TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyเกษตร 5G : จีนใช้ ‘ระบบชลประทานอัจฉริยะ’ ช่วยประหยัดน้ำ-เพิ่มผลผลิต

เกษตร 5G : จีนใช้ ‘ระบบชลประทานอัจฉริยะ’ ช่วยประหยัดน้ำ-เพิ่มผลผลิต

หัวจ่ายน้ำจำนวนสิบกว่าอันเริ่มทำงานหลังจากสือฉางสั่ว ชาวบ้านวัย 54 ปีจากเขตชนบทในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน กดปุ่มควบคุมบนรีโมตในมือ และภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งวันแปลงปลูกขนาด 0.4 เฮกตาร์ (ประมาณ 2.5 ไร่) ของสือก็ได้รับน้ำอย่างทั่วถึง

การชลประทานสมัยใหม่มีความแตกต่างจากช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อชาวบ้านอย่างสือต้องเข้าแถวรอคอยและรดน้ำแปลงปลูกทั้งวันทั้งคืนโดยใช้เครื่องสูบน้ำและท่อส่งน้ำ

“เมื่อเทียบกับวิธีการชลประทานแบบดั้งเดิม การจ่ายน้ำรูปแบบใหม่สามารถช่วยประหยัดน้ำ เวลา และพลังงานได้อย่างมาก” คำบอกเล่าจากสือ

-ไปรษณีย์ไทย หนุนนักธุรกิจ – เกษตรกรรุ่นใหม่ ส่งด่วนสินค้าเกษตรคัดเกรด
-สวพส. โชว์ผลงานชุมชนแม่จริม “ชุมชนลดการเผาด้วยวิถีเกษตรตามแนวทางโครงการหลวง”

แปลงปลูกของสือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธิตการเกษตรมาตรฐานสูงขนาดมากกว่า 600 เฮกตาร์ (ประมาณ 3,750 ไร่) ในอำเภอเว่ยซื่อของเหอหนาน ซึ่งมีการประยุกต์ใช้หัวจ่ายน้ำ การให้น้ำแบบหยด และสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นสูงอื่น ๆ

จีนวางแผนเพิ่มแปลงปลูกมาตรฐานสูงเพิ่ม 18.3 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 114 ล้านไร่) ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำยอดรวมแปลงปลูกมาตรฐานสูงของประเทศแตะ 71.6 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 447 ล้านไร่) ภายในปี 2025 และจะมีการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการชลประทานแบบประหยัดน้ำในแปลงปลูกราว 4 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 25 ล้านไร่) ในช่วงเวลาดังกล่าว

กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีนเปิดเผยว่า จีนจะติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกด้านชลประทานแบบประหยัดน้ำในแปลงปลูก 1 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 6.25 ล้านไร่) ในปี 2021 เพียงปีเดียว

หัวจ่ายน้ำแบบยืดหดได้ถูกฝังไว้ใต้ดินบริเวณแปลงปลูกอีกแห่งหนึ่งในอำเภอเว่ยซื่อ โดยเกษตรกรสามารถเปิดระบบผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะทำให้หัวจ่ายน้ำโผล่ขึ้นมาจากพื้นแบบอัตโนมัติ และเริ่มฉีดพ่นน้ำโดยรอบครอบคลุม 360 องศา

“ระบบชลประทานที่ซ่อนอยู่ใต้ดินไม่ส่งผลกระทบต่อการไถพรวนและการใส่ปุ๋ย และยังช่วยประหยัดน้ำได้ถึงร้อยละ 65 เมื่อเทียบกับการจ่ายน้ำแบบดั้งเดิม” เฉินเหลยหยาง ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลรักษาระบบ กล่าว

เหอหนานเป็นมณฑลเกษตรกรรมแห่งสำคัญที่มีแหล่งน้ำจำกัด ผู้คนในท้องถิ่นทุ่มเทความพยายามมาเนิ่นนานเพื่อแสวงหาแนวทางประหยัดน้ำในกระบวนการชลประทานของแปลงปลูก

ช่วงทศวรรษ 1950 เกษตรกรหมู่บ้านตงซื่อจวง ในเมืองเหยี่ยนซือของเหอหนาน เริ่มใช้ลูกบอลยางควบคุมช่องระบายน้ำของทางน้ำใต้ดินที่ทำจากดินเผา

“ลูกบอลยางที่ลอยอยู่สามารถปิดกั้นน้ำไม่ให้ไหลออกจากช่องระบาย และหากต้องการใช้น้ำเราก็เพียงใช้ไม้กดลูกบอลลงเพื่อเปิดทางให้น้ำ” หลู่ว์เซ่าอู่ ชาวบ้านวัย 79 ปี บอกเล่า พร้อมเสริมว่าทางน้ำดินเผาป้องกันการรั่วไหลของน้ำได้ดีมากเมื่อเทียบกับทางน้ำที่ทำจากดินโคลน

โหลวซื่อเฉียง หัวหน้าตำบลจางซื่อของอำเภอเว่ยซื่อ กล่าวว่าตำบลแห่งนี้ดำเนินโครงการเกษตรอัจฉริยะ 5จี (5G) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลของต้นกล้า สภาพอากาศ ความชื้นในดิน และแมลง เพื่อให้เกษตรกรรับทราบถึงข้อมูลการจ่ายน้ำตามหลักวิทยาศาสตร์ เช่น ควรรดน้ำเมื่อไร ปริมาณเท่าใด และใช้วิธีการใด

“การอนุรักษ์น้ำเป็นหัวใจสำคัญของเกษตรกรรม ขณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นทางออกของภาคการเกษตร” โหลว กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา xinhuathai

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ