TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessลูกบ้านแอชตันอโศก เหยื่ออุตสาหกรรมอสังหาฯ

ลูกบ้านแอชตันอโศก เหยื่ออุตสาหกรรมอสังหาฯ

ข่าวคราวที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยคงหนีไม่พ้น โครงการคอนโดแอชตัน อโศก (Ashton Asoke) ของค่ายอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ดำเนินการโดย บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนถือหุ้นโดย บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ 51% และบริษัท ซี อินเวสเม้นท์ ไฟว์ ไพรเวท ลิมิเต็ด บริษัทในกลุ่มของบริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น 49% เป็นคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่กลางเมืองมีความสูง 50 ชั้น จำนวน 783 หน่วย มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท ติดกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสุขุมวิท 

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดําที่ ส. 53/2559 คดีหมายเลขแดงที่ ส. 19/2564 เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง โดยให้มีผลย้อนหลัง ศาลเห็นว่า “ผิด” พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 หลังจากมีผู้ฟ้อง 5 หน่วยงานราชการกับรัฐวิสาหกิจอีก 1 แห่ง ฐานร่วมกันอนุญาตให้อนันดาฯ ก่อสร้างคอนโดมิเนียมโครงการแอชตัน อโศก โดยมิชอบ

กระแสข่าวดังกล่าวสร้างความแตกตื่นให้กับลูกบ้านที่ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาการซื้อคอนโดมีเนียม นอกอจากดูทำเลที่ตั้ง และอื่น ๆ ที่สำคัญดูเกณฑ์ EIA  แต่กรณีแอชตันนี้ดันมีปัญหาเรื่องทางเข้าออกคอนโด ไม่เป็นที่กังวลก่อนหน้านี้ 

ปัจจุบันโครงการแอชตันขายไปแล้ว 666 ยูนิต มูลค่า 5,639 ล้านบาท หรือ 87% มีผู้พักอาศัย 578 ครอบครัว เป็นลูกค้าคนไทย 438 ราย และต่างชาติ 140 ราย จาก 20 ประเทศ ยังมียูนิตเหลือขายอีก 117 ยูนิต หรือ 13%  มูลค่า 842 ล้านบาท ในจำนวนนี้มี 348 ครอบครัวที่ใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก 9 สถาบันการเงิน มีมูลค่ารวมเกือบ 3,000 ล้านบาท ได้รับความเดือดร้อน 

ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าของโครงการ เผยว่า “จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด ดังนั้นคำพิพากษาศาลปกครองกลางซึ่งเป็นศาลชั้นต้นยังไม่มีผลบังคับจนกว่าจะมีคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด จึงยังไม่มีผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของเจ้าของร่วมแต่อย่างใด”

และชี้แจงกรณีแอชตัน อโศก ว่าได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย โครงการดังกล่าวรับการอนุมัติจากหน่วยงานราชการ 8 แห่ง ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำนักงานเขตวัฒนา สำนักงานที่ดินพระโขนง สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (สจส.) กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานโยธา กรุงเทพมหานครและ กรมที่ดิน

ได้รับใบอนุญาต 9 ฉบับ ได้แก่ ใบอนุญาตใช้ทางของรฟม. ใบอนุญาตเชื่อมทางสาธารณะ ใบรับแจ้งการก่อสร้างตามมาตรา 39 ทวิ 3 ใบ หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด หนังสือรับรองจดทะเบียนอาคารชุด ใบรับรองการเปิดใช้อาคาร และหนังสือเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) 

ได้ขอความเห็นจาก 6 หน่วยงานก่อนดำเนินการ ได้แก่ รฟม. สำนักงานเขตวัฒนา กองควบคุมอาคาร สำนักการจราจรสำนักงานโยธา กทม. สำนักงานที่ดิน 8. สำนักงานนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)  และผ่านคณะกรรมการ 5 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการรฟม.  คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)  คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแบบของสำนักควบคุมอาคารว่าแบบก่อสร้างถูกต้อง คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอุทธรณ์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง (กรณีไม่ออกใบอนุญาต) และคณะกรรมการตรวจทรัพย์สินส่วนกลาง

ในขณะที่สมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยถึง กรณีที่มีคำพิพากษาของศาลปกครองกลางให้เพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างโครงการอาคารชุดย่านถนนอโศกมนตรี ซึ่งก่อสร้างเสร็จและมีผู้พักอาศัยมากกว่า 2 ปีแล้วนั้น ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตจากหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละกระบวนการมีขั้นตอนการตรวจสอบและอนุญาตจากหลายหน่วยงานที่ต่างก็มีความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะด้านของตนเอง แต่สุดท้ายมีคำพิพากษาว่าโครงการก่อสร้างโดยไม่ถูกต้อง

สมาคมฯ มีความห่วงกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ซื้อที่อยู่อาศัย ธนาคารที่ให้สินเชื่อโครงการและสินเชื่อที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นต้นน้ำที่เกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการลงทุนพัฒนาโครงการอาคารชุดในประเทศไทยทั้งจากชาวไทยและต่างชาติต่อไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต

คนที่อกสั่นขวัญแขวน วินาทีคงไม่มีใครเกินลูกบ้าน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งด้านความมั่นใจและทรัพย์สิน  เพราะชีวิตอยู่บนความไม่แน่นอน หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาต ใครจะรับผิดชอบ เงินที่ดาวน์/ผ่อนไป เงินกู้สถานบันการเงิน ที่อยู่ในอนาคต หากจะขายต่อคงไม่มีคนซื้อโครงการที่มีปัญหาทางเข้าออก

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ดำเนินโครงการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สถาปนิกยึดมั่นหลักเกณฑ์ที่ควรทำ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรับผิดชอบ ใช้กฎตามที่กฎหมายให้ดำเนินการได้ แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ลูกบ้านกลับกลายเป็นเหยื่อที่ไม่รู้จะเรียกร้องการเยียวยาจากใคร

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ