TH | EN
TH | EN
หน้าแรกNewsไบโอเทค สวทช. ผลิตยีสต์โพรไบโอติก สำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

ไบโอเทค สวทช. ผลิตยีสต์โพรไบโอติก สำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ บริษัท เอเชียสตาร์เทรด จำกัดพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยีสต์โพรไบโอติกสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ

โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพด้านจุลินทรีย์และเทคโนโลยีชีวกระบวนการตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกสายพันธุ์ยีสต์ที่มีคุณสมบัติโพรไบโอติกที่ดีการพัฒนากระบวนการผลิตเซลล์ยีสต์การผสมสูตรผลิตภัณฑ์การตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการทดสอบการนำไปใช้กับสัตว์

นับเป็นเทคโนโลยีของประเทศที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฐานชีวภาพเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและยังพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อีกด้วย

โพรไบโอติก คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับในปริมาณที่เพียงพอจะทำให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะมีประโยชน์อย่างมากต่อระบบทางเดินอาหาร ซึ่งช่วยในการรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งช่วยต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) และต้านการอักเสบส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์และสัตว์

นอกจากนี้ มีงานวิจัยรายงานถึงการเชื่อมโยงระหว่างจุลินทรีย์โพรไบโอติกในระบบทางเดินอาหารและโรคต่าง ๆ พบว่า จุลินทรีย์บางสายพันธุ์สามารถช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ที่นำมาใช้ โดยต้องผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์ ทดสอบคุณสมบัติ และทำการศึกษาทดลองก่อนนำมาใช้จริง

โพรไบโอติกที่มีประสิทธิภาพนั้น ควรมีสมบัติทนต่อสภาวะแวดล้อมของระบบทางเดินอาหารได้เป็นอย่างดี จุลินทรีย์โพรไบโอติกที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย คือ จุลินทรีย์ในกลุ่มแลคทิกแบคทีเรีย ได้แก่ แล็คโตบาซิลลัส (Lactobacillus) บิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) และยีสต์บางสายพันธุ์ที่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นโพรไบโอติกที่ดี ซึ่งการนำยีสต์มาผลิตเป็นสารเสริมชีวนะประเภทโพรไบโอติกมีข้อได้เปรียบแบคทีเรียกลุ่มแลคทิก คือ ยีสต์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่มีค่าความเป็นกรด-เบสได้ในช่วงที่กว้าง ทนต่อเอนไซม์และน้ำดีในทางเดินอาหาร ทนต่ออุณหภูมิในร่างกายของผู้ให้อาศัย ทนต่อยาปฎิชีวนะ จึงมีการใช้ยีสต์โพรไบโอติกอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการนำมาใช้กับฟารม์เพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องสูญเสียเงินจำนวนมากและมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่อง ยังทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค รวมทั้งหากมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค และส่งผลกระทบด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์  อันจะเป็นหนึ่งในสาเหตุของการกีดกันทางการค้าจากตลาดต่างประเทศ ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์โพรไบโอติก จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยส่งเสริมสุขภาพ บรรเทาและรักษาโรค โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหารของคนและสัตว์

ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีการนำโพรไบโอติกมาใช้ในฟารม์ปศุสัตว์ โดยการเสริมในอาหารสัตว์เพื่อช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งวิธีนี้ส่งผลดีใน 3 มิติด้วยกัน มิติแรก คือ สัตว์จะมีสุขภาพที่แข็งแรง ลูกสุกรหลังหย่านมมีอัตราเจ็บป่วยและตายน้อยลง อัตราการเจริญเติบโตและน้ำหนักเฉลี่ยต่อวันของไก่เนื้อเพิ่มขึ้น

มิติที่สองคือ ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่ทำให้ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ ประหยัดค่าใช้จ่าย ได้เนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยต่อการบริโภคและสามารถส่งออกจำหน่ายได้ในต่างประเทศ มิติสุดท้าย คือ ระบบนิเวศ เมื่อไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะส่งผลให้ไม่มีสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม ที่อาจจะมาจากมูลสัตว์หรือการทำความสะอาดซึ่งอาจมีการปนเปื้อนได้ และลดโอกาสในการดื้อยาของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ดังนั้น ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ควรใช้โพรไบโอติกอย่างถูกวิธี มีการคัดเลือกสายพันธุ์อย่างเหมาะสม มีการผลิตที่ได้มาตรฐาน ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์ และมีระบบการขนส่งที่ดีเพื่อให้คงคุณสมบัติของโพรไบโอติกมีชีวิตตลอดอายุผลิตภัณฑ์ส่งจนถึงมือผู้บริโภค  

ดร.กอบกุล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากความร่วมมือในงานวิจัยของ บริษัท เอเชียสตาร์ เทรด จำกัด และ ไบโอเทค โดยทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวกระบวนการอุตสาหกรรม โรงงานต้นแบบขีวกระบวนการไบโอเทค ร่วมกับทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร และทีมวิจัยการเก็บรักษารวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์ ในพัฒนากระบวนการผลิตยีสต์โพรไบโอติกสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหารคนและสัตว์ ที่ครอบคลุมตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ยีสต์ การทดสอบคุณสมบัติของโพรไบโอติก การพัฒนากระบวนการผลิตเซลล์ยีสต์โพรไบโอติคในระดับห้องปฏิบัติการ และขยายขนาดการผลิตผลิตภัณฑ์ยีสต์โพรไบโอติกในระดับอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการต้นน้ำ (USP) และกระบวนการปลายน้ำ (DSP) ได้แก่ การผลิตเซลล์ด้วยการหมักแบบเหลว (submerged fermentation) การเก็บเกี่ยวเซลล์ (cell harvesting) การทำแห้ง (drying) และการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ (product formulation) เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกที่มีคุณลักษณะตามที่กำหนด ภายใต้การผลิตตามมาตรฐาน GMP, FAMI-QS และ HACCP สำหรับใช้เป็นสารเสริมอาหารในสัตว์

ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมปศุสัตว์เป็นผลิตภัณฑ์สารผสมล่วงหน้า (premix) ชนิดสารเสริมชีวนะโพรไบโอติกในสัตว์แล้ว ภายใต้แบนด์ SYMPRO plus, SYMPRO star และ SYMMUNE GUARD และอยู่ในระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ยีสต์โพรไบโอติกในอาหารต่อไป

ซึ่งผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกยีสต์ที่ใช้ในท้องตลาดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยีตส์โพรไบโอติกในประเทศ ให้มีคุณภาพทัดเทียมสินค้านำเข้าและเป็นไปตามมาตรฐานที่ดีของการผลิตที่ดี จึงมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ของประเทศ ที่จะช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรจุลินทรีย์ของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งยกคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ