่างไรให้ภาคีในทุกภาคส่วนเข้าร่วม ทั้งภาคสังคม ภาคเอกชน มีมุมมองเรื่องย่านนวัตกรรมในมุมเดียวกับที่ NIA มองว่าจะทำอย่างไรให้คำว่า ‘นวัตกรรม’ ขายได้ ซึ่งความท้าทายนี้พบในช่วงแรกที่เริ่มทำย่านนวัตกรรม 

สำหรับตอนนี้เริ่มลดน้อยลงแล้วเนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าใจและให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น และสิ่งที่เราเห็นว่าแนวคิดเรื่องย่านนวัตกรรมประสบความสำเร็จในแง่ความร่วมมือคือ ผู้ประกอบการหรือหน่วยงานในหลายพื้นที่ร่วมกันคิดและต้องการให้พื้นที่ของตัวเองถูกจัดเป็นย่านนวัตกรรม 

ส่วนความท้าทายเรื่องที่ 2 คือ จะทำอย่างไรให้ในแวดวงการทำวิจัยมีความเข้าใจว่าพื้นที่ของย่านนวัตกรรมไม่ใช่แค่พื้นที่ของการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ควรมีพื้นที่ให้นวัตกรได้ทำงานทรานฟอร์มที่เปลี่ยนจากงานวิจัยสู่นวัตกรรม ซึ่งความท้าทายนี้ยากกว่าการสร้างความเข้าใจเรื่องย่านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการและสังคม เนื่องจากภาพของงานวิจัยนวัตกรรมยังคงอยู่ในกรอบคิดเรื่องงานวิจัยและห้องทดลองเรื่องวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนนี้ต้องค่อย ๆ สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น

ขณะที่ความท้าทายเรื่องสุดท้าย คือ การดึงดูดงบประมาณเพื่อการลงทุน ตัวอย่างของย่านนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จในแง่ของการได้งบประมาณมาต่อยอดในการพัฒนาคือ ย่านนวัตกรรมโยธีที่ทำให้ภาครัฐได้เข้าใจว่าไม่ใช่การทำนวัตกรรมเชิงเดี่ยว แต่เป็นเรื่องของการสร้างนวัตกรรมบนพื้นที่ที่มีผลกระทบโดยตรง รวมถึงได้เห็นผลประโยชน์ทางการเงินที่ได้รับกลับมาสำหรับกลุ่มที่ลงแรงในการทำย่านนวัตกรรม เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดีที่นำแนวคิดเรื่องนวัตกรรมไปต่อยอดของบประมาณเพื่อสร้างศูนย์การแพทย์ในย่านนวัตกรรมโยธีเพื่อให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของย่านนวัตกรรมที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ได้ ซึ่งการลงทุนเกิดขึ้นทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน 

8 ย่านสร้างนวัตกรรมเชื่อมโยงสังคม

ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า ปัจจุบันมีย่านนวัตกรรม 8 แห่ง โดยแบ่งเป็นพื้นที่ในกรุงเทพฯ 4 แห่ง คือ ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Yothi Medical Innovation District: YMID), ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค (Bangkok Cybertech District), ย่านนวัตกรรมอารีย์ (ARI Innovation District ) และย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท (Kluaynamthai Innovative Industries District: KIID)

ส่วนอีก 4 แห่ง เป็นย่านนวัตกรรมในระดับภูมิภาค ได้แก่ ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (Suandok Medical Innovation District: SMID), ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ (Maejo Agriculture Innovation District Development: MAID), ย่านนวัตกรรมบ้านฉาง จังหวัดระยอง และย่านนวัตกรรมขอนแก่น (ศรีจันทร์-กังศดาน) ซึ่งแต่ละแห่งมีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ต่างกัน 

ทั้งนี้ หลายพื้นที่ย่านนวัตกรรมมีการดึงดูดให้มีการลงทุนหลายหมื่นล้านบาทจากภาคเอกชนที่มองเห็นความสำคัญของการสร้างนวัตกรรมในพื้นที่เพื่อให้ชุมชนได้เข้าใช้งานอย่างสาธารณะ โดยมองว่าในปี 2566 ไม่มีการขยายย่านนวัตกรรมเพิ่ม แต่จะเป็นการพัฒนาย่านนวัตกรรมที่มีอยู่ให้ตอบโจทย์ในแต่ละความต้องการของพื้นที่มากยิ่งขึ้น และมีการเติมเต็มพื้นที่นวัตกรรมในบางพื้นที่ เช่น หาดใหญ่ ที่มีการพูดคุยกันในพื้นที่แต่ยังไม่มีแผนผังของย่านนวัตกรรมที่ชัดเจน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับองค์กรขนาดใหญ่มีการทำเรื่องนวัตกรรมมานานแล้ว ดังนั้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดจึงเป็นช่วงของการตักตวง ส่วนที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และสตาร์ตอัพที่มีเงินทุนไม่มากที่ไม่สามารถปรับตัวตามเทรนด์ได้ทัน ซึ่งการมีย่านนวัตกรรมจึงเป็นการนำองค์กรขนาดใหญ่มาพบกับรายย่อยในการช่วยกันพัฒนานวัตกรรมที่ไม่ใช่ตอบโจทย์ด้านผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องรวมไปถึงด้านสังคมด้วย ซึ่งย่านนวัตกรรมเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ทุกคนเข้าใช้ได้ 

ส่วนเรื่องของการขาดแคลนนวัตกรนั้น เป็นสิ่งที่ขาดแคลนเหมือนกันทั่วโลก ซึ่งนวัตกรที่สามารถสร้างนวัตกรรมที่เป็น Global level transformation ที่มีผลต่อคนในสังคมเชิงโครงสร้างในวงกว้างยังไม่มีนวัตกรไทยในกลุ่มนี้ 

มองไทยมุมใหม่ ‘ประเทศแห่งนวัตกรรม’

ผู้อำนวยการ NIA กล่าวต่อว่า อยากให้ต่างชาติมองไทยในอีกมุม มุมที่ไม่ใช่ประเทศที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวสวยงามเท่านั้น ด้วยบริษัทสัญชาติไทยมีความเก่งในเรื่องการสร้างนวัตกรรม มองว่านวัตกรรมที่มาจากองค์กรเอกชนรายใหญ่ของไทยทำได้ดีส่วนนี้ได้คะแนนที่ดีมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ซึ่งมีองค์กรใหญ่เข้ามาพัฒนานวัตกรรม แต่ไม่ได้มีองค์กรสัญชาติสิงคโปร์ที่สร้างนวัตกรรมเหมือนองค์กรสัญชาติไทย 

ทั้งนี้ยังมีส่วนที่ต้องทำมากขึ้นและยังได้คะแนนน้อยอยู่คือกลุ่มสตาร์ตอัพและนวัตกรรมทางสังคม ยังไม่มีการสร้างนวัตกรรมออกมาอย่างเป็นรูปธรรมที่มีผลต่อสังคมเท่าที่ควร ยังคงติดภาพในรูปแบบของการบริจาคเงิน อย่างไรก็ตามรัฐบาลพยายามทำเรื่องดิจิทัลให้เป็นนวัตกรรมมากขึ้น พยายามสร้างความเข้าใจเรื่องนวัตกรรมทางสังคม ซึ่งการทำย่านนวัตกรรมถือเป็นส่วนสำคัญในการใช้นวัตกรรมทางสังคมที่ชัดเจนขึ้น อาทิ การสร้าง Innovation Thailand Branding ให้ภาพจำที่ต่างชาติมองเข้ามาแล้วนึกถึงบริษัทสัญชาติไทยที่สร้างนวัตกรรม

ทั้งนี้ความท้าทายหลักมาจากภาครัฐ ในภาคเอกชนไม่น่าห่วง เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ พร้อมที่พัฒนาและเข้าใจเรื่องการสร้างนวัตกรรม ซึ่งในเชิงนโยบายมีการผลักดันให้ไทยติดอันดับ 30 ของโลก เพื่อให้ทั้งคนไทยและต่างชาติมองเข้ามาแล้วรับรู้ได้ว่าไทยเป็นประเทศชั้นนำที่สร้างนวัตกรรมและนำออกไปสู่ระดับโลก ไม่ใช่ประเทศผู้ใช้นวัตกรรม แต่ปัจจุบันภาพลักษณ์ประเทศไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น ส่วนหนึ่งในนโยบายหลักจะต้องระบุคำว่านวัตกรรมเข้าไปเป็นแกนหลักของภาครัฐและจะต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ซึ่งความท้าทายอยู่ที่ความต่อเนื่องของการพัฒนาเช่นกัน

4 กลยุทธ์หลัก NIA กับการก้าวไปสู่ประเทศนวัตกรรม

ผู้อำนวยการ NIA กล่าวต่อว่า NIA มีแผนงานส่งเสริมนวัตกรรมภายใต้กรอบการดำเนินงานระยะ 5 ปี พ.ศ.2566 – 2570 โดยแบ่งเป็น 4 กลยุทธ์ ได้แก่

– การพัฒนาระบบนวัตกรรมไทยเป็นระบบที่เปิดกว้าง

– การพลิกโฉมระบบการเงินนวัตกรรมไทย

– การสร้างระบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม

– การยกระดับ NIA ให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูงที่พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม การทำทั้ง 4 กลยุทธ์ดังกล่าวพร้อมกันสามารถทำได้ แต่การพัฒนาของแต่ละกลยุทธ์จะต้องใช้เวลาต่างกัน กล่าวคือ การพัฒนาระบบนวัตกรรมไทยเป็นระบบที่เปิดกว้าง หรือ Open system นั้น ซึ่งภารกิจของ NIA คือ เป็นผู้เชื่อมโยงความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและระดับเวทีสากล เป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรและการสนับสนุนอย่างทั่วถึง เพื่อเพิ่มจำนวนธุรกิจนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อประเทศ 

โดยในระดับประเทศ NIA ได้เริ่มทำมาหลายปีแล้วก่อนหน้านี้ จึงทำให้การทำย่านนวัตกรรมในปัจจุบันมีความชัดเจนมากขึ้น มีการส่งเสริมการทำกิจกรรมในโหมดต่าง ๆ ที่สำคัญเพื่อเป็นศูนย์กลางรอบกรุงเทพฯ ได้ ซึ่งสิ่งที่ NIA ต้องทำต่อเนื่องคือการสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมที่เข้มแข็งขึ้น มีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์กับพื้นที่ต่อไป 

ทั้งนี้การพัฒนาระบบนวัตกรรมไทยเป็นระบบที่เปิดกว้างเพื่อพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่ให้เกิดขึ้น เช่น ย่านนวัตกรรมที่อยู่ในกรุงทพฯ และในหัวเมืองหลักที่ต่างชาติรู้จักอย่างเช่น เชียงใหม่ จะเป็นย่านนวัตกรรมที่เชื่อมต่อกับระดับโลกได้ ต้องผลักดันให้กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ติดอยู่ใน 100 อันดับแรกจาก 200 อันดับของย่านนวัตกรรมโลก อย่างไรก็ตาม เมื่อต่างชาติคิดถึงย่านนวัตกรรมในประเทศไทยจะต้องคิดถึง 2-3 แห่ง

สำหรับการพลิกโฉมระบบการเงินนวัตกรรมไทย ผ่านการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดระบบการเงินนวัตกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม สนับสนุนการเติบโต และเข้าถึงได้ ช่วยให้ธุรกิจนวัตกรรมสามารถเติบโตและมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจนั้น ในส่วนนี้ NIA มีการทำเรื่องนี้มานานมากซึ่งในการพัฒนาต่อจากนี้จะเป็นเรื่องการทำความร่วมมือกับธนาคารให้มากขึ้นเพื่อช่วยกันหาเครื่องมือใหม่ ๆ ในการอุดรูรั่วของระบบการเงินที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงการขยายตัวของสตาร์ตอัพ 

ส่วนการสร้างระบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและเชิงระบบด้วยการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์เครือข่ายข้อมูลนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจบนหลักฐานเชิงประจักษ์ของนักนโยบายและผู้ประกอบการในการสร้างและพัฒนานวัตกรรม โดยตอนนี้สิ่งที่ต้องเริ่มทำคือเร่งจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบและมีคุณภาพเพื่อให้สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ 

ขณะที่การยกระดับ NIA ให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูงที่พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับผู้นำขององค์กรเช่นกันว่าสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ และต้องมีความคล่องตัวในการทำงานแต่ยังคงอยู่ภายใต้กฎระเบียบต่างเพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ด้วย เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการปรับเปลี่ยนสู่องค์กรดิจิทัล ปรับใช้มาตรฐานการบริหารจัดการ และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ