TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewBASE Playhouse สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ใช่ ปลดล็อคศักยภาพ “คน”

BASE Playhouse สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ใช่ ปลดล็อคศักยภาพ “คน”

ไม่ว่าสภาพสังคมจะพัฒนาไปในทิศทางใด หนึ่งในทรัพยากรพื้นฐานที่มีบทบาทสำคัญที่สุดต่อการพัฒนา ก็คือ “คน” ดังนั้น การให้การศึกษา อบรม และบ่มเพาะความรู้เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและศักยภาพที่สุดจึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ CEO& Co-Founder และ ภีศเดช เพชรน้อย Co-Founder & Learning Designer แห่ง BASE Playhouse ต่างเห็นว่า การศึกษาอบรมตามหลักสูตรดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาของไทยในปัจจุบัน กลับไม่อาจตอบโจทย์สังคมยุคใหม่และอนาคตต่อไปได้

ในฐานะผู้คว่ำหวอดอยู่ในวงการศึกษามาสักระยะหนึ่ง เมธวิน กล่าวว่า สังคมยุคใหม่ต้องการ “คน” ที่รู้รอบและรู้ลึก ตลอดจนมีความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับ “นวัตกรรม” หนึ่งในทักษะความสามารถสำคัญที่บริษัทองค์กรต่าง ๆ ต้องการมากที่สุด โดยองค์กรประกอบที่ทำให้เกิดนวัตกรรม ประกอบด้วย ธุรกิจ การออกแบบ และเทคโนโลยี (Business, Design and Technology) 

ทั้งนี้ การรู้รอบรู้ลึกหรือที่เรียกว่า T-Shape เป็นการอธิบายถึงลักษณะความรู้ที่จำเป็นต่อโลกยุคใหม่ โดยตัวเส้นแนวนอนข้างบน คือ การรู้กว้าง ขณะที่เส้นแนวตั้ง คือ การรู้ลึกที่จะทำให้คน ๆ หนึ่งมีความเชี่ยวชาญชำนาญในศาสตร์หนึ่ง ๆ

ในเรื่องของความรู้กว้างนี้ หมายถึง Soft Skill ซึ่งประกอบด้วยความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ความร่วมมือทำงานเป็นกลุ่ม (Collaboration) และการสื่อสาร (Communication) ขณะเดียวกันก็บวกปัจจัยอีกหนึ่งตัวที่เพิ่มเข้ามา คือ การจัดการตนเอง (Self-management) ซึ่งเป็นเรื่องของความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกภายในของตนเอง 

“ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไหน คุณจะเป็นฝ่ายเทคนิค ดีไซเนอร์ หรือผู้บริหาร คุณก็ต้องมีชุดทักษะพื้นฐานของ Soft Skill เหล่านี้ครบทั้งหมด เพราะมันอยู่ในทุกกระบวนการตัดสินใจ (decision making) ไม่ว่าจะอยู่ในความเชี่ยวชาญไหนก็ตาม”

ด้วยเห็นว่า Soft Skill เป็นความสามารถที่ทุกคนต้องมีแต่กลับไม่มีสอนที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถาบันองค์กรใด ๆ บวกกับการที่มีโอกาสได้จัดทำคอร์สฝึกอบรมทักษะทางธุรกิจให้กับโรงเรียนมัธยมที่เคยเรียนอยู่ ทำให้ เมธวิน พูดคุยกับ ภีศเดช เพื่อนร่วมเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกัน ตั้งคำถามถึง “การสร้างกระบวนการเรียนรู้” ที่ในที่สุดก็กลายเป็นบริษัท BASE Playhouse ที่เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ให้บริการฝึกอบรมทักษะ Soft Skill ต่าง ๆ อยู่ในเวลานี้ 

ความเป็นมาของ BASE Playhouse

ย้อนกลับไปช่วงปี 2016 แม้ว่าการฟอร์มทีมจัดคอร์สอบรมการทำธุรกิจ 4 วันให้กับนักเรียนมัธยมตามคำขอของครูในฐานะศิษย์เก่าจะจบลงโดยที่เด็ก ๆ ไม่ได้รับรางวัลใด ๆ แต่ความเห็นของเด็ก ๆ ที่ตอบกลับมาว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้มีประโยชน์มากกว่าสิ่งที่เรียนในโรงเรียน ทำให้เมธวินเห็นตัวเองชัดขึ้น และรู้ว่าควรจะพัฒนาต่อไปในด้านใด กระทั่งเริ่มตั้งคำถามกับตนเองเกี่ยวกับแผนการฝึกอบรมว่าจะสามารถต่อยอดทำเป็นธุรกิจได้หรือไม่

“เพราะส่วนตัวเป็นอะไรที่ชอบสอนแล้วด้วย ตอนนั้นก็เริ่มตีโจทย์ จากตรงนั้นมาก็ต่อยอดกลายเป็นการทดสอบ ทดลอง ต่อยอดผลิตภัณฑ์ของเรามาเรื่อย ๆ จากตอนแรกที่สอนคอร์สธุรกิจให้กับเด็ก ๆ เราก็ตามตนเองต่อว่า มันเวิร์คแล้วใช่ไหม จากนั้นก็ต้องทดสอบตลาด แล้วต่อด้วยการวิจัยค้นหาเพิ่มเติม จนพบว่ามันมีทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่เป็น Thinking, Creativity, Critical Thinking แล้วก็ Doing ที่เป็น Collaboration และ Communication ซึ่งจำเป็นมากไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ไหนที่เข้ามา ทักษะพวกนี้ก็ยังจำเป็นต้องใช้อยู่เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย เราก็เลยเอาพวกนี้มาทำคอร์สฝึกทักษะเหล่านี้ ซึ่งพอทำคอร์สก็มี มหาวิทยาลัย และหลายองค์กรที่สนใจติดต่อมา”

ความสนใจที่ได้รับให้ BASE Playhouse สามารถขยายผลิตภัณฑ์ของบริษัทเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่เริ่มต้นตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา มหาวิทยาลัย ไปจนถึงคนวัยทำงานในองค์กร

เมธวิน กล่าวว่า พอทำคอร์สไปได้สักพักเกือบ 1 ปี ก็ประจวบเหมาะกับที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการ CU Innovation Hub เป็นปีแรก และมีโครงการ Siam Innovation District (SID) เป็นหนึ่งในโครงการย่อย โดยมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันนวัตกรรมสตาร์ตอัพที่เกิดจากศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของจุฬาฯ

“เราเข้าไปสมัครแล้วก็ผ่านกระบวนการจนได้รับเงินหนุนก้อนแรกนำมาพัฒนาระบบภายใน ในการตั้งต้นในการสร้างทีม และออกแบบกระบวนการ (เรียนรู้) ทำพาร์ทเนอร์กับจุฬาฯ แล้วก็ระดมทุน โดยมีจุฬาฯ สนับสนุน ทำให้ BASE มีเครื่องมือ มีบอร์ดเกม มีเกมจำลอง (simulation game)”

ออกแบบกระบวนการการเรียนรู้ คือ งานหลัก

หากมองจากภาพกว้าง เมธวิน กล่าวว่า BASE Playhouse เป็นที่รู้จักในฐานะองค์กรที่จัดเวิร์คชอปฝึกอบรม แต่เบื้องหลังจริงแล้ว BASE Playhouse ได้ให้นิยามกับตนเองและเห็นว่าเป็นคำที่เหมาะกับงานของบริษัทมากที่สุด นั่นคือ Learning Designer หรือผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ 

“สิ่งที่เราทำ คือ เราออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เราออกแบบวิธีการเรียนรู้ของคนโดยใช้หลักทางจิตวิทยา ใช้หลักของ Learning Design (การออกแบบการเรียนรู้) โดยใช้หลักของประบวนการในการออกแบบการเรียนรู้ของมนุษย์มาผสมกัน ใส่การออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ลงไป ใส่องค์ประกอบต่าง ๆ ที่ทำให้การเรียนรู้สนุกขึ้น แล้วเราก็รับโจทย์มาไม่ว่าจะเป็นจากโรงเรียน ห้องเรียน บริษัทองค์กรมา ซึ่งโจทย์ส่วนใหญ่ที่ได้มาก็คือ ถ้าอยากให้มนุษย์คนหนึ่งหรือเด็กคนหนึ่งขยับจากจุดเอ หรือเก่งขึ้นไปที่จุดบีต้องทำอย่างไร” 

โจทย์ที่ได้ ก็คือ วัตถุประสงค์ ซึ่งส่วนใหญ่ ก็คือ ทักษะที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือองค์กร ต้องการที่จะบ่มเพาะทักษะบุคลากรของตน สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ การค้นหาและออกแบบ “กระบวนการเรียนรู้” ที่จะสร้างกลุ่มเป้าหมายให้มีทักษะ หรือความสามารถที่จะช่วยพัฒนาให้คน ๆ นั้น ก้าวไปข้างหน้าได้

“เราเปลี่ยนจากคำว่า “ทักษะ” เป็นความสามารถ เพราะมันมีอะไรมากกว่านั้น มันมีทักษะ ความรู้ และวิธีคิด (mindset) ซึ่งสุดท้ายแล้วมันคือ การที่คน ๆ หนึ่งทำสิ่งนั้นขึ้นมาได้ หน้าที่ของเรา คือ การแตกองค์ประกอบนั้นขึ้นมาตามโจทย์ที่ได้ แล้วสร้างมันออกมาเป็นกระบวนการให้เขาทำได้จริง ให้เขาพัฒนาตนเองไปถึงจุดนั้นได้จริง โดยใช้ศาสตร์ต่าง ๆ มาผสมกัน” 

ทั้งนี้ เมื่อถามว่า ทำไม BASE Playhouse จึงมุ่งเน้นความสำคัญไปที่ “ทักษะ” โดยเฉพาะ Soft Skill เพราะทักษะดังกล่าวเป็นทักษะที่ต้องใช้มาก ๆ ในโลกของความเป็นจริงที่

เมธวิน ได้สัมผัสมาด้วยตัวเองหลังจากเรียนจบปริญญาตรีและโทในด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอากาศยานและระบบเครื่องบินไอพ่น ที่ทำให้ตนเองมีความรู้ด้านเทคนิคในเชิงลึกมาก ๆ แต่กลับไม่ค่อยมีทักษะ Soft Skill เท่าที่ควรจะเป็น 

“เด็กมักจะถูกสอนแค่วิชาการในห้องเรียน แต่ไม่เคยถูกสอนเรื่อง Soft Skill ในห้องเรียนเลย ทำให้เรารู้ว่า สิ่งเหล่านี้แหละ คือ สิ่งที่เราจะทำ แล้วเราก็หยิบส่วนนี้มาหาข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งทำวิจัยค้นคว้า และสั่งสมประสบการณ์ เอามาตกผลึกผูกเข้ากับงานวิจัยต่าง ๆ แล้วก็ผสมกับทักษะบริหารส่วนตัว จากนั้นก็เก็บชั่วโมงบิน ตอนที่เราทำ BASE Playhouse ช่วงแรก ๆ เราออกแบบกระบวนการเยอะมาก ทำให้เรามีความเชี่ยวชาญชำนาญการที่ค่อย ๆ สั่งสมมา จากการศึกษาของเราและจากการลงมือทำจริง ๆ”

เชื่อในกระบวนการเรียนรู้ที่ใช่ 

ด้าน ภีศเดช เพชรน้อย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง BASE Playhouse กล่าวว่า ด้วยความสนใจในด้านธุรกิจและเทคโนโลยี ทำให้แม้จะเรียนจบในสาขาบัญชี แต่เจ้าตัวก็ตัดสินใจเลือกทำงานในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับด้านธุรกิจและเทคโนโลยี เพราะรู้สึกว่าเทคโนโลยีสามารถปลดล็อคมนุษย์ได้ด้วยต้นทุนที่ถูกที่สุดแล้วตั้งแต่มีมา ก่อนตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านนวัตกรรม ซึ่งในช่วงที่เรียนนี้เองทำให้ได้รู้จักศาสตร์หนึ่งที่เรียกว่า “การจัดการความรู้” (Knowledge Management)

“การที่จัดการความรู้ในองค์กรดี ๆ ได้ มันทำให้นวัตกรรมเกิดได้ ตอนนั้นที่คุยกัน (เมธวิน) แล้วเดินเข้าห้องสมุดมหาวิทยาลัย แล้วดูว่าวิธีไหนที่จะทำให้ความรู้ถูกออกแบบได้อย่างมีระบบ เราก็ไปเจอการออกแบบการเรียนรู้ (Learning Design) เราก็ไปอ่านแล้วรู้สึกว่า BASE ที่พวกเราทำอยู่มันมีศาสตร์ของมันนะ มันมีทฤษฎีของมัน เราคิดกันเกือบครบแล้ว พอเอาศาสตร์มาจับก็เลยครบมากขึ้น การออกแบบการเรียนรู้ก็เลยเป็นศาสตร์หนึ่งที่ BASE เอามาใช้ในกระบวนการสร้างการเรียนรู้ แต่พอเวลาเราจะปรับแต่ง (customize) โจทย์ให้กับองค์กรไหน ตัว Domain Expert (ความชำนาญหลัก) มันอาจจะมาจากโจทย์ที่องค์กรนั้นโยนมาให้ แล้วเราก็เอากระบวนการเรียนรู้ของเราผสมเข้าไปกลายเป็นการเรียนรู้แบบใหม่ที่เราออกแบบไว้”

ภีศเดช กล่าวชัดเจน ว่า เมื่อสามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ใช่ ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมไม่ผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ก่อนย้ำว่า สิ่งที่ BASE Playhouse ทำไม่ใช่แค่รับจัดเวิร์คชอป ฝึกอบรมเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นกึ่ง ๆ ที่ปรึกษา เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะสร้างบุคลากรที่เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรเพื่อที่องค์กรจะสามารถพัฒนาต่อไปได้

ขณะที่ เมธวิน เสริมว่า สิ่งที่ BASE Playhouse มีคือ ภูมิความรู้ (background knowledge) หรือก็คือองค์ความรู้เกี่ยวกับทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น คำจำกัดความ รู้องค์ประกอบต่าง ๆ เพราะฉะนั้น เขามาพร้อมปัญหา BASE Playhouse จะเป็นคนกะเทาะ (crack) ให้ว่าปัญหานั้นของเขามันควรจะตอบด้วยทักษะอะไร เพราะฉะนั้น สิ่งนั้นคือสิ่งที่คิดให้ และโจทย์ที่เขาให้มาด้วย บางครั้งมีเวลาแค่ 1 วัน ขอ Critical Thinking หรือมีคน 50 คน ซึ่งแต่ละครั้งด้วยข้อจำกัดบางอย่างที่เป็นเงื่อนไขมาจากองค์กร

“เราก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์พอที่จะออกแบบกระบวนการที่ยังคงมีประสิทธิภาพอยู่แต่สามารถส่งต่อ (Deliver) ไปได้ ภายใต้รูปแบบนั้น คือ ความท้าทายของการออกแบบการเรียนรู้ (Learning Design) คือ ความสร้างสรรค์ต้องค่อนข้างสูงมากในการออกแบบสิ่งเหล่านั้น”

จาก Knowledge-Based Learning สู่ Simulation-Based Learning

ทั้งนี้ หนึ่งในจุดขายหลักของกระบวนการเรียนรู้ที่ BASE Playhouse คือ ความสนุก โดย เมธวิน อธิบายว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้การฝึกอบรมไม่ประสบผลสำเร็จก็เพราะกระบวนการเรียนรู้ถ่ายทอดทักษะมันน่าเบื่อไม่สนุก

กระบวนการฝึกอบรมในอดีตจะเป็นการอบรมแบบ lecturer-based คือ มีวิทยากร 1 คนพูดพร้อมฉายภาพประกอบ ซึ่งย้อนกลับไปในยุคนั้นที่ให้ความสำคัญกับความรู้ และสังคมยังไม่ต้องการคนที่ทำงานได้หลากหลาย กระบวนการเทรนนิ่งดังกล่าวย่อมตอบโจทย์ในระดับหนึ่ง เพราะคนเพียงแค่มาฟังรับความรู้ไปแล้วก็นำไปประยุกต์ใช้ต่อ

กระนั้น เมื่อเวลาผ่านไป การเทรนนิ่งดังกล่าวไม่เพียงพออีกต่อไป เริ่มมีความต้องการที่จะเรียนรู้ด้วยการลองลงมือทำกันมากขึ้น การอบรมในขั้นต่อมาจึงเป็นกระบวนการกึ่ง ๆ เวิร์คชอป โดยแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่เป็นการนั่งฟังการบรรยายเพื่อทำความเข้าใจ และส่วนที่สอง คือ ส่วนที่เป็นการลงมือทำผ่านกิจกรรมที่เป็นแบบฝึกหัด เป็นวิธีการทำงานเป็นกลุ่ม

ขณะที่ถัดมาในยุคปัจจุบัน การฝึกอบรมทั้งสองแบบข้างต้นไม่พอที่จะตอบโจทย์ความต้องการของสังคมยุคใหม่ ที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม หรือองค์กรที่ต้องการให้เข้าไปฝึกอบรมต้องการให้ได้ประสบการณ์ หรือได้เผชิญกับสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น ซึ่ง BASE Playhouse เรียกการฝึกอบรมรูปแบบที่ 3 นี้ว่า Simulation-based หรือการฝึกอบรมด้วยการจำลองสถานการณ์

“ในที่นี้ คือ การสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมา เอาเขามาอยู่ภายใต้สถานกาณ์จำลองที่สามารถจำลองสถานการณ์การเรียนรู้ให้เหมือนกับการทำงานจริงให้มากที่สุด มันเริ่มตั้งแต่การใช้บอร์ดเกม ซึ่งถือเป็น simulation-based หรือแม้กระทั่งการจำลอง hackathon ที่เราทำให้ WEDO ก็ถือเป็น simulation-based”

เมธวิน ขยายความนิยมของคำว่า การเรียนรู้ด้วยสถานการณ์จำลอง ว่า เป็นการจำลองสถานการณ์ที่คน ๆ นั้น จะต้องเผชิญจริง ๆ เมื่อเข้าไปอยู่ในวงการใดวงการหนึ่ง เช่น จำลองสถานการณ์ธุรกิจ เพื่อดูว่าคน ๆ หนึ่ง เมื่ออยู่ในสถานการณ์นั้นจริงจะคิด ตัดสินใจและลงมือทำอย่างไร 

“ข้อดีของการจำลอง (simulation) คือ ลงมือปฏิบัติได้จริง (practical) เพราะบริบทที่เขาเจอ คือ บริบทที่ใกล้เคียงกับการทำงานจริง มันจะลดช่องว่างของการทำงานที่เรียนไปแล้วไม่ได้ใช้ พูดง่าย ๆ ก็คือ อาจจะทำได้ในบริบทของโจทย์ แต่พอเจอของจริงที่ต้องทำจริงกลับไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานต่อได้ เพราะสภาพแวดล้อมไม่เหมือนกัน ซึ่ง simulation – based จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมนั้นให้เหมือนจริงมากขึ้น”

นอกจากจะทำให้สามารถลงมือปฏิบัติได้จริงภายใต้สถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง การเรียนรู้แบบ simulation-based ยังมีข้อดีอีกอย่าง คือ การประหยัดเวลา หรือช่วยลดระยะเวลาของการฝึกอบรม แทนที่จะออกไปลงมือทำจริงใช้เวลา 2-3 เดือน ทำแล้วรอประเมินพิจารณาว่าดีไม่ดีอย่างไร simulation-based กลับลดเวลาดังกล่าวให้จำกัดอยู่ภายในระยะเวลาฝึกอบรม 2-3 ชั่วโมง หรือ 2-3 วัน

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อดีข้อที่สามของ simulation based คือ การให้ลงมือทำจริง ๆ แล้วได้รับการตอบรับ (Feedback) กลับมาแทบจะในทันที ทำให้กระบวนการเรียนรู้ได้ครบทั้ง ความรู้ (knowledge), ทักษะ (skill) และ วิธีคิด (mindset)

“ถ้าเป็น lecturer-based ก็ได้แค่ความรู้ activity-based ก็ได้ความรู้และทักษะ แต่สำหรับ simulation-based ก็ได้องค์ประกอบที่ 3 เพิ่มเข้ามาคือ วิธีคิด (mindset) เนื่องจาก simulation มีการจำลองสถานการณ์และ feedback ที่ชัดเจนว่าทำออกมาแล้วดีไม่ดีอย่างไร”

ในมุมมองของเมธวิน กระบวนการเรียนรู้แบบ simulation จะช่วยเปลี่ยนวิธีคิดของคนที่จะช่วยสร้าง “ความสามารถ” ของคนและทำให้คนเรียนรู้ได้ครบทุกด้าน โดยการฝึกอบรมแบบ simulation-based แต่ละครั้ง สิ่งที่จะแตกต่างออกไปก็คือ “เครื่องมือ” ที่นำมาใช้ เช่น การใช้เกม (gamification) หรือบอร์ดเกม 

กระบวนการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ต้อง “วัด” ได้ 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของสองผู้บริหาร BASE Playhouse ต่อให้ตั้งเป้าไว้ชัดเจน และมีกระบวนการเรียนรู้ พร้อมชุดเครื่องมือฝึกอบรม แต่การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถครบสมบูรณ์ได้เลย หากไม่สามารถวัดหรือประเมินผลให้ผู้เรียนตระหนักถึงผลลัพธ์ความสามารถของตนเอง 

“จริง ๆ แล้ว การวัดทักษะอย่างซอฟท์สกิล เป็นอะไรที่วัดยากมากอยู่แล้ว แต่ BASE Playhouse ก็พิสูจน์ได้ว่า ซอฟท์สกิล วัดได้ ถ้าเราออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง” เมธวินกล่าว

ด้านภีศเดช เสริมว่า การออกแบบกระบวนการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ยาก และความท้าทายของกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ในแง่ของโมเดลธุรกิจก็เป็นปัญหาสามัญแบบเดียวกับวงการศึกษาไทย คือ การวัดคุณภาพของกระบวนการ 

“ความยากของสิ่งที่เราทำอยู่ คือ การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับคน เกี่ยวข้องกับผู้เรียนโดยตรง แล้วการไม่มีคุณภาพแค่เสี้ยวเดียว ก็จะส่งผลต่อชีวิตของคนเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเด็ก เพราะฉะนั้น คุณภาพจึงสำคัญที่สุด”

“BASE Playhouse เราเชื่อมั่นในกระบวนการมาก เราเชื่อในประสิทธิภาพของกระบวนการ ถ้าไม่มีประสิทธิภาพ เราจะไม่ทำ เราจะปฏิเสธงาน เพราะฉะนั้น โจทย์ที่ยากของเราในช่วงเวลาที่ผ่านมา คือ จะวัดอย่างไรในเมื่อ know-how หรือความพิเศษของกระบวนการที่เราทำมันมีแค่ไม่กี่คนที่ทำได้”

จากมุมมองข้างต้นทำให้ BASE Playhouse กลับมาขบคิดหาวิธีการในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ดีเพื่อส่งมอบคุณค่าไปให้กับผู้เรียน รวมถึงค้นหาวิธีการในการวัดที่ถูกต้อง แม่นยำและเหมาะสม 

คำถามข้างต้น ทำให้แต่เดิมที่ BASE Playhouse เป็นบริษัทธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ที่มีหน่วยธุรกิจให้บริการฝึกอบรมแก่โรงเรียน (Youngster Unit) และองค์กร (Corporate Unit) ได้ต่อยอดให้เกิดส่วนของสตาร์ทอัพขึ้นมา เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพที่ BASE Playhouse ต้องการจะส่งต่อไปให้ผู้เรียน สามารถเข้าถึงทุกคนจริงๆ 

“ในมุมของสตาร์ตอัพ มันมีทั้งสื่อการสอน เรามีหลายโปรเจ็กต์ที่ทำร่วมกับหลายหน่วยงานและผู้ร่วมลงทุน (Venture Capital) ต่าง ๆ สร้างเป็นสื่อการสอนที่สามารถวัดได้ (scalable) ขึ้นมา เช่น บอร์ดเกม ที่สามารถให้ครูเอาไปใช้ในห้องเรียนได้ แล้วเป็นบอร์ดเกมที่ถูกออกแบบมาเพื่อฝึกทักษะขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยบอร์ดเกมจะเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชัน วัดผลคนเล่นได้จริง ๆ ว่ามีทักษะเท่าไร ขณะที่อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่เป็นไฮไลท์ของเราในช่วงที่ผ่านมาก็คือ SEEN” 

Project SEEN กลไกหลังบ้านกับการจัดการ Data 

เมธวิน ระบุว่า SEEN เกิดขึ้นมาภายใต้ความเชื่อที่ว่าทุกความสามารถวัดผลได้ ถ้ามีกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง โดย SEEN เป็นโปรเจ็กต์สตาร์ตอัพตัวใหม่ของ BASE ที่มีเป้าหมาย คือ ทำอย่างไรก็ได้ที่ให้ทุกความสามารถของมนุษย์ โดยเฉพาะตั้งแต่เด็กมัธยม มหาวิทยาลัย จนถึงวัยทำงานสามารถมองเห็นทักษะความสามารถของตนได้จริง รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการที่จะคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงานในองค์กร 

“สิ่งนั้น (SEEN) ต่อยอดจากโมเดลที่เป็นแค่ “การเรียนรู้” มาสู่การวัดประเมินผล (Assessment) แต่โฟกัสหลักของเรายังคงเป็นความสามารถที่วัดได้ยากที่สุดแต่สำคัญที่สุดก็คือ Soft Skill”

ดังนั้น SEEN จึงเป็นแพลตฟอร์ม ที่สามารถวัดผลซอฟต์สกิลได้ และทำให้เห็นศักยภาพของผู้สมัครหรือผู้เข้ารับการคัดเลือกกับทางสถาบันการศึกษาหรือองค์กรแบบเรียลไทม์

ภีศเดช อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อไรที่คน ๆ หนึ่งรู้ระดับศักยภาพของตนเอง คน ๆ นั้นก็จะพัฒนาต่อไปได้อย่างถูกต้อง และเพื่อให้ SEEN แจ้งเกิดได้เร็วที่สุด BASE Playhouse จึงเบนกลุ่มเป้าหมายของโปรเจ็กต์ SEEN ไปที่ กลุ่มบริษัทองค์กร ที่มีแนวโน้มจำเป็นต้องใช้งาน SEEN เพราะองค์กรเหล่านี้ต้องการวัดคัดกรองผู้สมัครเข้าทำงาน เพื่อลดปัญหาช่องว่างทางทักษะและวัฒนธรรม (Skill Gap & Culture Gap) ซึ่งเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ที่ให้คนทำงานในองค์กรได้ไม่นานก็ลาออก หรือทำงานไม่ได้อย่างที่ให้สัมภาษณ์ไว้

“คุณสมบัติ (feature) แรกสุดของ SEEN คือ การวัดทักษะต่าง ๆ แบบอิงหลักฐาน (evidence-based) หมายความว่า จากที่แต่ก่อนส่งประวัติการทำงานและให้สัมภาษณ์ ซึ่งวัดได้แค่ทักษะการพูด หลาย ๆ องค์กร พลาดตรงนี้มาก คือ ได้คนที่พูดเก่งไป แต่พอไปทำงานจริง ๆ กลับทำไม่ได้อย่างที่พูด เราก็เลยเปลี่ยนวิธีคิดจากการสัมภาษณ์ไปเป็น evidence-based หมายความว่าองค์กรควรจะให้โจทย์เขาเลยว่าถ้าอยากจะวัดทักษะด้านนี้ของคนๆ หนึ่งก็ให้โจทย์เลยเพื่อให้เขาแสดงทักษะออกมา ซึ่งโจทย์เหล่านั้น SEEN จะเป็นผู้คอยแนะนำให้ ว่าถ้าอยากจะวัดอาชีพนี้ต้องตั้งโจทย์แบบไหน”

ขณะที่ เมธวิน กล่าวว่า นอกจากวัดทักษะแล้ว SEEN ยังวัดความเหมาะสมสอดคล้องด้านวัฒนธรรมองค์กร หรือที่เรียกว่า cultural fit ซึ่งหมายความว่า หลายคนที่ลาออกจากองค์กรไป ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ ส่วนใหญ่ทำได้ตามความสามารถแต่วัฒนธรรมการทำงานไม่ตรงจริต

“เพราะฉะนั้น เป็นโจทย์อีกโจทย์หนึ่งที่เราอยากกะเทาะให้ได้ เราใช้หลักจิตวิทยาในการช่วยวิจัยว่า คาแรคเตอร์ของคนจริง ๆ มันเป็นอย่างไรบ้าง แบ่งได้กี่แบบ เราเอาแบบทดสอบทุกอย่างบนโลกใบนี้ แล้วเค้นออกมาเป็นข้อมูลว่าแต่ละอาชีพ แต่ละสาขา มันควรจะมีคาแรคเตอร์แบบไหน แล้วช่วยลดช่องว่างของการไม่เข้ากัน (match) รวมถึงการทำวัฒนธรรมขององค์กรให้ตรงกันด้วย”

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือ กลไกหลังบ้านที่ BASE Playhouse ออกแบบมาให้ระบบ SEEN สามารถทำงานได้และวัดผลได้

ดังนั้น ภาพที่สองผู้บริหารมีร่วมกันก็คือการที่องค์กรต่างๆ สร้างโจทย์ของตนเอง ไม่ว่าจะเปิดรับผู้สมัครแบบไหนก็ตาม SEEN สามารถเก็บรวบรวมข้อมูล ประมวลประเมิน วิเคราะห์ เป็นข้อมูลเบื้องลึก ที่องค์กรเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล 

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ประโยชน์ในการคัดสรรบุคลากรที่เหมาะสมกับองค์กรเท่านั้น SEEN ยังสามารถต่อยอดกลับไปที่ความถนัดแรกเริ่มของ BASE Playhouse นั่นคือ การเสริมสร้างอบรมพัฒนาทักษะ

“ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทักษะของคน ๆ หนึ่งอยู่ในทุกจุดการทำงานขององค์กร การที่พนักงานคนหนึ่งจะไต่บันไดขึ้นไปยังตำแหน่งที่สูงขึ้นไปในองค์กรได้ อันนั้นคือ การสร้างทักษะ แต่การสร้างทักษะนั้นวัดไม่ได้อยู่ดี ซึ่งพอวัดไม่ได้ การเลื่อนขั้นปรับตำแหน่ง (promotion) ก็ทำได้ยาก ดังนั้น SEEN ขั้นแรก คือ การคัดสรรคนเข้ามาก่อน แต่ในอนาคตมันจะต่อยอดไปในจุดอื่นที่เป็นการเทรนนิ่ง และการพัฒนา”

แน่นอนว่า ความชำนาญหลักของ BASE Playhouse ยังคงเป็นการฝึกอบรมทักษะต่าง ๆ เหมือนเดิม เพิ่มเติมก็คือทำให้กระบวนการที่ว่านี้สมบูรณ์มากขึ้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับองค์การหรือหน่วยงานต่าง ๆ ได้มากขึ้น 

“ต้องบอกว่า เวลาเราสร้างคน ๆ หนึ่งให้เก่ง การออกแบบการเรียนรู้ก็มีแค่ไม่กี่จุด หนึ่งคือ ตั้งวัตถุประสงค์ของการเรียน ว่าอยากให้เขาเก่งขึ้นอย่างไร จากนั้น คือ การ “สร้าง” (build) คือ การเอาวัตถุประสงค์นั้นมาสร้างกระบวนการการเรียนรู้ แต่มันจะจบวงจรลูปของมันได้ก็ต่อเมื่อมีการวัด เพราะถ้าไม่วัดมันจะไปต่อ เพื่อพัฒนาต่อไม่ได้ โดยหนึ่งกับสองเราทำแล้ว ที่ขาดไปตอนนี้คือการวัดผล ซึ่งเรากำลังโฟกัสที่สิ่งนั้นเพื่อทำให้ BASE Playhouse เป็นคนที่ปล่อยกระบวนการเรียนรู้ที่ครบ ที่ใช่ และตั้งแต่ต้นจนจบลูปได้”

เป้าหมาย คือ ยกระดับคุณภาพการศึกษา 

ทั้งนี้ เมื่อ BASE Playhouse ไม่ได้เป็นแค่ผู้ให้บริการฝึกอบรมอีกต่อไป ทำให้ BASE ปรับวิสัยทัศน์ขององค์กรใหม่มาเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องให้กับมนุษย์โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ 

“ดังนั้นมันจะไม่ใช่แค่การสร้างเด็กแล้ว เราถอยมาในจุดที่กว้างกว่า แล้วกระบวนการเรียนรู้ของคน มันเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต สิ่งที่ BASE พยายามจะตีโจทย์ คือ การตีโจทย์การเรียนรู้ในทุกช่วงชีวิตของคนตั้งแต่เด็กไปจนถึงการทำงาน” 

สำหรับเป้าหมายภายในปี 2564 นี้ ในส่วนของเอสเอ็มอี BASE Playhouse ตั้งเป้าที่จะขยายพันธมิตรความร่วมมือกับทางโรงเรียนในการเพิ่มการฝึกอบรม Soft Skill และประยุกต์ใช้แอปพลิเคชั่นให้มากขึ้น ขณะที่ในส่วนของบริษัทองค์กร BASE ตั้งใจที่จะเป็นที่ปรึกษาในการช่วยให้บริษัทออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นขององค์กรนั้น ๆ โดยเฉพาะ

ในส่วนของสตาร์ตอัพ เมธวินกล่าวว่า BASE Playhouse อยากใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเปลี่ยนกระบวนการการศึกษา หรือกระบวนการเรียนรู้ของคน

“เป้าหมายของเรา คือ เราอยากจะสร้าง อยากจะเป็นคนแรกที่สร้างเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำที่สุดเพื่อเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ของคน เพราะเราเชื่อว่า สุดท้ายเทคโนโลยีจะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างได้ ทุกวันนี้สาเหตุที่การศึกษาไทยมันยังกระจายไม่ทั่วถึง เพราะเทคโนโลยีมันยังไม่ถึงจุดที่ปลดล็อค เราไม่สามารถปั๊มครูที่เก่งออกมาแล้วให้ AI สอนแทนครูที่เก่งที่สุดออกมาได้ในทุกโรงเรียน เรายังทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ถ้าวันหนึ่งเทคโนโลยีถึง เราจะลดช่องว่างความสามารถของครูได้ และเราจะทำให้กระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนของทุกโรงเรียนเป็นการเรียนรู้ที่ “Sexy” และ “Meaningful” ได้“

ขณะเดียวกัน สองผู้บริหารเห็นตรงกันว่า แม้จะตั้งเป้าเบนเข็มมาให้ความสนใจที่สตาร์ตอัพมากขึ้น แต่ BASE Playhouse ก็ไม่ได้ตั้งความหวังว่าจะต้องไต่ไปให้ถึงระดับยูนิคอร์น 

ทั้งนี้ เมธวิน กล่าวว่า ภาพที่อยู่ในหัวของตน คือ สักวันหนึ่ง BASE ต้องเป็นบริษัทหรือองค์กรหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในมุมของการสร้างเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่มีความหมายที่สุดให้กับคน ซึ่งหากทำได้แบบภาพที่ปรากฏในหัว เมธวินเชื่อว่า ยูนิคอร์น ก็คงไม่เกินเอื้อม

ด้าน ภีศเดช ยอมรับว่า ส่วนตัว ไม่ได้อยากเป็นยูนิคอร์น แต่สิ่งที่อยากได้ คือ การศึกษาที่แท้จริง ซึ่งต้องมีทั้งความรู้ ทักษะ และวิธีคิด ส่วนจะได้เป็น Edtech หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

เมธวิน กล่าวเสริมว่า ไทยตอนนี้อยู่ในระดับ Tech for Education ไม่ใช่ Edtech คือ ใช้เทคโนโลยีสร้างโซลูชันบางอย่างขึ้นมาเพื่อเอื้อให้กระบวนการเรียนรู้มันง่ายขึ้น แต่ไม่ได้ไปยกระดับที่กระบวนการการเรียนรู้ของคน 

“ส่วนตัวเราอยากให้ผู้ปกครองในไทยตระหนักว่าสมรรถนะ คือ อะไร และจะให้ลูก ๆ พัฒนาไปได้อย่างไร คือถ้าผู้ปกครองมีชุดความคิดที่คล้าย ๆ กันกับองค์กรว่าแบบอยากให้เด็กของตนเป็นแบบไหน แล้วคุยกับเด็กนักเรียนทุกคน ให้น้อง ๆ ตั้งเป้าหมายของตนเอง แล้วผู้ปกครองเป็นคนช่วยเติมให้ความสามารถเหล่านั้นมันครบถ้วน อย่างที่น้อง ๆ อยากเป็น มีศักยภาพมากขึ้น ตามที่ตัวเองอยากเป็น น่าจะได้คนในสังคมที่มีศักยภาพมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้นด้วยครับ” ภีศเดช กล่าวทิ้งท้าย

ส่วนเมธวิน เสริมปิดท้ายด้วยการเน้นย้ำความสำคัญของ Soft skill ที่จำเป็นเสมอไม่ว่าสังคมและเทคโนโลยีจะโดนดิสรัปไปอย่างรวดเร็วมากแค่ไหนก็ตาม 

“ทักษะในการมีปฎิสัมพันธ์ของคนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะก้าวข้ามไปแล้วไปมุ่งจับคู่กับเทคโนโลยี จนลืมการกลับมาสร้างพื้นฐานเหล่านั้น (soft skill) ไป จริง ๆ แล้ว เขาลืมไปว่าการสร้างพื้นฐานนี้ให้แข็งแรงทำให้การต่อยอดทุกอย่างเป็นเรื่องที่ง่ายมาก อยากให้หันกลับไปมองที่ กระบวนการการเรียนรู้ของคนจริง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของมนุษย์”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ