TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeBMW ชวน 2 กูรู แชร์ประสบการณ์ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าต่างทวีป

BMW ชวน 2 กูรู แชร์ประสบการณ์ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าต่างทวีป

ปัจจุบันเทรนด์ด้านยนตรกรรมไฟฟ้าได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย อย่างไรก็ตามเนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นนวัตกรรม ผู้ที่สนใจบางกลุ่มจึงมีความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยด้านการใช้งานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระยะทางในการขับขี่ การบำรุงรักษา และการชาร์จไฟรถยนต์

เมื่อไม่นานมานี้ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย จัดงานเสวนา East meets West: Understanding the EV Customer Journey เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ผ่านการเล่าประสบการณ์การขับขี่และการใช้งานจริง รวมถึงมุมมองต่ออนาคตและภาพรวมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ไฟฟ้าอย่างคุณอู๋ อติชาญ เชิงชวโน หรือคุณอู๋ Spin9 และคุณบียอร์น ไนแลนด์ อินฟลูเอนเซอร์ชาวนอร์เวย์ผู้มีประสบการณ์การขับขี่รถยนต์ไฟฟ้ามาแล้วทั่วโลกกว่า 1,000,000 กิโลเมตร

กฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวถึงเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าไว้อย่างน่าสนใจว่า “พ.ศ. 2565 นี้เป็นปีแรกที่เราได้เห็นยอดการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าสะสมกว่า 13,000 คัน ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีการขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้า ตัวเลือกรถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ที่หลากหลายขึ้น รวมไปถึงการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งช่วยอุดหนุนส่วนลดกว่า 150,000 บาท นับเป็นก้าวสำคัญของการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย”

ภายในงาน อติชาญ เชิงชวโน หรือ อู๋ Spin9 อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังที่เป็นตัวแทนของผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าในทวีปเอเชีย มีประสบการณ์การขับขี่ทั้งในชีวิตประจำวันและการขับทางไกลข้ามประเทศ และ บียอร์น ไนแลนด์ อินฟลูเอนเซอร์ กูรูรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังจากประเทศนอร์เวย์ เป็นตัวแทนผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าจากฝั่งตะวันตก ที่พกพาประสบการณ์การขับรถยนต์ไฟฟ้ารอบโลกรวมแล้วกว่า 1,000,000 กิโลเมตร ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนน เกร็ดความรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า  นับตั้งแต่การตัดสินใจหันมาขับรถยนต์ไฟฟ้าครั้งแรก ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุด แต่ก็อาจจะยากที่สุดสำหรับหลาย ๆ คนเช่นกัน

โครงสร้างพื้นฐาน – สถานีชาร์จ ต้องพร้อม

อู๋ เล่าถึงประสบการณ์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าของตนเองว่า “หลายปีก่อนหน้านี้ ความท้าทายสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าคือความสามารถในการเดินทางไปได้ทุกที่เหมือนรถยนต์สันดาปภายใน เพราะในตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจึงต้องวางแผนการเดินทางอย่างรัดกุม มีแผนสำรองเสมอ แต่ด้วยความต้องการที่มากขึ้นในปัจจุบัน จึงมีการขยายจำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น ความกังวลตรงนี้จึงลดน้อยลงไป การเดินทางด้วยรถยนต์ไฟฟ้าสร้างความเป็นไปได้มากกว่าเคย ซึ่งผมเองพิสูจน์มาแล้วกับการขับขี่ข้ามประเทศจากไทย ไปถึงมาเลเซีย และสิงคโปร์ จึงเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่ารถยนต์ไฟฟ้าสามารถใช้งานได้มีประสิทธิภาพทัดเทียมรถยนต์น้ำมัน”

“นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยยังมีสถานีชาร์จไฟฟ้าสมรรถนะสูงถึง 180 กิโลวัตต์ ซึ่งผมมองว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังคงเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย วัฒนธรรมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะสมจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เช่น การจอดที่แท่นชาร์จไฟฟ้าเมื่อต้องการชาร์จเท่านั้น หรือเมื่อชาร์จรถเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ควรเลื่อนรถไปจอดที่อื่น เพื่อแบ่งปันให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าคนอื่นสามารถใช้งานแท่นชาร์จต่อได้ สิ่งเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่ชาวไทยยังต้องเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อร่วมกันสร้างสังคมของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นระเบียบเรียบร้อยและเป็นมิตรกับผู้ขับขี่ทุกคน”

ด้าน บียอร์น ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน และการทดลองขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าจากหลากหลายค่ายกล่าวว่า “ผมได้มีโอกาสทดลองขับรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายประเภท และได้ทดสอบสมรรถนะของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ไม่ต่ำกว่าครั้งละ 1,000 กิโลเมตร จึงสามารถสัมผัสประสบการณ์การขับขี่และการชาร์จไฟฟ้าได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งผมยืนยันจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ขับรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้วหลายประเทศ ว่าเมื่อโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามีความพร้อมและครอบคลุมเพียงพอ การเดินทางไกลด้วยรถยนต์ไฟฟ้าก็สามารถทำได้ไม่ต่างจากรถยนต์สันดาปภายใน

นอกจากนี้ผมยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ และพฤติกรรมหนึ่งที่ผมพบบ่อย ๆ ในหลาย ๆ ประเทศ คือการจอดรถแช่ที่แท่นชาร์จไฟฟ้าแล้วไม่ได้ใช้งานเหมือนที่คุณอู๋เล่าซึ่งทำให้คนอื่นไม่ได้รับความสะดวก ผมคิดว่าสิ่งนี้จำเป็นจะต้องรณรงค์ให้เกิดการใช้งานอย่างถูกต้อง”

แน่นอนว่าการบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการขับขี่ ยังคงเป็นเรื่องที่หลายคนกังวล ตัวแทนผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าทั้งสองท่านต่างลงความเห็นเหมือนกันว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ได้เริ่มพัฒนาการให้บริการสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวิร์คชอปการบำรุงรักษาและซ่อมแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า การจัดทำแผนเบี้ยประกันสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์บางอย่าง ทั้งยังสะดวกสบายในการใช้งานและประหยัดค่าใช้จ่าย ในขณะที่การติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบติดผนัง (Wall Box) ก็มีค่าใช้จ่ายน้อยลงและติดตั้งได้ง่ายมากขึ้นอีกด้วย

เพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 12 องค์กร ซึ่งประกอบไปด้วย หน่วยงานผู้ให้บริการการอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ  เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และพัฒนาการเชื่อมต่อการใช้งานร่วมกันของแต่ละเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า ทั้งสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ภายใต้ชื่อ ‘Charging Consortium ’ ซึ่งจะช่วยสร้างอีโคซิสเต็มของยานยนต์ไฟฟ้าที่เข้าถึงง่ายและยั่งยืนอีกด้วย

BMW กับการขับเคลื่อนพลังงานสะอาด

สำหรับ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนในประเทศไทยมาโดยตลอด โดยได้ร่วมมือกับพันธมิตร ในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 และเนื่องจากผู้ขับขี่ชาวไทยมีความต้องการด้านพลังงานยั่งยืนและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ยังได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรรายใหม่ ๆ เพื่อขยายเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าบีเอ็มดับเบิลยูและมินิ สามารถเข้าถึงเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะมากถึง 600 หัวจ่าย ในกว่า 295 แห่งทั่วประเทศ ประกอบไปด้วย สถานีชาร์จของพันธมิตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สถานีชาร์จไฟฟ้า EleX by EGAT โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สถานีชาร์จไฟฟ้าของอีโวลท์ เทคโนโลยี และสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการของบีเอ็มดับเบิลยูและมินิ

นอกจากนี้ ในฐานะผู้นำยานยนต์ไฟฟ้าระดับพรีเมียมในประเทศไทย บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการขับขี่ที่เป็นมิตรต่อส่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี BMW eDrive ซึ่งเป็นการทำงานประสานกันอย่างลงตัวของมอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแรงดันไฟฟ้าสูง และระบบจัดการพลังงานอัจฉริยะ เพื่อประสบการณ์การขับขี่ที่คล่องตัวและสมรรถนะที่ทรงพลัง และการขับขี่ปราศจากมลพิษด้วยพลังงานไฟฟ้า รวมไปถึงการพัฒนารถยนต์ตระกูลบีเอ็มดับเบิลยู i ซึ่งเป็นรุ่นรถยนต์ไฟฟ้าสมรรถนะสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู i7 นับเป็นรถยนต์ซีดานพรีเมียมหนึ่งเดียวที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ มอบระยะทางขับเคลื่อนตามมาตรฐาน WLTP สูงสุดที่ 625 กิโลเมตร โดยสามารถโลดแล่นจาก 0 ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ภายในเวลาเพียง 4.7 วินาที และมอบความเร็วสูงสุดที่ 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงเป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ถึงนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของบีเอ็มดับเบิลยูที่มีสมรรถนะและสร้างระยะทางได้ไม่แพ้รถยนต์สันดาป

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

GWM ฉลอง 2 ปีในไทย เตรียมนำ TANK 500 TANK 300 และ ORA Grand Cat รุกตลาดปี 2566

รพ.วิมุต แนะ วิธีอยู่ร่วมกับคนเป็นซึมเศร้าด้วยความเข้าใจ ย้ำเป็นได้…ก็หายได้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ