TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeETDA เผยผลสำรวจ IUB 63 ใช้เน็ตมากกว่า 11 ชั่วโมงต่อวัน

ETDA เผยผลสำรวจ IUB 63 ใช้เน็ตมากกว่า 11 ชั่วโมงต่อวัน

เดินหน้าเช็คพฤติกรรมใช้เน็ตปีที่ 10 ภายใต้ Theme “วิถีใหม่ (New Normal) วิถีไทย” ETDA เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 2563 สูงถึงวันละ 11 ชม. Gen Z, Gen Y ใช้มากสุด สะท้อนสถานการณ์โควิด-19 ใช้เน็ตเรียน / ทำงาน พร้อมดึงประเด็น Hot Issue Fake news ผลสำรวจพบผู้ตอบเกือบ 100% เคยพบเห็นข่าวปลอมบนอินเทอร์เน็ต ด้านกิจกรรมออนไลน์ Social Media ยังครองแชมป์โดย Facebook 9 ปีต่อเนื่อง พร้อมปล่อยแบบสอบถาม IUB ปีที่ 10 ใน Theme “วิถีใหม่ (New Normal) วิถีไทย”

ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ETDA ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2563 พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจฯ ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1 ชั่วโมง 3 นาที โดยปีแรกที่ ETDA เริ่มทำผลสำรวจ คือปี 2556 คนไทยใช้เน็ตเฉลี่ยเพียงวันละ 4 ชั่วโมง 36 นาทีเท่านั้น คิดเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว ซึ่งสอดคล้องกับการผลสำรวจฯ ที่ถามถึงการเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตจากปีที่ผ่านมา

โดย 78.3% ของผู้ตอบแบบสำรวจฯ ตอบว่า มีการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้น จากเหตุผลหลักคือ การที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย และมีเครือข่ายที่ครอบคลุม ส่วนสาเหตุรองลงมาคือ มีความจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น และบริการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันสามารถทำผ่านออนไลน์มากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันผลกระทบจาก COVID-19 ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหันมาเลือกทำกิจกรรมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แทนการเดินทางจากบ้านเรือน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการต้องพบปะผู้คนโดยเฉพาะในที่สาธารณะอีกด้วย

-ETDA จับมือ IBM เล็งพัฒนามาตรฐานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชน
-ETDA ประเดิมเทคโนโลยีออกใบรับรองแพทย์เป็นอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ หากดูในรายละเอียดจะพบว่า ในวันธรรมดาจะมีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยอยู่ที่ 11 ชั่วโมง 23 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1 ชั่วโมง 31 นาที ส่วนในวันหยุด จะมีการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 11 ชั่วโมง 29 นาทีต่อวัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 6 นาที และเมื่อแบ่งตามเจเนอเรชั่น พบว่า กลุ่ม Gen Y (อายุ 20-39 ปี) มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดอยู่ที่ 12 ชั่วโมง 26 นาที รองลงมาคือ Gen Z (อายุน้อยกว่า 20 ปี) จำนวน 12 ชั่วโมง 8 นาที ขณะที่กลุ่ม Gen X (อายุ 40-55 ปี) จำนวน 10 ชั่วโมง 20 นาที ส่วน Baby Boomer (อายุ 56-74 ปี) มีการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 8 ชั่วโมง 41 นาที ตามลำดับ

“สาเหตุที่ภาพรวมจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตในวันธรรมดาเพิ่มมากขึ้น และกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ที่อยู่ในวัยเรียน/วัยทำงานเป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันมากที่สุดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีมาตรการปิดสถานศึกษาให้ทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และที่ทำงานส่วนใหญ่มีนโยบายการทำงานแบบ Work from Home ทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการทำงานมาเป็นแบบออนไลน์มากขึ้น” ชัยชนะ กล่าว

สำหรับกิจกรรมออนไลน์ยอดนิยม 10 อันดับแรก ได้แก่ ใช้ Social Media เช่น Facebook, LINE, Instagram คิดเป็น 95.3% รองลงมาคือ ดูโทรทัศน์/ดูคลิป/ดูหนัง/ฟังเพลงออนไลน์ คิดเป็น 85.0% การค้นหาข้อมูล คิดเป็น 82.2% การติดต่อสื่อสารออนไลน์ทั้งการโทรศัพท์ และพูดคุย (Chat) คิดเป็น 77.8% และการรับ-ส่งอีเมล คิดเป็น 69.0% ขณะที่ การซื้อสินค้าออนไลน์ คิดเป็น 67.3% การอ่านข่าว/บทความ/หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) คิดเป็น 64.2% การเรียนออนไลน์ (e-Learning) คิดเป็น 57.5% การเล่นเกมออนไลน์ คิดเป็น56.8% และการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ คิดเป็น 56.5%

ส่วนการใช้สื่อสังคมออนไลน์ พบว่า Facebook, YouTube และ LINE ยังคงเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ครองใจคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ตอบแบบสำรวจฯ ยกให้ Facebook เป็นอันดับที่หนึ่ง คิดเป็น 98.29 รองลงมาคือ YouTube คิดเป็น 97.5% และ LINE คิดเป็น 96.0% ขณะเดียวกัน สื่อสังคมออนไลน์ที่มาแรงในปีนี้อย่าง TikTok ก็ยังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วโดยมีผู้ใช้บริการ คิดเป็น 35.8% จากผู้ตอบแบบสำรวจฯ ด้วย สำหรับประเด็น Hot Issue ในเรื่องข่าวปลอม จากผลการสำรวจฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจฯ เชื่อว่า มีเพียง 50.2% ของข้อมูลข่าวสาร ที่พบเห็นบนโลกอินเทอร์เน็ต เป็นข้อมูลจริง สามารถเชื่อถือได้ โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ

แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังมีความเคลือบแคลง ลังเล และสงสัยถึงความน่าเชื่อของข้อมูลข่าวสารที่พบ และยังไม่ได้เชื่อข่าวที่พบเห็นบนโลกออนไลน์ทุกข่าวในทันที หากสอบถามถึงการเคยพบเห็นข่าวปลอม (Fake News) บนอินเทอร์เน็ต พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจฯ ส่วนใหญ่ถึง 94.7% ตอบว่า เคยพบเห็นข่าวปลอมบนอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ได้หมายถึงจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจฯ ที่พบเห็นข่าวปลอมเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการพบเจอข่าวที่มีการแชร์กันว่าเป็นข่าวปลอมทั้งที่ผ่านการตรวจสอบและยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบอีกด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2564 ทาง ETDA ก็ได้เริ่มปล่อยแบบสอบถามพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตภายใต้ Theme “วิถีใหม่ (New Normal) วิถีไทย” จะเป็นอย่างไร ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเท่านั้นที่เป็นคนกำหนดทิศทางผ่านการตอบแบบสำรวจ จึงขอเชิญชวนคนไทยทุกคน เข้าร่วมตอบแบบสอบถาม Internet User Behavior : IUB 2564 ผ่าน Link https://bit.ly/3wFsnYJ และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.etda.or.th เพื่อร่วม Go digital แบบวิถีใหม่ไปด้วยกันกับ ETDA

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ