TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistธีม "เศรษฐกิจยุคใหม่" ใส่ใจโลก

ธีม “เศรษฐกิจยุคใหม่” ใส่ใจโลก

เมื่อพูดถึงคำว่าสิ่งแวดล้อม อาจไม่ใช่การนำคำว่า สีเขียว มาใช้แทนที่กันได้เสมอไป เพราะนิยามของคำว่า สีเขียว มีความหลากหลายตามแต่ละกิจการที่นำไปใช้ ซึ่งอาจหมายรวมถึงเรื่อง Environmental, Ecological, Eco-friendly เป็นต้น

โดยทั่วไป คำว่า สีเขียว มักใช้สื่อถึง การผลิตพลังงานไฟฟ้าและยานพาหนะที่ใช้คาร์บอนต่ำ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การควบคุมมลพิษ การแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ การจัดการของเสียและการนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของทรัพยากรใหม่หรือแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน (Waste of Energy) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นใดที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน โลกได้ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จำต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่ หลายองค์กรในภาคธุรกิจ กำลังมองหาโจทย์ใหม่ ๆ ในการนำเทรนด์สีเขียวมาพัฒนาให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ และใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

สำหรับประเทศไทย มีเส้นทางที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า ธีมการพัฒนาเศรษฐกิจ จะขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ BCG อันได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เน้นการนำความรู้ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และต้นทุนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ประเทศไทยมีอยู่มาเป็นตัวขับเคลื่อน เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เน้นการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบต่างๆ ตลอดวัฏจักรชีวิต และการนำวัสดุเหลือทิ้งเดิมมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงทางอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยลดขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่เน้นส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมายสูงสุด

ทั้งนี้ สถานะของการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคเอกชน ประกอบด้วยกิจการในสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่หัวขบวน ซึ่งมีศักยภาพพร้อมที่จะนำการขับเคลื่อน แต่ผู้กำกับนโยบายต้องมีการเปิดทางหรือ Enable ให้มีบรรยากาศที่เอื้ออำนวย เช่น การให้สิทธิประโยชน์ หรือการใช้กลไกทางภาษี ในการส่งเสริมผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อน

ส่วนกลุ่มที่อยู่กลางขบวน จะเป็นกิจการที่รอทิศทางตลาดให้มีความชัดเจนว่าเกิดประโยชน์จริง ฉะนั้น ผู้ดูแลนโยบายต้องมีการจัดวางระบบนิเวศในทางที่ยุยงส่งเสริม หรือ Encourage ให้เกิดการดำเนินงานอย่างกว้างขวาง เพราะสัดส่วนกิจการที่จะเคลื่อนตัวในกลุ่มนี้ มีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มที่อยู่หัวขบวนมาก

ส่วนกลุ่มที่อยู่ท้ายขบวน จะเป็นกิจการที่เป็นผู้ตามตลาด ไม่ได้เห็นประโยชน์ในการดำเนินรอยตาม หรืออาจไม่จำเป็นต้องเดินตามก็ได้ ซึ่งหากผู้กำกับดูแลต้องการให้กิจการในกลุ่มนี้ดำเนินการด้วย อาจต้องมีการออกเป็นข้อกำหนดและบังคับใช้ หรือ Enforce ให้เกิดการปฏิบัติตาม

สำหรับการนำกระแสสีเขียว มาใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถจำแนกได้เป็นสามรูปแบบหลัก ได้แก่ รูปแบบแรก คือ การทำให้อุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ปริวรรตตนเอง เช่น การเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงสันดาป มาเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง การเปลี่ยนอุตสาหกรรมภาคพลังงานดั้งเดิมไปเป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก การใช้เชื้อเพลิงสะอาด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน สำหรับรองรับการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน

รูปแบบที่สอง เป็นการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งสินค้าและบริการ เช่น การนำแนวคิด Carbon Negative หรือการทำให้กระบวนการผลิตมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลบมาใช้ในธุรกิจ ตัวอย่างกิจการที่นำแนวคิด Carbon Negative มาใช้ ได้แก่  อินเตอร์เฟซ ผู้นำระดับโลกด้านการออกแบบ ผลิต และจำหน่ายพรมแผ่น  มีการปรับสายการผลิตแผ่นรองพรมที่สามารถกักเก็บคาร์บอนจนทำให้ได้พรมแผ่นชนิดแรกในโลกที่เป็น Carbon Negative เมื่อวัดค่าการปลดปล่อยในขอบเขต Cradle-to-Gate

รูปแบบที่สาม เป็นการพลิกทุนทางธรรมชาติให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ ด้วยการอนุรักษ์ระบบนิเวศพร้อมกับการลงทุนทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดโอกาสในการสร้างกำไรและการจ้างงาน เช่น การเกษตรแบบเจริญทดแทน (Regenerative Agriculture) เป็นการดำเนินธุรกิจการเกษตรที่เน้นการคืนสภาพของหน้าดิน การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ การปรับปรุงวัฏจักรของน้ำ การเพิ่มพูนบริการจากระบบนิเวศ การสนับสนุนการกักเก็บคาร์บอนด้วยวิธีการทางชีวภาพ การเพิ่มภาวะพร้อมผันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การขนส่ง การจัดจำหน่าย การบริโภค ไปจนถึงกระบวนการกำจัดของเสีย

การวัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือตัวเลข GDP ในแบบเดิม กำลังจะถูกเบียด ด้วยการวัดอัตราความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ด้วยตัวเลขความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality และตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-zero Emissions นับจากนี้ไป

ผู้เขียน: ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ สถาบันไทยพัฒน์

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ธุรกิจบริการข้อมูล ESG โตสวนกระแสเศรษฐกิจ

มรรค 8 CSR: ทางสายกิจการ

7 ตัววัดด้านธรรมาภิบาล ที่กิจการมีข้อมูลและตอบโจทย์ SDG

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ