TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessDITP - พาณิชย์ ร่วมกับ พันธมิตรเอกชน ปั้น SMEs ส่วนภูมิภาคสู่ตลาดโลก

DITP – พาณิชย์ ร่วมกับ พันธมิตรเอกชน ปั้น SMEs ส่วนภูมิภาคสู่ตลาดโลก

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ผนึกพันธมิตรเอกชน สานต่อโครงการพัฒนาผู้ส่งออกรุ่นใหม่ ปีที่ 5 ดัน SMEs ภูมิภาคสู่ตลาดโลก เล็งช่องเจาะตะวันออกกลาง

อารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า โครงการพัฒนาผู้ส่งออกรุ่นใหม่ หรือ Young Exporter from Local to Global (YELG) ประจำปี 2566 จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความพร้อมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในส่วนภูมิภาคให้สามารถก้าวสู่ตลาดโลกอย่างมั่นคง

โครงการนี้มีสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2562 มี SMEs ส่วนภูมิภาคเข้าร่วมการอบรมครั้งละ 200 คน คัดเลือก 50 คนเข้ารับการอบรมเวิร์กช้อประดับภูมิภาค ซึ่งจัดใกล้ๆ จังหวัดภูมิลำเนาของผู้อบรม ส่วนปีนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมกว่า 450 คน และจะคัดเหลือ 200 คนเพื่อร่วมเวิร์กช้อป 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

คัดผู้มีความพร้อมส่งออก

“แนวทางการคัดเลือกจะเป็นการคัดผู้ที่มีความพร้อมระดับหนึ่ง คือมีสินค้าที่มีใบรับรองมาตรฐานในประเทศอยู่แล้ว เช่น มาตรฐาน อย. ซึ่งการจะนำไปต่อยอดขอใบรับรองมาตรฐานระดับสากลสำหรับการส่งออกจะทำได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าผ่านมาตรฐานของไทยจะต่อยอดขอมาตรฐานสากลได้โดยไม่ใช้เวลามาก”

ปีนี้ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานโครงการให้เหมาะสม ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดมากขึ้น และถือเป็นครั้งแรกที่ได้จัดฝึกอบรมแบบครบวงจรร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย สมาคมการค้าผู้ส่งออกเอเชียและตะวันออกกลาง ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท เทเลพอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด

ประกอบด้วย การพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการส่งออก การนำเสนอสินค้าจนถึงจับคู่เจรจาธุรกิจกับ Trader และห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ รวมถึงได้รวบรวมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าร่วมกิจกรรม ตั้งแต่การคัดสรรผู้ผ่านเข้ารอบในระยะต่างๆ การฝึกอบรมทั้งในรูปแบบ Online และ Offline และการจัดกิจกรรม Workshop ซึ่งจะทำให้ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการมีความมั่นใจในการก้าวเข้าสู่ตลาดส่งออกได้มากขึ้น

อบรม 4 ระยะ

โครงการดังกล่าวประกอบด้วยการฝึกอบรม 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การพัฒนาความรู้ก่อนเตรียมความพร้อม ในรูปแบบไฮบริด จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ นายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย, ฐานิศร์ ณ สงขลา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการค้าผู้ส่งออกเอเชียและตะวันออกกลาง, นัฐภูมิ โล่กันภัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิสเมเกอร์ จำกัด เป็นต้น

ระยะที่ 2 ฝึกอบรมเตรียมความพร้อมด้านการค้าระหว่างประเทศ เป็นการฝึกอบรมออนไลน์ 11 หัวข้อ เช่น การคำนวณต้นทุนเพื่อการส่งออก, การสร้างแบรนด์ขั้นต้นสำหรับสินค้าท้องถิ่น, ขั้นตอนการส่งออกและพิธีการศุลกากร, การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการส่งออก, การหาแหล่งทุนเพื่อการส่งออก, การคัดเลือกและออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

ระยะที่ 3 ฝึกปฏิบัติเตรียมความพร้อมในสถานการณ์จริงใน 4 ภูมิภาค เพื่อทำกิจกรรมเวิร์กช้อปการนำเสนอแผนธุรกิจ และการให้คำแนะนำรายบุคคลจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และระยะที่ 4 นำเสนอสินค้าและฝึกเจรจาธุรกิจ

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการที่ผ่านการฝึกอบรมจนถึงระยะสุดท้ายจะได้เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจกับ Trader และห้างสรรพสินค้าชั้นนำของไทย

นอกจากนี้ ยังเป็นปีแรกที่จัดคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีแผนธุรกิจและสินค้าที่มีความโดดเด่นภูมิภาคละ 1 ราย เป็นดาวรุ่ง YELG เข้าร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของกรมฯ และพันธมิตรโครงการ

“ตลาดที่น่าสนใจสำหรับ SMEs จะเข้าไปคือ มิดเดิลอีสต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญ และมีเป้าหมายลูกค้าตลาดระดับกลางขึ้นไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ให้แก่สินค้าไทยอีกด้วย”

เพิ่มประโยชน์ใช้สอยพื้นที่ใต้เครื่อง

ธนะรัชต์ วชิรกุล Country Head  บริษัท เทเลพอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทโลจิสติกส์ในเครือแคปปิตัล เอ ผู้ให้บริการสายการบินแอร์เอเชีย บอกว่า ได้เข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 1 ปีแล้ว ตามเป้าหมายที่จะทำให้ SMEs ในประเทศส่งออกได้ง่ายขึ้น และการที่มีสายการบินแอร์เอเชียที่บินระหว่างประเทศอยู่แล้ว พื้นที่ใต้ท้องเครื่องใช้กับกระเป๋าผู้โดยสารเพียง 20-30%

ดังนั้น จึงยังมีพื้นที่ว่างอีก 70-80% สามารถนำมาจัดสรรให้ผู้ประกอบการส่งออกได้ โดยเบื้องต้นมองตลาดอาเซียนก่อนจากความถี่ของการบินเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน และการอยู่ในเครือเดียวกันยังมีประโยชน์ที่ทำค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากความเร็วของการขนส่ง มีค่าใช้จ่ายในอัตราที่แข่งขันได้ หรือผู้ประกอบการส่งของออกต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกลง และความถี่ของเที่ยวบินและมีเครือข่ายการบินให้ผู้ประกอบการใช้ได้มากและยึดหยุ่น

“ตลาด SMEs ตลาดส่งออกจากไทย เป็นตลาดที่ค่อนข้างโตอยู่ บริษัทเพียงต้องการเข้าไปช่วยให้ตลาดยิ่งโตขึ้น ผู้ประกอบการจัดการเรื่องโลจิสติกส์ได้ง่ายขึ้น จะได้โฟกัสกับการขาย และคิดเรื่องการทำกำไรอย่างไรเท่านั้น”

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เซ็นทรัลพัฒนา ผนึก WeChat Pay จัดแคมเปญใหญ่ ต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน

กสิกรไทย x ธนาคารแมสเปี้ยน เปิดตัว QRIS – QR Code Payment

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ