TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupKATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 เหลาคมแนวคิด "ธุรกิจสตาร์ทอัพ" จากต้นตำรับ Silicon Valley

KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 เหลาคมแนวคิด “ธุรกิจสตาร์ทอัพ” จากต้นตำรับ Silicon Valley

ปิดโครงการปีที่ 3 ของ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมี “Project EV” สตาร์ทอัพที่มีรูปแบบธุรกิจที่ชัดเจน สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรม เป็นผู้ชนะการประกวดแนวคิดและแผนธุรกิจ

Project EV คือ สตาร์ทอัพที่มีแนวคิดและรูปแบบธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมในปัจจุบัน รวมถึงตอบโจทย์พันธกิจ Net Zero ขององค์กรธุรกิจ ด้วยบริการการดัดแปลงรถกระบะสันดาปเป็นรถอีวีสำหรับ Fleet เชิงพาณิชย์ และเป็น 1 ใน 8 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบการนำเสนอแนวคิดและแผนธุรกิจต่อคณะกรรมการตัดสินในวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC) กล่าวว่า โครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 จากธนาคารกสิกรไทยเป็นโครงการที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มุ่งเน้นการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน จากผู้มีความรู้ที่ประสบความสำเร็จในระดับสากลให้กับสตาร์ทอัพในประเทศไทย เพื่อให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งจากฐานรากอย่างยั่งยืน และครอบคลุมความต้องการของภาคธุรกิจ

KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 เป็นหลักสูตรที่ช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้สามารถนำความรู้ ทักษะต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจและสามารถต่อยอดให้ประสบความสำเร็จได้จริง พร้อมถ่ายทอดมุมมองจากคณะกรรมการถึงศักยภาพสตาร์ทอัพไทย และแนวคิดของผู้บริหารธนาคารจากโครงการที่ต้องการสร้าง Startup Ecosystem ที่ยั่งยืนให้กับสตาร์ทอัพไทย

ธนพงษ์ ณ ระนอง

โครงการนี้เน้นการให้ความรู้เชิงวิชาการเพื่อให้สตาร์ทอัพได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ พยายามเน้นเรื่องการให้ความรู้ ประสบการณ์ และการสร้างชุดความคิดที่ถูกต้อง 

“ทำมา 3 ปี ผลตอบรับดีมาก ปีแรกคนสมัครเข้ามา เรียนจบเพียงครึ่งเดียว เพราะเป็นปีแรกที่ทำ สตาร์ทอัพยังไม่เข้าใจว่าโครงการนี้ไม่ได้เน้นการสร้างเครือข่ายและการทำพีอาร์ แต่เน้นการสร้างความรู้  ผลการตอบรับโครงการในปีนี้ดีขึ้นมาก ๆ เพราะอยากได้คนที่ตั้งใจเรียนจริง ๆ ปีที่สองดีขึ้นจบ 70% จากจำนวนที่สมัครเข้ามา ส่วนปีนี้จบ 90%” ธนพงษ์ กล่าว

ปีนี้ภาพรวมดีขึ้น ทีมที่มาคุณภาพสูงขึ้นมาก และเป็นผลงานที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางในการพัฒนา ไม่ใช่แอปง่าย ๆ มีทั้ง Deeptech  และความยั่งยืน หรือที่เรียกว่า ESG

“ปีนี้โปรดักแน่น เห็นภาพชัด ยังมีบางรายไม่ชัดเรื่องคู่แข่ง ยังขาดทำการบ้านเรื่องตลาดไปนิด แต่โดยรวมแล้วแฮปปี้ โดยส่วนตัวประทับใจหลายทีม โดยเฉพาะทีมที่ชนะที่หนึ่ง เป็นตลาดที่ตอบโจทย์คอร์ปอเรท อย่างธนาคารกสิกรไทยเองก็มีแผนจะไป Net Zero งานของทีม Project EV น่าจะตอบโจทย์องค์กรหลายองค์กรที่มี Pain Point เรื่องนี้ได้ดี และโปรดักดูง่าย ตอบโจทย์ได้ดี” ธนพงษ์ กล่าว 

สตาร์ทอัพที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมเริ่มได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นทั่วโลก ในขณะที่ประเทศไทยมี CVC มาก ซึ่งคอร์ปอเรทแม่ส่วนใหญ่ก็จะมียุทธศาสตร์เรื่อง ESG อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าสตาร์ทอัพสามารถคิดโซลูชันที่จะมาตอบโจทย์ด้านนี้ได้ ก็จะได้รับความสนใจมากขึ้น

ในต่างประเทศเริ่มมีการตั้ง ESG Fund กองทุนที่เน้นสตาร์ทอัพที่สร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับความยั่งยืนมากขึ้นเช่นกัน สตาร์ทอัพที่ใส่เนื้อหารายละเอียดของ ESG น่าจะได้รับความสนใจในการลงทุนมากขึ้น ในขณะที่ตัว G คือธรรมาภิบาลนั้นควรเป็นหนึ่งในหัวใจของสตาร์ทอัพทั่วไปอยู่แล้ว เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะสร้างให้สตาร์ทอัพเติบโตยั่งยืน สตาร์ทอัพที่ดีควรเน้นให้ความสำคัญเรื่องธรรมาภิบาลด้วย ซึ่งในอนาคตทาง Beacon VC ก็กำลังจะจัดตั้งกองทุนเกี่ยวกับ ESG รวมถึง มองหาสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้อยู่เหมือนกัน

“สตาร์ทอัพนั้นเน้นเรื่องการใช้นวัตกรรม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก สตาร์ทอัพจึงมักจะพัฒนาการทำงานเป็นช่วง ๆ ช่วงละ 1-2 ปี  ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพจึงระดมทุนครั้งหนึ่ง ๆ ให้ได้ประมาณ 2 ปี แต่ปัจจุบันสตาร์ทอัพควรจะต้องมีรันเวย์ยาวขึ้น ให้อยู่ได้อย่างน้อย 3 ปี เพราะปัจจุบันหาการลงทุนยากขึ้น ตัว VC เองตั้งแต่เจอ Recession และ Inflation ทำให้ VC เองก็ระดมเงินทุนจากนักลงทุนได้ยาก สตาร์ทอัพจะต้องลดค่าใช้จ่ายลงให้มากขึ้น จากเดิมอาจทุ่มงบกับการทำการตลาด ให้หันมาเน้นการสร้างโปรดักให้ดี หารายได้เข้าบริษัทมากกว่าเน้นการทำประชาสัมพันธ์เพื่อหาผู้ใช้งาน นักลงทุนจะระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น” ธนพงษ์ กล่าว

ธนพงษ์ ​กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า โครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 หวังสร้างพื้นฐานความรู้ให้สตาร์ทอัพและระบบนิเวศโดยรวม หวังว่าทีมเหล่านี้จะเติบโตมาเป็นทรัพยากรให้กับระบบนิเวศสตาร์ทอัพในประเทศไทยได้ และเมื่อเขาเติบโตขึ้นแล้วอาจจะสามารถมาต่อยอดร่วมมือกับ Beacon VC ได้ในภายหลัง 

Project EV สตาร์ทอัพผู้ให้บริการ EV Conversion 

ปริวรรต วงษ์สำราญ กล่าวว่า หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่สอนการเป็นสตาร์ทอัพที่ดี เมื่อมีเทคโนโลยีอยู่แล้วและมีแนวคิดเบื้องต้น พอได้เข้าหลักสูตรนี้เขามีกระบวนการที่ทำให้ไอเดียคมชัดมากขึ้น พิสูจน์สมมติฐานทั้งเรื่องลูกค้า เทคโนโลยี และราคา ทำให้พัฒนารูปแบบธุรกิจออกมาและมานำเสนอในเวที Pitching 

แนวคิดที่มาของโครงการ Project EV เกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปภายในขนาดใหญ่ของโลก แต่เมื่อตลาดเปลี่ยนไปสู่อีวี ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการในซัพพลายเชนอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์สันดาปภายใน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมรถอีวีในอนาคต ที่มหาวิทยาลัยบูรพามีการพัฒนาเทคโนโลยี EV Conversion หรือการเปลี่ยนรถสันดาปภายในไปเป็นรถอีวีขึ้นมา ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีหลายคนทำอยู่แล้วแต่ที่ผ่านมาจะเป็นรถยนต์ทั่วไปและติดเรื่องการจดทะเบียนรถ แต่แนวคิดที่พัฒนานี้จะเน้นตลาด Fleet และเป็นการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดตามกฎหมายเรื่อง EV conversion (อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง) เพื่อให้รถที่ดัดแปลงมาสามารถจดทะเบียนรถได้ 

เทคโนโลยีนี้สามารถช่วยยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดิมไปต่อได้กับอุตสาหกรรมรถอีวี นอกจากนี้ปัจจุบันมีอู่ซ่อมรถที่จดทะเบียนทั่วประเทศราว 20,000 อู่ หากไม่อัปเกรดองค์ความรู้เรื่องรถอีวี ในอนาคตจะไปต่อไม่ได้ 

Project EV จะทำการดัดแปลงรถยนต์สันดาปภายในเป็นรถอีวี จากนั้นจะให้ความรู้ในการทำการดัดแปลงให้กับผู้ประกอบการอู่ต่าง ๆ เทคโนโลยีการดัดแปลงรถยนต์สันดาปเป็นรถอีวี เป็นของมหาวิทยาลัยบูรพาที่เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าไปเรียนรู้และนำมาต่อยอดเชิงธุรกิจได้ ทำให้ช่วงการเปลี่ยนผ่านจะสามารถสร้างอุตสาหกรรมใหม่ได้ให้กับประเทศไทย 

“เราโฟกัสรถปิกอัพที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป เป็น Fleet เชิงพาณิชย์ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคัน ทำให้สามารถสร้างตลาดใหม่ที่มีขนาด 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐขึ้นมาได้ รถอายุ 7 ปีขึ้นไปเป็นรถที่เหมาะสมที่จะทำการดัดแปลงเป็นรถอีวี” ปริวรรต กล่าว

ปริวรรต วงษ์สำราญ

ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีนี้ทำรถดัดแปลงต้นแบบเสร็จแล้วและกำลังดำเนินการเพื่อทำ Proof of Concept (PoC)

ปัจจุบันมีความต้องการใช้งานแต่ติดปัญหาเรื่องต้นทุนรถกระบะอีวีสำหรับงานขนส่งที่ต้องการรถจำนวนมากในราคาที่เหมาะสม และใช้ต้นทุนทั้งเวลาและเงินในการซ่อมบำรุงไม่สูงจนเกินไป ทำให้เกิดช่องว่างในตลาด จึงพัฒนาโครงการ Project EV ขึ้นมา เพื่อจะสร้างองค์ความรู้การดัดแปลงรถกระบะสันดาปเป็นรถกระบะอีวีสำหรับการขนส่ง

ซึ่งความต้องการรถกระบะอีวีสำหรับใช้งานขนส่งเชิงพาณิชย์นั้นมีหลากหลายปัจจัยทั้งลักษณะการบรรทุก และระยะทางการวิ่ง ที่มีความต้องการกำลังของรถที่แตกต่างกัน ดังนั้น จะต้องใช้เวลาราว 1 ปีหลังจากนี้เพื่อทำ PoC ก่อนที่จะผลิตเชิงพาณิชย์จริง 

รถกระบะในระบบ Fleet เชิงพาณิชย์ ทั้งตลาดมีมากกว่า 10,000 คัน ซึ่งต้องการเปลี่ยนเป็นรถขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าด้วยพันธกิจในการเป็น Net Zero ภายในระยะเวลาอันจำกัด ทำให้เกิดความต้องการใช้งานรถกระบะขนส่งเชิงพาณิชย์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งราคารถกระบะพลังงานไฟฟ้าราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1.2 ล้านบาท และกำลังการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ในขณะที่บริษัทขนส่งเหล่านี้มีรถกระบะอยู่ในระบบอยู่แล้วจำนวนมาก และต้นทุนการดัดแปลงตกคันละประมาณ 600,000 บาท ระยะเวลาในการดัดแปลงราว 5 -7 วัน ต่อคัน 

ทั้งนี้ รูปแบบการดัดแปลงที่ตอบโจทย์การใช้งานของกระบะขนส่งเชิงพาณิชย์ อัตราความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็เพียงพอ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาสามารถดัดแปลงให้วิ่งได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อหนึ่งการชาร์จ และสามารถรับน้ำหนักการขนส่งได้ถึง 3 ตัน ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะดัดแปลงออกมาเป็น 2 รุ่นสำหรับ 2 แบรนด์หลักของรถกระบะที่มีอยู่ในตลาด โดยมีความหลากหลายของรุ่นทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ไม่โดดลงมาเล่นในตลาดดัดแปลง แต่หันไปเน้นการผลิตรถใหม่มากกว่า 

ปริวรรต กล่าวว่า KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 เป็นหลักสูตรที่ดี ทำให้ได้สร้างแนวคิด และพิสูจน์ไอเดียว่าสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้จริงหรือไม่ จนทำให้เป็นแผนธุรกิจออกมาได้ สิ่งที่ประทับใจจากหลักสูตรนี้ คือ เนื้อหาเหมาะสม ช่วยแนะนำให้สามารถไปหาข้อมูลมาประกอบร่างแผนธุรกิจได้ Feedback จาก Mentor ช่วยทำให้ได้มุมมอง เพราะการทำ EV Conversion เองไม่ใช่สิ่งใหม่ การได้รับ Feedback จาก Mentor ทำให้เห็นภาพชัดเจน ช่วยให้สามารถสร้างแผนธุรกิจที่ชัดเจนจากแนวคิดธุรกิจได้ รวมถึงทีมงานของ KATALYST ที่ช่วยติดตามทำให้สามารถส่งงานส่งการบ้านและเรียนจนจบได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

“สตาร์ทอัพแต่ละทีมมีความแตกต่างกัน ซึ่งเป็นคุณค่าที่แต่ละรายสร้างให้กับลูกค้า หลักสูตรจะเน้นย้ำว่าลูกค้าคือใคร เราสามารถสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าได้จริงหรือไม่ หลักสูตรนี้จะแนะนำให้ลองทำเพื่อทดสอบตลาด ทำสมมติฐาน มีเทคนิคการทดสอบสมมติฐานด้วยหลากหลายวิธีการ เป็นหลักสูตรคุณภาพโดยโปรเฟสเซอร์และทีมงานจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เรียนจบแล้วยังได้ ประกาศ จาก Stanford Online อีกด้วย” ปริวรรต กล่าว

ปริวรรต กล่าวเสริมว่า สตาร์ทอัพมี Passion มาก และจะหลงรักโปรดักตัวเอง Feedback จาก Mentor จะทำให้สตาร์ทอัพต้องหันกลับมาดูโปรดักตัวเองว่าได้พิสูจน์แนวคิดครบถ้วนจริง ๆ แล้วหรือยัง ทำให้สามารถปรับธุรกิจให้ค่อย ๆ เติบโตได้ 

“หลังจบหลักสูตรนี้ไป สามารถนำองค์ความรู้และกระบวนการแบบนี้ไปใช้กับโครงการอื่นในอนาคตได้อีก ทำให้สามารถค่อย ๆ ก้าวไปได้อย่างมั่นคงมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องได้ที่หนึ่ง ที่สำคัญมากสำหรับหลักสูตรนี้คือการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ใช่หลักสูตรที่มีคนมาสอน แต่เราต้องศึกษาเอง ต้องให้ความสำคัญกับการเรียน ส่งงานให้ครบ” ปริวรรต กล่าว

ไมโครซอฟท์ พันธมิตรเทคโนโลยี

วสุพล ธารกกาญจน์ Microsoft Azure Business Group Director ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ไมโครซอฟท์เชื่อในความสามารถของคนไทย และพันธกิจของไมโครซอฟท์ประเทศไทย คือ “From made in Thailand to born in Thailand” เชื่อว่าธุรกิจเกิดใหม่ในประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตไปไกลเกินกว่าตลาดประเทศไทย สิ่งที่ไมโครซอฟท์ทำ คือ ร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ในการหาสตาร์ทอัพที่ใช่เพื่อช่วยส่งเสริมต่อไป โดยมองหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพที่จะเติบโตในตลาดภูมิภาค เพราะเชื่อว่าความต้องการในตลาดนี้ไม่แตกต่างกันมาก 

วสุพล ธารกกาญจน์

เบื้องต้นจะเริ่มจากตลาดไทยก่อน ไมโครซอฟท์จะพาสตาร์ทอัพที่เป็น B2B หรือ B2C ที่มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนเป็น B2B2C ไปสู่ลูกค้าในประเทศไทยจำนวนหลายแสนราย และหากมีศักยภาพที่จะออกต่างประเทศ จะพาเขาไปตลาดต่างประเทศผ่านศักยภาพของไมโครซอฟท์ในแต่ละประเทศ

ปัจจุบันบริษัททุกบริษัทเริ่มปรับตัวทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันกันมาก ทำให้เกิดดีมานด์ด้านดิจิทัล ในขณะที่สตาร์ทอัพคือซัพพลายด้านดิจิทัลที่พร้อมและรวดเร็ว รวมถึงมีรูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจ ทำให้บริษัทขนาดกลางและเล็กสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้รวดเร็วโดยไม่ต้องลงทุนทำวิจัยและพัฒนาเอง 

“ในโครงการนี้ไมโครซอฟท์เป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี รวมถึงการเพิ่มทักษะและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยต่อยอดนวัตกรรมของสตาร์ทอัพ อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีคลาวด์ เป็นต้น”​ วสุพล กล่าว

สตาร์ทอัพช่วยทำให้เกิดการเร่งการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันได้ สตาร์ทอัพรายไหนสนใจตลาดลูกค้าองค์กรสามารถมาใช้ศักยภาพของไมโครซอฟท์ได้ รวมถึงสตาร์ทอัพรายที่ต้องการออกตลาดต่างประเทศที่จะช่วยพาออกตลาดต่างประเทศ ผ่านโครงการช่วยการออกตลาดทั้งในและตลาดต่างประเทศ 

“ไมโครซอฟท์ช่วย 2 เรื่องคือ ช่วยให้เข้าถึงเทคโนโลยี และเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ” วสุพล กล่าว 

ไมโครซอฟท์เป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีกับโครงการ KATALYST ช่วยสร้างและส่งเสริมสตาร์ทอัพหน้าใหม่และเร่งการเติบโตให้กับสตาร์ทอัพที่อยู่ในโครงการ KATALYST ผ่านการทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์ในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ สตาร์ทอัพแต่ละรายมีโจทย์ที่แตกต่างกันและปรับเปลี่ยนไปตามเวลา ไมโครซอฟท์มีฝั่งธุรกิจที่มาช่วยต่อยอดต่อ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่จะปรับตลาดจากเอสเอ็มอีมาเป็นตลาดลูกค้าองค์กรรายใหญ่ ไมโครซอฟท์จะช่วยปรับเปลี่ยนเชิงเทคโนโลยีให้สตาร์ทอัพเพื่อเข้าสู่ตลาดลูกค้าองค์กรได้ ในประเทศไทยเกือบ 90% ขององค์ธุรกิจใช้ไมโครซอฟท์ ทำให้รู้ว่าลูกค้าต้องการและมองหาอะไร ไมโครซอฟท์จะเป็นคนกลางที่ช่วยเชื่อมสตาร์ทอัพให้เข้าถึงลูกค้าองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

สตาร์ทอัพไทยมีความเก่งเรื่องตลาด B2B ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรธุรกิจในภูมิภาคเอเชียได้ ไมโครซอฟท์สามารถพาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเหล่านี้ไปต่างประเทศได้ สามารถขยายตลาดจาก 70 ล้านคนไปสู่ตลาดระดับ 200-500 ล้านคนได้ 

“การขับเคลื่อนระบบนิเวศสตาร์ทอัพในประเทศไทย ไม่สามารถทำได้ด้วยองค์กรเดียว แต่ต้องรวมมือกันกับผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรม อาทิ การทำงานร่วมกับธนาคารกสิกรไทยในโครงการนี้ เพื่อเสริมระบบนิเวศให้แข็งแรงมากขึ้น และช่วยส่งต่อไปที่ระดับภูมิภาคและระดับโลกได้” วสุพล กล่าวทิ้งท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ