TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistชีวิตวัยเกษียณ อีกหนึ่งหน้าของการเริ่มต้นใหม่

ชีวิตวัยเกษียณ อีกหนึ่งหน้าของการเริ่มต้นใหม่

ในวันหนึ่ง เมื่อตื่นขึ้นมา พบว่าตนนั้นอายุเข้าวัยเกษียณแล้ว

อะไรจะเกิดขึ้น หลังจากนี้

งานประจำที่มีตำแหน่งมีรายได้นับจากนี้เป็นแค่อดีต จากนี้ไปไม่มีแล้ว รายได้ประจำที่เคยได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน สวัสดิการ โบนัส จากนี้ไปเป็น “ศูนย์”

ในยุคหนึ่ง (ราวปี2535-2537) ในวันที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 16.5% หากมีเงินฝากสะสมมาสัก 2-3 ล้านบาท ก็จะมีเงินได้จากดอกเบี้ยราว 4-5 แสนบาท/ปี หักภาษีไป ก็ยังเหลือร่วม ๆ 3 แสนบาท เฉลี่ยจะมีเงินให้ใช้ตกเดือนหนึ่งก็สองสามหมื่นบาท หากรายจ่ายในแต่ละเดือนไม่สูงไปกว่านี้ ก็อยู่ได้ด้วยดอกเบี้ยเงินฝาก โดยไม่ต้องไปแตะต้องเงินสะสมเลย

แต่วันนี้ เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากเหลืออยู่เพียง 0.5-1.5% แม้จะมีเงินออมสะสม 12 ล้านบาท จะมีดอกเบี้ยเงินฝากปีละแสนกว่าบาท หักภาษีเงินได้ เฉลี่ยต่อเดือนไม่ถึงสองหมื่นบาท

ในปัจจุบัน เราพึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากไม่ได้แล้ว แค่เงินเฟ้อยังเอาชนะไม่ได้เลย ดังนั้น การทิ้งเงินฝากไว้ในธนาคารเป็นเวลานาน ๆ จึงเป็นการ “เสียโอกาส”

ในขณะเดียวกัน การมาลงทุนด้วยตัวเองในตลาดทุน ก็กลัวว่าไม่รู้จริงบ้าง ถูกหลอกบ้าง ปัจจุบันจึงมีการลงทุนผ่านกองทุนรวม หรือ Mutual Fund ที่รวบรวมเงินลงทุนมาให้มืออาชีพที่เรียกว่าผู้ตัดการกองทุนดำเนินการ โดยการประกาศล่วงหน้าว่ากองทุนนั้น กองทุนนี้จะนำเงินไปลงทุนด้านไหน ในประเทศหรือต่างประเทศ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเงินที่สะสม จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มมูลค่าเงินออม

แต่สิ่งที่สำคัญคือ การลงทุนในปัจจุบัน การศึกษาข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ จะนั่งเฉยๆรอดอกเบี้ยขึ้นไม่ได้เสียแล้ว

เมื่อหันไปสำรวจ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(Providence Fund) หรือระบบบำเหน็จ บำนาญของเอกชนไทย ที่เงินเดือนเราถูกหักทุกเดือนผสมกับที่บริษัทสมทบ โดยมีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่บริหารเงินก้อนนี้เพื่อสะสมไว้ใช้ยามที่เราเกษียณ ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ มักจะละเลย ไม่ได้ดูว่า กองทุนนี้ลงทุนในประเภทการลงทุนอย่างไร ให้ผลตอบแทนมากน้อยเพียงไร บางคนมาดูเฉพาะตอนเกษียณนี่แหละ ปรากฏว่า ผลตอบแทนได้มานิดเดียว เพราะกองทุนเลือกลงทุนในหมวดที่ให้ผลตอบแทนต่ำจนนานเกินไป  

บางคนคิดว่า ปล่อยไว้แบบนั้นแหละ เดี๋ยวก็งอกเงยเอง ข้อเท็จจริงของการลงทุน สามารถเลือกเปลี่ยนแปลงได้ตาม นอกเหนือจากคำว่า”ความเสี่ยง”แล้ว อีกสองคำที่ต้องเอามาใช้คิดประกอบด้วยคือคำว่า”ระยะเวลา”กับค่า”ผลตอบแทน” สามคำนี้มีความสัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างเช่น

  • ผลตอบแทนที่สูงมักจะมีความเสี่ยงสูงเช่นกัน
  • ระยะเวลาที่ยาว มักจะสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงและทวีคูณได้

เมื่อหันมาฝั่งรายจ่ายของกระเป๋าในวันที่ไม่มีรายได้ประจำ มักจะมีรายจ่ายสำคัญ 3 หมวด ได้แก่

  • รายจ่ายในการดำรงชีวิต
  • รายจ่ายสำหรับการรักษาพยาบาล
  • รายจ่ายสำหรับความสุขในชีวิต อาทิ การท่องเที่ยว การพักผ่อน

ถ้าคนที่มีเงินสะสมมากพอสมควร ก็จะทำได้ครบทั้งสามอย่าง แต่ถ้าหากไม่พอล่ะ ก็จะถูกลดทอนไปทีละอย่างจนที่สุด แม้แต่การดำรงชีวิตก็ลำบาก ไม่ต้องคิดถึงเงินสวัสดิการหรอก เงินได้แต่ละเดือนที่ได้มา ใช้ได้สักวันสองวันก็หมดแล้ว

การวางแผนสำหรับอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ชีวิตในวัยเกษียณ อย่างน้อย ๆ ก็ยี่สิบสามสิบปีเชียวล่ะ

บางคนที่คิดว่ามีเงินพอสมควร น่าจะสามารถใช้สอยได้อย่างสะดวกสบาย ก็ควรต้องตรวจสอบว่าสามารถครอบคลุมรายจ่ายใน3 ข้อที่กล่าวมา ทำได้ครบหรือไม่ ถ้าไม่ก็ต้องวางแผน โดยเฉพาะการศึกษาทางเลือกในการลงทุนเพื่อสร้าง Passive income กับเงินออมที่มีอยู่ โดยต้องครอบคลุมในทุกด้านตาม 3 รายจ่ายข้างต้น ไม่ใช่การหาผลตอบแทนสูง ๆ เพราะต้องไม่ลืมว่าผลตอบแทนที่สูงก็ต้องมีความเสี่ยงที่สูงไปด้วย

การคิดถึงอนาคต เป็นเรื่องที่ต้องคิดเพราะเวลาอีก 20-30 ปีไม่ใช่เวลาน้อย ๆ ที่จะอยู่โดยไม่มีรายได้เพิ่มเลย บางคนบอกเงินไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สุด แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่มีไม่ได้เลย

บางคนมีความฝันที่จะทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ แต่ไม่ได้ทำในช่วงก่อนหน้า และคิดว่าจะมีโอกาสได้ทำในช่วงที่เกษียณ ก็ต้องมีเงินสักก้อนเพื่อจะเป็นทุนในการทำสิ่งนั้น

โชคดีหากชีวิตในวัยนี้ไม่มีปัญหาหนี้สินหรือสุขภาพ หรือมีอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือครบสองอย่าง ลำบากแน่

วัยที่ควรคิดเรื่องเกษียณ บางคนบอกให้คิดตั้งแต่วันทำงานวันแรก ความจริงแล้ว ในวัยสามสิบเศษ ที่เข้าสู่วัยกลางคน น่าจะเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะน่าจะมีความมั่นคงในหน้าที่การงานในระดับหนึ่ง น่าจะเริ่มวางแผนได้แล้ว ช้ากว่านี้จะมีเวลาน้อยเกินไป เร็วกว่านี้ชีวิตก็หมดสนุก ขาดรสชาติ เพราะจะจริงจังกับชีวิตมากเกินไป

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ