TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyเนคเทค สวทช.-EEC-สพฐ. จัดแข่งขัน “ออกแบบอย่างใจคิดพิชิต อุตุน้อย Hackathon” หาสุดยอดนวัตกรน้อยในเขต EEC

เนคเทค สวทช.-EEC-สพฐ. จัดแข่งขัน “ออกแบบอย่างใจคิดพิชิต อุตุน้อย Hackathon” หาสุดยอดนวัตกรน้อยในเขต EEC

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกาศผล และมอบรางวัลการแข่งขัน “ออกแบบอย่างใจคิดพิชิตอุตุน้อย Hackathon” (UtuNoi Hackathon) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ฝึกทักษะการออกแบบนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ครู อาจารย์ และเยาวชนระดับมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หวังสร้างชุมชนนักประดิษฐ์ด้วยวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Community Data Science) เตรียมพร้อมพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า สวทช. ดำเนินโครงการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ครูและเยาวชน ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้จัดอบรมและจัดกิจกรรมการแข่งขันในรูปแบบออนไลน์ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 400 โรงเรียน ในหัวข้อต่าง ๆ ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ การโค้ดดิ้ง (Coding), ระบบสมองกลฝังตัว (Embedded system), อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) และในครั้งนี้กับการจัดกิจกรรม ณ สถานที่จริงให้กับคุณครูและนักเรียน ได้มีโอกาสมาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิจัย ใช้เครื่องมือในโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication lab หรือ FabLab) ใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติและการตัดด้วยเลเซอร์ (3D-Printing & Laser cutting) เพื่อออกแบบพัฒนาผลงานสถานีวัดอากาศอุตุน้อย นำไปใช้ประโยชน์ในโรงเรียนและชุมชนของตนเอง รวมถึงการขยายผลต่อยอดเป็นชุดสื่อการเรียนการสอน เป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่น ๆ

“กิจกรรมนี้น้อง ๆ จะได้ฝึกทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี การคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking  ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมไปถึงทักษะการโค้ดดิ้ง และสเต็ม ตามที่สพฐ. ให้ความสำคัญ” 

ธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสายงานเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า EEC ในฐานะหน่วยงานหลักสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการลงทุนในนวัตกรรมขั้นสูงในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรม เพื่อรองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่นับเป็นภารกิจที่ EEC ให้ความสำคัญ ทั้งด้านการพัฒนาหลักสูตร การจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ โครงการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ครูและเยาวชน ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ EEC ร่วมดำเนินงานกับสวทช. มาอย่างต่อเนื่อง ในการสนับสนุนกิจกรรมด้านการพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ

สำหรับในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนได้พัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมดิจิทัล ได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ นั่นก็คือ KidBright และอุปกรณ์ใน Fab Lab ผ่านการคิด วางแผน ออกแบบ และลงมือทำด้วยตนเอง ทั้งนี้ ในเขตพื้นที่ EEC มีนิคมอตุสาหกรรมต่างๆ Automation Park ที่เป็นตัวอย่างของนวัตกรรม พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนทางด้านเทคโนโลยี ในการพัฒนาทักษะความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศสู่อุตสาหกรรม 4.0 

ดร.โชติมา หนูพริก ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาความสามารถพิเศษ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า สพฐ. พร้อมสนับสนุนการทำงานร่วมกับเนคเทค สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ในการสร้างกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะกระบวนการคิด พัฒนาความรู้ และได้รับประสบการณ์ที่นอกเหนือจากการเรียนรู้ภายในห้องเรียน โดยกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ใช้ได้จริง เชื่อว่าผู้เรียนจะสามารถต่อยอดไปสู่การคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ และในอนาคตอาจมีแผนการขยายผลโครงการฯ ไปยังโรงเรียนในพื้นที่อื่น หรือพื้นที่ห่างไกล ที่มีเพชรเม็ดงามที่ต้องการการเจียระไนให้เป็นนักพัฒนา เป็นนวัตกรน้อยสำหรับเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศต่อไป

การแข่งขัน “การออกแบบอย่างใจ คิดพิชิตอุตุน้อย Hackathon”

36 ชั่วโมงสุดเข้มข้น ในการแข่งขัน“การออกแบบอย่างใจ คิดพิชิตอุตุน้อย Hackathon”(UtuNoi Hackathon) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน 2565  เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คุณครู และนักเรียน ได้ร่วมกันนำเสนอไอเดียอย่างสร้างสรรค์ ออกแบบพัฒนาสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ หรืออุตุน้อย โดยเปิดรับสมัครครู และนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ. ฉะเชิงเทรา จ. ชลบุรี และจ.ระยอง ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม 2565 มีทีมที่ผ่านรอบคัดเลือกเข้ามาแข่งขันในรอบนี้ทั้งสิ้น 15 ทีม จาก 12 โรงเรียน จำนวน 74 คน

แต่ละทีมจะประกอบด้วยครู 2 คน และนักเรียน 3 คน หัวหน้าทีมจะต้องเป็นครูที่ผ่านการอบรมในหัวข้อ “KidBright อุตุน้อย” นอกจากนี้ทุกทีมจะได้รับการอบรมออนไลน์ปรับพื้นฐานความรู้ และเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าร่วมกิจกรรม ในเวทีการแข่งขันแต่ละทีมจะต้องออกแบบ พัฒนาเชื่อมต่อบอร์ด KidBright ร่วมกับเซนเซอร์ภายนอกสำหรับตรวจวัดสภาพอากาศ จากโจทย์การแข่งขัน  3 ประเภท ได้แก่ เซนเซอร์วัดความเร็วลม เซนเซอร์วัดทิศทางลม และเซนเซอร์วัดปริมาณน้ำฝน โดยเริ่มต้นจากออกแบบโครงสร้าง Sensor ขึ้นรูปชุดอุปกรณ์วัด และออกแบบวงจรไฟฟ้าที่ทำงานร่วมกัน ด้วยเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่มีอยู่ภายในห้อง Fab Lab สร้างเป็นสถานีอุตุน้อยในการวัดค่าสภาพอากาศ ภายในระยะเวลา 36 ชั่วโมง จนได้เป็นต้นแบบของเซนเซอร์ที่สามารถนำไปเผยแพร่ให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ที่อยากพัฒนาสถานีอุตุน้อยเองร่วมกับบอร์ด KidBright ที่โรงเรียนมีอยู่ และการเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมการส่งข้อมูล สภาพอากาศไว้บน UtuNoi PLAYGROUN และคาดหวังว่าในปีหน้า จะขยายผลส่งเสริมการเรียนปัญญาประดิษฐ์ในโรงเรียน (KidBright AI) ให้กับโรงเรียนที่นำร่องไปแล้วเกือบ 400 โรงเรียน

ผลการคัดเลือกทีมที่สามารถคว้ารางวัล “ออกแบบอย่างใจคิดพิชิต อุตุน้อย Hackathon” ในแต่ละประเภท ได้แก่

ผลงานสถานีอุตุน้อย ประเภทเซนเซอร์วัดปริมาณน้ำฝน ได้รับทุนการศึกษา มูลค่า 20,000 บาท – ทีมจากโรงเรียนแกลง “วิทยาสถาวร” จังหวัดระยอง

รายละเอียดผลงาน: ออกแบบและสร้างเครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝน อย่างง่ายโดยเป็นความถูกต้องแม่นยํา ประหยัดงบประมาณง่ายต่อการใช้งาน เพื่อนําไปใช้ในการพยากรณ์ ป้องกันภัยพิบัติ หลักการทำงาน น้ำไหลหยดลงไปยังคานกระดก คานกระดกหนึ่งครั้งส่งสัญญานไปยังลีดสวิตซ์ 1 ครั้ง น้ำ ถ้าลีดด์ผ่านสวิตซ์ เป็นวงจรปิด ถ้าลีดด์ไม่ผ่านสวิตซ์ เป็นวงจรเปิด

ผลงานสถานีอุตุน้อย ประเภทเซนเซอร์วัดความเร็วลม ได้รับทุนการศึกษา มูลค่า 20,000 บาท – ทีมจากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา

รายละเอียดผลงาน: เมื่อลมพัด จะทำให้แขนของเครื่องพัดตามความเร็วลมแบบแปรผันตรงกัน หากลมพัดเร็วขึ้นแขนก็จะหมุนเร็วขึ้น จากนั้นจะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังบอร์ด KidBright บอร์ดจะทําการคํานวณค่าความเร็วลมตามที่เขียนโค้ดวงจร การทำงานของเครื่องวัดความเร็วลมมีตัว REED SWITCH เป็นหลอดแก้วผนึกกั้นอากาศมีขั้วไฟฟ้าที่ปลายทั้งสองด้าน ด้านในต่อกับก้านหน้าสัมผัสขนาดเล็ก ที่ทำจากโลหะสารแม่เหล็ก เมื่อใบพัดของเครื่องวัดความเร็วลมที่ ติดแม่เหล็กเคลื่อนที่ ทำให้สนามแม่เหล็กในบริเวณสัมผัสกันทำให้เกิดสัญญาณ PULSE และส่งสัญญาณไปยังบอร์ด KidBright เพื่อประมวลต่อไป

ผลงานสถานีอุตุน้อย ประเภทเซนเซอร์วัดทิศทางลม ได้รับทุนการศึกษา มูลค่า 20,000 บาท – ทีมจากโรงเรียนชลกันยานุกูล จังหวัดชลบุรี

รายละเอียดผลงาน: ใช้หลักการต้านทานอากาศเมื่อมีอากาศไหลผ่านอุปกรณ์ สามารถวัดทิศทางลมในทิศทางทำมุมกับเครื่องวัด แรงลมจะผลักให้หางหมุนรอบแกนหมุนจนกว่าจะมีทิศทางขนานกับลม ภายในวงจรจะมีลีดด์สวิตซ์ทำงานเมื่อมีแม่เหล็กเข้ามาใกล้โดยแต่ละตัวจะมีการต่อตัวต้านทานจะทำให้รู้ว่าลูกศรชี้ไปในทิศทางใด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ