TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistในวิกฤติ...ยังมีโอกาส

ในวิกฤติ…ยังมีโอกาส

พักหลัง ๆ เรามักจะได้ยินคำว่า “Perfect Storm” ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่ท้าทายที่สุดในรอบ 80 ปีนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ก่อนหน้านี้ ทั้งนักเศรษฐศาสตร์และผู้นำองค์กรระดับโลกได้ออกมาเตือนเป็นเสียงเดียวกันว่า มรสุมเศรษฐกิจหลาย ๆ วิกฤติกำลังก่อตัวขึ้นพร้อม ๆ กันจนกลายเป็น Perfect Storm 

เริ่มจาก “วิกฤตการเผชิญหน้า” ของมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนใน “สงครามการค้า” หรือ “Trade War” จนมาถึงการเผชิญหน้ากันของสองมหาอำนาจในสงครามรัสเซียกับยูเครน ผลของความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ ทำให้เศรษฐกิจโลกทุกวันนี้มีการแบ่งออกเป็นขั้วอย่างเห็นได้ชัด 

นอกจากนี้ โลกยังถูกซ้ำเติมด้วย “วิกฤติราคาพลังงาน” ซึ่งเป็นผลมาจากโลกการบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐอริกาและยุโรปเริ่มซาลง ตามมาด้วยหลาย ๆ ประเทศเริ่มเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

“วิกฤติพลังงาน” ส่อเค้ารุนแรงขึ้นเมื่อสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเริ่มขึ้น ทำให้น้ำมันขาดแคลน ราคาน้ำมันโลกพุ่งกระฉูด ในปัจจุบันอยู่ที่ 110-120 ดอลลาร์/บาเรล ราคาขายปลีกน้ำมันที่ 50 บาท/ลิตรทำให้มีปัญหาเงินเฟ้อตามมา 

แต่ที่หลาย ๆ ฝ่ายวิตกกังวลกันมาก คือ “วิกฤติอาหารโลก” ที่กำลังทวีความรุนแรง มีไม่น้อยกว่า 30 ประเทศประกาศงดส่งออกสินค้าอาหาร รัฐบาลประเทศเหล่านี้มีนโยบายปกป้องอาหารไว้สำหรับบริโภคในประเทศ จะได้ไม่ขาดแคลนและประชาชนไม่ต้องซื้ออาหารราคาแพง 

นอกจากนี้ ยังมีวิกฤติอื่น ๆ ตามมาเป็นระลอก ๆ อย่างเช่น ความผันผวนในตลาดการเงินโลก ซึ่งวิกฤติเหล่านี้ มีโอกาสจะเกิด “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” (Recession) ปรากฏการณ์นี้ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอ เช่น ศรีลังกา และกำลังลุกลามกลายเป็น “โดมิโน” ไปยังประเทศอื่น ๆ ต่อไป

ขณะเดียวกัน มีบางประเทศกำลังใช้วิกฤตินี้ “แปรเป็นโอกาส” โดยได้เริ่มมาตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะประเทศในยุโรป จีน แม้แต่ในอาเซียนอย่างเวียดนามและสิงคโปร์ ก็ประกาศนโยบายยกเครื่องเศรษฐกิจใหม่ทั้งหมด

สำหรับประเทศไทย อาจจะยังไม่เห็นสัญญาณจากรัฐบาลว่าจะ “แปรวิกฤติเป็นโอกาส” อย่างไร แต่ก็มีหลาย ๆ อย่างที่กำลังวิกฤติที่รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ แปรเป็นโอกาส อย่างกรณี “วิกฤติพลังงาน” ที่คนไทยประสบปัญหาน้ำมันราคาแพง จาก “โครงสร้างราคาบิดเบี้ยว” 

รัฐบาลควรจะใช้โอกาสนี้ รื้อโครงสร้างราคาน้ำมันครั้งใหญ่ให้สอดคล้องกับกับความเป็นจริง ขั้นแรก ต้องยกเลิกการ “อิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์” มาเป็นโครงสร้างราคาที่หน้าโรงกลั่นในประเทศแทน 

ทุกวันนี้ เรานำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นในโรงกลั่นในประเทศแต่กลับไป “อิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์” จึงมี “ต้นทุนปลอม” โผล่ขึ้นมาทำให้ราคาน้ำมันสูงเกินจริงเช่น บวกค่าขนส่งจากสิงคโปร์มายังไทยทั้งที่ไม่มีการขนส่งจริง ค่าประกัน ค่าความเสี่ยงล้วนแต่เป็นของปลอมเป็นต้นทุนที่มโนขึ้นมา แต่ต้องกลายเป็นภาระของผู้บริโภค

อีกทั้งรัฐบาลควรปฏิรูปโครงสร้างภาษีน้ำมันเสียใหม่ ปัจจุบันมีการจัดเก็บซ้ำซ้อนน้ำมัน 1 ลิตร มีทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีท้องถิ่น กองทุนน้ำมัน และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ทำให้มีต้นทุนสูงถึง 45% รัฐบาลจึงควรใช้วิกฤติครั้งนี้จะปฏิรูปเพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันในราคาที่สมเหตุสมผล

อย่างเกริ่นไว้ตอนต้น ทุกวันนี้โลกกำลังวิตกกังวลกับ “วิกฤติอาหาร” ตรงนี้น่าจะเป็นโอกาสของไทยที่กำลังประสบปัญหาการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลง เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก เพราะไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอาหารรายใหญ่ของโลกจึงเป็นโอกาสทองของไทย

แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้คือเรื่อง “ราคาปุ๋ย” ที่แพงขึ้นเท่าตัว เกษตรกรหลายรายสู้ไม่ไหวอาจต้องเลิกไป เรื่องนี้รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล หากปุ๋ยในประเทศขาดแคลนหรือมีราคาแพงเกินไป ต้องมีแผนพึ่งพาตัวเอง เช่น การผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทน หรือไปเจรจากับรัฐบาลของประเทศที่ผลิตปุ๋ยเพื่อซื้อปุ๋ยราคาถูกมาให้เกษตรกร 

นอกจากนี้ อาจจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทยเน้นผลิตและส่งออกสินค้าจำพวกเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งที่สามารถผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์พวก ผัก ผลไม้ ข้าว ได้เป็นจำนวนมากจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งกระแสความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศกำลังมาแรง โดยเฉพาะตลาดที่มีกำลังซื้อสูงอย่างในสหรัฐและยุโรป 

ทุกวันนี้มีวิสาหกิจชุมชนหายแห่งส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้เองเช่น วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง อ.ราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีนาข้าวอินทรีย์ในเครือข่ายทั่วประเทศนับแสนไร่ ผลิตข้าวอินทรีย์มีคุณภาพส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ปีหนึ่งนับร้อย ๆ ตัน แต่ไม่พอกับความต้องการของตลาด หากรัฐบาลส่งเสริมอย่างจริงจังทำให้เกษตรกรขายข้าวในราคาที่สูงขึ้น

ฉะนั้น หากรัฐบาลสามารถนำกรณีวิกฤติอาหารโลกมาเป็นโอกาสได้จะทำให้เกษตรกร 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรายได้จะมาจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจก็เดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม การจะแปรวิกฤติเป็นโอกาสได้นั้น รัฐบาลต้องชาญฉลาด อย่างกรณีบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลใหญ่สุดของโลกยอมเสียค่าปรับจากการฉีกสัญญา หันนำน้ำตาลไปผลิตเอทานอลแทน เพราะได้กำไรสูงกว่าเนื่องจากระดับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวิกฤติการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนแต่ล่าสุดประเทศไทยยังประกาศจะส่งออกน้ำตาล

กรณีมาเลเซียประกาศงดส่งออกไก่ อินโดนีเซียเคยงดส่งออกปาล์มน้ำมันไปตลาดโลก เจตนาไม่ใช่แค่ปกป้องผู้บริโภคในประเทศ แต่รัฐบาลของเขาฉลาดแปรวิกฤติเป็นโอกาส เพื่อต่อรองราคากับประเทศผู้นำเข้าให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ชาวสวนปาล์มของเขาได้ราคาดีที่สุดนั่นเอง

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“ไร่กล้วย” โผล่กลางกรุง … เมื่อ “กฎหมาย” บกพร่อง

“วิกฤติอาหาร” หายนะรอบใหม่

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ