สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับ บริษัทซีพีเอสเวเธอร์จำกัด และ บริษัทซีพีเอสอะกริจำกัด เปิดตัวโครงการ CPS AGRI: ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศด้านเกษตรอัจฉริยะ
- จีนติดตั้ง ‘กังหันลมนอกชายฝั่ง’ อันดับ 1 โลกในปี 2020
- “ฟยอร์ดเทรนด์ 2021” ระบุ ปี 2021 เป็นจุดเปลี่ยนของศตวรรษที่ 21
พัฒนาให้เกิดการให้บริการบนแพลตฟอร์มกับภาคการเกษตร ให้บริการในลักษณะของข้อมูลเป็นบริการ และใช้ข้อมูลดิจิทัลในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ภาคเกษตร พร้อมตั้งเป้าหมายเกษตรกรและประชาชนเข้าถึงข้อมูล 10 ล้านราย ลดต้นทุนและลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ดีป้า มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่เป็นอาชีพหลักของคนไทย ซึ่งคิดเป็น 28% ของประเทศ โดยการพัฒนาเกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ด้วยเหตุนี้ ดีป้า จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท ซีพีเอส เวเธอร์ จำกัด และ บริษัท ซีพีเอส อะกริ จำกัด จัดทำโครงการ “CPS AGRI: ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย” ที่จะช่วยเตือนภัยธรรมชาติ เพื่อให้เกษตรกรทราบถึงข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนล่วงหน้าในพื้นที่ของตนเองได้อย่างแม่นยำ ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการทรัพยากร วางแผนการเพาะปลูกและการจัดจำหน่ายได้
อีกทั้งยังเป็นการให้บริการในลักษณะของข้อมูลด้านบริการ (Data as a Service) ให้กับดิจิทัลสตาร์ตอัพสามารถเชื่อมโยงข้อมูล API จนนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการให้บริการแบบใหม่สำหรับเกษตรกร
ด้าน ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอส เวเธอร์ จำกัด และ บริษัท ซีพีเอส อะกริ จำกัด กล่าวว่า โครงการ CPS AGRI: ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย จะเปิดให้บริการแก่ประชาชน เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน
โดยมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มากถึง 10 ประเภท ได้แก่ ข้อมูลฝนจากดาวเทียมประมาณ 9 ดวง ผลการพยากรณ์อากาศความละเอียดสูง การสังเกตและผลการพยากรณ์พายุหมุนเขตร้อน พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน ผลการพยากรณ์ภูมิอากาศความละเอียดสูง ล่วงหน้า 10 ปี ข้อมูลสภาพอากาศจากอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกของพืชเศรษฐกิจ (ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา) ผลการพยากรณ์ผลผลิตอ้อย ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมจากดาวเทียม และสถานภาพความสมบูรณ์ของพืชจากดาวเทียม
พัฒนาแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน “ฟ้าฝน” (FAHFON) เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยคาดว่าจะเปิดตัวในเดือนมิถุนายนนี้
อันจะเกิดประโยชน์ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการน้ำ และประกันภัยพืชผล ลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และการพัฒนาศักยภาพด้านเกษตรอัจฉริยะของประเทศ โดยตั้งเป้าติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ 500 จุดทั่วประเทศ และมีเกษตรกร รวมถึงประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการมากกว่า 10 ล้านคนภายในระยะเวลา 3 ปี หวังช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรและสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ในภาพรวมของประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี