TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLife4 เคล็ดลับดูแลลูกเมื่อพวกเขาเข้าสู่โลกออนไลน์

4 เคล็ดลับดูแลลูกเมื่อพวกเขาเข้าสู่โลกออนไลน์

ในช่วงปีที่ผ่านมา พวกเราใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะเด็ก ๆ และเยาวชนที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียงเพื่อการติดต่อพูดคุยกับเพื่อนหรือหาข้อมูลทำรายงานอีกต่อไปแล้ว แต่ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์กันเต็มเวลา ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต 

ในโอกาสวันแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย เป็นช่วงเวลาที่เราสามารถช่วยกันสร้างความเข้าใจและรณรงค์สร้างโลกออนไลน์ที่ปลอดภัยมากขึ้นให้กับเด็กและเยาวชน แอมเบอร์ ฮอว์คส์ หัวหน้าด้านความปลอดภัย Facebook ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า “ในโลกดิจิทัลปัจจุบัน เราทราบดีว่าเด็กและเยาวชนจะมีความเสี่ยงบนโลกออนไลน์มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะช่วยให้พวกเขาปลอดภัยผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการทำงานเชิงนโยบายของเรา นอกเหนือไปจากเรื่องความเป็นส่วนตัว ฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่จะปกป้องพวกเขาจากภัยต่าง ๆ บนโลกออนไลน์และการรักษาความปลอดภัยให้กับบัญชีที่เรามีบน Facebook และ Instagram 

-คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค จับมือ แกร็บ คิทเช่น จัดโครงการสร้างความสะอาดปลอดภัย
-แคสเปอร์สกี้คาดเทรนด์ความปลอดภัยไซเบอร์ของ SEA ปี 2021

เรายังเพิ่มมาตรการปกป้องมากขึ้นอีกสำหรับผู้เยาว์ เรากำหนดให้ผู้ใช้ ต้องมีอายุเกิน 13 ปีขึ้นไปจึงจะสามารถสร้างบัญชี Facebook และ Instagram และข้อกำหนดด้านอายุนี้มีการปรับให้สูงขึ้นไปอีกในบางประเทศ การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและฟีเจอร์การมองเห็นต่าง ๆ จะมีมาตรการที่เข้มงวดมากกว่าบัญชีของผู้ใหญ่ เช่น การส่งข้อความไปหาผู้เยาว์บน Facebook โดยที่ผู้ส่งไม่ได้เป็นเพื่อนกับเขาหรือเป็นเพื่อนของเพื่อนเขานั้น ข้อความเหล่านั้นจะถูกกรองออกจากกล่องข้อความของผู้เยาว์ทันทีและถูกจัดให้ไปอยู่ในโฟลเดอร์สแปมโดยอัตโนมัติ”

ในขณะที่อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และโซเชียลมีเดียได้เปิดโอกาสให้ผู้คนจำนวนมากสามารถเชื่อมต่อกับใคร เวลาใดและที่ไหนก็ได้ตามต้องการนั้น ทำให้การมีทักษะความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและความเป็นพลเมืองดิจิทัลมีความสำคัญมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับกลุ่มเด็ก ความปลอดภัยบนโลกออนไลน์นั้น เป็นหัวข้อพูดคุยที่สำคัญระหว่างคนในครอบครัวเมื่อเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ต ในปีที่ผ่านมา Facebook ประเทศไทย ได้เปิดตัวโครงการ We Think Digital Thailand ที่เข้าถึงง่าย เพื่อช่วยให้คนไทยได้พัฒนาทักษะความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและความเป็นพลเมืองดิจิทัล และมีความเข้าใจต่อประเด็นต่าง ๆ เช่น อินเทอร์เน็ตคืออะไร (What Is the Internet?) รอยนิ้วมือดิจิทัลของคุณ (Your Digital Fingerprint) การเป็นนักคิดเชิงวิเคราะห์ (Be a Critical Thinker) และเคล็ดลับในการสังเกตข่าวปลอม (Tips for Spotting False News) นอกจากนี้ พ่อแม่ยังสามารถค้นหาทรัพยากรเพิ่มเติมเพื่อช่วยปกป้องและให้คำแนะนำแก่เด็ก ๆ บนโลกออนไลน์ได้อีกด้วย

มาดู 4 เคล็ดลับที่พ่อแม่สามารถนำไปใช้ เพื่อพูดคุยและดูแลให้ลูก ๆ สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย

  1. เริ่มพูดคุยเกี่ยวกับเทคโนโลยีตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มเข้าสู่โลกออกไลน์และหมั่นตรวจสอบ

ปัจจุบันนี้ เด็ก ๆ ที่มีอายุเพียงแค่ 6 ปี ก็สามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์แท็บเล็ตได้แล้ว ดังนั้น พ่อแม่ควรเริ่มพูดคุยกับลูก ๆ ในหัวข้อต่าง ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ตั้งแต่พวกเขาอายุยังน้อย เช่น การพูดถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก การใช้งานโทรศัพท์มือถือ หรือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการมีปฏิสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดียที่เหมาะสม เป็นต้น ถ้าลูก ๆ ของคุณชอบเล่นวิดีโอเกม คุณควรนั่งอยู่กับเขาตอนเล่นเกมด้วย หากลูกที่กำลังเป็นวัยรุ่นใช้งาน Facebook หรือ Instagram ควรพูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับการเพิ่มหรือติดตามเพื่อน หมั่นพูดคุยเกี่ยวกับคนที่พวกเขาติดต่อด้วยและเนื้อหาที่พวกเขาแชร์ บอกให้พวกเขาได้รับรู้ว่าสามารถเล่าให้คุณฟังได้เสมอ หากพบเห็นหรือมีประสบการณ์ที่น่าอึดอัดใจบนโลกออนไลน์

  1. ตั้งกฎของครอบครัวและพยายามเป็นแบบอย่างที่ดี

ตั้งกฎเกณฑ์พื้นฐานเกี่ยวกับการใช้งาน และการแชร์ข้อมูลออนไลน์อย่างปลอดภัย เช่น การจำกัดเวลาใช้งานโซเชียลมีเดียของลูก ๆ หรือสามารถให้แชร์ข้อมูลได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาโตมากพอที่จะใช้งาน Facebook และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เท่านั้น โดยพ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างและทำตามกฎเช่นเดียวกัน หากคุณตั้งกฎว่า ห้ามเล่นเน็ตหลังสองทุ่ม หรือห้ามนำเครื่องมือสื่อสารเข้ามาในห้องนอน คุณควรที่จะปฏิบัติตามกฎเดียวกันกับลูก

  1. สอนให้เด็ก ๆ รับผิดชอบต่อสิ่งที่พวกเขาทำบนโลกออนไลน์

พ่อแม่หลายคนต้องการปกป้องลูก ๆ จากอันตราย และคิดว่าพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ของลูก ๆ เป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ แต่ที่จริงแล้ว พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกให้เข้าใจว่าพวกเขาจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองบนโลกอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับที่พวกเขาจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองในชีวิตจริง โดยก่อนที่พวกเขาจะแชร์ข้อมูลใดบนโซเชียลมีเดีย พ่อแม่ควรตั้งคำถามเพื่อให้พวกเขาได้ไตร่ตรองว่าผู้อื่นจะตีความเนื้อหานั้นว่าอย่างไร

คำถามที่สามารถใช้ถามได้ เช่น

  • เนื้อหานี้สามารถทำให้คนอื่นเข้าใจผิดได้หรือไม่ คนอื่นจะมองลูกว่าอย่างไร
  • เนื้อหานี้เป็นการดูถูก รังแก หรือทำร้ายผู้อื่นหรือไม่
  • สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นจากการแชร์เนื้อหานี้คืออะไร
  1. แสดงให้เห็นถึงวิธีการควบคุมการใช้งาน

พ่อแม่ควรรู้วิธีการที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัว และสอนวิธีการที่ง่ายและมีประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูก ๆ เช่น บน Facebook ควรใช้การยืนยันตัวตนแบบสองชั้น (two-factor authentication) เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับบัญชีออนไลน์ และสอนให้พวกเขาควบคุมสิ่งที่เห็นในฟีดข่าวด้วยการคลิกไปที่สัญลักษณ์จุดสามจุดที่อยู่ด้านบนขวาของโพสต์

  • หากพวกเขาไม่ชอบเรื่องราวใดก็ตามที่ปรากฏอยู่บนฟีดข่าว พวกเขาสามารถซ่อนเนื้อหานั้นได้
  • หากพวกเขาไม่ต้องการเห็นโพสต์จากผู้ใช้คนใดคนหนึ่ง พวกเขาสามารถเลิกติดตามหรือซ่อนผู้ใช้คนนั้นๆ ได้
  • นอกจากนี้ พวกเขายังสามารถแสดงความคิดเห็นหรือรายงานโพสต์ที่มีเนื้อหารังแกผู้อื่นได้

แน่นอนว่าการเป็นพ่อแม่เป็นประสบการณ์ที่ท้าทายและในยุคดิจิทัล พ่อแม่ยังมีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นในการดูแลลูก ๆ ให้ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม พ่อแม่สามารถอ่านข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพื่อช่วยให้ลูก ๆ มีประสบการณ์เชิงบวกบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ที่ https://www.facebook.com/safety/parents และ https://about.instagram.com/community/parents

นอกจากนี้ คุณยังสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ We Think Digital Thailand และหลักสูตรการเรียนรู้ต่าง ๆ ของโครงการได้ที่ wethinkdigital.fb.com/th รวมถึงเคล็ดลับและข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากเพจของโครงการที่ https://www.facebook.com/wtdthailand/ 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ