TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessแอสตร้าเซนเนก้า จับมือ สยามไบโอไซเอนซ์ เปิดเบื้องหลังโรงงานผลิตวัคซีนโควิด-19 ในไทยครั้งแรก

แอสตร้าเซนเนก้า จับมือ สยามไบโอไซเอนซ์ เปิดเบื้องหลังโรงงานผลิตวัคซีนโควิด-19 ในไทยครั้งแรก

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับเป็นวิกฤติด้านสุขภาพครั้งใหญ่ที่สุด และแอสตร้าเซนเนก้า คือหนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 รายใหญ่รายหนึ่งของโลก ที่มีฐานการผลิตในหลายภูมิภาคและหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย โดยโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์เป็นฐานการผลิตสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดความรุนแรงของการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในประเทศไทย และในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

สัปดาห์ที่ผ่านมาแอสตร้าเซนเนก้าจับมือสยามไบโอไซเอนซ์ แถลงผลความร่วมมือพร้อมเปิดเบื้องหลังโรงงานผลิตวัคซีนโควิด-19 ในไทยครั้งแรก เปิดโรงงาน (ผ่าน virtual) โชว์ศักยภาพการผลิตตอกย้ำความเชื่อมั่นคนไทย และความร่วมมือระหว่างแอสตร้าเซนเนก้าและสยามไบโอไซเอนซ์ในการผลักดันไทยสู่ฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เจมส์ ทีก ประธานบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า ภารกิจของแอสตร้าเซนเนก้าในฐานะผู้ผลิตวัคซีน คือ การผลิตและส่งมอบวัคซีนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพสูงและมีประสิทธิภาพให้ได้เร็วที่สุด โดยได้รวบรวมพันธมิตรจากทั่วโลกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ รัฐบาล และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อประสานงาน, พัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 เพื่อส่งมอบให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงความร่วมมือกับรัฐบาลไทย

แอสตร้าเซนเนก้าและพันธมิตรผู้ผลิตได้ทำการส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว กว่า 2 พันล้านโดสให้แก่ประเทศต่าง ๆ มากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก และประมาณ 2 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนจำนวนดังกล่าวได้ถูกส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ และมากกว่า 175 ล้านโดสถูกส่งให้กว่า 130 ประเทศ ผ่านโครงการ COVAX

ปัจจุบัน มีการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าช่วยป้องกันผู้ป่วยโควิดไปประมาณ 50 ล้านราย ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 5 ล้านราย และช่วยชีวิตคนมากกว่าหนึ่งล้านชีวิต จากการศึกษาค้นคว้าในระยะทดลองในคลินิก และข้อมูลการใช้งานจริงแสดงให้เห็นได้ว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าปลอดภัย

ความร่วมมือกับรัฐบาลไทย สยามซีเมนต์กรุ๊ป และสยามไบโอไซเอนซ์ นำมาซึ่งความมั่นใจต่อการเดินหน้าขยายกำลังการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเพื่อส่งมอบให้แก่ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน

“เรามุ่งมั่นที่จะเสริมความแข็งแกร่งของ Supply Chain ในระดับภูมิภาค รวมถึงใช้ประโยชน์จากความสามารถด้านอุตสาหกรรมที่เรามี ประกอบกับความร่วมมือกับพันธมิตรการผลิตของเรามากกว่า 25 ราย ที่ตั้งอยู่ใน 15 ประเทศ ที่ใช้มาตรฐานเดียวกันทุกโรงงานการผลิตทั่วโลก โดยต้องทดสอบถึง 60 รายการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัคซีนทุกโดสจะได้รับมาตรฐานสูงสุด และเท่าเทียมกัน”

งานวิจัยระบุ หากคนไทยได้ฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดสภายในปี 64 เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

นักวิชาการ เผยความก้าวหน้า วัคซีนโควิด-19 ในไทย

เป้าหมายในปี 2022 ของแอสตร้าเซนเนก้า

ปีหน้าแอสตร้าเซนเนก้ายังคงมีเป้าหมายที่จะสร้างความยั่งยืนให้แก่ผู้คนในการเข้าถึงยา เข้าถึงวัคซีน การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคร้ายแรงโดยเฉพาะกลุ่ม NCDs และรวมถึงรักษากระบวนการทำงานที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน นอกจากนี้แอสตร้าเซนเนก้ายังมีเป้าที่จะขยายความร่วมมือกับองค์กรสาธารณสุขมากขึ้นในอนาคต

สำหรับการผลิตวัคซีนรุ่น 2 รหัส AZD2816 โดยใช้เทคโนโลยีไวรัล เวกเตอร์ (Viral Vector) เช่นเดิม แต่มีการพัฒนาเพื่อให้รับมือกับสายพันธุ์ไวรัสที่หลากหลายมากขึ้น โดยจะเห็นผลของการพัฒนานี้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 

อย่างไรก็ตาม วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า (AZD1222) ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ก็มีประสิทธิผลสูงมากเช่นกัน ในการศึกษาทางคลินิกสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงได้ 80-90%

“เราจะนำความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ทำประโยชน์เพื่อสังคม เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้สามารถต่อสู้กับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเร่งกระบวนการผลิตให้สามารถนำวัคซีนมาใช้รับมือกับโรคระบาดได้โดยเร็วที่สุด โดยที่ยังคงรักษาคุณภาพและมาตรฐานอย่างเข้มงวด”

อย่างไรก็ดี ความสำคัญลำดับแรกสุด คือ ความสามารถในการส่งมอบวัคซีน 61 ล้านโดสให้กับประเทศไทยได้ตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ขณะนี้แอสตร้าเซนเนก้าได้ส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศไทยไปแล้วมากกว่า 35 ล้านโดส และสัปดาห์หน้าจะประกาศจำนวนที่ส่งมอบในเดือนพฤศจิกายน

“เราจะไม่หยุดจนกว่าทุกคนในไทยจะได้รับวัคซีน เรามุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่เพื่อคนไทยอย่างต่อเนื่อง แอสตร้าเซนเนก้า และรัฐบาลไทย ร่วมลงนามในสัญญาการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มอีก 60 ล้านโดสสำหรับการทยอยส่งมอบภายในไตรมาสที่สาม ของปี 2565 เพื่อสนับสนุนแผนการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข”

ถ่ายทอดเทคโนโลยีขยายฐานการผลิตทั่วโลก

สำหรับแนวคิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยขยายฐานการผลิตไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็วโดยยังคงรักษามาตรฐานการผลิตไว้ได้

แอสตร้าเซนเนก้าร่วมกับสยามไบโอไซเอนซ์ได้เริ่มดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งแต่เดือนตุลาคม  2563 ที่ผ่านมาและสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้

ชีนา เบน รองประธานฝ่าย Supply Chain วัคซีน รองประธานฝ่ายเวชภัณฑ์ยาในกลุ่มโรคมะเร็งวิทยา และผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง แอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า ก่อนการส่งมอบวัคซีนทุกครั้ง แอสตร้าเซนเนก้าได้ทำการทดสอบคุณภาพโดยใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก สำหรับการผลิตวัคซีนในแต่ละรอบจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน โดยเวลาประมาณ 60 วันจะถูกใช้ไปกับการทดสอบ ซึ่งกระบวนการนี้เกิดขึ้นในทุกโรงงานทั้งในสหรัฐ อังกฤษ รวมถึงประเทศไทยเพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนทุกรอบการผลิตมีมาตรฐานเดียวกัน

วัคซีนในแต่ละรุ่นการผลิตที่ผลิตจากทั่วโลกจะต้องผ่านการตรวจสอบด้านมาตรฐานคุณภาพที่เข้มงวดตลอดกระบวนการผลิต รวมถึงข้อมูลและระดับปริมาณการผลิตจะถูกติดตามอย่างต่อเนื่องโดยแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งนี้พันธมิตรผู้ผลิตวัคซีนทุกรายของแอสตร้าเซนเนก้ารวมถึงสยามไบโอไซเอนซ์ได้ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพตามขั้นตอนดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า สยามไบโอไซเอนซ์ สั่งสมประสบการณ์ในการผลิตชีววัตถุมาเเล้วกว่า 10 ปีผ่านมา โดยใช้เป็นเทคโนโลยีเดียวกับกระบวนการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับทางแอสตร้าเซนเนก้า จึงได้มีการเตรียมความพร้อมด้านมาตรฐานและคุณภาพ 4 ข้อ ตามหลัก 4M ดังนี้

โรงงาน (Manufacturing Facility) นับเป็นจังหวะดีที่มีการสร้างโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์โรงที่สามแล้วเสร็จในช่วงก่อนการเกิดโควิด-19 โดยรวมตลอดที่ 12 ปีแรกของบริษัทได้ใช้งบประมาณไปกว่า 5 พันล้านบาทในการพัฒนา สร้างโรงงาน และเสริมศักยภาพต่างๆ ด้านเทคโนโลยีชีววัตถุ ซึ่งโรงงานที่สามนี้ มีเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ตรงกับที่แอสตร้าเซนเนก้าต้องการ

บุคลากร (Manpower) เมื่อได้รับเลือกจากทางแอสตร้าเซนเนก้าให้เป็นฐานการผลิตวัคซีน ได้เตรียมพร้อมด้านบุคลากรหลายด้านทั้งการคัดเลือกบุคลากรใหม่ที่เพียบพร้อมด้วยความรู้และคุณภาพ รวมถึงต่อยอดความรู้ให้แก่บุคลากรเดิมเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการผลิตวัคซีน

วัตถุดิบ (Materials) การเตรียมพร้อมด้านวัตถุดิบต่างๆ โดยการพัฒนาระบบซัพพลายเชนเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ

การถ่ายทอดกระบวนการผลิต (Method transfer) สยามไบโอไซเอนซ์มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือกับแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งหลังการส่งมอบองค์ความรู้ในเทคโนโลยีการผลิตและมีการทดสอบกระบวนการภายในตอนต้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2563 หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือนในช่วงเดือนมิถุนายนได้ทำการส่งมอบวัคซีนล็อตแรกให้แก่คนไทยอย่างสมบูรณ์ตามสัญญาที่ให้ไว้

ในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนนั้นเป็นไปอย่างเข้มงวด ทั้งเรื่องของเอกสารจำนวนมากกว่าหมื่นหน้าที่ต้องตรวจสอบโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านคุณภาพที่ได้รับการรับรองจากยุโรป หรือที่เรียกว่า EU Qualified Person เป็นผู้ตรวจสอบเอกสารทั้งหมด และในขั้นตอนก่อนการส่งมอบทางโรงงานได้ทำการตรวจสอบวัคซีนทุกล็อตอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนทุกหลอดที่เดินทางไปถึงผู้บริโภคมีคุณภาพตามมาตรฐานของแอสตร้าเซนเนก้าอย่างแน่นอน

“มีไม่กี่ประเทศบนโลกที่สามารถผลิตวัคซีนได้ในระดับนี้และสยามไบโอไซเอนซ์ในฐานะตัวแทนของโรงงานไทยเรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดความรุนแรงของการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในประเทศไทย และในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ดร.ทรงพล กล่าว

เทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากแอสตร้าเซนเนก้า ถือว่าเป็น Change Agent ที่จะช่วยต่อยอดองค์ความรู้ให้กับวงการวัคซีนของไทยต่อไปในอนาคต

ความร่วมมือระหว่างแอสตร้าเซนเนก้า และสยามไบโอไซเอนซ์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนเริ่มต้นเมื่อเดือนตุลาคม 2563 นับถึงปัจจุบันถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับวงการยาชีววัตถุและวงการวัคซีนของประเทศไทย

“ประสบการณ์ที่เราได้รับการจากผลิตวัคซีนนี้เป็นสิ่งที่ประมวลค่าไม่ได้ อีกทั้งวัคซีนที่ส่งออกไปนั้นเป็นสิ่งที่ทำโดยคนไทย 100% ในโรงงานของเรากว่า 400-500 คน”

แผนงานในอนาคตของสยามไบโอไซเอนซ์

นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า แผนงานในอนาคตของสยามไบโอไซเอนซ์ คือ มองไปที่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ยังมีฐานการผลิตไม่มาก เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงของประเทศในแง่ของสุขภาพ และเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมตามสายการผลิตที่มีรวมถึงการมุ่งเน้นผลิตยาในกลุ่มโรคเลือดและโรคมะเร็ง รวมถึงชุดตรวจโรค โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคที่ประชาชนไทยเป็นกันมาก 

“เรามองว่าการต่อยอดการผลิตยาด้านนี้ จะเป็นประโยชน์กับสาธารณสุขและคนไทยได้ตามจุดประสงค์ของการก่อตั้งบริษัท”

สังคมไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุมาระยะหนึ่งแล้ว ในอนาคตอันใกล้นี้อาจเกิดวิกฤติการขาดแคลนกลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้น การส่งเสริมการดูแลสุขภาพจึงเป็นภารกิจสำคัญของสยามไบโอไซเอนซ์ เพื่อช่วยให้สุขภาพของคนในชาติสมบูรณ์แข็งแรง

กำเนิดสยามไบโอไซเอนซ์

บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นมากว่า 12 ปี ตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นโรงงานผลิตยาชีววัตถุ โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูงในการผลิต เช่น ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง (EPO) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเรื้อรัง และยาเพิ่มเม็ดเลือดขาว (GCSF) ให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โดยยาทั้ง 2 ตัว สามารถบำบัดรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยชาวไทยลดการพึ่งพายาจากต่างชาติ สร้างความมั่นคงทางยาแก่สาธารณสุขของไทย

ในกระบวนการผลิตของโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ นับเป็นพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงตั้งโรงงานมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี แต่ตอบโจทย์ของประเทศในวันนี้ ทั้งเรื่องการแพทย์ และโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Model) เป็นการยกระดับสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่โรงงาน และมีการเสริมหลักการ Circular Economy ที่นำของเสียจากโรงงานมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร โดยได้นำไปใช้ในโครงการหลายโครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประเทศไทย และ Green Economy ด้วยการสร้างโรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

อีกทั้งเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูงที่ใช้ในการผลิตยา ยังมีความใกล้เคียงกับเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตวัคซีนแบบไวรัล เวกเตอร์ (Viral Vector) ของแอสตร้าเซนเนก้า จึงทำให้มีศักยภาพในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน และได้รับเลือกเป็นโรงงานผู้ผลิตในเวลาต่อมา

กว่าที่สยามไบโอไซเอนซ์จะได้รับเลือกเป็นโรงงานผู้ผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ได้ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกหลายขั้นตอน และทางแอสตร้าเซนเนก้าเล็งเห็นว่า โรงงานสยามไบโอไซเอนซ์มีความพร้อมมากที่สุด เพราะได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล มีศักยภาพที่จะผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าได้ทุกขั้นตอนจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ และเป็นโรงงานที่มีขนาดใหญ่ สามารถรองรับการขยายกำลังการผลิตได้ในอนาคต แอสตร้าเซนเนก้าจึงเลือกสยามไบโอไซเอนซ์เป็นหนึ่งในฐานการผลิต เพื่อร่วมต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ