TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistโอ้กุหลาบปากซัน สะพานข้ามโขง “บึงกาฬ-บอลิคำไซ” เชื่อม ไทย-ลาว-เวียดนาม

โอ้กุหลาบปากซัน สะพานข้ามโขง “บึงกาฬ-บอลิคำไซ” เชื่อม ไทย-ลาว-เวียดนาม

คนไทยส่วนใหญ่รู้จักเพลง “กุหลาบปากซัน” บางคนฟังเพลงแล้ว อยากไปชมกุหลาบสวรรค์แห่งปากซัน บริเวณน้ำซันไหลบรรจบน้ำโขง เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ 

“แดนดินถิ่นไกลเหลือตา อยู่สุดนภา ยังมีดอกฟ้าแสนงาม หากไผได้เห็นจะมัวหลง เฝ้าฝันพะวงหลงติดตาม สาวเอยสาวงาม งามเหลือใจ”
“โอ้กุหลาบสวรรค์ แห่งเมืองปากซัน ที่อ้ายใฝ่ฝันหมายปอง ใจหวังอยู่เคียงประคอง กุหลาบเป็นสีดั่งทอง เมื่อยามแสงส่อง จากดวงสุรีย์”

เพลงนี้แต่งโดยคนลาวชื่อ สุลิวัต ลัดตะนะสะหวัน เมื่อปี 2503 ไม่มีการบันทึกแผ่นเสียง แต่ร้องกันตามเวทีงานแสดงทั่วไป และร้องทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว ก่อนที่ศิลปินเพลง สีเผือก คนด่านเกวียน(อิศรา อนันตทัศน์) พื้นเพเป็นชาวบึงกาฬโดยกำเนิด นำมาร้องใหม่ จึงเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในฝั่งไทย

มาถึงวันนี้ ความฝันที่ใครบางคนอยากข้ามไปชมกุหลาบสวรรค์ในจินตนาการของบทเพลงดังสองฝั่งโขงใกล้เป็นจริงแล้ว เมื่อโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ลงมือก่อสร้างไปแล้วกว่า 50% 

วันที่ 28 ตุลาคม 2565 ทางการไทยและลาว จะมีพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีดังกล่าว ร่วมกับท่านพันคำ วิพาพัน นายกรัฐมนตรี แห่ง สปป.ลาว

เนื่องจากมีสถานการณ์โควิด-19 เมื่อสองปีที่ผ่านมา จึงทำให้พิธีวางศิลาฤกษ์เลื่อนมาจนถึงปลายปีนี้ ซึ่งปัจจุบันความคืบหน้าการก่อสร้างในภาพรวมทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวอยู่ที่ 56.945% จากแผนงาน 57.801% ช้ากว่าแผน 0.855% 

สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 นี้ มีระยะทางรวม 16.18 กิโลเมตร แยกเป็นงานก่อสร้างฝั่งไทย 12 กิโลเมตร และฝั่งลาว 2.8 กิโลเมตร จะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างรวม 36 เดือน

โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ มีมูลค่าโครงการ 3,653 ล้านบาทเศษ โดยทางการลาวร่วมรับผิดชอบ 1.3 พันล้านบาท ผ่านการกู้เงินจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) ของไทย ส่วนรัฐบาลไทยลงทุน 2.5 พันล้านบาท แบ่งความรับผิดชอบการก่อสร้างจากกึ่งกลางสะพาน

รูปแบบสะพานดังกล่าว เป็นแบบสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด2 ช่อง มีไหล่ทางและทางเท้า ความยาวช่วงข้ามแม่นํ้าโขง 810 เมตรและทางลาดขึ้นลงสะพานทั้งสองฝั่งรวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุม อยู่ทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และมีจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว

เชิงสะพานฝั่งลาวจะอยู่ระหว่างบ้านกล้วยอุดมถึงบ้านหางซิงสะหว่าง เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ส่วนฝั่งไทยอยู่ที่บ้านห้วยเชื่อม อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ 

ในมุมการเมืองการปกครอง บึงกาฬและบอลิคำไซ เป็นจังหวัดก่อตั้งใหม่ริมฝั่งโขงทั้งคู่คือ จ.บึงกาฬ ก่อตั้งเมื่อปี 2554 เป็นจังหวัดที่ 76 ของประเทศไทย ส่วนแขวงบอลิคำไซ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2526 

อีกด้านหนึ่ง งานสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ของโครงการสะพานข้ามโขงแห่งนี้ ซึ่งมีรูปแบบของโครงสร้างประยุกต์ โดยนำเสาหลักของสะพานมาประยุกต์ ระหว่างสัจจะด้านโครงสร้าง และแคน เครื่องดนตรีของคนลุ่มแม่น้ำโขง แสดงถึงวัฒนธรรมของไทย และลาว สื่อถึงความสนุก รื่นเริง เป็นมิตร ความคุ้นเคย และความเป็นกันเอง

แน่นอน สะพานข้ามโขงบึงกาฬ-ปากซัน ย่อมทำหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้า ควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ทางสังคม และวัฒนธรรมของคนสองชาติ

เชื่อมลาว-เวียดนาม

บึงกาฬ ในฐานะจังหวัดชายแดน จะได้รับอานิสงส์จากสะพานข้ามโขงแห่งใหม่และจะยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดน จากหัวเมืองชายแดนไปสู่การเชื่อมโยง Land Lock สู่ Land Link ผ่านประเทศเพื่อนบ้าน

ทุกวันนี้ บริเวณด่านพนมแดนบึงกาฬ บ้านพันลำ ม.2 ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ตรงข้ามกับด่านปากซัน เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ก็มีการขนส่งสินค้าทางเรือแพขนานยนต์ และเรือโดยสารบริการขนส่งคนเดินทางข้ามไปมาสองประเทศ 

ดังนั้น การเกิดขึ้นของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 จะเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าแห่งใหม่ ที่สะดวกสบาย กระตุ้นภาคเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนระบบโลจิสติกส์ระหว่างไทย และลาว ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว

สำหรับแขวงบอลิคำไซ ได้เซ็นเอ็มโอยูกับบริษัททีเค กรุ๊ป ให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเขตการค้าและบริการขึ้นที่เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ โดยพื้นที่เป้าหมายที่จะพัฒนามีเนื้อที่ 462.5 ไร่ โดยจะศึกษาถึงแผนการสร้างคลังเก็บสินค้า ศูนย์ขนส่งสินค้า ร้านค้าปลอดภาษี การเก็บค่าธรรมเนียม ตลอดจนเขตบริการ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร และบริการอื่นๆที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของแขวง

เหนืออื่นใด สะพานข้ามโขงบึงกาฬ-บอลิคำไซ ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ เชื่อมต่อเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ผ่านทางหลวงแห่งชาติลาว เลขที่ 8 หรือ R8 (บอลิคำไซ-เหง่อาน) เข้าสู่เวียดนาม 

รวมถึงการเดินทางผ่านเส้นทางเลข 13 ใต้ จากบอลิคำไซไปเมืองท่าแขก และใช้ทางหลวงแห่งชาติลาว เลขที่ 12 หรือ R12 (เมืองท่าแขก-ด่านน้ำพาว-ด่านจาลอ) เข้าสู่เวียดนาม

ท่าเรือลาวในเวียดนาม

ตั้งแต่ในอดีต ผู้นำรัฐบาลลาวได้พยายามแก้ปัญหาการเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land Lock) โดยการวางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงลาวตอนกลางออกไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านเส้นทางหมายเลข 8 จากเมืองท่าแขกไปยังเหง่อาน ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลในเวียดนามตอนกลาง และเส้นทางหมายเลข 9 ที่เชื่อมโยงระหว่างแขวงสะหวันเขต และจังหวัดกวางตรี

ปี 2563 รัฐบาล สปป.ลาว ลงนามสัญญาว่าด้วยความร่วมมือการลงทุนพัฒนาท่าเรือ 1, 2 และ 3 ของท่าเรือหวุงอ๋าง ระหว่างกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว กับกระทรวงคมนาคมขนส่ง เวียดนาม โดยเห็นชอบให้ สปป.ลาว เปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 60 และเวียดนามถือหุ้นร้อยละ 40 ในระยะเวลา 70 ปี และสามารถต่ออายุได้

ปัจจุบัน ท่าเรือหวุงอ๋าง เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเวียดนามที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นท่าเรือสากลขนาดใหญ่ และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อจาก สปป.ลาว ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเลไปยังเส้นทางเดินเรือในมหาสมุทรแปซิฟิก 

ท่าเรือหวุงอ๋าง ตั้งอยู่ในจังหวัดฮาติงห์ จังหวัดชายทะเลภาคกลาง และอยู่ทางใต้ของกรุงฮานอย 340 กิโลเมตร 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ท่าเรือหวุงอ๋างได้รับการจับตามองจากกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งทางทะเลเป็นอย่างมาก เนื่องจากตั้งอยู่บนพิกัดที่มีความสะดวกในการเชื่อมโยงไปยังเส้นทางขนส่งทางทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก 

นอกจากนั้น ท่าเรือหวุงอ๋าง ยังมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับลาวตอนกลาง และยังสามารถเชื่อมโยงกับภาคอีสานของไทย ผ่านสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม – คำม่วน) โดยใช้เส้นทาง R8 หรือเส้นทาง R12 ด้วยระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตรเท่านั้น

เมื่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) สร้างเสร็จและเปิดใช้ได้ในปี 2567 ก็จะทำให้ท่าเรือหวุงอ๋าง เป็นท่าเรือน้ำลึกมีความสำคัญต่อ สปป.ลาวมากขึ้น 

ที่สำคัญ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งใหม่นี้ จะช่วยเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยและ สปป.ลาว รองรับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมถึงสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ