TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistบทเรียนจาก นโยบายภาษี ของ "ลิซ ทรัสส์" ถึงพรรคการเมืองไทย

บทเรียนจาก นโยบายภาษี ของ “ลิซ ทรัสส์” ถึงพรรคการเมืองไทย

ลิซ ทรัสส์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศลาออกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา หลังไม่สามารถสยบความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจจากนโยบายภาษีที่พาเธอก้าวขึ้นมาเป็น นายกฯ หญิงคนที่สามของอังกฤษได้ 

ทรัสส์ ชูนโยบาย “ภาษีต่ำ เศรษฐกิจเติบโตสูง” ช่วงรณรงค์ชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมก่อนได้เป็นนายกฯ สมใจ แต่ทันทีที่เธอกับคู่หู ควาซี กวาร์เต็ง รัฐมนตรีฯ คลัง (ตอนนั้น) เสนอนโยบายภาษี ความโกลาหลก็บังเกิด

วันที่ 23 กันยายน ทรัสส์ประกาศแผนเศรษฐกิจฉบับใหม่ ประกอบด้วยแผนลดภาษีวงเงินราว 45,000 ล้านปอนด์ (ราว 1.9 ล้านล้านบาท) ซึ่งนับเป็นการลดภาษีครั้งใหญ่สุดในรอบ 50 ปีของอังกฤษ การเยียวยาชาวบ้านจากผลกระทบราคาพลังงงานที่พุ่งขึ้นอีกราว 100,000  ล้านปอนด์ ฯลฯ

ทันที่ตลาดการเงินรับรู้นโยบายของทรัสส์ ค่าเงินปอนด์ที่อยู่ในสภาพอ่อนไหวอยู่แล้วก็ปั่นป่วนทันที โดยเช้าวันจันทร์ที่ 26 กันยายน เงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.0382 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากนักลงมุนกังวลว่าภาระหนี้ก้อนโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต น่าจะสร้างปัญหาการคลังให้กับรัฐบาลอังกฤษ แม้ธนาคารกลางอังกฤษเข้าดูแลเงินปอนด์ด้วยการทุ่มซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลแต่ทำได้เพียงประคองสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น 

แม้ทรัสส์กับคู่หูยอมถอยมาตรการลดภาษี แต่ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้ ก่อนที่จะมีเสียงเรียกร้องให้ ทรัสส์ลาออกเถอะ โทษฐานที่สร้างความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ แรก ๆ ทรัสส์ปฏิเสธและพยายามเบี่ยงตัวออกจากมุมอับทางการเมืองด้วยการปลดคู่หูที่ร่วมกันร่างนโยบาย “ภาษีต่ำ เศรษฐกิจเติบโตสูง” มาด้วยกันกับมือ แต่สถานการณ์ไปไกลแล้ว สุดท้ายทรัสส์จำใจประกาศทิ้งเก้าอี้นายกฯ และทิ้งตำนานนายกฯ 45 วันไว้เบื้องหลัง

ก่อนหน้านี้ ทรัสส์ให้สัมภาษณ์บีบีซี ได้กล่าวขอโทษ ชาวอังกฤษต่อนโยบายและการบริหารที่ผิดพลาดจนทำให้เศรษฐกิจปั่นป่วน เนื่องจาก นโยบายที่มากและเร็วเกินไป ความจริงสาเหตุที่นโยบายของทรัสส์ไม่ปัง นอกจากปัจจัยที่เธอกล่าวแล้ว ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะหารายได้มาจากไหนขณะที่มีแผนก่อหนี้มหาศาล และแผนที่เสนอแม้แตกต่างจากรัฐบาลก่อนแต่สภาพเศรษฐกิจอังกฤษที่งอมจากพิษเงินเฟ้อ (แบงก์ชาติอังกฤษขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นชาติแรกหลังวิกฤติโควิดคลี่คลาย) และเศรษฐกิจถดถอย ธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเฉพาะผับปิดกันระนาว ไม่พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนจากนโยบายใด ๆ ได้อีก  

จากนี้ไปคงต้องดูว่า ริชี ซูนัค นายกฯใหม่อังกฤษวัย 42 ปี จะนำอังกฤษออกจาก ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ที่เขาบอกว่า เป็นเรื่องที่ท้าทายได้หรือไม่  

ดูเส้นทางอดีตนายกฯ อังกฤษคนล่าสุด ที่มาแรงแต่ไปเร็วแล้ว เหลียวมาดูพรรคการเมืองและนักการเมืองบ้านเราที่กำลังขาย “นโยบาย” สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นปี 2566 หลายพรรคเริ่มนำเสนอนโยบายที่หวังเรียกความสนใจจากชาวบ้าน 

ตัวอย่างเช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ออกมาชูนโยบายบำนาญผู้สูงวัย 3,000 บาทต่อเดือน ตามด้วยนโยบายเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี ตั้งกองทุนฟื้นฟูหนี้ฯ ทั้งหมดยังไม่มีรายละเอียดว่าจะจัดหางบประมาณมาจากไหนมาจัดสรรให้ผู้สูงอายุที่มีอยู่ราว 11.62 ล้านคน

กรณ์ จาติกวณิช หลังนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ประกาศลั่นว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างงานล้านตำแหน่ง สร้างมนุษย์ทองคำ ปรับฐานคำนวณภาษีคนชั้นกลางเพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋า กล้าชนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ รื้อโครงสร้างพลังงานให้คนไทยให้คนไทยได้ใช้ราคาพลังงานที่ถูกลง ฯลฯ

พรรคสร้างอนาคตไทย อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคฯ ไปประกาศนโบบายที่พัทลุงว่าจะพักหนี้แบบพักต้นพักดอก 5 ปี ประกาศตั้งกองทุนสร้างอนาคตไทย 3 แสนล้านบาท โดยมีแนวคิดว่าจะถ่ายโอนจากงบประมาณในส่วนรายจ่ายที่ไม่เร่งด่วนมาใช้เพื่อการนี้ (หากได้ทำ) อุตตม กล่าวถึงนโยบายที่นำเสนอว่าเป็นชุดความคิดใหม่ที่จะสร้างอนาคตไทย 

พรรคก้าวไกลนำเสนอชุดนโยบายใหม่ในชื่อ “ไทยก้าวหน้า” ในส่วนนโยบายเศรษฐกิจนำเสนอสวัสดิการไทยก้าวหน้า ดูแลประชาชน แบบครบวงจรเพื่อให้คนไทยไปสู่อนาคนที่ดีกว่า และแน่นอนว่าต้อง “เท่าเทียม” แต่พรรคก้าวไกลไม่ได้แถลงว่าสวัสดิการระดับนี้จะหางบประมาณมาจากไหน ?

พรรคเพื่อไทยประกาศยกเครื่องเศรษฐกิจใหม่ด้วยการรื้อกฎหมายธุรกิจจัดสิทธิประโยชน์ภาษีใหม่ให้เป็นสวรรค์ของนักลงทุน พัฒนาเขตเศรษฐกิจ 4 ภาค คือ เชียงใหม่ กรุงเทพ ขอนแก่น หาดใหญ่

ส่วนพรรครัฐบาล พลังประชารัฐ ยังไม่มีการขยับด้านนโยบาย แต่รัฐบาลกำลังเตรียมของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ประชาธิปัตย์ ยังคงภูมิใจนำเสนอนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรต่อ ส่วนภูมิใจไทย ยังภูมิใจกับนโยบายกัญชาเสรี ทั้งนี้น่าสังเกตว่าหลายพรรคออกมาพูดถึงนโยบาย “พักหนี้” เช่น พรรคไทยสร้างไทย พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่านโยบายที่นำเสนอนั้นต่างจากจากมาตรการพักหนี้ที่แบงก์ชาติทำงานร่วมกับแบงก์พาณิชย์และแบงก์ที่มาตรการจะสิ้นสุดในปลายปีหน้าอย่างไร   

ดูภาพรวมของนโยบายที่พรรคการเมืองนำเสนอออกมาในช่วงนี้ ล้วนนำเสนอในแนว ประชานิยมที่หวังผลเฉพาะหน้ามากกว่ามองไปข้างหน้า  นโยบายส่วนใหญ่ขาดรายละเอียดสำคัญ อาทิ ที่มาของเงินทุนว่าจะมาจากไหน? จะขยายฐานภาษีเพื่อนำมาดูแล “สวัสดิการประชาชน” หรือไม่  

การจ้างงานที่ว่าจะเพิ่มนับล้านตำแหน่งนั้น มาจากไหน อย่างไร และนโยบายเศรษฐกิจที่หลายพรรคนำเสนอออกมานั้น ถึงตอนนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนแตะปัญหาลดความเหลื่อมล้ำมรดกจากการพัฒนาของประเทศอย่างจริง ๆ จัง ๆ แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในช่วงระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล การยกระดับความสามารถการผลิตภาคเกษตรมีอะไรนอกเหนือไปจาก นโยบายแจกเงิน กับ เติมเงิน หรือการปฏิรูปการศึกษา มีอะไรมากไปกว่านโยบายเรียนฟรียันปริญญาตรี หรือไม่? …. ช่วยตอบที  

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ