TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewSystem Stone ชู 2 กลยุทธ์ รุกต่างประเทศ-ร่วมมือบริษัทใหญ่ วางแผน Exit ใน 2 ปี

System Stone ชู 2 กลยุทธ์ รุกต่างประเทศ-ร่วมมือบริษัทใหญ่ วางแผน Exit ใน 2 ปี

Smart factory เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม ยุค 4.0 ซึ่งมีหลากหลายโซลูชันให้เลือกใช้ ปัจจุบันโรงงานทั่วโลก 60-70% เริ่มนำซอฟต์แวร์เข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ขณะที่โรงงานส่วนใหญ่เริ่มศึกษาด้าน IoT แต่โรงงานที่ตัดสินใจใช้และเริ่มใช้ยังมีไม่ถึง 30% ถึงแม้ว่าราคาจะเริ่มต่ำลงมาแล้ว

ด้าน โรโบติกส์ กับ ออโตเมชัน ก็ยังมีโรงงานจำนวนน้อยที่นำไปใช้ เป็นธุรกิจเฉพาะ ส่วน AI นั้นมีคนสนใจมากแต่โรงงานส่วนมากก็ยังไม่รู้ว่าจะนำ AI มาทำอะไรกับภาคอุตสาหกรรม เพราะยังมีอยู่กรณีศึกษาน้อยมาก จะมีกลุ่มปิโตรเคมีที่ได้ประโยชน์จากการใช้ AI เพราะจะต้องมีการคำนวณอยู่ตลอดเวลา จึงสามารถนำ AI มาใช้ในฟังก์ชันเฉพาะบางอย่าง

แต่ที่น่าสนใจคือในกลุ่ม Smart factory ทั้งหมดในโลกนี้ เอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่โตเร็วที่สุดและมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 60% เพราะฐานการผลิตส่วนใหญ่โตอยู่ในแถบนี้ โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซีย

-Ricult สตาร์ตอัพหัวใจเกษตร ตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรม
-แนวโน้มอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานปี 2564

สิทธิกร นวลรอด ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง System Stone กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เทคโนโลยีที่จะถูกนำมาใช้ในปี 64-65 นั้น IoT เป็น 1 ในเทคโนโลยีที่คนไทยหันมาพัฒนาโซลูชันกันมาก ทั้งรูปแบบบริษัทหรือเป็นคนรับจ้างติดตั้ง ปัจจุบันมีประมาณ 100 กว่าราย ส่วนหนึ่งเพราะปัจจุบัน IoT มีราคาถูก ขณะที่โรงงานก็เริ่มทดลองใช้ IoT กันมากขึ้น มีโครงการนำร่อง (Pilot project) มากขึ้น

แต่ปัญหาของ IoT เป็นเรื่องของการสเกลระบบ เพราะจะต้องดีไซน์ระบบค่อนข้างมาก และติดตั้งค่อนข้างยาก ทำให้เป็นข้อจำกัดว่าผู้ให้บริการอาจจะไม่เพียงพอสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในประเทศ เพราะ 1 โครงการจะต้องใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างนาน ขณะที่ในประเทศไทยมีเป็นแสนโรงงาน

สิทธิกร เชื่อว่า เร็ว ๆ นี้จะเห็นกลุ่มที่จะเข้ามาสเกลด้าน IoT ซึ่งไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีเล็ก ๆ แต่จะเป็นผู้ผลิตดั้งเดิมที่เริ่มผันตัวเองมาออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาสนับสนุน IoT และเชื่อว่าอีกไม่นานบริษัทเหล่านี้จะออกแพลตฟอร์ม IoT เป็นของตัวเอง ซึ่งกลุ่มนี้จะได้เปรียบตรงที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้วจำนวนมาก รวมถึงระบบอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของเครื่องจักร หรือระบบการทำงานต่าง ๆ (Programmable Logic Controller หรือ PLC) ที่ใช้นั้นเป็นอินเตอร์เฟซที่เข้าไปเก็บข้อมูลอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ระบบนี้ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและอัปโหลดข้อมูลไปไว้บนคลาวด์ได้ ซึ่งบริษัทเหล่านี้จึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ให้ PLC เชื่อมต่อกับระบบ IoT ได้ ก็จะช่วยเข้ามาเร่งตลาดของ IoT ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

ร่วมมือบริษัทใหญ่ขยายฐานลูกค้า

ด้านกลยุทธ์ในปี 64 นี้ System Stone ผู้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ซ่อมบำรุง “Factorium CMMS” มีแผนที่จะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ เป็นฟันเฟืองอยู่ในโปรเจกต์ใหญ่ ของบริษัทใหญ่ ๆ เหล่านี้

“บริษัทเหล่านี้อาจจะมีจุดด้อยในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ต้นทุนสูง เราสามารถนำเสนอความเชี่ยวชาญของเราด้านการพัฒนาระบบ และให้เขาเลือกเราเข้าไปทำบางส่วนที่เขาไม่ถนัด ซึ่งน่าจะตอบโจทย์มากกว่าการที่จะไปแข่งกับรายใหญ่โดยตรง”

สิทธิกร กล่าวต่อว่า ผลิตภัณฑ์หลักของ System Stone ยังเป็นระบบซ่อมบำรุง ที่ชื่อ Factorium CMMS นอกจากนั้นก็จะมีโมดูลย่อย ๆ อีกหลายตัว ปี 64 นี้จะมีแพลตฟอร์มใหม่ที่เรียกว่า Digital Twin เป็นระบบใหญ่ที่เข้ามาบูรณาการ IoT ทั้งเรื่องของ Machine link, 3D Visual เป็นไฟนอลคอนเซ็ปต์ เป็นโรงงานดิจิทัลที่สามารถเรียกข้อมูลขึ้นมาดูได้หมดเลย ซึ่งโครงการนี้ System Stone ได้ร่วมพัฒนากับบริษัทระดับโลก ส่วน Vibro ฮาร์ดแวร์ที่เคยพัฒนาเข้ามาใช้กับการคาดการณ์ซ่อมบำรุง (Predictive maintenance) แต่ในปีนี้จะเบรคไว้ก่อน และไปทำงานร่วมกับ Murata

“ในตลาดมีคนทำฮาร์ดแวร์ค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าเราจะมีความรู้ด้านนี้ แต่เราไม่ได้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เราจึงคิดว่าเราจะโฟกัสที่ซอฟต์แวร์ และเข้าไปเอาฮาร์ดแวร์มาจาก Murata และเราพัฒนาซอฟต์แวร์ใส่เข้าไปแทน ข้อดีคือเราได้ลดต้นทุนในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ อีกส่วนคือเราได้พาร์ทเนอร์ระดับภูมิภาคเป็นบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่น และก็จะสามารถที่จะผูกการตลาดเข้าไปได้ด้วย”

“ส่วนตัวมองว่ากลยุทธ์แบบนี้มันดีมาก ซึ่งความยากคือการเข้าไปรู้จักบริษัทเหล่านี้ แล้วทำให้เขาเชื่อในศักยภาพของเรา ซึ่งเราจะต้องทำให้เขาเห็นก่อนว่าเรามีความเชี่ยวชาญ และมีความสามารถเฉพาะอย่างที่บริษัทเหล่านี้ไม่ต้องการพัฒนาขึ้นมาเอง”

สิทธิกร กล่าวต่อว่า ข้อดีอีกส่วนคือบริษัทไม่ต้องมีความเสี่ยงเรื่องของต้นทุน และไม่ต้องพัฒนาหลายอย่าง ทำให้สามารถเข้าตลาดได้ไว เพราะ System Stone เป็นสตาร์ตอัพ ไม่ใช่บริษัทที่มีสายป่านที่สามารถทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) ได้ใน 4-5 ปีและค่อยไปขาย ซึ่งการที่ได้พาร์ทเนอร์ใหญ่ ๆ ก็เป็นโอกาสที่จะได้ออกสู่ตลาดใหม่ ๆ ได้ เพราะบริษัทเหล่านี้มีลูกค้าอยู่ทั่วโลก ซึ่งถ้าไปด้วยกันได้ก็จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับบริษัทใหญ่ ๆ ได้

ปรับโครงสร้างบริษัทสู่ระดับโลก

สิทธิกร กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา System Stone มีแผนจะระดมทุนโดยมีเป้าหมายที่จะไปเปิดตลาดต่างประเทศ แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 เข้ามาจึงชะลอไแผนไว้ก่อน และหันกลับมาโฟกัสในประเทศ ซึ่งปี 63 ที่ผ่านมาถือว่าบรรลุเป้าหมายได้พอสมควร ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นไปตาม KPI ที่ตั้งไว้ แต่ก็สามารถสร้างรายได้ 16 ล้านบาท สูงขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 62 ด้านยอดผู้ใช้ก็โตขึ้นมาเช่นกันจากกลยุทธ์ Freemium ส่งผลให้สิ้นปีที่ผ่านมามีผู้ใช้อยู่ 3,000 โรงงาน ที่สำคัญก็คือปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถทำกำไรได้แล้ว

“ซอฟท์แวร์ซ่อมบำรุงของเราก็ถือว่าเติบโตอย่างมั่นคงแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่หวือหวาแต่ก็เลี้ยงตัวเองได้”

สิทธิกร เตรียมนำแผนขยายธุรกิจปีที่แล้ว กลับมาทำใหม่ในปีนี้ โดยตลาดในประเทศวางแผนจะเติบโตโดยการเพิ่มยอดขายในประเทศให้ได้ 30 ล้านบาท และเพิ่มจำนวนโรงงานที่ใช้เป็น 10,000 โรงงาน

ส่วนเป้าใหญ่เป็นการปรับโครงสร้างบริษัทให้เป็นระดับภูมิภาคให้ได้ โดยมีแผนการระดมทุนและสร้างทีมที่จะดูแลตลาดต่างประเทศขึ้นมาใหม่

ในเฟสแรก System Stone วางแผนจะรุกตลาด เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพราะเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ขณะที่ สิทธิกร วางโครงสร้างแพลตฟอร์มไว้ 4 ภาษาแล้ว ทั้ง ไทย ญี่ปุ่น เวียดนาม อังกฤษ เรียบร้อยแล้ว โดยงบระดมทุนตั้งไว้ที่ประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 90 ล้านบาท เพื่อรองรับกิจกรรมการตลาดและการขยายโครงสร้างที่ผู้บริหารคนใหม่จะเข้ามาทำ

“เราได้เล็งทีมบริหารที่เป็นคนต่างชาติไว้หลายคน เพื่อมาวางโครงสร้างและทำการตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง เพราะภาพลักษณ์บริษัทระดับทวีปหรือระดับโลก มันต่างกับบริษัทระดับประเทศมาก”

ส่วนอีกด้านหนึ่ง สิทธิกร จะโฟกัสด้านการทำงานร่วมกับบริษัทใหญ่ ๆ เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ร่วมกัน เช่น Mitshbishi ,Omron , Murata และ Shell

และจากแผนงานทั้งหมดนั้น สิทธิกร มองว่าจะสามารถนำบริษัทสู่การ Exit ได้ ซึ่งมองไว้ 2 รูปแบบคือ การเข้า IPO หรือถูกซื้อ

“การ IPO จะต้องเตรียมอะไรเยอะมาก แต่การถูกบริษัทใหญ่ ๆ บริษัทหนึ่งเข้ามาซื้อ เราสามารถทำให้บริษัทเหล่านี้เห็นได้ว่าเรามีโซลูชันที่ต่อยอดได้ สเกลได้ ส่วนตัวมองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการ Exit ของสตาร์ตอัพเช่นกัน ทั้งนี้เราก็มองว่าถ้าใน 2 ปีนี้ยังไม่ถูกซื้อ เราก็อาจจะพิจารณาเข้า IPO แทน”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ