TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview'เป้าหมายชัด' และ 'โฟกัสที่ผลกระทบ' จุดเริ่มต้นสู่ความสำเร็จของ "QueQ"

‘เป้าหมายชัด’ และ ‘โฟกัสที่ผลกระทบ’ จุดเริ่มต้นสู่ความสำเร็จของ “QueQ”

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา QueQ เป็นสตาร์ตอัพที่เรียกได้ว่า ประสบความสำเร็จอย่างมากในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการต่อแถวรอคิวหน้าร้านของคนไทยไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสร้างผลกระทบต่อผู้ใช้งานถึง 4 ล้านคน แม้ความสำเร็จนี้อาจไม่มีสูตรที่ตายตัว แต่จุดยืนที่ไม่เปลี่ยนตั้งแต่วันเริ่มต้นของการเป็นสตาร์ตอัพได้สร้างผลพลอยได้ตอบโจทย์ให้กับสังคมในยุคโควิด-19 ติดต่อกัน 2 ปีอย่างชัดเจน

รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ หรือ โจ้ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด เล่าถึงที่มาของความสำเร็จของแพลตฟอร์ม QueQ ที่หลายคนรู้จักให้ The story Thailand ว่า ทุกคนในทีมมีความตั้งใจที่มุ่งไปยังเป้าหมายเดียวกันคือ โปรดักส์ที่มีจะต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อคนในสังคม ทำให้คนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป แก้จุดบอดเดิมให้ได้อย่างถาวร เมื่อจุดเริ่มต้นมีการวางแผนธุรกิจที่ชัดเจนทำให้แบรนด์มีตัวตนที่ชัดเจนเช่นกัน

“เราชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น สิ่งที่เราทำเราเป็น queuing solution ที่ไปแก้เรื่องที่ไม่มีใครแก้มาก่อน เราชัดเจนว่าแก้เรื่องนี้เป็นหลัก เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการมีอยู่ของธุรกิจชัดมาก ๆ ทำให้แบรนด์ดิ้งเราชัดเจน เมื่อลองมาใช้บริการคนสามารถสัมผัสถึงคุณค่าได้” รังสรรค์ กล่าว

ช่วงโควิด-19 ระบาด QueQ ได้รับผลกระทบเช่นกัน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจร้านอาหารเมื่อมีโรคระบาดร้านถูกล็อกดาวน์ ร้านจ่ายค่าบริการไม่ได้ ทำให้ทีมเริ่มท้อ แต่สุดท้าย มีจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นทำให้ทีมมองไปข้างหน้าได้อีกครั้ง

“จากจุดเริ่มต้นที่ QueQ เข้าไปช่วยงานภาครัฐ ที่สถานทูตไทยในลอนดอน ที่เดียวที่โทรมากลางดึก เพราะว่าลอนดอนตอนนั้นทำ Fit to Fly คนมาต่อคิวกันเต็มหน้าสถานทูตเต็มถนน เราทำระบบให้ วันรุ่งขึ้นคิวหายเกลี้ยง มีประกาศให้ใช้การจองคิวล่วงหน้า คนก็ใช้เป็น เริ่มต้นจากภาพ ๆ นั้น แล้วก็ทำให้เกิดโอกาสขึ้น โดยการแนะนำปากต่อปากต่อปากจนเราเข้ามาช่วยอุทยานแห่งชาติ ช่วยคิววัคซีนทั้งกทม. ทำให้ทีมมองไปข้างหน้าว่า สถานการณ์แบบนี้ QueQ กระโดดเข้าไปช่วยให้เกิดผลกระทบได้ในมุมกว้าง พิสูจน์ว่าสิ่งที่เราคิดมันถูก ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ดึงเรากลับมาได้ จึงย้อนกลับมาที่วัตถุประสงค์ของเรามันมีอิมแพกต์เกิดขึ้นกับคนได้จริง แล้วพอเราเดินต่อ ลุยไปข้างหน้าโอกาสต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ”

‘เป้าหมายชัด’ จุดเริ่มต้นสู่ความสำเร็จ

เขาเล่าย้อนไปตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง QueQ ว่า หลังจากที่เรียนจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เข้าทำงานเป็นพนักงานประจำในหลายบริษัทประมาณ 3 ปี งานส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับส่วนระบบที่เป็นมือถือตลอด หลังจากนั้นจึงรวมตัวกับเพื่อน ๆ เปิดบริษัท

รังสรรค์และเพื่อนเปิดบริษัทชื่อ YMMY เป็นบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ จากนั้นเบนเข็มมาพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ ทำมาสักระยะก็แผนว่าอยากมีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มคิดถึงรูปบบธุรกิจ ในขณะที่ตอนนั้นกระแสสตาร์ตอัพเริ่มมาในประเทศไทย เขาคิดได้ 2 ธุรกิจ คือ Makub ทำเรื่อง HR solution และ QueQ

โดยที่ QueQ เริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2556 และแยกออกมาทำจริงจังเป็นสตาร์ตอัพในปี 2558 มีการเติบโตที่ชัดเจน จนสุดท้ายกลายมาเป็นสตาร์ตอัพเต็มตัว ส่วน Makub แยกออกมาทีหลังในช่วงปี 2559

QueQ เกิดจากโจทย์ pain point ของคำถามว่า ทำไมจะต้องมารอคิว เริ่มจากที่เขาเองไปรอคิวธนาคาร รอนานมาก ในขณะที่พื้นที่ให้นั่งรอไม่เพียงพอ ทำให้คนที่ไปใช้บริการจะต้องเดินไปมาใกล้ ๆ ธนาคาร เพราะกังวลว่าจะถึงคิวหรือยัง ระหว่างรอรับบริการไม่สามารถไปทำสิ่งอื่นได้ เสียเวลาไปกับการรอคิวการใช้บริการ

“คิดว่าจริง ๆ แล้วการทำ mobile application ขึ้นมา เพื่อรายงานว่าคิวถึงไหนแล้ว เราจะได้ไปเดินเล่นอย่างสบายใจ เพราะฉะนั้น pain point purpose ของตัว platform หลัก มันคือเรื่องนี้เลย ทำยังไงให้คนไม่ต้องไปเสียเวลาในการรอ ในที่ที่การให้บริการและที่รับบริการ ความสามารถในการบริการมันไม่เร็วมากพอที่จะรองรับผู้ที่ต้องการรับบริการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งได้” รังสรรค์ กล่าว

ปัจจุบัน QueQ มีผู้ใช้งานในระบบทั้งสิ้น 4 ล้านคน โดยเริ่มจากธุรกิจร้านอาหาร ขยายไปธนาคาร และที่เห็นชัดเป็นผลพลอยได้จากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการช่วยลดความหนาแน่นของคนในพื้นที่ ทำให้ตอนนี้วิกฤติโควิดระบาด ข้อดีนี้กลายเป็นจุดขายที่สำคัญเป็นผลพลอยได้ที่เชื่อมโยงกันทำให้ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดจากการมารวมตัวพร้อมกัน คนไม่ต้องเป็นกังวลในการมาเข้าใช้บริการของร้านต่าง ๆ

“หลักการทำงานของผมและทีมคือ การโฟกัสที่จุดประสงค์ของสิ่งที่เราทำว่าต้องการให้เกิดประโยชน์อะไรกับผู้ใช้ สิ่งนี้เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของทีมและการพัฒนาจนระบบ QueQ ได้รับการยอมรับและได้รับการใช้งานอย่างกว้างขวางในตอนนี้”

ความสวยงามของระบบคิวที่ QueQ พัฒนานอกจากการมีฟีเจอร์และฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การใช้งานทั้งฝั่งองค์กรและฝั่งผู้ใช้งานปลายทาง รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดเข้ามาเพื่อประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการปริมาณคนที่ต้องใช้บริการ ณ สถานที่นั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาพรวมและในการปฏิบัติงานหน้างานรายวันแล้ว คือ ความที่ทีมงาน QueQ มี passion ร่วมกันในการที่จะสร้างสิ่งที่มาเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้น สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมได้อย่างชัดเจน นั่นคือ พฤติกรรการ “ต่อคิว” เพื่อรับบริการใด ๆ

“ไม่ใช่แค่ตัวผมทีมงานทุกคน ทำงานกันด้วยใจ ดึกแค่ไหนก็จะต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้งานให้ได้ อาทิ มีคำถามมาตอนเที่ยงคืน เช่น จองคิวเข้าถ้ำนาคาไม่ได้เพราะอะไร ทีมงานเข้าไปช่วยกันแก้ปัญหา ช่วยกันตอบ โดยที่ผมไม่ได้สั่งงาน ทำให้ QueQ กลายเป็นผลผลิตของความทุ่มเทร่วมกันของทีมงาน”

QueQ ไม่ใช่เป็นเพียงผลงานที่เกิดจากการโค้ดดิ้งของโปรแกรมเมอร์ แต่คือแอปพลิชันและระบบการบริหารจัดการคิวที่เกิดจากความตั้งใจของผู้พัฒนาเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานของผู้ใช้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่โควิดระบาด บทบาทของการบริหารจัดการคิวเพื่อบริหารจัดการจำนวนคนที่จะต้องมารับบริการ ณ สถานที่เดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนไม่ต้องมารวมตัวกันเพื่อรอรับบริการที่หน้างานจำนวนมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริการทางการแพทย์ทั้งการรักษาพยาบาล และการรับวัคซีน รวมไปถึงบริการด้านอื่น ๆ

“ภาพที่เกิดขึ้น คือ เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริหารจัดการคิว การรอคิวของหน่วยงานต่าง ๆ และของประชาชน นั่นคือสิ่งที่ทีมงานภูมิใจ”

ขยายธุรกิจใหญ่ขึ้นในจุดยืนเดิม

จริง ๆ จุดเริ่มต้นของ QueQ เริ่มต้นไม่ต่างจากสตาร์ตอัพอื่นที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจ และธุรกิจแรกที่มองว่าน่าจะเป็นลูกค้าได้ก็คือ ธุรกิจร้านอาหาร เพราะเห็นภาพการรอคิวใช้บริการจำนวนมาก มีจำนวนร้านอาหารจำนวนมาก และมีอัตรการใช้งานสูง น่าจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพได้ เมื่อ QueQ เข้ายึดหัวหาดในธุรกิจร้านอาหารได้แล้ว ก็ขยายสู่ธุรกิจอื่นที่ลักษณะการให้บริการในลักษณะเดียวกัน คือ มีสาขาจำนวนมาก มีผู้คนรอใช้บริการจำนวนมาก และมีอัตราการใช้งานมาก นั่นคือธนาคารและโรงพยาบาล จนปัจจุบันบริการของ QueQ นั้นได้ขยายไปสู่จนส่วนงานภาครัฐต่าง ๆ

ความท้าทายของบริการ QueQ คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้งานโดยเฉพาะคนไทย ที่ในบางบริบทจะมีความยาก อาทิ การเปลี่ยนพฤติกรรมการจองคิวร้านอาหาร หากเป็นในต่างประเทศ การโทรไปจองโต๊ะเป็นเรื่องธรรมดามาก แต่ทว่าประเทศไทยคนไทยนิยมไปถึงที่ห้างสรรพสินค้าก่อนแล้วค่อยตัดสินใจว่าจะทานอาหารร้านไหน

“อาจกล่าวได้ว่าการระบาดของโควิดเป็นตัวช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรอคิวการใช้บริการใด ๆ ของคนไทยอย่างมาก ซึ่งช่วยเอื้อส่งให้ QueQ ได้รับการยอมรับใช้งานในหลายหน่วยงานหลายธุรกิจ และผู้ใช้งานรู้จัก ใช้งานเป็น และใช้เป็นประจำ”

รังสรรค์ กล่าวว่า ปีนี้จะได้เห็น QueQ ในบทบาทของการทำงานกับภาคเมืองมากขึ้น คือ ภาพของ QueQ ที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาความหนาแน่นในพื้นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่โควิด-19 ระลอกแรกมาจนถึงระลอกล่าสุด เห็นภาพได้ชัดเจนว่าแนวคิดแบบ QueQ สามารถเข้าไปแก้ปัญหาแบบนี้ได้

เขาย้ำว่า คุณค่าของ QueQ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้บริการในวงกว้างให้เกิดขึ้นจริง ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่อยู่ในแพลตฟอร์มถึง 4 ล้านคน และใน 2 เดือนที่ผ่านมามี active user อยู่ที่ 1 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

เขามองว่าสำหรับกลุ่มร้านอาหารตอนนี้ ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น จากเดิมจะเป็นร้านใหญ่ในห้างที่ใช้ระบบจองคิวออนไลน์ที่มีจำนวนเข้าใช้บริการต่อวันสูง ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิดได้เริ่มคลี่คลายไม่มีการล็อกดาวน์ ร้านอาหารเริ่มกลับมารับบริการได้ ร้านอาหารที่เป็นแบรนด์ใหม่ซึ่งให้บริการนอกพื้นที่ห้างให้ความสนใจใช้ QueQ อย่างเช่น สุกี้ตี๋น้อย, ย่างเนย, ร้านชาบู และYakiniku Like เป็นต้น และในปีนี้อาจมีการจับมือกับ PTTOR ไปใช้ในปั๊ม ปตท.

เมื่อความต้องการใช้งาน QueQ ขยายในผู้ใช้ในวงกว้าง เขาเองต้องเตรียมทีมงานเพื่อรองรับการให้บริการที่เพิ่มมมากขึ้นเช่นกัน เขากล่าวว่า ปัจจุบันทีมงานหลักที่กรุงเทพฯ ประมาณ 50 คน และมีการขยายทีมที่เชียงใหม่และภูเก็ตเพิ่ม และมีการแชร์ทรัพยากรร่วมกันกับสตาร์ตอัพหลายรายทั้งในเครือของบริษัทและนอกเครือ

“เราพบว่ามีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ฝีมือดีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ จำนวนมากฝังตัวอยู่ที่จังหวัดใหญ่ ๆ อาทิ เชียงใหมม่ ภูเก็ต เราขยายทีมด้วยการไปสร้างทีมนักพัฒนาที่นั่น ซึ่งเราทดลองทำมาสักระยะหนึ่งแล้วพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจและมีแผนจะขยายในรูปแบบนี้”​

รังสรรค์ มองว่า การอยู่รอดของ QueQ และสตาร์ตอัพ คือ การร่วมมือกัน นำคุณค่ามาต่อเชื่อมกัน ไม่แข่งขันกันเองแบบห่ำหั่นกัน เพราะภูมิทัศน์ปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่เริ่มเข้าสู่สตาร์ตอัพมากขึ้นมาก เพราะต่างต้องการหา New S-Curve และการทำงานแบบสตาร์ตอัพคือตัวช่วยที่มีศักยภาพ การเข้ามาสู่สนามสตาร์ตอัพขององค์กรขนาดใหญ่มาพร้อมทุนและทรัพยากรจำนวนมาก ดังนั้นสตาร์ตอัพที่มีอยู่เดิมหากไม่ได้เข้าไปร่วมกับองค์กรใหญ่ รูปแบบที่สตาร์ตอัพร่วมมือกันเองก็เป็นรูปแบบที่น่าสนใจ

ตัวอย่างสำหรับ QueQ ที่โฟกัสเรื่องระบบการบริหารจัดการคิว ซึ่งในระบบนิเวศนี้ยังมีความต้องการระบบดิจิทัลด้านอื่น ๆ ที่สตาร์ตอัพสามารถเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ เพิ่มควาสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนได้ อาทิ ในธุรกิจร้านอาหารระบบที่จะเข้ามมาตอบโจทย์ประสิทธิภาพ ได้แก่ ระบบ POS ระบบ ERP และระบบ CRM เป็นต้น

อีกระบบนิเวศ คือ e-commerce ที่มีความต้องการระบบดิจิทัลในหลายส่วน อาทิ ระบบ Fulfillment ระบบ Logistics ซึ่งหากสตาร์ตอัพสามารถร่วมกันนำเสนอคุณค่าร่วมกันเพื่อช่วยผู้ประกอบการได้ จะเกิดประโยชน์ทั้งกับสตาร์ตอัพและผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs

เมื่อถามถึงการระดมทุนของ QueQ เขาตอบว่า ปัจจุบันอยู่ที่รอบ A Plus เป็น A ก็พยายามจะทำให้ไปรอบ B มีการระดมทุนแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แต่ช่วงนั้นโควิด-19 เข้ามา ก็มีนักลงทุนเข้ามาในรอบ A Plus แล้ว ทั้งรายใหญ่และรายย่อย

“เราทำแบบ convertible ซึ่งพอดีที่กฎหมาย convertible ออกมาพอดี QueQ น่าจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ทำโดยใช้กฎหมายนี้ในประเทศ ตอนนี้สร้างทางเลือกด้วยตัวเอง ทำกำไร แล้วก็เข้า ‘Live Exchange’ ก็จะเป็นท่าหนึ่ง อาจจะเป็นการระดมทุนในรอบสั้น ๆ ภายใน 3 ปี แต่ว่าก่อน 3 ปีนี้ ก็อาจมีการระดมทุนรอบ B แต่ว่าก็ยังไม่แน่ว่าจะบิทได้เมื่อไร นี่คือแผนระดมทุนของ QueQ”

เริ่มจาก Deep Tech โอกาสรอดสูง

เขามองว่า การทำสตาร์ตอัพยุคนี้ยากขึ้น โดยเฉพาะ early stage ในการทำแบบ service base ซึ่งอาจเลยจุด hive ไปแล้ว ตอนนี้ถ้าเป็น earlystage น่าจะโฟกัสเรื่องการทำ deep tech มากขึ้น เพราะว่า deep Ttech มี barrier บางอย่าง เช่น license ซึ่งทำให้ไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้เร็ว รวมถึงต้องใช้ต้นทุนในการเริ่มต้นสูง เพราะฉะนั้นสตาร์ตอัพใหม่ ๆ ถ้าเริ่มต้นอยากทำแบบ service base เขามองว่าจะเป็นทางเลือกที่ทำให้ชีวิตลำบากมาก ๆ แต่ถ้าไปเริ่มหาผลวิจัยร่วมมือกับมหาวิทยาลัย แล้วทำ deep tech น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ในการทำสตาร์ตอัพ early stageในยุคปัจจุบัน

“ถ้าสตาร์ตอัพที่เริ่มมาระดับหนึ่งแล้วมีฐานผู้ใช้ไม่มากพอ ไม่ถึงห้าแสน ยิ่งเป็นแบบ B2B หรือจะไปร่วมมือกับองค์กรใหญ่ในการใช้ฐานผู้ใช้ของเขา ถ้าเราไม่มีเทคโนโลยีบางอย่าง อยู่ที่แพลตฟอร์มของเรา เราอาจจะต้องหาท่าในการรวมตัว ท่าในการยึดตัวผู้ใช้ไว้กับแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น ส่วนตัวที่เริ่มเติบโตแล้วบางคนได้รับอิมแพกต์เชิงบวกที่เกี่ยวข้องกับ e-commerce หรือว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งหลาย logistic, fulfillment, education, online education พวกนี้อยู่ขาขึ้น มองว่าไปต่อได้ แต่ที่ได้รับผลกระทบหนัก คือสตาร์ตอัพท่องเที่ยว ผมแนะนำว่าเอาหมวก SME กลับมาใส่ ทำรายได้ ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง มันจะตรงกับ vision ที่เราจะทำสตาร์ตอัพหรือเปล่าไม่รู้ แต่ว่าทำรายได้ ทำกำไร มันถึงจะอยู่รอดได้ ไปหวังเรื่องการลงทุน เพื่อมาต่อยอดตาม mission เดิมจะยากขึ้นเรื่อย ๆ” รังสรรค์ กล่าวทิ้งท้าย

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พันธกิจ “โออาร์” ภายใต้แนวคิด Inclusive Growth

การสื่อสารความถี่ต่ำ … งานวิจัยเพื่อภัยพิบัติ พันธกิจของนักวิจัยไทย “รศ.ดร.รังสรรค์ วงศ์สรรค์”

Vulcan Coalition สตาร์ตอัพ Deep Tech ผู้ขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI ด้วยฝีมือคนพิการ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ