TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainability"วิกฤติขยะ" หยุดได้ แต่แค่มีจิตสำนึกยังไม่พอ

“วิกฤติขยะ” หยุดได้ แต่แค่มีจิตสำนึกยังไม่พอ

การหยิบยกประเด็นเรื่องขยะมาพูดตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาทำให้คนไทยทราบดีว่าขยะก่อให้เกิดปัญหารุนแรงและกว้างขวางมากขนาดไหน แม้คนส่วนใหญ่มีความตระหนักรู้ถึงปัญหาแล้ว แต่ทุกวันนี้ปัญหาขยะก็ยังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ที่เป็นอย่างนี้เพราะเรายังมีจิตสำนึกไม่พอหรืออย่างไรกัน วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักทำสารคดีที่ผันตัวจากคนรักการเดินทางมาเป็นกูรูด้านขยะ ขึ้นเวทีเสวนา “เราจะหยุดวิกฤติขยะได้อย่างไร” ในงาน Sustainability Expo 2022 มหกรรมความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน

มีคำตอบให้กับคำถามข้างต้นว่า “เรามีจิตสำนึก แต่เราไม่มีระบบอะไรมารองรับเลยที่เรามีขยะมากไม่ได้เป็นเพราะประเทศไทยบริโภคมากกว่าประเทศอื่น ถ้าวัดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว คนไทยมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนเฉลี่ย 3.7 ตันต่อคนต่อปี เท่าๆ กับค่าเฉลี่ยของการปล่อยก๊าซคาร์บอนเฉลี่ยของโลกที่ประมาณ 4 ตันต่อหัวต่อปี แต่สิ่งที่ทำให้ขยะเป็นปัญหามากขึ้นในประเทศไทยเป็นเพราะการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

“เดิมทีเราคิดว่าเรื่องขยะเป็นปัญหาเชิงพฤติกรรม เป็นเรื่องของคนไม่แยกขยะให้ถูกต้อง การไม่มีจิตสำนึก แต่พอผมได้เรียนปริญญาโทและศึกษาเรื่องนี้ลึก ๆ แล้วพบว่าพฤติกรรมของคนนั้นมีผลน้อย ในขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบมีผลเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการ การบริหาร งบประมาณ กฎหมาย การนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้”

วรรณสิงห์ ยกตัวอย่างว่า การที่คนทิ้งฟูกนอนอันใหญ่ ทีวีเก่า เฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ต้องการแล้วลงคลองอาจไม่ได้เป็นเพราะความมักง่ายเสียทีเดียว แต่เพราะคนเหล่านี้จำนวนมากอาศัยอยู่ในชุมชนใกล้คลองที่มีแต่ถนนเล็ก ๆ ซอยแคบ รถเก็บขยะเข้าไม่ถึง เมื่อไม่ทราบว่าจะทิ้งของที่ไม่ต้องการเหล่านี้ที่ไหนได้ วิธีกำจัดขยะที่สะดวกสำหรับพวกเขาก็คือการโยนทิ้งในคลอง

นอกจากนี้ การขาดความรู้เรื่องการแยกขยะยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้การแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาเป็นไปได้ยาก คนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เรื่องการแยกขยะที่ถูกต้อง คนจำนวนมากยังคิดว่าขยะเปียกนั้นรวมถึงถุงพลาสติกหรือกล่องโฟมใส่อาหารหรือถ้วยพลาสติกใส่กาแฟด้วย ทั้งที่แท้จริงแล้วขยะเปียกหมายถึงเศษอาหารเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงภาชนะที่ใส่อาหาร รวมทั้งยังมีความเข้าใจผิดว่าต่อให้เราแยกขยะคนเก็บขยะก็เทขยะรวมกันอยู่ดี
“ในการจัดการปัญหาขยะเราจะเน้นเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราต้องมีระบบที่ดีมารองรับด้วย ตอนนี้คนมีจิตสำนึกแล้ว แต่มีเขาความรู้ในการแยกขยะหรือเปล่า เราต้องสอนเรื่องการจัดการขยะ ต้องมีความเชื่อในระบบ อย่างที่บางคนคิดว่าการแยกขยะไม่จำเป็นเพราะแยกแล้วก็ไปเทรวมกันอยู่ดี เมื่อคนไม่มีศรัทธาในระบบ เขาจะไม่ทำ”

ดังนั้นการแก้ปัญหาขยะจึงต้องทำทั้งสองทางพร้อมกันคือ ประชาชนทั่วไปต้องช่วยกันแยกขยะให้ถูกต้อง และต้องมีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพมารองรับ

สำหรับประชาชนทั่วไปการแยกขยะต้นทางอย่างถูกต้องจะทำให้ต้นทุนในการจัดการปลายทางต่ำลงอย่างมหาศาล อย่างน้อยที่สุดคือแยกเศษอาหารออกจากขยะอื่น ๆ ใครที่พอมีฐานะอาจจะหาเครื่องทำปุ๋ยจากเศษอาหารมาใช้ และแยกพลาสติก กระดาษ และโลหะออกจากกันเพื่อให้การจัดการง่ายขึ้น ส่วนขยะพลาสติกหากเช็ดล้างไขมันออกไปได้ก่อนขายให้ซาเล้งหรือส่งไปรีไซเคิลก็จะช่วยได้มากขึ้น

“การจัดการขยะอาจต้องนำหลักพฤติกรรมศาสตร์มาประกอบด้วย ต้องเข้าใจพฤติกรรมและแรงจูงใจของคน เช่นคนกลัวการสูญเสีย คนอยากมีส่วนร่วม เป็นต้น ต้องเอาจิตวิทยาหมู่มาใช้ น่าจะดีกว่าการปลูกจิตสำนึกอย่างเดียว จะทำอย่างไรให้เรื่องการแยกขยะสนุก เช่น ทำถังขยะรูปขวดให้รู้กันว่าถังนี้สำหรับขวดน้ำและถ้าแยกขยะใส่ถูกถังจะมีเสียงเพลงดังขึ้นมา สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นแรงจูงใจคนได้มาก”

ในเรื่องของระบบ กรุงเทพมหานครได้เริ่มรณรงค์ให้มีการแยกขยะอย่างจริงจังแล้วเพื่อให้สามารถจัดการขยะได้ง่ายขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการวางระบบการจัดการขยะให้เกิดประสิทธิภาพ

ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการเปลี่ยนกระบวนการดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง วรรณสิงห์แนะว่าองค์กรอาจรวมตัวกันเพื่อทำ Extended Producer Responsibility หรือ EPR คือแนวคิดว่าองค์กรใดผลิตอะไรก็ต้องรับผิดชอบจัดการสิ่งนั้นให้จบจนสุดทาง อย่ามองว่าขยะกับการดำเนินงานเป็นประเด็นที่แยกกันอย่างในปัจจุบัน

“ทุกองค์กรควรตระหนักว่าขยะไม่ได้เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ในทุกกิจกรรมที่ทำอยู่นั้นมีขยะเกิดขึ้น และต้องเข้าใจว่าขยะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินงาน การจัดการขยะจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำเสริมเพิ่มขึ้นจากการดำเนินงานปกติ เป็นเรื่องที่ไม่ทำไม่ได้” วรรณสิงห์ กล่าว 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ