TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyทำความรู้จัก THEOS-2 ดาวเทียมสำรวจโลกผลงานคนไทย 'ไทยทำ ไทยใช้ ไทยส่งออก'

ทำความรู้จัก THEOS-2 ดาวเทียมสำรวจโลกผลงานคนไทย ‘ไทยทำ ไทยใช้ ไทยส่งออก’

อีกไม่นานประเทศไทยจะได้ส่งออก “ดาวเทียมสำรวจโลก” THEOS-2 (Thailand Earth Observation Satellite 2) และ THEOS-2A ดาวเทียมดวงแรกของไทย ในระดับ Industrial Grade ผลงาน 20 วิศวกรชาวไทย จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เพื่อปฏิบัติภารกิจบันทึกสภาพแวดล้อมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ประเมินความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติ บริหารความมั่นคง รวมถึงพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศ เพื่อช่วยเหลืองานด้านการบริหารทรัพยากรการเกษตรและน้ำ ระบบนิเวศ จนไปถึงระบบวางผังเมือง จากการใช้งานในด้านต่าง ๆ

THEOS-2 เป็นการพัฒนาต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อการปฏิรูปและบริหารเชิงพื้นที่ของประเทศให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ

ทำไมประเทศไทยต้องมี THEOS-2?

หน้าที่หลักของ THEOS-2 คือดาวเทียมสำรวจโลก ทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจด้านนโยบายต่าง ๆ บนฐานข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมของหลากหลายหน่วยงานในประเทศ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน สร้างความแข็งแกร่งในการต่อยอดทางด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอวกาศจากฐานอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วในประเทศ

นอกจากนี้ โครงการ THEOS-2 ยังช่วยเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ รวมถึงสร้างงานในอนาคต โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูง

THEOS-2 กับภารกิจพัฒนาชาติ

โครงการดำเนินงานของดาวเทียม THEOS-2 แบ่งเป็น 3 คือ โครงการพัฒนาดาวเทียมหลัก (THEOS-2) หรือ Main satellite ขนาด 425 กิโลกรัม 1 ดวง เป็นดาวเทียมปฏิบัติการที่สามารถบันทึกภาพรายละเอียดสูง เพื่อการใช้งานด้านการติดตามพื้นที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ งานด้านความมั่นคง และการบริหารจัดการเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ในภาวะวิกฤติ

ส่วนดาวเทียม THEOS-2A มีขนาด 100 กิโลกรัม เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรมาตรฐานระดับ industrial grade ดวงแรกของไทยที่ออกแบบและพัฒนาโดยทีมวิศวกรดาวเทียมของไทยกว่า 20 คน และได้พัฒนาร่วมกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และมีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีอวกาศระดับโลก พร้อมปล่อยขึ้นสู่วงโคจรในปี 2566

นอกจากนี้ โครงการมีการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการใช้งานภูมิสารสนเทศขั้นสูง ในการจัดหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบายให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการผสมผสานของโซลูชัน (Integrated Solutions) ใน 6 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านผลประโยชน์ทางสังคมและความมั่นคง (2) ด้านการจัดการเมืองและเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ (3) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ (4) ด้านการจัดการน้ำแบบองค์รวม (5) ด้านการจัดการภัยพิบัติ (6) ด้านการจัดการเกษตร ที่จะสามารถนำไปร่วมในการขับเคลื่อนและสร้างนโยบายในระดับชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำเร็จของ THEOS-2 จากพลังของทีมไทยแลนด์

THEOS-2 เป็นโครงการที่เริ่มต้นจากการจัดหาดาวเทียมทดแทน ‘ไทยโชต’ ที่ใช้มาจนครบระยะถึงประมาณ 15 ปี และขยายโอกาสจากโครงการไปสู่การพัฒนาบุคลากรในวงการ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรม เสริมสร้างให้คนในประเทศมีองค์ความรู้ ต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่นผ่านโครงการอบรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยกระดับอุตสาหกรรม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตดาวเทียม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาและสร้างดาวเทียมได้เองในประเทศ ทั้งหมดนี้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาทั้งระบบนิเวศของอุตสาหกรรม นับเป็นก้าวสำคัญของวงการเทคโนโลยีอวกาศไทย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอวกาศเป็น 1 ใน 10 New S-Curve อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่แห่งอนาคตที่รัฐบาลสนับสนุนอย่างเต็มที่ และคาดหวังให้ทุกคนติดตามความก้าวหน้านี้ต่อไป

THEOS-3 – ตัวแทนสะท้อนหมุดหมายครั้งใหม่ของประเทศไทย

สำหรับ THEOS-3 คือโครงการล่าสุดของวงการอวกาศไทย โดยได้เริ่มดำเนินการขึ้นแล้วในปีนี้

THEOS-3 คือนวัตกรรมขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอวกาศใหม่ (New Space Ecosystems) ก้าวใหม่ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศไทย ที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับบทบาทการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอวกาศของหน่วยงานดังกล่าว เอื้อให้สามารถร่วมสร้างเทคโนโลยีใหม่อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและหน่วยงานแต่ละภาคส่วนไปพร้อม ๆ กัน

นับเป็นอีกก้าว ที่อุตสาหกรรมการบินและอวกาศไทยจะช่วยสร้างความยั่งยืนต่อระบบนิเวศธรรมชาติ ขับเคลื่อนระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศให้ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาการประมง เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม การคาดการณ์และป้องกันภัยพิบัติล่วงหน้า และแง่มุมที่สำคัญอีกหนึ่งประการจากโครงการสร้างดาวเทียมสำรวจในครั้งนี้ก็คือการส่งเสริมและผลักดันขีดความสามารถของหน่วยงานจากประเทศไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล

ดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-3 จะยังเน้นการมีส่วนร่วมตั้งแต่ผู้ใช้งานที่ส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อให้บริการประชาชน และต่อยอดการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการในไทยมากขึ้น รวมถึงพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ร่วมมือสร้างดาวเทียมที่จะมอบคุณค่าให้สาธารณประโยชน์ และผลักดันขีดจำกัดความสามารถของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มด้านอวกาศเชิงลึกภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทย

ความคืบหน้าของโครงการนี้ มีการรวบรวมความต้องการการใช้ข้อมูลดาวเทียม และร่วมหารือระหว่างผู้ประกอบการในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและมองหาจุดมุ่งหมายร่วมกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ทำไมต้องมี “ระบบนิเวศ” สำหรับเศรษฐกิจอวกาศ?

ทุกคนคงคุ้นเคยกับระบบนิเวศของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทั้งระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อมก็ดี หรือระบบนิเวศของอุปกรณ์สื่อสารในชีวิตประจำวัน ที่ทุกองค์ประกอบในระบบล้วนสัมพันธ์กัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ดังนั้น การสร้างระบบนิเวศให้กับเศรษฐกิจอวกาศ จึงเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานขององค์ประกอบต่าง ๆ ให้แข็งแรง พร้อมที่จะเป็นฟันเฟืองพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียม ให้มาตอบโจทย์ความต้องการของทั้งภาคประชาชนและผู้ประกอบการในประเทศ

สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือการพัฒนาบุคคลากรและองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีอวกาศให้กับบุคคลกรในประเทศไทย พัฒนาประเทศทั้งในเชิงภาคการศึกษาและอุตสาหกรรม ความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจ รวมไปถึงการสนับสนุนความยั่งยืนอันเป็นวาระที่เร่งด่วนและสำคัญระดับนานาชาติ

ข้อมูลจากลิขิต วรานนท์ และชิดชนก ชัยชื่นชอบ วิศวกรดาวเทียม THEOS-2A สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์’ ฝีมือจีน ทดลองคืบหน้า มุ่งสู่เป้าหมายเตาปฏิกรณ์ฟิวชัน

CBAM สัญญาณเตือนผู้ประกอบการไทย ให้เตรียมพร้อมต่อเทรนด์ Net Zero

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ