TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeYoung Pride Club สร้างความเข้าใจให้กับชุมชน LGBTQ ผ่านออนไลน์ช่วงโควิด-19

Young Pride Club สร้างความเข้าใจให้กับชุมชน LGBTQ ผ่านออนไลน์ช่วงโควิด-19

การระบาดของโควิด-19 รอบที่สามในประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้คนยังต้องใช้เวลาอยู่กับบ้านต่อไปเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ด้วย เพราะว่าสถานการณ์ได้บีบบังคับให้บางคนต้องกลับไปอยู่กับครอบครัวที่อาจจะไม่ค่อยยอมรับกับทางเลือกนี้ บางคนต้องเจอกับความไม่แน่นอนทางอาชีพ รวมถึงการเลื่อนการรับรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันออกไป

ในช่วงเวลาที่กำลังฉลองเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month กันอยู่นี้ นอกจากการฉลองให้กับความสำเร็จของเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน LGBTQ และสะท้อนสิ่งที่เรายังต้องเดินหน้าทำกันต่อไปแล้วนั้น เรายังควรที่จะให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้นำชุมชนเหล่านี้ เพราะเขาเป็นกลุ่มคนที่คอยหาวิธีใหม่ ๆ ในการหาพื้นที่หรือใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อเชื่อมต่อชุมชนเข้าด้วยกันบนโลกออนไลน์ รวมถึงเป็นแบบอย่างของการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้า

เมื่อครั้งที่ เบส ชิษณุพงศ์ นิธิวนา ยังเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น นักศึกษายังไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพในการเข้ารับปริญญาบัตร คุณเบสจึงเข้าร่วมการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวโดยใช้ช่องทางออนไลน์ เนื่องจากว่าตนเองมีความสนใจที่จะร่วมสร้างสังคมที่เปิดกว้าง และสุดท้าย การขับเคลื่อนก็เป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้รุ่นของคุณเบส เป็นนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยที่ได้รับอนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพเข้ารับปริญญาบัตร

เมื่อเห็นว่าตนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ คุณเบสจึงได้ก่อตั้ง Young Pride Clubในปี พ.ศ. 2561 ในช่วงที่กำลังศึกษาปริญญาโท ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อร่วมสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ปลอดภัยให้กับเหล่าคนรุ่นใหม่ที่สนใจในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศและชุมชน LGBTQ รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเป็นผู้นำ การมีส่วนร่วม ไปจนถึงการร่วมมือกันเพื่อสร้างแรงสนับสนุน โดยตั้งแต่ก่อตั้งมา ชุมชนดังกล่าวได้ร่วมมือกับ NGO ต่างๆ กว่า 50 องค์กร ได้ร่วมสร้างผู้นำ LGBTQในทุกภูมิภาคของประเทศ และมีผู้ติดตามกว่า 40,000 บนเพจ Facebook 

สร้างพื้นที่ปลอดภัยออนไลน์ เสริมความเข้าใจร่วมกัน 

เบส เข้าใจดีถึงความโดดเดี่ยวที่ชาว LGBTQ ต้องเจออยู่ทุกวันโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีโรคระบาดแบบนี้ ส่งผลให้ช่องทางออนไลน์กลายเป็นพื้นฐานของการขยายชุมชนได้อย่างรวดเร็ว ในหลาย ๆ ครั้ง การจะจัดกิจกรรมก็เป็นเรื่องยาก ด้วยเหตุผลหลายประการ เพราะอาจจะเป็นเรื่องที่เฉพาะกลุ่ม หรือผู้คนส่วนมากยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ Facebook ทำให้มีเสียง สามารถพูดถึงเรื่องหรือประเด็นที่ชุมชนกำลังเผชิญได้ รวมไปถึงเรื่องกฎหมาย การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน หรือเรื่องการปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ ซึ่งคนให้ความสนใจมากในประเด็นเหล่านี้

Young Pride Club ใช้ Facebook เป็นช่องทางการสื่อสารหลักในการกระจายการรับรู้ของกิจกรรม และสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็น รวมถึงโปรโมทเนื้อหาที่เกี่ยวกับชุมชน LGBTQ นอกจากนี้ในชุมชนเองยังมีการใช้ Messenger ของ Facebook ในการสื่อสารระหว่างสมาชิกและทีมงานเมื่อพวกเขามีคำถาม หรืออยากจะแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ

เพื่อเพิ่มทักษะทางดิจิทัลและทักษะการเป็นผู้นำ Young Pride Club ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 77 ชุมชน จาก 6 ทวีปทั่วโลก ในการเข้าร่วมอบรมโครงการ Community Accelerator ของ Facebook ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกอบรม การให้คำแนะนำ และการมอบเงินทุน เพื่อทำให้ชุมชนเติบโต      

เบส กล่าวถึงประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการว่า “คุณต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายของตัวเอง รวมถึงเรียนรู้กลุ่มอื่นๆ ไปด้วย เพื่อนำความรู้ตรงนั้นมาเสริมสร้างชุมชนของตัวเอง หลังจากที่ได้ร่วมโครงการนี้แล้ว เราก็ได้เห็นชุมชนต่างๆ เช่น OOCA ที่มีรูปแบบธุรกิจ หรือ business model ที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เรามองว่าเราเองจะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม หรือ social enterprise ได้ไหม เราจะได้มีรายได้พึ่งพาตนเองได้ นอกเหนือไปจากการรับทุนสนับสนุนเพียงอย่างเดียว โครงการนี้จะทำให้คุณได้พบกับผู้นำชุมชนที่มีทักษะต่างกัน เพื่อที่จะได้เรียนรู้จากกันและกัน”

แม้ว่าหลายประเทศทั่วโลกจะร่วมฉลองเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศนี้ แต่ว่าชุมชน LGBTQ ยังคงต้องเจอกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำให้เป็นคนชายขอบ หรือการเหยียดในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็เป็นผลมาจากความไม่เข้าใจของคนในสังคม และแม้ว่าสังคมไทยจะเปิดกว้างมากขึ้น คุณเบสยังคิดว่าการให้ความรู้ความเข้าใจ ทั้งในสังคมส่วนรวม หรือภายในชุมชน LGBTQ เองนั้นยังเป็นสิ่งจำเป็น                          

“เห็นได้ว่าภาคธุรกิจให้ความสนใจกับกลุ่ม LGBTQ ในเดือนนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่เรายังคงต้องมองไปข้างหน้า เช่นเรื่องของการทำงาน หลายคนมองว่า LGBTQ ก็ได้รับการยอมรับดี แต่ว่าจริง ๆ แล้ว การได้รับการยอมรับของชาว LGBTQ หลายคนยังถูกจำกัดอยู่ หลายคนทำงานด้านบันเทิง แต่จริงๆ แล้วความสามารถของ LGBTQ ก็เหมือนกับคนอื่น ๆ พวกเขาสามารถทำงานด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการ งานออฟฟิศได้”         

และเมื่อมีกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้นมา เช่น กลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ไม่ฝักใจทางเพศ” (asexual) หรือ กลุ่มที่ไม่แบ่ง หรือไม่จำกัดกรอบทางเพศ (non-binary) คุณเบสเชื่อว่าเรายังคงต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการยอมรับ   

สุดท้ายนี้ เบสได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า “เรายังคงต้องเดินหน้าสร้างความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ และแพลตฟอร์มอย่าง Facebook ก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจในสังคม” 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ