TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewCEO Storyสจล. ชู "วิทย์-เทคฯ-การแพทย์" ดันไทยก้าวทันโลก

สจล. ชู “วิทย์-เทคฯ-การแพทย์” ดันไทยก้าวทันโลก

“เราต้องคิดว่าสจล.ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัย แต่คือองค์กรของคนไทยที่มีความสามารถในการสู้กับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้โดยเฉพาะโลกในเรื่องของเทคโนโลยี”

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวกับ The Story Thailand ว่าแม้จะเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะแหล่งผลิตองค์ความรู้และบุคลการด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานถึง 60 ปี แต่ความสำเร็จในอดีตจนถึงปัจจุบันไม่สามารถนำมาใช้ได้แล้ว เพราะโลกในยุคดิสรัปชัน คือ การเปลี่ยนแปลงแบบหักศอก ในอนาคตมีความยาก มีความท้าทาย มีการเปลี่ยนแปลงกว่าในปัจจุบันมาก ดังนั้น เพื่อให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังคงเป็นสถาบันชั้นนำของประเทศ สจล.จึงไม่สามารถคิดแบบเดิมได้

ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า นอกจากจะเป็นสถาบันที่มีความโดดเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์แล้ว สจล. ยังมีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะอื่น ๆ ที่มีความยอดเยี่ยมไม่แพ้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ เช่นกัน 

กระนั้น สำหรับโลกในอนาคต สิ่งที่ สจล.มีในตอนนี้ไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์โลกในกาลข้างหน้าอีกต่อไป ทำให้จำเป็นต้องมีการขยับขยายสาขาวิชาเพื่อให้ครอบคลุมทุกศาสตร์ความรู้มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น การเปิดคณะแพทยศาสตร์ 

“หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมสจล.เปิดคณะแพทย์ ผมถามกลับเลยว่า เวลาเราไปที่โรงพยาบาล มองซ้ายมองขวามองบนมองล่าง ล้วนเป็นอุปกรณ์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเอ็กซ์เรย์ รถเข็น เครื่องตรวจวัดสายตา อุปกรณ์ทุกอย่างเป็นงานวิศวกรรมหมด เพราะฉะนั้นวันนี้ ถ้าเกิดเรามีแต่หมอที่รักษา แต่ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้เลย ไทยเราก็ต้องกินน้ำใต้ศอกอยู่ร่ำไป สจล.จึงอาศัยจุดแข็งของเราในเรื่องวิศวะ วิทยาศาสตร์และการออกแบบดีไซน์ มาเปิดคณะแพทย์ ทำให้สามารถสร้างคณะแพทย์ที่นอกจากจะเก่งด้านการรักษาพยาบาลแล้ว ยังสามารถพัฒนาออกแบบเครื่องมือแพทย์ได้ ทำให้สุดท้าย เราสามารถพึ่งพาตนเองได้เแบบครบวงจร”

คบคนเก่ง

ทั้งนี้ นอกจากการขยายสาขาวิชาให้กว้างขวางครอบคลุมมากขึ้นแล้ว ทางสจล.ยังตั้งเป้าเดินหน้าพัฒนาองค์ความรู้ของสถาบัน ภายใต้นโยบาย “คบคนเก่ง” นั่นคือ การจับมือกับบรรดาสถาบันชั้นนำระดับแนวหน้าของวงการ และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีจากนานาประเทศ เช่น การร่วมมือด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์กับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน การร่วมมือกับสถาบันในฝรั่งเศสเพื่อสร้างสุดยอดโปรแกรมเมอร์ และการร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อเสริมสร้างทักษะอาชีพขั้นสูง 

“ดังนั้น สำหรับผมแล้ว วันนี้การจะเป็นยักษ์ได้ คือ ไม่ต้องเป็นยักษ์เอง ขี่คอยักษ์ เผลอ ๆ ก็เป็นยักษ์ได้ สูงกว่ายักษ์ได้เหมือนกัน เราเลยร่วมมือกับองค์การที่เก่งที่สุดในโลกเราต้องคบคนที่เก่งกว่า เราถึงจะสู้กับโลกได้”

ด้วยแนวคิดข้างต้น ทำให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกำหนดวิสัยทัศน์ว่าต้องเป็นมหาวิทยาลัย ของแผ่นดินไทย ที่คนไทยสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ และคบกับคนเก่งที่สุดในโลก ดึงคนที่เก่งที่สุดในโลกมาอยู่เมืองไทย เพื่อให้สามารถก้าวกระโดดไปพร้อมกันได้

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางโลกยุคดิจิทัลที่ต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ่งที่ ดร.สุชัชวีร์ มองเห็น คือ การที่โลกให้ความสำคัญกับศาสตร์ทางด้าน Bio Medical Technology and Engineering คือ ชีววิทยาทางการการแพทย์ วิศวกรรมและเทคโนโลยี มากขึ้น หรือต่อให้ไม่มีโควิด-19 ทิศทางของสังคมโลกก็มุ่งให้ความสำคัญกับด้านนี้อยู่แล้ว เพื่อให้สอดรับกับอายุของผู้คนที่ยืนยาวขึ้น และต้องการมีสุขภาพที่ดี 

ทิศทางข้างต้นยิ่งขัดเกลาให้วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือ การอาศัยจุดแข็งทางด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการออกแบบ ผนวกกับความรู้ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขรวมกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคต 

รพ.พระจอมเกล้าเจ้าฯ รพ.ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

นอกจากเดินหน้าพัฒนายกระดับคุณภาพของทางมหาวิทยาลัยแล้ว อีกหนึ่งเป้าหมายที่ ดร.สุชัชวีร์ กำลังผลักดันอยู่ในเวลานี้ คือ เดินหน้าสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ขนาดกระทัดรัด จากเงินบริจาคของประชาชน ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานอีก 2 ปีข้างหน้า  

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง มีจุดแข็งด้านเทคโนโลยี และมีคณะแพทย์ที่ชื่อเสียงด้านการรักษา มาทำโรงพยาบาลทั้งทีย่อมต้องแตกต่างจากโรงพยาบาลที่มีอยู่ทั่วไป และตอบโจทย์ต่อโลกอนาคตได้เป็นอย่างดี 

ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะเป็นโรงพยาบาลที่นอกจากจะมีบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาที่เก่งที่สุดแล้ว โรงพยาบาลแห่งนี้จะสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้วยฝีมือคนไทยแบบครบวงจร แห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย ยังไม่นับรวมถึงโครงสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงความสะดวกปลอดภัยของผู้ใช้งานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

“ภายในโรงพยาบาลจะใช้เทคโนโลยีเอไอที่ทันสมัยที่สุดในโลก ภายใต้ความร่วมมือกับทางคาร์เนกีเมลลอน ติดตั้งซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่โรงพยาบาล ทำให้ระบบฐานข้อมูล วิเคราะห์ประมวลผลมีประสิทธิภาพสูง คนไข้จะได้รับการดูแล จนแทบไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล มีระบบติดตามถึงที่บ้าน ครั้งหน้าที่คนไข้จะต้องมาเอายา ก็ไม่จำเป็นต้องมานอนรอค้างคืนหรือมานั่งรอที่โรงพยาบาล ระบบจะแจ้งเตือนพร้อมจัดส่งยาไปที่บ้านได้เลย”

ดร.สุชัชวีร์ เล่าเพิ่มเติมด้วยความภาคภูมิใจว่า ทางมหาวิทยาลัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังตั้งใจทำโรงพยาบาลที่จะพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการให้บริการให้พี่น้องประชาชนคนไทย

โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะทำขนาด 60 เตียง แต่ประสิทธิภาพไม่ใช่แค่ 60 เตียง เพราะด้วยระบบเทคโนโลยี AI จะสามารถทำให้สามารถเข้าถึงคนได้เป็นล้าน

“โรงพยาบาลแห่งนี้จะเป็นโรงพยาบาลที่จิ๋วแต่แจ๋ว ดังนั้น คนที่จะมานอนค้างที่โรงพยาบาลได้ ก็ต้องเป็นเคสที่มีความจำเป็นจริง ๆ”

ตั้งศูนย์พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังสู้โควิด

ยิ่งไปกว่านั้น ทางมหาวิทยาลัยยังมุ่งมั่นนำองค์ความรู้มาช่วยในการบรรเทาสาธารณภัยและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ตัวอย่างเช่น การตั้งศูนย์พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังสู้โควิด ภายใต้การสนับสนุนจากคนไทย ทำให้ทางมหาวิทยาลัยสามารถบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์กว่า 900 ผลิตภัณฑ์ใน 70 จังหวัดทั่วไทย พร้อมยังส่งไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน อย่างสปป.ลาว เมียนมา หรือแม้กระทั่งมัลดีฟส์ ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทางมหาวิทยาลัยคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาใช้งานได้จริง

“แล้วเราก็ค้นพบว่า จะทำก็ทำได้ ถามว่าทำไมต้องทำเอง ในจุดวิกฤติอย่างนี้ ต่อให้มีเงินไปซื้อ อเมริกา เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส วันนี้เขาทำก็ยังไม่พอใช้นะครับ ยังตายกันเป็นใบไม้ร่วงเลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องเงิน มันคือเรื่องของความมั่นคงทางการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งเราต้องทำให้ได้ด้วยตนเอง”

อธิการบดีหนุ่มไฟแรงแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง แสดงความเชื่อมั่นว่า ถ้าไทยทำได้เองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลย่อมถูกลง บางคนอาจแย้งว่า ไม่จำเป็นเพราะเป็นหน้าที่รัฐที่ต้องเข้ามาช่วย แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากรัฐจะนำเงินงบประมาณในส่วนนี้ไปใช้ในด้านอื่นที่จำเป็นอย่างการศึกษา

“เพราะฉะนั้น วันนี้ภูมิใจเหลือเกินที่สจล. มุ่งมั่นที่จะสร้างเครื่องมือแพทย์ครบวงจรให้ได้บนแผ่นดินไทย ไม่ใช่เพื่อใคร เพื่อตัวท่าน ครอบครัวท่าน เพื่อคนไทยทุกคนครับ”

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

กุญแจของการแข่งขัน คือ บทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้ ในทุกศาสตร์ ทุกองค์ความรู้ ไม่ว่าจะสายวิทย์ สายศิลป์ย่อมมีความสำคัญไม่แตกต่างกัน

แต่สำหรับโลกในปัจจุบันและอนาคต วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำคัญที่สุด เพราะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คือ ตัวชี้ชะตาชีวิตของคนในชาติ 

ประเทศใดก็ตามที่มีความเข้มแข็งทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศนั้นพลเมืองจะอยู่ดีกินดี และมีสังคมโดยรวมที่ดี ไม่ว่าจะเป็น จีน สหรัฐอเมริกา หรือประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย อย่าง สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ล้วนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า 

“แล้วประเทศไทยล่ะ วันนี้เรายังลำบากอยู่เพราะเราไม่ได้เป็นผู้นำทางด้านนี้เลยใช่ไหมครับ วันนี้ ถึงเวลาแล้วครับ เพราะคนไทยก็เก่งไม่แพ้ใครในโลก เราจึงต้องมุ่งมั่นยกระดับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่าไปพูดถึงเรื่องการแข่งขันเลยครับ เอาแค่ให้เราไม่ต้องไปพึ่งพาคนอื่น แค่นี้ก็เป็นความสำเร็จในเบื้องต้นแล้ว แต่กระนั้นก็ตาม หากวันนี้คนไทยไม่ถูกสอนในแข่งขันกับคนเก่งหรือคนที่เก่งกว่า เราก็จะเหยียบย่ำอยู่ที่เดิม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีจำเป็นจริง ๆ ครับ” 

ขณะเดียวกัน ดร.สุชัชวีร์ เชื่อมั่นว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ประเทศไทยจะสามารถเติบโตแบบหักศอกได้ และแข่งขันได้กับโลกในวันนี้และในอนาคต

แน่นอนว่า นอกจากจะต้องสร้างองค์ความรู้ที่เข้มแข็งแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่หลักที่ไม่อาจละเลยได้ก็คือการสร้าง “คน” ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือ มีความรู้ด้านวิชาการเต็มเปี่ยมชนิดที่รู้ลึกและรู้รอบ ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการขัดเกลาคุณธรรม จริยธรรมและศีลธรรมด้วย 

“เพราะความรู้ด้านวิชาการอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ทั้งหมด มันต้องมาจากการเสียสละ การรู้จักให้ ภาวะความเป็นผู้นำ การมุ่งมั่น การมองโลกในแง่ดี เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยย่อมมีบทบาทในการสร้างคนให้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ แต่เช่นเดียวกัน การสร้างคนเป็นคนดี มีศีลธรรม แต่ไม่มีความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีอนาคตเลย ก็ไปสู้กับใครเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของการสร้างองค์ความรู้ก็เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องเข้มข้น เข้มงวด”

คณิตศาสตร์ คือ พื้นฐานสำคัญ

ในส่วนของคำถามที่ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความรู้ควรจะเน้นเรื่องอะไรในอนาคต ในมุมมองของ ดร.สุชัชวีร์สิ่งสำคัญที่สุด คือ วิชาพื้นฐาน อย่าง คณิตศาสตร์และวิทยศาสตร์ เพื่อให้สามารถต่อไปแตกแขนงไปสู่สาขาเฉพาะทางอื่น ๆ ที่ลึกซึ้งต่อไปได้ 

“วันนี้ ถ้าเกิดเด็กคนไหนมีความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เขาจะต่อยอดได้ง่าย เป็นสิ่งสำคัญที่พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง และทุกมหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญให้มากยิ่งขึ้น สังเกตไหมครับ คนที่มีพื้นฐานที่ดีมาก่อนในเรื่องของเสียง หรืออ่านโน้ตได้คล่องแคล่ว นอกจากจะมีเสียงที่ดีแล้ว ยังสามารถประพันธ์เพลงดี ๆ ได้ เหมือนกันล่ะครับ ถ้าเกิดบอกว่าอยากเรียนรู้ AI โค้ดดิ้ง ก็เป็นเพียงแค่พื้นฐาน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่ถ้าเกิดเขาเข้าใจคณิตศาสตร์ลึก เขาจะเข้าใจ AI ได้ดีที่สุด”

ยิ่งไปกว่านั้น การมีพื้นฐานความรู้ที่ดี ยังสอดรับกับความกระแสความต้องการของโลก ที่ต้องการคนมีความรู้แบบสหวิทยา คือ รู้รอบด้าน เช่น การออกแบบตึกอัจฉริยะก็ต้องออกแบบโดยเข้าใจมนุษย์ด้วย ดังนั้น จะเป็นวิศวกรก็ต้องรู้เรื่องระบบเซ็นเซอร์ ระบบสื่อสารโทรคมคมนาคม ไฟฟ้า เครื่องกล หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อม 

แน่นอนว่า ลำพังเพียงแต่มหาวิทยาลัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเพียงแห่งเดียว อาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยทั้งหมด และการทำงานหลายคนย่อมดีกว่าการทำงานคนเดียวอยู่แล้ว กระนั้น หากมัวแต่นั่งรอและคาดหวังความช่วยเหลือจากภายนอก ย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย 

“โลกทั้งโลกเปลี่ยนแปลงด้วยคน ๆ เดียวก็มีมาแล้ว โลกทั้งใบเปลี่ยนแปลงด้วยองค์กร องค์กรเดียว อย่างเฟซบุ๊ก บริษัทเดียวมาจากคน ๆ เดียวชื่อ มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก เราใช้ไอโฟนมาจากไอเดียของคน ๆ เดียวก็คือสตีฟ จ็อบส์ เพราะฉะนั้น คน ๆ เดียว องค์กร ๆ เดียวก็เปลี่ยนแปลงโลกได้เหมือนกัน อยากให้ทุกคนเป็นที่พึ่งแห่งตนอย่าไปบ่น อย่าไปรอ เริ่มทำเลย ซึ่งพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง มีทัศนคติแบบนี้ คือเราอยากเห็นโลกเปลี่ยนแปลง แต่เราไม่มีบ่น เราจะทำ ถึงแม้ว่าเราจะเป็นคนแรกที่ทำก็ตาม”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ