TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessSEAC ตั้งเป้าอัพสกิลองค์กรชั้นนำเมืองไทย ออกแบบการเรียนรู้ให้สนุก ยกระดับคุณภาพชีวิต

SEAC ตั้งเป้าอัพสกิลองค์กรชั้นนำเมืองไทย ออกแบบการเรียนรู้ให้สนุก ยกระดับคุณภาพชีวิต

SEAC เผยวิสัยทัศน์ ทิศทางธุรกิจ และเป้าหมายขององค์กรในปี 2565 หลังประสบความสำเร็จในการให้ความรู้ ขัดเกลา และบ่มเพาะทักษะใหม่ ๆ ช่วยสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยได้มากกว่า 1.5 ล้านคน ในช่วงตลอด 30 ปีที่ผ่านมา โดยเป้าหมายในปีนี้ยังคงเดินหน้าให้ความรู้ เสริมศักยภาพคนไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายการให้บริการครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคม ผ่านหลักสูตรและเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้น สอดรับกระแสโลกที่มองว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ไม่มีวันหยุด เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (ซีแอค) กล่าวว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของซีแอคตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา คือการที่ซีแอคสามารถถ่ายทอดและส่งต่อองค์ความรู้ให้กับคนไทยและองค์กรไทยจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางบวก สามารถก้าวข้ามอุปสรรค ปัญหา และขีดจำกัดต่าง ๆ พร้อมยกตัวอย่างผลลัพธ์ความสำเร็จของหลักสูตรซีแอค เช่น การอัพสกิล-รีสกิลทักษะการสอนครูอาจารย์กว่า 1,000 คน สร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตนักเรียนนักศึกษาพิการทุพพลภาพกว่า 30 คนผ่านมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และโครงการนำร่อง (Pilot Project) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพข้าราชการจังหวัดสระบุรีกว่า 50 คนผ่านโครงการ Hi-Pro Saraburi 4.0 เป็นต้น

สำหรับเป้าหมายในปี 2565 ซีแอคยังคงเดินหน้าอัพสกิลคนไทยให้ได้มากกว่า 1 ล้านคน ภายในปี 2567 เพราะมองว่า การเรียนรู้คือการเปิดประตูสู่โอกาสที่จะทำให้ชีวิตสดใสมากขึ้น ครอบคลุมกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ อาจารย์ พนักงานภาครัฐและเอกชน เจ้าของกิจการ หัวหน้างาน ผู้จัดการ ผู้บริหารงาน ซึ่งการเรียนรู้ต้องมีความสนุก ผ่านการถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญไปสู่ผู้เรียน และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้จากหลักสูตรที่ได้มาตรฐานชั้นนำระดับโลก

“สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับซีแอคนับต่อจากนี้ คือการทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกอยากเรียนเอง อยากหาความรู้เพิ่มเติมเอง และวิธีที่จะทำให้การเรียนเป็นเรื่องสนุกได้ ต้องมาจากการออกแบบการสอนที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี ซึ่งซีแอคมีทั้งประสบการณ์ ชุดความรู้ และพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ ในการดำเนินงาน” อรัญญากล่าว

ทั้งนี้ จากประสบการณ์การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมทักษะมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ซีแอคมีโอกาสศึกษาและติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนไทย จนพบว่ามี 5 องค์ประกอบหลักที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของไทยในปัจจุบัน อีกทั้งยังจะสนับสนุนให้สังคมไทยเกิดการเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่าเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยปัจจัยประการแรก คือตัวคอนเทนต์ (เนื้อหา) ที่ต้องมีความเป็นสากล (Global Content) อัดแน่นด้วยคุณภาพที่ผ่านการรับรองจากสถาบันชั้นนำและนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน 

ประการที่สอง – การออกแบบประสบการณ์ที่ทางซีแอคให้ความสำคัญ เพราะมีบทบาทในการช่วยให้การเรียนสนุกและน่าสนใจสำหรับผู้เรียน อีกทั้งการออกแบบจะช่วยให้ได้หลักสูตรที่เหมาะสมที่สุดกับความต้องการของผู้เรียน ตลอดจนองค์กรธุรกิจ ภายใต้บริบทของสังคมไทย 

ประการที่สาม – นวัตกรรมและเทคโนโลยีซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้ช่วยสำคัญที่ทางซีแอคมองว่าจะช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยอริญญากล่าวว่า ซีแอคมีเป้าหมายที่จะสร้างห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual classroom) ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา อีกทั้งเทคโนโลยี ยังมีบทบาททำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนได้สะดวกง่ายดายมากขึ้น และสามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่อง  

ปัจจัยประการที่สี่ คือการสร้างพันธมิตรที่รวบรวมผู้ฝึกสอนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Experienced trainers) ในสาขาต่าง ๆ ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีนวัตกรรม และทักษะที่เกี่ยวข้องกับซอฟท์สกิล โดยผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ยังมีความสามารถในการถ่ายทอดได้อย่างมีชั้นเชิง 

และปัจจัยประการสุดท้าย คือการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยซีแอครับหน้าที่เป็นพื้นที่ตรงกลางที่เปิดให้ผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ และความชำนาญการได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ได้มีโอกาสเรียนรู้จากกันและกัน 

“เราต้องการตอกย้ำวิสัยทัศน์ของซีแอคคือ Empowering Lives Through Learning หรือการยกระดับชีวิตผ่านการเรียนรู้ในทุก ๆ ช่วงจังหวะชีวิต ทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกสายงาน ให้ครอบคลุมหลากหลายมากขึ้น ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น”

ด้าน นิภัทรา ตั้งพจน์ทวีผล ผู้อำนวยการผลิตภัณฑ์ YourNextU by SEAC (ซีแอค) กล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายของซีแอค ซึ่งประกอบด้วย 8 กลุ่มหลัก โดยแบ่งออกเป็น 2 ระดับใหญ่ ๆ คือ ระดับพนักงาน/คนทำงาน และระดับองค์กร สำหรับระดับพนักงานหมายถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา คนทำงานที่เพิ่งเรียนจบ พนักงานที่ต้องการอัพเกรดตัวเอง หรือเปลี่ยนสาขาอาชีพ และเจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) 

“สภาพสังคมและรูปแบบการทำธุรกิจในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ทำให้ชุดความรู้เดิม แนวทางการทำงานแบบเดิมไม่ได้ผลดีเหมือนเดิมอีกต่อไป ซีแอคเห็นช่องว่างและความท้าทายที่ต้องพัฒนาชุดทักษะใหม่ของคนหลายกลุ่ม ซึ่งทั้งหมดล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ดังนั้น เพื่อให้คนกลุ่มนี้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะใหม่ ๆ ให้พร้อมเผชิญโลกอนาคตที่การเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้นและเร็วขึ้น” นิภัทรากล่าว

สำหรับนักเรียนนักศึกษา (Young generation students) ถือเป็นกลุ่มอนาคตของชาติ ซีแอคเน้นเสริมชุดทักษะชีวิตที่จำเป็นซึ่งไม่มีสอนในรั้วโรงเรียน กลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบ (New generation workforce) เน้นทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อแรงงานศักยภาพสูง เพื่อจะช่วยยกระดับองค์กร ขณะที่กลุ่มคนทำงานที่กำลังมองหาช่องทางเติบโตในสายอาชีพ หรือโอกาสเปลี่ยนแปลงเส้นทางอาชีพ (Career Transitioning Employees) จะเน้นหลักสูตรทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในองค์กรและการเติบโตในสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับการรับรองจากพันธมิตรสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ และ กลุ่มเจ้าของกิจการเอสเอ็มอี (Entrepreneurs & SMEs) เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยหลังต้องเผชิญวิกฤติไวรัสโควิด-19 ผ่านหลักสูตรและชุมชนการเรียนรู้สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอียุคใหม่ โดยเฉพาะ ทำให้เจ้าของกิจการเหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนรู้ต่อยอดประสบการณ์ทางธุรกิจ รวมถึงแนวคิดการบริหารคนและองค์กรที่ทำให้ธุรกิจเติบโตจากต่างประเทศโดยได้รับการปรับปรุงมาแล้วให้เข้ากันกับบริบทของคนไทย 

ขณะที่ บุญชัย พงศ์รุ่งทรัพย์ ผู้อำนวยการผลิตภัณฑ์ SEAC (ซีแอค) กล่าวเสริมในส่วนของการพัฒนากลุ่มเป้าหมายอีก 4 กลุ่มในระดับองค์กร โดยระบุว่า สถานการณ์ในปัจจุบันทำให้ทุกองค์กร ไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าแค่การเปลี่ยนโฉมหน้าและโครงสร้าง แต่ต้องเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ลึกลงไปในระดับของวิธีคิด แนวคิด รูปแบบการทำงาน และทักษะการทำงานของบุคลากรทุกระดับในองค์การ ซึ่งทั้งหมดจะช่วยยกระดับให้องค์กรให้กลายเป็นองค์กรที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพ และคนทำงานได้อย่างมีศักยภาพและมีความสุข จนนำไปสู่ผลลัพธ์ความสำเร็จของตัวองค์กรนั้น ๆ เอง

ทั้งนี้ 4 กลุ่มเป้าหมายในระดับองค์กร ประกอบด้วย 1) Talent กลุ่มคนที่มีความสามารถและมีความสำคัญขององค์กร โดยหากองค์กรสามารถพัฒนาทักษะและผลิตคนที่มีความสามารถหลากหลายมาได้มากและเร็วขึ้น จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เทียบเท่ามาตรฐานระดับโลก 2) Changemaker คือผู้ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กร โดยมุ่งเน้นเปลี่ยนแปลงแนวคิดของคนในองค์กรที่มีผลต่อการริเริ่มให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 3) Leaders at all levels การเสริมทักษะผู้นำไม่ใช่เฉพาะกับคนที่ทำงานในระดับหัวหน้าเท่านั้น แต่ลูกน้องทุกคนต้องการได้บ่มเพาะทักษะผู้นำ คือให้มีความสามารถเป็นผู้นำในงานของตนเอง ในเวลาที่ถูกต้องและในจังหวะที่เหมาะสม และ 4) Executives ผู้บริหารองค์กรของทั้งภาครัฐและเอกชน หลังผลการศึกษาของ เคน บลองชาร์ด (Ken Blanchard) สถาบันพัฒนาผู้นำระดับโลกพบว่า ปัญหาที่องค์กรไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ส่วนหนึ่งมาจากผู้นำที่มีทักษะการนำแบบเดิม ๆ ไม่เหมาะกับบริบทแวดล้อมใหม่ ๆ ที่ต้องการความยืนหยุ่น มองเห็นภาพรวมได้กว้างและไกลขึ้น ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ไปข้างหน้าในระดับมหภาคได้

“หลักสูตรทั้งหมดที่ซีแอคนำมาใช้ในทุกกลุ่มเป้าหมายล้วนผ่านการคัดเลือกกลั่นกรองมาอย่างดี และผ่านการออกแบบปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างซีแอคและพันธมิตรสถาบันชั้นนำระดับโลก เช่น Michigan’s Ross School of Business, Stanford Center for Professional Development และ IMD โดยซีแอคจะมีการวัดผลการเรียนรู้ที่หลากหลายและต่อเนื่อง เพื่อนำมาพัฒนาปรับหลักสูตร ซึ่งการวัดผลจะเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้เรียนว่ามีมากน้อยแค่ไหน สำคัญที่สุดคือสามารถสร้างอิมแพคให้เกิดขึ้นกับตัวงานได้มากแค่ไหน โดยกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้การวัดได้ผลคือนวัตกรรม ที่ทางซีแอคนำมาใช้ในการออกแบบหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนและลงมือปฎิบัติจริง รวมไปถึงการพัฒนาเครื่องมือแอปพลิเคชันให้ผู้เรียนได้รู้สึกว่าการเรียนไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป” บุญชัยกล่าว 

ในส่วนของชุดทักษะใหม่ ๆ สำหรับปี 2565 ที่คนทำงานยุคนี้ต้องรู้ นิภัทราเสริมว่าสามารถแบ่งออกเป็น 2 หมวดหลักด้วยกัน คือ กลุ่มทักษะที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลสกิล ด้วยวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโลกดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ทักษะด้านดิจิทัล และการทำดิจิทัล คอมเมิร์ซต่าง ๆ เป็นเทรนด์ที่มาแรงในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง การทำอีคอมเมิร์ซ และการทำการขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย 

ขณะที่กลุ่มทักษะต่อมา คือกลุ่มที่นิภัทราให้นิยามว่าเป็น Essential soft skill หรือกลุ่มทักษะซอฟท์สกิลที่มีความสำคัญที่จะทำให้ “คน” ปรับตัวได้เร็วและสร้างผลกระทบให้เกิดกับงานได้มาก โดยทักษะแรกในหมวดนี้ก็คือทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex solving problems) ทักษะที่สองก็คือการสื่อสาร กับกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ว่าทำอย่างไรจึงจะสื่อสารออกไปในวงกว้างและได้ผลที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และทักษะที่สามก็คือ Self-leadership skill คือ ภาวะผู้นำในตนเอง เพราะยุคนี้เป็นยุคที่รอไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการรองานดี ๆ หรือรอหัวหน้าดี ๆ มาสอนงาน ล้วนเป็นเรื่องที่เป็นได้ยาก ดังนั้น คนทำงานในยุคนี้ต้องมองความท้าทายที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาสได้ และสามารถที่จะเรียนรู้และพาตัวเองเข้าไปสู่โอกาสนั้น ๆ ได้ 

ทั้งนี้ ซีแอค ถือเป็นองค์กรเดียวในประเทศไทยที่ได้ลิขสิทธิ์นำหลักสูตรชั้นนำจากพาร์ทเนอร์สถาบันการเรียนรู้ชั้นนำระดับโลกเข้ามาสอนอย่างเป็นทางการ เช่น หลักสูตรวิธีคิดเพื่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น Outward Mindset จาก The Arbinger Institute และ หลักสูตรพัฒนาภาวะผู้นำ (Leadership Development) จาก The Ken Blanchard Companies ขณะที่ในส่วนของ YourNextU by SEAC ปัจจุบันมียอดสมาชิกกว่า 40,000 ราย และมีกว่า 615 องค์กรที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทรานส์ฟอร์มตนเองและธุรกิจ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

บิทคับ ผนึก ทองแตงกรุ๊ปตั้ง บิทคับ เวิร์ดเทค สร้างหลักสูตรปั้นคนดิจิทัลเสริมแกร่งศก.ไทย

ม.มหิดล เผยผู้บริโภคไทยคนรุ่นใหม่ ยืนหนึ่งปลื้ม “การอวดแบบถ่อมตน”

Sea (ประเทศไทย) ผนึก ‘ดีป้า’ – ‘ยังแฮปปี้’ เปิดตัวหลักสูตรอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้สูงอายุครั้งแรกในไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ