TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessสินเชื่อสีน้ำเงิน สนับสนุน รีไซเคิลขวด PET 50,000 ล้านขวดต่อปี

สินเชื่อสีน้ำเงิน สนับสนุน รีไซเคิลขวด PET 50,000 ล้านขวดต่อปี

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการอนุมัติสินเชื่อสีน้ำเงิน หรือสินเชื่อเพื่อธุรกิจที่สนับสนุนการรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลให้แก่ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อทำการรีไซเคิลขวด PET (โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเรต) 50,000 ล้านขวดทั่วโลกต่อปีภายในปี 2568 ซึ่งครอบคลุมทั้ง 4 ประเทศในแถบเอเชียและหนึ่งประเทศในละตินอเมริกา เพื่อนำเอาขยะพลาสติกออกจากหลุมฝังกลบและมหาสมุทร

เงินทุนสนับสนุนมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐที่จัดการโดย IFC ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลกถูกมอบให้กับบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส โกลบอล เซอร์วิสเซส จำกัด (IVGS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มของ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ผู้ผลิตและผู้รีไซเคิลเม็ดพลาสติก PET

เงินทุนดังกล่าวนี้จะช่วยให้ IVL เพิ่มขีดความสามารถในการรีไซเคิลในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดียและบราซิล ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ต้องต่อสู้กับขยะที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมและประสบกับปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง และจะถูกนำไปลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

นับเป็นการอนุมัติสินเชื่อสีน้ำเงินครั้งแรกของ IFC ที่มุ่งเน้นการจัดการมลพิษพลาสติกในทะเลโดยเฉพาะ

สินเชื่อสีน้ำเงินเป็นนวัตกรรมเครื่องมือทางการเงินซึ่งมีการรับรองและติดตามเงินทุนที่ได้รับโดยเฉพาะสำหรับโครงการที่สนับสนุนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน อาทิเช่น การใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ  การพัฒนาด้านการดำรงชีพและงาน และ ความสมบูรณ์ของนิเวศวิทยาทางทะเล

“เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อสีน้ำเงินก้อนแรกจาก IFC” ยาโชวาดัน โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าว “บริษัทของเราหรือ IVL กำลังดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการรีไซเคิล ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการนำเอาขยะออกจากสิ่งแวดล้อมทางทะเล การรีไซเคิลขวด PET ที่เหลือทิ้งหลังการบริโภคให้กลายเป็นขวดใหม่คือการให้มูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ขยะ อันจะเป็นการผลักดันให้เกิดการปรับปรุงในระบบจัดเก็บขยะ ซึ่งหมายถึงปริมาณขยะที่ลดน้อยลงและมหาสมุทรที่สะอาดขึ้น”

อินโดรามา เวนเจอร์สตั้งเป้าหมายที่จะผลิตรีไซเคิล PET (rPET) อย่างน้อย 750,000 เมตริกตันจากทั่วโลกภายในปี 2568

คุณลักษณะเด่นของการลงทุนนี้ คือ การสร้างมูลค่าจากของเหลือทิ้ง ได้แก่ การแปรรูปขวด PET เหลือทิ้งหลังการบริโภคที่จะต้องถูกนำไปฝังกลบหรือถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าต่ำลง ด้วยการส่งเสริมการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาผลิตเป็นขวดที่มีมูลค่าสูงกว่าซึ่งทำให้เกิดศักยภาพในการสร้างมูลค่าอย่างมีนัยสำคัญ

“เรายินดีที่ได้ร่วมงานกับผู้ผลิตชั้นนำในอุตสาหกรรมในการนำเอาขวดพลาสติก PET เหลือทิ้งออกจากแม่น้ำลำคลองและมหาสมุทรโดยการสนับสนุนวิธีแก้ปัญหาที่สามารถนำไปขยายผลและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง” อัลฟอนโซ การ์เซีย โมรา รองประธาน IFC ประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก กล่าว

“สินเชื่อสีน้ำเงินนี้ช่วยเติมเต็มการทำงานอย่างต่อเนื่องของ IFC ในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติกและยกระดับการจัดการขยะในเอเชีย โครงการนี้จะเป็นการสาธิตรูปแบบธุรกิจที่ใช้การรีไซเคิลเป็นมาตรการแทรกแซงเพื่อจัดการมลพิษพลาสติกในขณะที่ให้การสนับสนุนประเด็นเรื่องความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยรวมไปพร้อมกัน”

นอกจากช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรีไซเคิลของ IVL ใน 5 ประเทศ สินเชื่อดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศอื่น ๆ ได้อีกด้วย โดย IVL จะดำเนินการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่โรงงานในประเทศไทยและอินเดีย และจะขยายไปสู่โรงงานแห่งอื่นในลำดับต่อไป

ในขณะเดียวกันบริษัทฯ จะจัดหาพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นเพื่อนำไปใช้ในโรงงานผลิตต่อไป ด้วยเงินสนับสนุนจาก IFC  IVL กำลังดำเนินการโครงการนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ (Waste Heat Recovery: WHR) ที่โรงงานผลิตเส้นใยและ PET ของบริษัทฯ ในอินโดนีเซียซึ่งคาดว่ามาตรการประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency: EE) จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงงานได้มากถึงร้อยละ 25 นอกเหนือจากการพัฒนาโครงการนวัตกรรม WHR แล้ว  IVL จะพัฒนาโครงการ EE ในบราซิลและโรงงานผลิตอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร

แพคเกจเงินสนับสนุนของ IFC ประกอบด้วยเงินกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior loan) จำนวน 150 ล้านเหรียญสหรัฐจาก IFC และเงินกู้แลกเปลี่ยนกับกิจการอื่น (Parallel loan) จำนวน 150 ล้านเหรียญสหรัฐจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และ Deutsche Investitions-und Entwicklungsgesellschaft (DEG) IFC ยังร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารโลกเพื่อประโยชน์ด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชนและจัดทำนโยบายและการลงทุนต่าง ๆ ที่จำเป็นอย่างยิ่งในการจัดการปัญหามลพิษพลาสติกทางทะเลที่มีความซับซ้อน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ