TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainability“Green Finance” จุดเปลี่ยนสถาบันการเงิน ดันเศรษฐกิจโตยั่งยืน

“Green Finance” จุดเปลี่ยนสถาบันการเงิน ดันเศรษฐกิจโตยั่งยืน

ประเด็นผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเริ่มเห็นผลชัดเจนมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้หลายองค์กรธุรกิจต่างให้ความสำคัญกับสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และในเวทีนานาชาติต่างออกกฎเกณฑ์ร่วมกันเพื่อสร้างแรงจูงใจผลักดันธุรกิจด้วยรูปแบบของ Green Finance

ล่าสุด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาธุรกิจ “Chula Masterverse 2022: Meeting Business Masters in the Metaverse Era” ที่รวมเอาวิทยากร และกูรูระดับ Master จากหลากหลายสาขาในโลกธุรกิจยุคใหม่ โดยในช่วงที่ 3 ของงานมีการพูดในหัวข้อ A sustainable future with green finance อนาคตที่ยั่งยืนด้วยการเงินแบบกรีน มีใจความสำคัญดังต่อไปนี้

ตาม Transition Vice ให้ทัน

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกคนรู้กันดีว่าผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างไรบ้าง ในปีที่ผ่านมาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมถูกจัดให้เป็นความเสี่ยง 1 ใน 5 อันดับแรกของโลกที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ และหากมองในส่วนของประเทศไทย Global climate change risks index 2021 ได้จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศ ที่มีความเปราะบางทางด้านเศรษฐกิจจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจประเทศไทยได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมคือ ทางตรงเป็นผลจากภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย ภัยแล้ง แต่สิ่งที่ต้องระวังคือผลกระทบทางอ้อมที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัวคือนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่นานาประเทศได้ออกกฎเกณฑ์มาที่เรียกว่า Transition Vice ซึ่งที่เห็นชัด คือ มาตรการของสหภาพยุโรป Carbon Border Adjustment Mechanism เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีในธุรกิจส่งออก ถ้าประเทศหรือผู้ที่ส่งออกสินค้าไม่ได้ใส่ใจในเรื่องภาวะสิ่งแวดล้อมจะถูกเรียกเก็บภาษีสูงขึ้น ซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้ชัดเจนของผลกระทบทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งมองว่าผลกระทบทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมหลักทั้ง 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างในภาคเกษตรที่ต้องพบกับภัยธรรมชาติทุกปี ส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหารและที่อยู่อาศัย ซึ่งต้องหาโอกาสที่จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีในการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มีขีดความสามารถในการหลุดพ้นจากวงเวียนที่เรียกว่า High risks long return

ทำไมบริษัทต้องทำ ESG

โดยหากมองกลับมาที่บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นภาคการเงินจะมีวิธีช่วยภาคธุรกิจอย่างไร ให้มีการปรับเปลี่ยนจากวิกฤตเป็นโอกาสให้ได้นั้น ต้องยอมรับว่า สถาบันการเงินเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ให้มีการเข้าถึงบริการทางการเงินจะตอบโจทย์ระยะยาวและการส่งเสริมให้ธุรกิจได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงประโยชน์ในระยะยาวมากกว่าระยะสั้นจะเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในเรื่องของการใช้ภาพการเงินเป็นตัวเชื่อมให้เกิดการขับเคลื่อน

สำหรับมุมมองของการลงทุนต้องยอมเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่เคยมองผลประโยชน์เพียงระยะสั้น ต้องมองการลงทุนระยะยาวมากขึ้น ในตลาดการเงินปัจจุบันมุ่งเน้นที่จะพูดถึงเรื่องของการใส่ใจสิ่งแวดล้อม หรือ Environment Society Economy/Governance (ESG) ให้มากขึ้น ยิ่งบริษัทที่มีเป้าหมายเรื่อง Net Zero investing มีโอกาสสูงที่จะหาการระดมทุน นักลงทุนระยะยาวได้ง่ายกว่า ที่สำคัญคือทำให้ช่วยลดต้นทุนการลงทุนลงได้

เพราะฉะนั้น บริษัทจึงพยายามหาแนวทางพัฒนาเรื่อง ESG ให้มากขึ้น ซึ่งหลายประเทศมีมาตรการจูงใจที่เกี่ยวกับ Green Finance อย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องการเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม หรืออัตราส่วนในการให้สินเชื่อคุณค่าหลักประกัน หรือที่เรียกว่า Loan to Value (LTV) ในอัตราพิเศษสำหรับผู้ที่ใช้สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย รถยนต์ เป็นต้น

นอกจากเรื่องสถาบันการเงินที่ให้แรงจูงใจแล้ว การออก Green Bond ทั่วโลกมีการเติบโตที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปมีรูปแบบของการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่หลากหลายขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น Sustainability linked bond เป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับเป้าหมายโดยรวมของสิ่งแวดล้อมและสังคมของผู้ออกพันธบัตร

โดยผู้ออกพันธบัตรต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีการพัฒนาธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ซึ่งจะได้รับการลดดอกเบี้ยของตราสารหนี้นั้น แต่ถ้าทำไม่สำเร็จตามเป้าหมายจำเป็นที่จะต้องยอมเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้กับนักลงทุน เป็นต้น โดยเป็นเหตุและผลที่สร้างความเชื่อมโยงเรื่องแรงจูงใจให้กับภาคธุรกิจในการออกพันธบัตรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ธนาคารมีส่วนสำคัญในการจัดสรรเงินทุนต่างๆ ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและ Climate Change ในการตัดสินใจและดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Green Finance มากขึ้นในดอกเบี้ยที่เหมาะสมและสนับสนุนเทคโนโลยีของกลุ่ม Green Business

อย่างไรก็ตาม นานาชาติสร้างแรงจูงใจอย่างเดียวคงไม่พอ ภาคธุรกิจจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาองค์กรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อประโยชน์ต่อนักลงทุนในการตัดสินใจว่า ภาคธุรกิจนั้น ๆ ได้ทำการส่งเสริมในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากน้อยอย่างไร ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลมีหลายรูปแบบ ทั้งในส่วนขององค์กรอิสระระหว่างประเทศที่กำหนดมาตรฐานของ Global Reporting initiative ว่าเนื้อหามาตรฐานของการรายงานควรเป็นอย่างไร หรือการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ได้รับคำแนะนำจาก TCFD

5 แนวทางดันธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยมีพันธกิจชัดเจนมาโดยตลอดที่ต้องการเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องตอบโจทย์ในระยะยาวให้ภาคธุรกิจต้องอยู่รอด ประชาชนต้องอยู่รอด เพราะฉะนั้นคำตอบของ ESG ในฐานะผู้กำกับดูแลคือต้องผลักดันให้ภาคการเงินมีการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมมือกับสถาบันการเงินในหลายรูปแบบ โดยในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีการจัดทำ Concerntive paper ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Financials landscape ที่จะมีการรวมเรื่องของ Green Finance เข้าไปด้วย เป็นการผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

1. Green Texonomy การผลักดันให้เกิดการจำแนกกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ชัดเจน กลุ่มใดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและกลุ่มใดไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการจัดสรรเงินทุนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ธุรกิจที่อยู่ระหว่างการปรับตัวสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทของไทย

2. Disclosure การเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงินเพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรเพื่อสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่จะช่วยให้นักลงทุนและสถาบันการเงินสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ในการตัดสินใจได้ดีขึ้น

3. Internalization of Evironmental Risks การส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมให้จริงจังมากขึ้น เป็นระบบมากขึ้น มีการออกแบบสินค้าที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัว ลดการทำธุรกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นการตอบโจทย์ธุรกิจอย่างยั่งยืน

4. Incentives การหามาตรการที่จูงใจเหมาะสม โดยมีกลไกที่จะลดภาระหรือต้นทุนให้กับสถาบันการเงินและภาคธุรกิจซึ่งจะช่วยเร่งการปรับตัวและเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจกลุ่ม SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นและเป็นธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

5. Capacity building การสร้างฐานความรู้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพของบุคลากรในสถาบันการเงินให้เข้าใจและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อที่จะช่วยเหลือภาคธุรกิจให้มีประสิทธิผลมากขึ้น

ที่สำคัญคือต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรมภาคการเงินและภาคประชาชนในการร่วมกันรณรงค์ให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและมีเป้าหมายเดียวกัน

KBank Do good-Do well-Do more

ธนาคารกสิกรไทย เป็นสถาบันการเงินที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจมและการเลือกสร้างเป้าหมายที่จะเป็น Bank of sustainability คือ ภารกิจสำคัญที่ทั้งองค์กรจะต้องร่วมมือกัน โดยขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในมุมของกสิกรไทยเชื่อมั่นว่า ‘การได้ทำ’ กับ ‘ทำได้ดี’ ไม่เหมือนกันเพราะฉะนั้นในความตั้งใจของกสิกรไทยที่ทำคือ การใช้มาตรฐานของโลกมาประเมินสิ่งที่ทำอยู่ว่า ‘ทำได้ดีพอหรือยัง’

ทั้งนี้ หากถามว่า Climate Change กระทบต่อการทำงานอย่างไร และกสิกรไทยมีการทำอะไรไปแล้วบ้างนั้น ต้องบอกว่ากสิกรไทยเริ่มจากทำในองค์กรเองก่อน ซึ่งในมุมนโยบายการตั้งเป้าเป็น Net Zero Bank in Our Own คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในปี 2050 และอีกมุมหนึ่งธนาคารเป็นผู้ให้สินเชื่อ เป็นผู้ให้เงินลงทุนและเป็นนักลงทุนก็ควรเลือกลงทุนในบริษัทหรือองค์กรที่มีการพัฒนาไปสู่ Net Zero Carbon ด้วยเหมือนกัน ส่วนในมุมของ Structure ธนาคารดูแลลูกค้าจำนวนมาก การทำในส่วนของ Sustainable Development Governance มีการติดตามและสรุปผล เพื่อให้การทำงานออกมามีประสิทธิภาพ

ส่วนเรื่องกลยุทธ์มุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน Bank of sustainability โดยใช้ ESG เป็นหลักในการกำหนดแนวทางต่าง ๆ มีการตั้งเป้า การติดตาม มีการวัดผล และมีการวางแผน เมื่อปักธงไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าจะสนับสนุนลูกค้าในทุกพื้นที่ธนาคารเข้าถึง ส่วนเรื่อง Action ได้ออกตราสารหนี้มูลค่ารวมที่ 60,000 ล้านบาท เป็นส่วนของ Green loans อยู่ที่ 19,000 ล้านบาท

ดังนั้น ธนาคารมี Road Map ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป้าหมายการขยายสินเชื่อของกสิกรไทยจะมุ่งเน้น เรื่องของ Net Zero Carbon สนับสนุนธุรกิจกลุ่ม Green และพยายามหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ รวมถึงนวัตกรรมที่จะทำให้เป้าหมายเป็นจริง

โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน แน่นอนว่าธนาคารทำในสิ่งที่ดีกับสังคม Do good แต่สิ่งที่ควรทำไปพร้อมกันคือจะต้องมีส่วนของ Do well ต้องตอบโจทย์ผู้ถือหุ้น นักลงทุนได้ด้วย และต้อง Do more คือ องค์กรต้องทำเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นจากเดิม มีการปล่อยสินเชื่อ ลงทุนในกลุ่ม Green มากขึ้น และต้องลงมือทำกันทุกคน ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ทั้งภาครัฐ นักลงทุน ผู้บริโภคซึ่งเป็นกลุ่มที่สำคัญมาก หากกลุ่มนี้ตระหนักรู้และซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อุดหนุนบริษัทที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจะเป็นการขับเคลื่อนตามแบบของกลไกตลาด มีอุปสงค์และอุปทาน ภาคธุรกิจก็จะเปลี่ยนไปตามอัตโนมัติของพฤติกรรมผู้บริโภค

Sustainability เป็นกระบวนการที่ไม่มีวันจบสิ้นต้องมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ และใช้เวลา ดังนั้นเราต้องร่วมมือกันเพื่อจะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้มากขึ้นเมื่อ Do good ก็ต้อง Do well ไปด้วยกันถ้าทุกคนทำไปด้วยกันได้เราก็จะ Do more ไปด้วยกันได้มากขึ้น” ขัตติยา กล่าว

Krungsri ESG & Sustainable Finance Aspiration

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เริ่มให้ความสำคัญกับ ESG ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เส้นทางการทำธุรกิจที่มองเรื่อง Green Finance เป็นหัวใจหลักที่ช่วยให้เกิด Sustainability linked finance โดยประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ธนาคารมีเป้าหมายที่จะผลักดัน ESG ด้วยความต้องการที่จะทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและต่อสังคมภายใต้ความยั่งยืน ซึ่งวิสัยทัศน์องค์กรเน้นไปในเรื่อง Sustainability ซึ่งธนาคารพยายามทำให้พนักงานตระหนักรู้ในเรื่องเหล่านี้

ทั้งนี้ มีการตั้งเป้าในส่วนของ Cabon Neutrality ต้องการให้เป็น Net Zero Carbon ในปี 2030 ในแง่ของธนาคารและส่วนของ Financial service ต้องการทำในเรื่องเดียวกันให้สำเร็จภายในปี 2050 ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกันทำไม่ใช่แค่ในส่วนของ ภาคธุรกิจการเงินแต่รวมไปถึงทุกคนที่ต้องทำให้มากขึ้น

ธนาคารได้เริ่มทำ ESG ตั้งแต่ปี 2018 มีการตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 5% ให้ได้ภายในปี 2020 ซึ่งธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ทำงานร่วมกับภาครัฐที่บริหารจัดการเรื่องก๊าซเรือนกระจก ทำให้ในปี 2020 สามารถทำได้ตามเป้าหมาย และต่อมาในปี 2020 ได้ตั้งเป้าหมายของ Sustainable Finance มากขึ้น มีการทำ Green Finance โดยธนาคารมี Sustainability project ที่ต้องการจะทำทั้งหมด 17 ข้อ ของ UN ESG

Sustainability Linked Finance คือ การระดมทุนของบริษัทโดยมีการตั้ง KPI ตั้งแต่เริ่มต้นให้ธุรกิจนั้นจะต้องช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เช่น การวางเป้าหมายว่าจะต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงไปเท่าไร ในระยะเวลาเท่าไร เพราะฉะนั้นเงินที่ระดมทุนได้มาจะนำไปใช้อะไรก็ได้ในองค์กร องค์กรของแต่ละองค์กรนั้นจะต้องทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เรื่องสิ่งแวดล้อมให้ได้ ซึ่งหากทำได้ จะมีการลดดอกเบี้ยให้ หรือหากทำไม่ได้ตาม KPI ที่ตกลงกันไว้ต้องมีการปรับดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ ESG ขับเคลื่อนไปได้กว้างขึ้นในหลายธุรกิจ ซึ่งมีทั้ง Sustainability linked bond และ Sustainability linked loan ซึ่งในหลายประเทศมีการทำลักษณะนี้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ส่วนประเทศไทยทำได้ดีหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์  มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น

ส่วนประเด็นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลนั้น เชื่อว่าทุกบริษัทมีการวางแผนดำเนินงานและทำตามแผน ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งที่ทุกคนเข้าใจและรับรู้ว่ามีข้อดีอยู่คือ เมื่อได้ทำงานกับนักลงทุนต่างชาติ คำถามที่ท้าทายคือการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้เพียงพอหรือไม่

“การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในเรื่อง ESG Financing อย่างจริงจังมีการสร้างระบบดำเนินการที่พร้อมรับมือกับมาตรการต่างๆของทั่วโลกในการผลักดันให้ธุรกิจใส่ใจสิ่งแวดล้อมหากเราไม่เริ่มทำตอนนี้ในอนาคตอาจจะกลายเป็นเครื่องมือที่กีดกันทางการค้าในการทำธุรกิจกับต่างประเทศก็เป็นได้” ประกอบ กล่าว

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

6 แนวโน้มใหม่ขับเคลื่อน NEVER Normal ออราเคิลดันเทคโนโลยีพลิกคืนความปกติ

“Green Finance” จุดเปลี่ยนสถาบันการเงิน ดันเศรษฐกิจโตยั่งยืน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ