TH | EN
TH | EN
หน้าแรกThe Story ReportPrototype กับประสิทธิภาพของงานวิจัย

Prototype กับประสิทธิภาพของงานวิจัย

Prototype หรือแบบจำลอง เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการทำวิจัย ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยด้านความยากง่ายในการใช้งาน (Usability Testing) การวิจัยด้านความปรารถนาต่อการใช้งาน (Desirability Research) การวิจัยตรวจสอบยืนยันแนวคิด (Concept Validation Research) ฯลฯ เนื่องจาก Prototype เปรียบเสมือนตัวกลางเดียวที่ผู้ใช้หรือลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ขณะเข้าร่วมการวิจัย หากไม่มี Prototype คงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ใช้หรือลูกค้าที่จะสามารถปฏิสัมพันธ์กับนวัตกรรมและงานออกแบบเพื่อให้ข้อมูลผลลัพธ์และการตอบรับ (Feedbacks) ในการวิจัย

อย่างไรก็ตาม การประยุกต์ใช้แนวคิดการพัฒนา Prototype เพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงระดับความคล้ายคลึงของ Prototype (Fidelity of Prototype) อาจจะไม่เพียงพอในการทำวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ผลลัพธ์การวิจัยที่สร้างคุณประโยชน์สูงสุด เนื่องจากความคล้ายคลึงของ Prototype คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเข้าใจของผู้ใช้หรือลูกค้า

เพื่ออธิบายถึงมุมมองและแนวคิดด้านระดับความคล้ายคลึงของ Prototype และการประยุกต์ใช้งาน ในบทความนี้จึงได้วิเคราะห์เพื่อตอบคำถามสำคัญดังนี้

  • ระดับความคล้ายคลึงของ Prototype คืออะไร?
  • ระดับความคล้ายคลึงของ Prototype ส่งผลต่องานวิจัยอย่างไร?
  • Prototype ในระดับความคล้ายคลึงที่แตกต่างกัน สามารถใช้ทดแทนกันได้หรือไม่?

ระดับความคล้ายคลึงของ Prototype

ระดับความคล้ายคลึงของ Prototype หรือ Fidelity of Prototype คือ ระดับที่บ่งบอกถึงการแสดงผล และตอบสนองของการปฎิสัมพันธ์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ Prototype ดังกล่าวมีความเหมือนจริงหรือใกล้เคียงกับสินค้า บริการ หรือระบบจริงมากน้อยเพียงใด

ในปัจจุบันระดับความคล้ายคลึงของ Prototype ถูกแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ดังนี้

  1. Prototype ความคล้ายคลึงสูง (High-fidelity Prototype)
  2. Prototype ความคล้ายคลึงต่ำ (Low-fidelity Prototype)

Prototype ความคล้ายคลึงสูง (High-fidelity Prototype) คือ Prototype ที่มีความใกล้เคียงกับสินค้า บริการ หรือระบบจริงมาก และรองรับการปฏิสัมพันธ์ที่ครอบคลุมในหลาย ๆ บริบท ดังตัวอย่างในภาพที่ 1 และ 2 ปัจจุบัน Prototype ความคล้ายคลึงสูงมีประโยชน์สำคัญเป็นอย่างมากในการวิจัย เนื่องจากว่าตัว Prototype มีรูปแบบและคุณภาพที่คล้ายคลึงกับระบบจริง จึงส่งผลให้ผู้ใช้ที่เข้าร่วมการวิจัยสามารถเข้าใจถึงวัตถุประสงค์และบริบทที่ Prototype ต้องการจะสื่อได้ดีเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก High-fidelity Prototype มีความคล้ายคลึงกับของจริง ดังนี้แล้ว High-fidelity Prototype ก็ย่อมใช้เวลาและทรัพยากรในการพัฒนาค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน

ในขณะที่ Prototype ความคล้ายคลึงต่ำ (Low-fidelity Prototype) หมายถึง Prototype ที่มีความใกล้เคียงกับสินค้า บริการ หรือระบบค่อนข้างต่ำ และสามารถรองรับการปฏิสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานได้เพียงอย่างเดียวโดยไม่ครอบคลุมในทุก ๆ บริบท ดังที่แสดงตัวอย่างในภาพด้านล่าง ทั้งนี้เนื่องจากมีความใกล้เคียงกับสินค้า บริการ หรือระบบจริงค่อนข้างต่ำ ความสามารถในการสื่อสารวัตถุประสงค์และบริบทต่อผู้ใช้ก็ย่อมต่ำไปด้วยเช่นเดียวกัน แต่ในทางตรงกันข้าม การพัฒนา Low-fideility Prototype ก็ใช้เวลาและทรัพยากรในการพัฒนาที่ไม่สูงในเวลาเดียวกัน

ภาพที่ 1: ภาพตัวอย่าง Low-fidelity Prototype และ High-fidelity Prototype ของแอปพลิเคชันตัวอย่าง (ที่มาภาพ: iamemmad และ unsplash)

ภาพที่ 2: ภาพตัวอย่าง Low-fidelity Prototype และ High-fidelity Prototype ของสินค้าตัวอย่าง (ที่มาภาพ: design1st)

เมื่อทราบถึงประเภททั้งสองของระดับความคล้ายคลึงของ Prorotype หากนำคุณลักษณะของ Prototype ทั้งสองมาเปรียบเทียบจึงสามารถสรุปได้ตามตารางข้างล่างดังนี้

จากตารางข้างต้นแสดงให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียของ Prototype ทั้งสองรูปแบบอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้จึงอาจเกิดคำถามสำคัญขึ้น 2 คำถาม ดังนี้

  1. ระดับความคล้ายคลึงของ Prototype ส่งผลต่อผลลัพธ์การวิจัยจริงหรือไม่?
  2. หากระดับความคล้ายคลึงทั้ง 2 ระดับของ Prototype มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนี้ระดับความคล้ายคลึงของ Prototype สามารถใช้ทดแทนกันได้หรือไม่?

คุณภาพของ Prototype ต่องานวิจัย

ในงานวิจัยด้านความยากง่ายในการใช้งาน (Usability Testing) ของระบบที่ใช้ภายในองค์กรครั้งหนึ่งผ่าน Prototype ที่มีระดับความคล้ายคลึงต่ำ (Low-fidelity Prototype) เพื่อศึกษาว่าระบบดังกล่าวผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย และมีประสิทธิภาพในการสนับสนุนการทำงานของผู้ใช้มากน้อยเพียงใด โดยการวิจัยดังกล่าวได้ใช้วิธีการวิจัยผ่าน System Usability Scale (SUS) เพื่อวัดผลค่าความยากง่ายในการใช้งานผ่านรูปแบบข้อมูลเชิงปริมาณเพื่อบ่งชี้ถึงระดับความยากง่ายในการใช้งานอย่างละเอียด โดยเริ่มต้นที่ให้ผู้ใช้งานได้ทดลองใช้งานระบบ และระบุมุมมองของผู้ใช้ผ่าน System Usability Scale เพื่อได้มาซึ่งคะแนนผลลัพธ์ของ System Usability Scale ผ่านการคำนวนตามลำดับ

หลังจากได้ทำการวิจัยเสร็จสิ้น ผลลัพธ์ของ System Usability Scale แสดงถึงคะแนนที่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ (66 คะแนน) เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ระดับ 64 คะแนน หากวิเคราะห์โดยทั่วไปคะแนนดังกล่าวเพียงพอสำหรับการดำเนินการในการพัฒนาระบบต่อไป แต่อย่างไรก็ตามหากดูที่ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation: SD) กลับแสดงถึงค่าความเบี่ยงเบนที่ค่อนไปในทางที่สูง (SD โดยประมาณ 18.62) ดังนี้งานวิจัยเลยได้ดำเนินต่อเพื่อหาความหมายภายใต้ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานที่สูงผ่านการสัมภาษณ์ผู้ใช้งาน Prototype และได้ผลลัพธ์ของการสัมภาษณ์และการวิเคราห์ข้อมูลเชิงคุณภาพเป็นหัวข้อตามตัวอย่างดังนี้

ข้อมูลเชิงคุณภาพของกลุ่มคนที่คะแนนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

  1. การใช้งานง่ายและสะดวกขึ้นเนื่องจากไม่ต้องกรอกข้อมูลเยอะเท่าระบบเก่าที่เคยใช้
  2. ระบบสามารถช่วยให้ปฏิบัติงานได้รวดเร็วขึ้น

ข้อมูลเชิงคุณภาพของกลุ่มคนที่คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

  1. Prototype ไม่สามารถกรอกข้อมูลและทำงานได้จริง ซึ่งทำได้เพียงแค่กดตามแนวทางเพียงอย่างเดียว
  2. ไม่เข้าใจใน Prototype เพราะกดอะไรแทบไม่ได้
  3. การใช้งานระบบในบริบทจริง ต้องการการแก้ไขข้อมูลค่อนข้างเยอะ ซึ่ง Prototype ไม่สามารถทำงานที่สอดคล้องกับบริบทได้จริง

หากวิเคราะห์จากข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้รับแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนที่ให้คะแนน System Usability Scale สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ไม่เข้าใจการสื่อสารและบริบทของ Prototype เพราะโดยส่วนมาก Low-fidelity Prototype มักจะไม่สามารถรองรับการใช้งานและการปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้ ทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูล สแกนเอกสาร และจัดการเอกสารด้วยการปฏิสัมพันธ์แบบลากวาง (Drag & Drop) ตามในบริบทจริง จึงส่งผลให้ผู้ใช้ตระหนักว่าระบบทำงานได้เร็วขึ้นและสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะสวนทางและให้ผลตรงกันข้ามกับการทำงานจริงหากพัฒนาระบบดังกล่าวขึ้นและนำมาประยุกต์ใช้จริง เนื่องจากผู้ใช้จำเป็นที่ต้องกรอกข้อมูลจริงให้ครบถ้วน

ในขณะที่กลุ่มคนที่ให้คะแนน System Usability Scale ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีปัญหาด้านการใช้งานและเข้าใจถึง Prototype เนื่องจาก Prototype ไม่สามารถรองรับและตอบสนองการปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานเชิงบริบทได้อย่างครบถ้วน ทำให้ผู้ใช้ไม่เข้าใจถึง Prototype ว่าเป็นเพียงแค่แบบจำลองเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงสามารถสรุปโดยพื้นฐานได้ว่า ระดับความคล้ายคลึงของ Prototype ส่งผลต่อการทดลองใช้งานของผู้ใช้ และสามารถส่งผลโดยตรงต่อผลลัพธ์และความเที่ยงตรงของงานวิจัยเป็นอย่างมาก

ความสัมพันธ์ของ High-fidelity Prototype ต่องานวิจัย

สืบเนื่องจากการวิจัยก่อนหน้า ทางทีมวิจัยเลยได้พัฒนา High-fidelity Prototype ขึ้น เพื่อพิสูจน์ว่าคุณภาพของ Prototype ส่งผลต่อผลลัพธ์การวิจัยหรือไม่ โดยการวิจัยครั้งนี้ทางทีมได้นำ Prototype ที่มีระดับความคล้ายคลึงสูงที่ได้พัฒนาขึ้นนำมาให้ผู้ใช้ได้ทดลองใช้งานแทนที่ Low-fidelity Prototype ในรอบแรก และให้ผู้ใช้นำส่งผลลัพธ์การใช้งานผ่านการประเมินด้วย System Usability Scale ตามลำดับ ทั้งนี้เผื่อลดความคลาดเคลื่อนในการวิจัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทางทีมวิจัยเลยได้ให้กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ที่อยู่ในกลุ่มหรือประเภท (Persona) เดิมได้เข้าร่วมใช้งาน

หลังจากได้วางแผนการวิจัยเสร็จสิ้น การวิจัยได้ดำเนินต่อไปตามลำดับตั้งแต่เก็บข้อมูล รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผล โดยผลลัพธ์การวิจัยหลังสรุปผล ประกอบไปด้วยรายละเอียดดังนี้

จากผลลัพธ์ข้อมูลที่ได้รับแสดงให้เห็นว่าระบบมีค่าความยากง่ายในการใช้งานที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยที่ยังไม่ควรดำเนินพัฒนาระบบต่อไป แต่ควรศึกษาวิจัยด้านการใช้งานเพิ่มมากขึ้นเพื่อพัฒนาการออกแบบ และนำมาวิจัยด้าน Usability Test ใหม่อีกครั้งหลังจากออกแบบใหม่เสร็จ ทั้งนี้ผลลัพธ์จากการวิจัยแสดงถึงค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานอยู่ที่ 4.2 ซึ่งค่าดังกล่าวนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ (โดยสื่อถึงความหมายเชิงสถิติว่า คะแนนผลลัพธ์ของ SUS จำนวน 99% ของผู้ใช้อยู่ในช่วง 39.4 – 64.6)

ดังนี้การวิจัยโดยพื้นฐานทั้งสองรอบแสดงให้เห็นว่า ระดับความคล้ายคลึงของ Prototype หรือ Fidelity of Prototype มีผลโดยนัยต่อผลลัพธ์การวิจัย เนื่องจากหากใช้ Low-fidelity Prototype ในการวิจัย Usability Test ของระบบดังกล่าว จะแสดงให้เห็นว่าระบบมีค่าความยากง่ายในการใช้งานที่พอใช้โดยที่สามารถนำระบบไปพัฒนาต่อได้ทันที แต่ในทางกลับกัน หากนำ High-fidelity Prototype มาใช้ในงานวิจัย กลับพบว่าระบบมีค่าความยากง่ายในการวิจัยไม่เพียงพอที่จะนำไปพัฒนาต่อและเปิดบริการต่อผู้ใช้จริงได้ และอาจจะส่งผลเสียอย่างมากต่อประสบการณ์ของผู้ใช้ (User Experience) และภาพลักษณ์โดยรวมของระบบหากเปิดบริการสู่ตลาด ด้วยเหตุนี้ การเลือกใช้ระดับความคล้ายคลึงของ Prototype จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากต่องานวิจัย ซึ่งผู้จัดทำงานวิจัยควรเลือกใช้ระดับความคล้ายคลึงของ Prototype อย่างเหมาะสม

คุณประโยชน์ของ High-fidelity Prototype และ Low-fidelity Prototype

หลังจากที่ทราบถึงความแตกต่างด้านคุณสมบัติในระดับความคล้ายคลึงของ Prototype และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้หากเลือกใช้ระดับความคล้ายคลึงของ Prototype อย่างไม่เหมาะสม ดังนี้จึงแสดงให้เห็นว่าคุณประโยชน์ของ Prototype ทั้งสองรูปแบบมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันในบริบทต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป

สืบเนื่องจากผลลัพธ์การทดลองและวิเคราะห์ผล จะสามารถสังเกตเห็นได้ว่า High-fidelity Prototype หรือ Prototype ในระดับความคล้ายคลึงสูงสามารถสื่อถึงบริบทและรองรับการปฏิสัมพันธ์ได้ครอบคลุมกว่า Low-fidelity Prototype เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ใช้ที่เข้าร่วมวิจัยสามารถทดลองใช้ระบบในบริบทต่างๆ อาทิ การปฏิสัมพันธ์แบบลากวาง การกรอกข้อมูล การสแกนเอกสารผ่านกล้อง การแสดงผลตอบรับของการปฏิสัมพันธ์ (Feedback of Interaction) การสื่อสาร และใช้งานในบริบทอื่น ๆ ดังนี้ ผู้ใช้สามารถเข้าถึงการทำงานและการใช้งานจริงได้เป็นอย่างดี และช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึง สินค้า บริการ หรือระบบได้ตรงตามเป้าหมายที่คาดหวังเพื่อให้ผลลัพธ์การวิจัยที่เที่ยงตรง

ในทางกลับกัน Low-fidelity Prototype หรือ Prototype ในระดับความคล้ายคลึงต่ำ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถสื่อถึงการใช้งานในบริบทจริง และไม่สามารถรองรับการปฏิสัมพันธ์ที่ครอบคลุมได้ และอาจจะส่งผลเสียอย่างมากในการนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่เที่ยงตรง แต่อย่างไรก็ตาม Low-fidelity Protoype มักถูกนิยมนำมาประยุกต์ใช้ในการวิจัยเป็นอย่างมาก เนื่องจาก Low-fidelity Prototype ใช้ทรัพยากรในการพัฒนาน้อยกว่าเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับ High-fidelity Prototype

บทส่งท้าย

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด Prototype ทั้งสองระดับความคล้ายคลึงแสดงถึงคุณประโยชน์ที่ชัดเจนของตน ดังนี้แล้ว กุญแจสำคัญจึงกลับมาสู่การเลือกประยุกต์ใช้งานในบริบทต่างๆ และอะไรคือปัจจัยในการเลือกระดับความคล้ายคลึงของ Prototype อย่างเหมาะสม เพราะในบางครั้งระยะเวลาในการทำวิจัยอาจจะไม่มากเพียงพอที่จะใช้เวลาส่วนมากไปกับการพัฒนา Prototype แต่อย่างไรก็ตามในบางสถานการณ์ ผู้ใช้ในกลุ่มที่ไม่ถนัดการงานใช้งานเทคโนโลยีอาจจะต้องการ High-fidelity Prototype เพราะสามารถสื่อสารได้ดีกว่าและเข้าใจได้ง่ายกว่า หรือในกรณีที่งานวิจัยนั้น ๆ ต้องการผลลัพธ์ที่เที่ยงตรง อาทิ งานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบที่ต้องลงทุนด้านทรัพยากรการเงินและเวลาที่สูง งานวิจัยที่มุ่งเน้นไปที่ความปลอดภัยในการใช้งานระบบ เช่น ระบบควบคุมขณะขับรถยนต์ ฯลฯ งานวิจัยในกลุ่มดังกล่าวจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้ผลลัพธ์ที่เที่ยงตรงซึ่งอาจจะไม่สามารถได้รับจาก Low-fidelity Prototype ดังนี้ High-fidelity Prototype จึงเป็นตัวเลือกที่ขาดไม่ได้ในบางสถาการณ์

ท้ายที่สุดนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การค้นหาปัจจัยที่ช่วยในการวิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้ระดับความคล้ายคลึงของ Prototype อย่างเหมาะสมคือคำถามสำคัญที่ควรศึกษาต่อเป็นอย่างมาก และการพัฒนา High-fidelity Prototype ที่ดีและใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมควรทำอย่างไรเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

หากบริษัทใดสนใจในการออกแบบและพัฒนา Digital Product ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจอย่างยั่งยืน สามารถติดต่อมาทาง [email protected] เรายินดีให้ความรู้ความเข้าใจและคำแนะนำ

เกี่ยวกับผู้เขียน: Unblock Design by Blockfint ทีมออกแบบของ Blockfint ที่มีความเชี่ยวชาญในการวิจัย วางแผน และออกแบบ Digital Products เพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนของธุรกิจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ