TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessFINNOMENA ตั้งเป้าสร้างนักลงทุน 1 ล้านคน

FINNOMENA ตั้งเป้าสร้างนักลงทุน 1 ล้านคน

วิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็วในหลาย ๆ อุตสาหกรรม เช่นเดียวกับการเงินการลงทุนที่กลายเป็นกระแสหลักในทันที ขณะที่สถาบันการเงินหลัก ๆ หรือหลักทรัพย์ต่าง ๆ หันมาทำคอนเทนต์ออนไลน์ให้ความรู้ผ่านแพลตฟอร์มของตัวเองมากขึ้น ด้าน FINNOMENA (ฟินโนมีนา) แพลตฟอร์มบริหารเงินลงทุน มีภารกิจปลดล็อกศักยภาพการลงทุนในวงกว้างด้วยการให้ความรู้และมุมมองด้านการลงทุน รวมถึงเตือนให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญและเริ่มต้นลงทุน

ขณะที่ในต่างประเทศเกิดดิสรัปชันด้านการเงินได้ประมาณ 5 ปีแล้ว และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2020 จะได้ยินคำว่าฟินเทค (FinTech) เยอะมาก และเกิดบริษัทฟินเทคขึ้นมากมายทั่วโลก ทั้งในด้านระบบการจ่ายเงิน คริปโตเคอร์เรนซี รวมถึง Peer-2-Peer Lending

-Jitta นำเทคโนโลยี “ตัวช่วย” การลงทุนแบบชั่วชีวิต
-“การลงทุน” ช่วยทั้ง “คนไทย” และ “ช่วยชาติ”

เจษฎา สุขทิศ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟินโนมีนา กล่าวกับ The Story Thailand ว่า คลื่นลูกต่อไปของอุตสาหกรรมการเงินที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือ Tech Fin หรือการที่บริษัทเทคโนโลยีที่เข้ามาทำธุรกิจด้านการเงิน อย่างกรณีของ Ant Financial บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จากจีน กระโดดเข้ามาในโลกของการเงิน มาทำด้านการปล่อยกู้ การบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) รวมถึงประกัน โดยมีแกนหลักเป็นระบบการชำระเงิน (Payment) เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง และทำ 4 อย่าง หรือแทบทุกฟังก์ชันของระบบการเงิน

อย่างในประเทศไทยมี LINE BK ที่มาทำระบบธนาคาร และ LINE Pay ที่สามารถใช้จ่ายค่าสติกเกอร์หรือค่าบริการต่าง ๆ ได้มากมาย หรือ CP ที่มีบริษัท Ascend ที่พัฒนา TrueMoney Wallet เชื่อมต่อกับเซเว่นอีเลฟเว่น และอีกหลาย ๆ บริการ

บริษัทเหล่านี้ก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นความท้าทายของประเทศ บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ส่วนมากมาจากต่างประเทศ ขณะที่อุตสาหกรรมทางการเงินสูงถึง 20-30% ของ GDP ประเทศไทย

“เมื่อ Tech Fin เหล่านี้เข้ามาในธุรกิจการเงิน มันเป็นภัยคุกคามโดยรวมกับอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นเหตุให้เรารวมตัวกันก่อตั้ง ‘สมาคมฟินเทคประเทศไทย’ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถตระหนักในเรื่องนี้และแข่งขันได้กับกระแสที่กำลังไหลเข้ามาในประเทศไทย”

เจษฎา กล่าวต่อว่า ในประเทศไทยจะเห็นว่าธนาคารปรับตัวได้ค่อนข้างเร็วและค่อนข้างแข็งแรง อย่าง “กสิกรไทย” ที่ออกแอปพลิเคชันใหม่ ๆ “ไทยพาณิชย์” ทำเรื่องคริปโตเคอร์เรนซีและบล็อกเชน “กรุงศรี” ออกเป็นธนาคารดิจิทัล ส่วน “กรุงไทย” ทำเป๋าตัง ทำโครงการอย่าง เราเที่ยวด้วยกัน หรือ คนละครึ่ง ทำให้เกิดการใช้งานในวงกว้าง รวมถึง วอลเล็ต สบม. ที่เข้ามาช่วยให้คนซื้อพันธบัตรรัฐบาลเริ่มต้นแค่บาทเดียว

ส่วนสตาร์ตอัพในประเทศ “เจษฎา” มองว่ายังไม่ได้แข็งแรงมาก บริษัทที่มีแนวโน้มดีมีอยู่ประมาณ 10 บริษัท

“หลังจากนี้เราอาจจะได้เห็นการร่วมมือกันระหว่างธนาคารกับสตาร์ตอัพมากขึ้น เชื่อว่าใน 4-5 ปีนี้ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสด เราจะไม่ต้องมีเงินในกระเป๋าอีกต่อไป”

อีคอมเมิร์ซ ช่วยสร้างความคุ้นชิน

เจษฎา เชื่อว่า สาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุนมีจุดเริ่มต้นมาจากการจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ของคนไทย

“เวลาผมไปเดินห้าง จะชอบไปดูสาขาธนาคารและถ่ายรูปเก็บเอาไว้ จะเห็นว่าคนน้อยลงไปเรื่อย ๆ และเพื่อนที่ทำงานอยู่ในธนาคารก็บอกว่า 95% ของการใช้งานทำผ่านโทรศัพท์กันแล้ว”

เจษฎา กล่าวต่อว่า ย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้ว ในแวดวงการลงทุน คนส่วนมากคงจะไม่กล้าผูกบัญชีอัตโนมัติผ่านออนไลน์ เพราะกังวลว่าจะถูกแฮก กลัวว่าจะสูญเงินจากการทำธุรกรรมออนไลน์ แต่เมื่อคนจับจ่ายใช้สอยผ่านออนไลน์จนคุ้นชิน ผ่านอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ การผูกบัญชีกับฝั่งเงินลงทุนจึงทำได้ง่ายขึ้นและเกิดการยอมรับ (Mass Adoption)

ปีที่ผ่านมาธุรกิจ Wealth Management ถือว่าไปได้ดีมาก และในปีนี้คนก็ยังสนใจเรื่องการลงทุนมากขึ้น

“ตอนนี้ปัจจัยมันมาทุกด้าน ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานที่สามารถเปิดบัญชีออนไลน์ได้ ความคุ้นชินจากการใช้อีคอมเมิร์ซของคน และกระแสที่คนรู้สึกว่าจะต้องมีความรู้ในด้านการเงินเพื่อเป็นอาชีพเสริมหรือเป็นรายได้แหล่งที่ 2 ทำให้เกิดดิสรัปชันเร็วมาก และเมื่อปัจจัยพร้อม สิ่งที่ต้องเกิดมันจะเกิดขึ้นทันที”

ให้ความรู้ด้านการเงินผ่านกูรู

ฟินโนมีนา ก่อตั้งบริษัทโดยมีความเชื่อว่ามูลค่าที่นักลงทุนอยากได้ คือ คำแนะนำการลงทุนที่มีคุณภาพ และเข้ามาตอบโจทย์นักลงทุนว่าเขาจะลงทุนเพื่ออะไร

เจษฎา กล่าวว่า การมีความสุขทางการเงิน ของแต่ละคนไม่เท่ากัน กับบางคนอาจจะไม่ได้หมายความว่าต้องมีเงินมากมาย แต่แค่สามารถส่งลูกเรียนได้ มีเงินรักษาเมื่อป่วย แก่ตัวไปแล้วไม่ลำบาก

ผลสำรวจที่ฟินโนมีนาได้ร่วมมือกับพันธมิตรทำเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ระบุว่าอีก 15-20 ปีข้างหน้า (ถ้านับปีปัจจุบันคือ 10-15 ปีข้างหน้า) จะมีคนเกษียณ 20 ล้านคน และ 15 ล้านคนของผู้เกษียณจะไม่มีอันจะกิน เกษียณแบบลำบาก ปัจจุบันจะเห็นคนสูงวัยเริ่มไปทำงานในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งอนาคตก็จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มากมายจนไม่มีงานให้ทำ

ด้านผลสำรวจของนิด้าโพล ก็ออกมาว่าคนแก่จะมีแต่หนี้ และฟินโนมีนาได้ทำสำรวจลึกลงไปว่า คนที่กำลังจะเป็นสังคมสูงวัยในประเทศไทย 15-20 ปีข้างหน้า คือ คนที่อยู่ในวัยทำงาน 33 ล้านคน มักจะบอกว่า “แค่เงินจะเก็บกินยังไม่พอใช้เลย จะไปคิดอะไรเรื่องการลงทุน” แต่สถิติกลับระบุว่า 20 ล้านคนในกลุ่มนี้ซื้อหวย

5 ปีที่แล้วประเทศไทยมีนักลงทุนในกองทุนแค่ 1 ล้านคน จาก 33 ล้านคนที่มีรายได้ ถ้าคนไทยเริ่มลงทุนแบบไม่ยาก จะสามารถช่วยคนได้เป็นล้านคน

“ผมเชื่อว่าคนไม่ได้ไม่มีเงินลงทุน แต่ไม่มีความรู้ด้านการลงทุน ซึ่งถ้าคนกลุ่มนี้นำเงินที่ไปซื้อหวยเปลี่ยนมาเป็นนำไปลงทุนแบบที่ไม่ต้องเสี่ยงมาก จะมี 10 ล้านคนจะพึ่งพาตัวเองได้”

เจษฎา กล่าวต่อว่า ฟินโนมีนา จึงก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 5 ปีที่แล้วเพื่อเข้ามาปลดล็อกทางการเงินของคนในยุคนี้ ผ่านเว็บไซต์ www.finnomena.com มีคอนเทนต์ด้านการลงทุนที่มีคุณภาพ บริษัทตั้งใจสร้างความรู้ในเรื่องการเงินการลงทุน และเพิ่มทักษะด้านการลงทุนไปเรื่อย ๆ เป็นการให้ข้อมูลที่ลึกขึ้น แน่นขึ้น เพื่อให้นักลงทุนเก่งมากขึ้น ปัจจุบันมีการเข้าถึงคอนเทนต์มากถึง 35 ล้านครั้งต่อเดือน

ทุก ๆ สถาบันการเงินการลงทุนในตลาดจำเป็นจะต้องมี Branded Content เป็นของตัวเอง คนที่ทำคอนเทนต์ให้มีมูลค่ากับผู้คนมากที่สุดก็จะได้เปรียบในตลาด และต่อให้โควิด-19 หมดไปก็จะเกิดภาพนี้ต่อเนื่องไปในระยะยาว

“คอนเทนต์ทั้งหมดของเรามาจากกูรูเกือบ 100 ชีวิต เป็นคอนเทนต์ที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์กับนักลงทุน”

เป้าหมายในระยะยาวของฟินโนมีนา คือ จะทำให้เกิด Financial Wellness กับคนไทยในวงกว้าง ซึ่งปี 2020 ที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงของนักลงทุน คือ นักลงทุนเข้ามาบริโภคคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มฟินโนมีนา จากนั้นก็ตัดสินใจลงทุนเอง ซึ่งได้ผลตอบแทนดีมาก บางรายได้ผลตอบแทน 20-30% ในช่วงวิกฤติโควิด-19

เป้าหมายบริษัท นักลงทุน 1 ล้านคน

ปี 2020 ฟินโนมีนามีจำนวนนักลงทุนเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว ปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 2 หมื่นกว่าคน ด้านเงินลงทุนโตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ปัจจุบันอยู่ที่ 16,000 ล้านบาท

โมเดลธุรกิจของงฟินโนมีนาเป็นแบบ B2B2C คือ สำหรับคนจำนวนมากเป็น B2C แต่ฟินโนมีนาไปทำสัญญากับกองทุนทั่วประเทศ ประมาณ 20 แห่ง และเงินทุกบาทที่ลงทุนผ่านฟินโนมีนา บริษัทจะได้รับส่วนแบ่งจากการจัดการสินทรัพย์ หรือ บลจ.

“ธุรกิจของฟินโนมีนาถ้ามองในมุมของลูกค้า คือได้เข้ามารับข้อมูลความรู้โดยต้องจ่ายค่าบริการใด ๆ เลย แต่เราลงทุนซื้อข้อมูลมาปีนึงใช้เงินหลักล้านบาท และนำมาย่อยให้ง่าย เรามีโมเดลพอร์ตการลงทุน 21 โมเดล สามารถลงทุนในกองทุนรวมได้ทุกที่ในประเทศไทย”

เจษฎา กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมาฟินโนมีนาระดมทุนไปแล้ว 3 รอบ รอบแรกเป็น 500 Startups กับ dtac accelerate รอบที่ 2 รอบ ซีรีส์เอ เป็นกรุงศรีฟินโนเวต และบ้านเบญจรงกุล ภายใต้กลุ่ม เบญจจินดา ส่วนซีรีส์บี เพิ่งประกาศไปเมื่อต้นปี 2020 มีทุนของต่างชาติเข้ามา อย่าง Openspace Ventures จากสิงคโปร์ และ Gobi Partners จากประเทศจีน รวมถึงกลุ่มธนาคารออมสิน ระดมทุนรวมกันไปแล้วมากถึง 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“เรายังวางแผนขยายทีมงาน ปัจจุบันมีเกือบ 200 คน ครึ่งหนึ่งเป็นทีมงานด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามในปีนี้หรือปีหน้าคาดว่าจะเริ่มกำไรได้”

ปัจจุบันฟินโนมีนามีนักลงทุน 2 หมื่นกว่าคน เป้าหมายแรกคือ มีนักลงทุนเข้ามาใช้แพลตฟอร์ม 1 ล้านคน ซึ่งวัตถุประสงค์ของบริษัทคือการที่ทำให้ชีวิตคนดีขึ้นผ่านการปลดล็อกความสามารถในการลงทุน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทำทุกวัน

“ตัวผมเองพูดเสมอว่า ผมโชคดีผมเจอสิ่งที่ตัวเองชอบตอนอายุ 16-17 ปี พอเริ่มทำงานก็ทำงานด้านเดียว ซึ่งเมื่อเราชอบก็จะทำได้เรื่อย ๆ พอทำไปเรื่อย ๆ มันจะเกิดเป็นความเชี่ยวชาญ และถ้าเราโชคดีสิ่งเหล่านี้มันก็จะมีประโยชน์กับคนจำนวนมาก และเป็นธุรกิจที่ดี”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ