สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดงานวันนักการตลาด “Thailand Marketing Day 2022 : The Game Changer” สุดยอดฟอรั่มการตลาดแห่งปีที่รวมหลากเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงในโลก Post-Pandemic เปิดวิสัยทัศน์ – ปรับกลยุทธ์ – เปลี่ยนผลลัพธ์ กับหลากหลายเรื่องราวของ “จุดเปลี่ยน” จาก 20 วิทยากรผู้ทรงเกียรติ พร้อมพร้อมเผยทิศทางการตลาดแห่งอนาคต และแนวทางการปรับตัวทางธุรกิจด้วยแนวคิด C.A.R.E
ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีความผันผวนเกิดขึ้นมากมายในโลกของเรา และส่งผลกับโลกธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานการณ์โควิด-19 สถานการณ์คุกรุ่นระหว่างประเทศซึ่งยังไม่จบและยากจะคาดการ สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความผันผวน สถานการณ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ต้องเฝ้าระวัง และสถานการณ์ด้านเทคโนโลยีที่ส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบ เราอยู่ในโลกที่ยากจะคาดเดา แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้แน่ๆ คือ เราทุกคนต้องเดินหน้าต่อ ต้องเรียนรู้ ปรับตัว และสู้ไปด้วยกัน
ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา สมาคมการตลาดฯ ได้ยืนเคียงข้างผู้ประกอบการในฐานะแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้เรียนรู้และสร้างเครือข่ายการตลาดผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อติดอาวุธทางการตลาดยุคใหม่ให้แก่สมาชิก และ ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นงาน MAT National Webinar งานสัมมนาออนไลน์ฟรีที่จัดเพื่อผู้ประกอบการ คณาจารย์ และนักศึกษาทั่วประเทศ หรือการสานต่อโครงการณ์ MAT CMO Council และ MAT Academic Council ที่มุ่งสร้างเน็ตเวิร์คในภาคเอกชนและภาคการศึกษา รวมถึงโครงการอื่นๆอีกมากมาย และทางสมาคมฯยังมุ่งพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะเดินเคียงข้างเพื่อนๆนักการตลาดไทยไปด้วยกัน
จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ต้องยอมรับความผันผวนต่าง ๆ ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง ที่เราเรียกได้ว่า เป็น “Game Changer” ของโลกธุรกิจและโลกการตลาดเลยทีเดียว โดยสมาคมการตลาดฯมองว่า “จุดเปลี่ยน” ที่จะนำเราไปสู่อนาคตที่แข็งแรงขึ้นนั้น มี 4 ด้านด้วยกัน คือ
- Perspective Changer จุดเปลี่ยนด้านวิสัยทัศน์ เราจะเปลี่ยนมุมมองไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ พลิกความคิด พิชิตกลยุทธ์ใหม่ได้อย่างไร
- Practice Changer จุดเปลี่ยนด้านวิธีการ ออกจากเส้นทางเดิมๆ เริ่มเดินบนทิศทางใหม่ เมื่อเรากล้า ที่จะก้าว ผลลัพธ์ก็เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด
- Platform Changer จุดเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี เราต้องทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่ อะไรหรือสิ่งที่ต้องระวัง หรืออะไรคือสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต
- Planet Changer จุดเปลี่ยนด้านคุณค่าของธุรกิจต่อโลกและสังคม ในยุคที่ผู้บริโภคมองหาแบรนด์ที่มอบคุณค่าที่มากกว่าตัวสินค้า แล้วเราจะหาจุดลงตัวของผลกำไรทางธุรกิจและผลลัพธ์เชิงบวกแก่โลก และสังคมได้อย่างไร
โดยในงาน Thailand Marketing Day นี้ สมาคมการตลาดฯ ได้เรียนเชิญผู้นำภาคธุรกิจและการตลาดกว่า 20 ท่านมาแชร์วิสัยทัศน์ แบ่งปันมุมมอง เปิดประสบการณ์เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการและนักการตลาดไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปปรับใช้ให้เกิด “Game Changer Moment” ได้จริง
และสมาคมการตลาดฯ ขอฝากประเด็นสำคัญ ในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค และ แนวทางการปรับตัวขององค์กร เพื่อให้ทุกท่านพร้อมรับโอกาสใหม่ๆที่เข้ามาพร้อมความเปลี่ยนแปลง
มุมของผู้บริโภค
ในมุมของผู้บริโภคนั้น มีการเปลี่ยนแปลงต่อยอดมาจากเทรนด์ที่เกิดขึ้นในช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา เราสามารถสรุปความต้องการของเขา เป็น 4C คือ
- Caring เขาต้องการแบรนด์ที่เสนอทั้ง ของดี และ คิดดี ในที่นี้ คือ แบรนด์ที่มีสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ตรงตามใจและมาตรฐานของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกัน ก็คิดดีต่อโลกและสังคม
- Community based และแบรนด์นั้นต้องเป็น เพื่อนที่ดี ใน สังคมที่ดี … เราอยู่ในยุคที่สังคมถูกเชื่อมต่อด้วย social media จึงต้องยอมรับว่า ลูกค้ามักจะเลือกแบรนด์ที่เป็นพวกเดียวกับเขา เชื่อในสิ่งเดียวกับเขา ยืนหยัดในสิ่งเดียวกับพวกเขา
- Connected experiences นอกเหนือจากนี้ การเชื่อมต่อกับพวกเขาก็เป็นสิ่งสำคัญ คำว่า สื่อสารดี และ ประสบการณ์ดี อาจไม่ได้หมายความถึงการสร้างแคมเปญใหญ่ๆหรือจัดeventใหญ่ๆอีกต่อไป แต่คือการเชื่อมโยงทุกช่องทางอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ข้อมูลที่เที่ยงตรง และสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่พวกเขา ทั้ง Offline and Online และ Offline in Online ซึ่งข้อนี้ จะนำไปสู่เรื่อง Marketing 6.0 ที่เราจะได้ฟังในช่วงท้ายของวันนี้ด้วย
- Competitive Price & Value และสิ่งสุดท้าย ที่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ คือ ราคาดี และ คุ้มดี … จริงอยู่ ว่า ลูกค้าต้องการของดีจากแบรนด์ที่คิดดี แต่ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน การเงินและสถานการณ์ต่างๆผันผวน อนาคตไม่แน่นอน ลูกค้าจึงมีความระวังในการใช้เงินมากขึ้น ดังนั้น ราคาที่ดีก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ในปีที่จะมาถึงนี้ ซึ่งในเรื่องของราคานี้ ไม่ได้แปลว่าราคาถูกที่สุดเสมอไป แต่เป็นมุมของความคุ้มค่าที่เขาได้รับมากกว่า ดังนั้น นักการตลาดจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องกลยุทธ์การตั้งราคามากเลยทีเดียว
มุมขององค์กร
เมื่อเรามองในมุมของลูกค้าไปแล้ว ก็กลับมามองในมุมขององค์กรบ้าง ว่า หากเราต้องการที่จะ Riding the wave of changes to the future นั้น เราต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ผมจะขอแชร์ว่า องค์กร ต้องเริ่มที่คำว่า C.A.R.E แคร์ที่แปลว่าห่วงไย หรือแปลอีกอย่างคือ
- C – Careful จริงๆอยู่ การทำธุรกิจในโลกยุคนี้ต้องมีความรวดเร็ว แต่สิ่งที่ต้องมีเพิ่มขึ้นมา คือ ต้องมีความระแวดระวังในทุกๆด้าน คิดให้ลึก คิดให้รอบด้าน คิดให้รอบคอบ เพื่อลดความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ
- A – Authentic คุณต้องเป็นตัวจริง และยืนอยู่ในสนามของคุณจริงๆ ในยุคนี้ผู้บริโภครู้ทันแบรนด์ทุกอย่าง ความชัดเจน โปร่งใส ตั้งใจ และ ทำจริง จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานที่มั่นคง
- R – Resilience การยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวคือคุณสมบัติสำคัญของความอยู่รอด เพราะธุรกิจยุคใหม่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เราไม่สามารถเอารูปแบบเดิมๆมาใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ และโลกก็เปิดกว้างมากพอให้เราเรียนรู้และพัฒนาได้ตลอด หากล้ม ก็ให้เอาประสบการณ์มาปรับ แล้วลุกเดินต่อ ที่ยืดหยุ่นและอดทน คือผู้ที่จะสามารถอยู่รอดในยุคนี้
- E – Empathy ทำความเข้าใจด้วยหัวใจ คุณสมบัตินี้สำคัญมากๆสำหรับทุกองค์กร ไม่ใช่แค่การทำความเข้าใจลูกค้าภายนอก แต่รวมถึงภายในด้วย เพราะความแข็งแกร่งของทุกองค์กรเริ่มจากข้างใน และการจะพัฒนาคนข้างในได้ เราก็ต้องเข้าใจเขาอย่างแท้จริงด้วย
ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
JMART ปิดดีลลงทุน 1,200 ล้านบาท สุกี้ตี๋น้อย ในสัดส่วน 30% ลุยขยายสาขากรุงเทพฯ – ต่างจังหวัด
บีโอไอเปิด 9 มาตรการใหม่ ขับเคลื่อนลงทุนไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ ควบคู่ความยั่งยืน