TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyไบโอเทค-สวทช. พบราแมลงชนิดใหม่ของโลก 47 สายพันธุ์

ไบโอเทค-สวทช. พบราแมลงชนิดใหม่ของโลก 47 สายพันธุ์

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เปิดเผยภายในแถลงข่าวงาน NSTDA Beyond Limits: 3 Decades of Impacts (3 ทศวรรษ แห่งความต่อเนื่อง ความสำคัญและผลกระทบ) Episode 1 : เกษตรและอาหาร ว่า ดร.เจนนิเฟอร์ เหลืองสอาด และคณะวิจัย จากทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร (APMT) กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ค้นพบราแมลงชนิดใหม่รวม 47 สปีชีส์ โดยเป็นสกุลใหม่รวม 8 สกุล ถือเป็นการค้นพบราแมลงชนิดใหม่จำนวนมากของโลก

ราแมลง คือ ราที่ก่อโรคในแมลงและแมง โดยราจะเข้าไปอาศัยในตัวแมลงเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร ราจะค่อย ๆ เจริญเติบโตจนแมลงเจ้าบ้านตายในที่สุด และจะพัฒนาโครงสร้างที่ใช้ในการสืบพันธุ์ที่เต็มไปด้วยสปอร์งอกบนซากของแมลง สปอร์ราที่มีการพัฒนาสมบูรณ์แล้วก็พร้อมเข้าทำลายแมลงเจ้าบ้านตัวใหม่ต่อไป ราแมลงสามารถพบได้ทั้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ และพื้นที่การเกษตรที่ปลอดสารเคมี

ไบโอเทค สวทช. ได้ดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับราแมลงนานกว่า 25 ปี จากการริเริ่มของ ดร.ไนเจล โจนส์ (Dr. Nigel L.H. Jones) ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติซึ่งเป็นนักกีฏวิทยา ได้สำรวจพบราแมลง Hirsutella citriformis (เฮอร์ซูเทลลา ซิตริฟอร์มิส) ก่อโรคบนเพลี้ยกระโดดในแปลงนาข้าวครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยประเทศไทยมีพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ดร.ไนเจล จึงมีแนวคิดที่จะศึกษาความหลากหลายของราแมลงในประเทศไทย ปัจจุบันทีมวิจัยได้มีความร่วมมือกับนักวิจัยจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สำรวจความหลากหลายของราแมลงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่ามีราแมลงมากกว่า 400 ชนิด ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของราแมลงมากแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งจากการศึกษาวิจัยพบว่า ราแมลงบางชนิดมีคุณสมบัติในการสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพระดับห้องปฏิบัติการ และสามารถนำมาขยายผลใช้ประโยชน์ทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการแพทย์ 

ไบโอเทค-สวทช. พบราแมลงชนิดใหม่ของโลก 47 สายพันธุ์

ตัวอย่างความหลากหลายและความโดดเด่นของราแมลงชนิดใหม่ที่พบ 47 สปีชีส์ นี้ เช่น ราในสกุลเมตาไรเซียม(พบมากถึง 21 สปีชีส์ใหม่) และราสกุลบิวเวอเรีย (สปีชีส์ใหม่ที่พบคือ Beauveria mimosiformis : บิวเวอเรีย มิโมสิฟอร์มิส) ซึ่งรากลุ่มนี้สามารถนำมาพัฒนาเป็นสารชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืช  (biocontrol) ซึ่งที่ผ่านมาไบโอเทค สวทช. ได้มีการศึกษาคัดเลือกราแมลงสายพันธุ์ บิวเวอเรีย บาสเซียน่า  (Beauveria bassiana) มาพัฒนาเป็นสารชีวภัณฑ์ที่ใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชหลายชนิด โดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง 

ขณะที่เชื้อราในสกุลเมตาไรเซียม (Metarhizium) เป็นกลุ่มราแมลงที่สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ โดยในระยะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ราสร้างสปอร์สีเขียวขึ้นคลุมแมลงเจ้าบ้าน แต่ในระยะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศจะสร้างก้านรางอกจากตัวแมลง มีความสามารถก่อโรคบนแมลงได้หลายชนิด เช่น หนอนผีเสื้อ หนอนด้วง ด้วงตัวเต็มวัย ตัวอ่อนจักจั่น จักจั่นตัวเต็มวัย และเพลี้ยกระโดด ดังนั้นการค้นพบราเมตาไรเซียม และราบิวเวอเรียชนิดใหม่จำนวนมากในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะค้นหาสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการพัฒนาสารชีวภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ควบคุมแมลงได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการใช้สารเคมีในทางการเกษตร ไม่มีสารพิษตกค้างในผลผลิต และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภค

ราแมลง Gibellula pigmentosinum (จีเบลลูลา พิกเมนโตสินัม) ที่ค้นพบใหม่ สามารถสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต้านการสร้างไบโอฟิล์มของแบคทีเรีย ซึ่งมีศักยภาพอาจนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น ใช้เป็นยาปฏิชีวนะเพื่อยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มของแบคทีเรีย เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ในอนาคต อีกทั้งยังค้นพบราแมลงชนิดใหม่ในสกุลแบล็กเวลโลไมซีส (Blackwellomyces) และคอร์ไดเซปส์ (Cordyceps) สร้างก้านราสีสดออกจากตัวแมลง พบได้ตามเศษซากใบไม้และขอนไม้ผุ ก่อโรคกับหนอนด้วงและหนอนผีเสื้อ โดยราบางชนิดในสกุลคอร์ไดเซปส์นี้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์แผนจีน (CTM : Chinese Traditional Medicine)

ไบโอเทค-สวทช. พบราแมลงชนิดใหม่ของโลก 47 สายพันธุ์

ตัวอย่างราแมลงสกุลใหม่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นในกลุ่มที่พบได้ค่อนข้างน้อยคือ ราสกุลนีโอทอร์รูบีเอลลา (Neotorrubiella) ค้นพบใหม่ 1 สปีชีส์ ได้แก่ Neotorrubiella chinghridicola (นีโอทอร์รูบีเอลลา ชิงกริดิโคลา) และในสกุลเพตเชีย (Petchia) อีก 1 สปีชีส์ ได้แก่ Petchia siamensis (เพตเชีย ไซแอมเมนสิส) ที่สำคัญยังมีการค้นพบเชื้อรา Beauveria malawiensis (บิวเวอเรีย มาลาวิเอนสิส) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และพบระยะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของเชื้อรา Beauveria asiatica (บิวเวอเรีย เอเชียติกา) เป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย รวมทั้งยังค้นพบแมลงเป้าหมายของเชื้อรา B. gryllotalpidicola (บิวเวอเรีย กริลโลทัลพิดิโคลา) เพิ่มเติม ได้แก่ หนอนผีเสื้อและด้วง นอกเหนือจากที่เคยศึกษาพบแต่เดิมคือ แมลงกระชอน 

รายชื่อสกุลและสปีชีส์ของราแมลงที่ค้นพบใหม่

          รายชื่อสกุลใหม่รวม 8 สกุล ได้แก่ Keithomyces, Marquandomyces, Papiliomyces, Purpureomyces, Sungia, Yosiokobayasia, Neotorrubiella และ Petchia

          รายชื่อสกุลและชนิดพันธุ์ใหม่รวม 47 สปีชีส์ ได้แก่ 

Metarhizium 21 สปีชีส์; Metarhizium biotecenseM. candelabrumM. cercopidarumM.  cicadaeM. clavatumM. culicidarumM. eburneumM. ellipsoideumM. flavumM. fusoideumM. gryllidicola, M.huainamdangenseM. megapomponiae, M. niveumM. nornnoiM. ovoidosporumM. phasmatodeae, M. phuwiangenseM. purpureonigrumM. purpureum และ M. sulphureum  

Purpureomyces 2 สปีชีส์; Purpureomyces maesotensis และ P. pyriformis

Blackwellomyces 4 สปีชีส์; Blackwellomyces aurantiacusB. roseostromatusB. calendulinusB. minutus 

Cordyceps 5 สปีชีส์; Cordyceps brevistromaC. inthanonensisC. neopruinosaC. parvistromaC. araneae 

Neotorrubiella 1 สปีชีส์; Neotorrubiella chinghridicola

Petchia 1 สปีชีส์; Petchia siamensis

Beauveria 1 สปีชีส์; Beauveria mimosiformis

Gibellula 4 สปีชีส์; Gibellula cebrenniniG. fusiformisporaG. pigmentosinum และ G. scorpioides

Akanthomyces 3 สปีชีส์; Akanthomyces noctuidarumA. pyralidarum, และ A. tortricidarum

Ophiocordyceps 5 สปีชีส์; Ophiocordyceps campesO. longistromata, O. phuwiangensis, O. krachonicola, O. kobayasii

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ