TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistรู้จัก "เขื่อนสานะคาม" เขื่อนกั้นน้ำโขงประชิดเชียงคาน

รู้จัก “เขื่อนสานะคาม” เขื่อนกั้นน้ำโขงประชิดเชียงคาน

ช่วงหลังสงกรานต์ มีความเคลื่อนไหวของเครือภาคประชาชนลุ่มน้ำโขงเกี่ยวกับ สปป.ลาว มีแผนการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงอีก 2 แห่งคือ เขื่อนสานะคาม แขวงไซยะบุลี และเขื่อนภูงอย แขวงจำปาสัก

สืบเนื่องมาจากเมื่อ 22 เม.ย.2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 1/2565 โดยมี สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 

คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้รับทราบความคืบหน้า พร้อมทั้งพิจารณาแนวทางการดำเนินการตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าภายใต้ระเบียบปฏิบัติ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเรื่อง “การแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง” (Procedure for notification, Prior consultation and Agreement: PNPCA) โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาเกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูงอย ที่ สปป.ลาวเสนอให้เริ่มกระบวนการ PNPCA โดยมอบหมายให้ สทนช. ดำเนินการพิจารณาความเหมาะสม ข้อมูลโครงการโดยเฉพาะผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทย

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคามนั้น เป็นเรื่องเก่าที่ฝ่ายลาวพยายามลุ้นมาหลายรอบ แต่ไทยก็ยังต่อรองด้านเทคนิคอยู่หลายประเด็น และมีเสียงคัดค้านจากเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง ส่วนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูงอยเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งเข้าสู่ขั้นเสนอการปรึกษารือเท่านั้น

ย้อนไปเมื่อ 11 พ.ค.2563 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) องค์การร่วมมือระหว่างรัฐบาล 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ก่อตั้งขึ้นเพื่อประสานงานพัฒนาแหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างยั่งยืน ได้เผยแพร่เอกสารข่าวว่ารัฐบาลลาวจะดำเนินการตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า สำหรับโครงการเขื่อนสานะคาม

กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ถือเป็นส่วนหนึ่งของกติกาการใช้น้ำบนแม่น้ำโขง แต่ที่ผ่านมา สปป.ลาว ก็ยืนยันที่จะก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงโดยไม่ฟังเสียงภาคประชาชนอีก 3 ประเทศคือ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

‘เขื่อนสานะคาม’

เขื่อนสานะคาม เป็นโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายประธาน (หมายถึงแม่น้ำโขงสายหลัก)ตอนล่างโครงการที่ 6 ที่รัฐบาลลาวนำเสนอ โดย 5 เขื่อนแรก ที่มีการสร้างเสร็จแล้ว 2 แห่งคือเขื่อนไซยะบุรี แขวงไซยะบุลี และเขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก 

ส่วนเขื่อนปากแบง แขวงอุดมไซ, เขื่อนปากลาย แขวงไซยะบุลี และเขื่อนหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ และรอการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำสานะคาม ถูกออกแบบเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river) ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องตลอดทั้งปี ขนาดโรงไฟฟ้าบนตัวเขื่อนมีความยาวประมาณ 350 เมตร สูง 58 เมตร ติดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้า 12 ตัว แต่ละตัวมีกำลังการผลิต 57 เมกกะวัตต์ รวมเป็น 684 เมกกะวัตต์

สันเขื่อนสานะคาม จะตั้งอยู่บริเวณรอยต่อแขวงไซยะบุลีกับแขวงเวียงจันทน์ ห่างจากตัวเมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์ 25 ก.ม. และห่างจากเมืองปากลาย แขวงไซยะบุลี 84 ก.ม.

บริษัท ต้าถัง(ลาว)สานะคาม ไฮโดรพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของต้าถัง รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศจีน เป็นผู้พัฒนาโครงการนี้ ด้วยต้นทุนทั้งหมด 2,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท งบประมาณส่วนหนึ่ง 27.2 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 867 ล้านบาท จะถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม 

ที่น่าสนใจ ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสานะคามมากที่สุด เพราะตัวเขื่อนจะสร้างกั้นแม่น้ำโขง ห่างชายแดนไทย-ลาว ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ขึ้นไปทางเหนือ 2 กิโลเมตร และหากวัดจากปากแม่น้ำเหืองขึ้นไปทางเหนือ ก็ห่างแค่ 1.5 ก.ม.

ข่าวการสร้างเขื่อนสานะคาม สร้างความตื่นตัวและตื่นกลัวให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ใน อ.เชียงคาน และ อ.ปากชม จ.เลย เพราะอยู่ใกล้จุดสร้างเขื่อนมากที่สุด

18 ม.ค.2564 สำนักงานเลขาธิการ MRC ได้จัดทำรายงานการประเมินเร่งด่วนด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์ ระบุว่า หากเขื่อนสานะคามดำเนินการผลิตไฟฟ้าสูงสุด(ซึ่งต้องมีการระบายน้ำปริมาณมาก) จะส่งผลต่อระดับน้ำโขงด้านท้ายน้ำของเขื่อน มากถึง 4 เมตรในเวลา 24 ชั่วโมง โดยระดับการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ระดับน้ำจะเปลี่ยนแปลง 3.5 เมตร ที่เวียงจันทน์ระดับน้ำจะเปลี่ยนแปลง 0.7 เมตร และ 0.5 ที่หนองคาย นอกจากนี้ จะส่งผลกระทบและการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของปลาสายพันธุ์หลักในแม่น้ำโขง

‘คู่แฝดเชียงคาน’

ในแง่มุมประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง เมืองสานะคามกับเชียงคานเป็นเมืองเดียวกัน เดิมชื่อเมืองซะนะสงคราม สมัยฝรั่งเศสยึดครองฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตัดเหลือแค่ “ซะนะคาม” คนไทยออกเสียงว่า สานะคาม 

ฉะนั้น คนเชียงคาน และคนสานะคาม จึงเป็นญาติพี่น้อง มีภาษาพูด ยึดถือประเพณีวัฒนธรรมเดียวกัน เพียงยุคล่าอาณานิคม สายน้ำโขงและการเมืองได้แบ่งแยกออกเป็น 2 ประเทศ

ปัจจุบัน เมืองสานะคาม เป็นเมืองหนึ่งของแขวงเวียงจันทน์ (ไม่ใช่นครหลวงเวียงจันทน์) ทิศตะวันตก ติดเมืองแก่นท้าว เมืองปากลาย แขวงไซยะบุลี มีแม่น้ำโขง แบ่งกั้นเขตแดนแขวงไซยะบุลี กับแขวงเวียงจันทน์ ซึ่งจุดนี้จะเป็นจุดก่อสร้างเขื่อนสานะคาม หรือเขื่อนซะนะคาม 

ทิศเหนือ ติดเมืองแมด เมืองกาสี แขวงเวียงจันทน์ และทิศตะวันออก ติดเมืองหมื่น แขวงเวียงจันทน์ มีเส้นทางตัดใหม่เลียบแม่น้ำโขง จากเมืองสานะคาม ไปนครหลวงเวียงจันทน์ 145 ก.ม.

ทิศใต้ ติด อ.เชียงคาน จ.เลย มีแม่น้ำโขงกั้นพรมแดนไทย-ลาว และมีท่าเรือข้ามฟาก ตรงด่านประเพณีหรือด่านท้องถิ่นสานะคาม-เชียงคาน 

คำขวัญเมืองสานะคามที่ชาวบ้านเล่าขานกันมา “เมืองสานะคาม ข้าวขาวสาวงาม หมากขามหวานลือลั่น เหล้าน้ำกลั่นลือชา..”

คนเชียงคาน ต่างรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของสายน้ำโขง พ.ศ.นี้ หลังเขื่อนไซยะบุลี สร้างเสร็จและเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้า หากเขื่อนปากแบง ,เขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนปากลาย ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ จะเกิดอะไรขึ้นกับคนท้ายน้ำ

แม้วันนี้ เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขง ส่งเสียงคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงทั้งหมด ก็เหมือนไม่มีใครได้ยินเสียงเหล่านี้ เฉพาะเขื่อนสานะคามนั้น ทาง สทนช.ได้จัดรับฟังความเห็นเวที PNPCA ไปบ้างแล้ว แต่โดยกติกา PNPCA ประเทศสมาชิกแม่น้ำโขง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ไม่มีสิทธิในการ ยับยั้ง และไม่มีสิทธิตัดสินใจว่าจะก่อสร้างหรือไม่ก่อสร้าง

สปป.ลาว คงจะเดินหน้าผลักดันโครงการเขื่อนสานะคาม เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้ประเทศไทย,เวียดนาม,กัมพูชา และสิงคโปร์ ตามยุทธศาสตร์ “หม้อไฟอาเซียน” หรือแบตเตอรี่แห่งอาเซียน

คอลัมน์: แม่โขงคอนเนก

ภาพ: Mekong River Commission

บทความอื่น ๆ ของผู้เเขียน

อมตะซิตี้-บ่อเต็น ทุนจีนทุนไทย โตไปกับเส้นทางรถไฟลาว-จีน

‘ท่าบก-ท่านาแล้ง’ รองรับรถไฟจีน-ลาว-ไทย

สนามบินสามเหลี่ยมทองคำ เติมฝัน “เจ้าเหว่ย” มังกรลุ่มน้ำโขง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ