TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyปลัดดีอีเอส สรุปภารกิจ 5 ปี ผลักดันประเทศเข้าสู่สังคมดิจิทัล พร้อมเผย 3 ปัญหาหลักที่ต้องสานต่อและรับมือให้ทัน

ปลัดดีอีเอส สรุปภารกิจ 5 ปี ผลักดันประเทศเข้าสู่สังคมดิจิทัล พร้อมเผย 3 ปัญหาหลักที่ต้องสานต่อและรับมือให้ทัน

ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดใจก่อนส่งไม้ต่อปลัดคนใหม่ เผย 5 ปีในตำแหน่งนี้ ตอบรับนโยบายตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561-2565) วางรากฐานโครงสร้างดิจิทัล ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ “สังคมดิจิทัล” ตามเป้าหมาย ฝากงานขยายผลสร้าง “เศรษฐกิจดิจิทัล” ต้องสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่ม หนุนไทยเกาะติดโอกาสใหม่จากพลังของข้อมูล สกัดเงินไหลออกสู่เจ้าของแพลตฟอร์มต่างประเทศ

อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ช่วงระยะเวลา 5 ปี ในตำแหน่งปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ สอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการผลักดัน Digital Economy ตามแผน 5 ปีของการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561-2565) ที่มุ่งวางรากฐานโครงสร้างดิจิทัล (Digital Foundation) ครอบคลุมทั้ง โครงการเน็ตประชารัฐ การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) การจัดทำร่างกฎหมายดิจิทัลฉบับใหม่ๆ ได้แก่ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างเช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ผลสำเร็จของการขับเคลื่อนภารกิจข้างต้น ทำให้ปัจจุบันกล่าวได้ว่า ประเทศไทย เข้าสู่การเป็นสังคมดิจิทัลแล้ว คนไทยเป็นชาติลำดับต้น ๆ ของโลกที่มีการใช้งาน (adopt) สื่อออนไลน์ สื่อโซเชียล การซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ขณะที่ จากการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย ประจำปี 2565 หรือ Thailand Internet User Behavior (IUB) 2022 จัดทำโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ในภาพรวมพบว่าคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน

นอกจากนี้ จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น กลายเป็น “ตัวเร่ง” ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่รัฐริเริ่มไว้ ซึ่งกลายมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ มีหลายหน่วยงานให้ความสนใจขอเข้าใช้งาน มาเป็นช่องทางสื่อสาร และให้บริการประชาชน คนไทยคุ้นเคยกับการใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ มากขึ้น เป็นการนำดิจิทัล เข้ามาใช้แก้ปัญหาโควิด

โดยผลสำรวจข้างต้นของ ETDA พบว่า กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย ได้แก่ ปรึกษาและรับบริการทางการแพทย์ (จองคิว,ปรึกษาแพทย์) มากที่สุด 86.16% อาจเพราะสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้คนสนใจและหันมาจองคิวรับวัคซีน รองลงมาคือ เพื่อติดต่อสื่อสาร 65.70% ดูรายการโทรทัศน์/คลิป/ดูหนัง/ฟังเพลง 41.51% ดูถ่ายทอดสดเพื่อซื้อสินค้าและบริการ (Live Commerce) 34.10% ทำธุรกรรมทางการเงิน 31.29% อ่านโพสต์/ข่าว/บทความ/หนังสือออนไลน์ 29.51% รับ-ส่งอีเมล 26.62% ช็อปปิ้งออนไลน์ 24.55% ทำงาน/ประชุมออนไลน์ 20.67% และเล่นเกมออนไลน์ 18.75% ตามลำดับ

“ผลงานเด่นที่ภูมิใจคือ เราเป็นปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ จนครบ 5 ปี และเกษียณในตำแหน่งนี้ เรามาด้วยภารกิจที่รับมอบหมายมาจากผู้ใหญ่ที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ เราทำได้ตามเป้าหมาย โดยช่วง 2 ปีแรก หมดไปกับภารกิจตามนโยบายรัฐ ที่ต้องการผลักดัน Digital Economy สามารถผลักดันการวางโครงข่ายเน็ตประชารัฐครอบคลุมทั่วประเทศ ภายใน 18 เดือนแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง และขยายผลสู่การสอนให้ประชาชนใช้งานเป็น ที่กลายเป็นโครงการสร้างอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.)” อัจฉรินทร์ฯ กล่าว

ขณะที่ ช่วง 3 ปีหลัง เป็นปีแห่งการเก็บตกงานทั้งหมด ต้องสานต่อหมดเลย เพราะกฎหมายฉบับใหม่ ๆ ที่ออกมา ก็ต้องมีการจัดตั้งองค์กรใหม่ และการออกกฎหมายลูก รวมถึงการขับเคลื่อนให้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ คือ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) ที่ผู้บริหารกระทรวงฯ ต้องการให้เป็นรูปแบบใหม่ อยากให้เป็นหน่วยงานราชการที่เอาคนที่เป็น Talent หรือคนในสาขา Data Science มาช่วยทำงานบริการวิเคราะห์ข้อมูลตามโจทย์ความต้องการของหน่วยงานรัฐ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จาก Big Data

“ความเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมไทยที่เห็นได้ชัดขึ้น หลังจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ก็คือ บริบทสังคมไทย คนอยู่กับอินเทอร์เน็ต เสพโซเชียลมีเดียเยอะ การใส่ร้าย การ bully, fake news เป็นอะไรที่ทำได้ง่าย และระบาดมากเหลือเกิน จึงทำให้ตั้งแต่ปี 63 จะเห็นการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เข้มข้นขึ้น”

การกำกับดูแล Digital Service – การป้องกันภัยจากการหลอกลวงออนไลน์ – สร้าง value added ให้อยู่ในประเทศไทย คือ 3 ปัญหาหลักของประเทศ

อัจฉรินทร์ฯ กล่าวว่า สำหรับ 3 เรื่องที่เห็นว่าเป็นปัญหาของประเทศไทย ที่ต้องสานต่อและรับมือให้ทัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยจากความเสี่ยงที่มากับอินเทอร์เน็ต และสามารถสร้างให้เกิด “เศรษฐกิจดิจิทัล” ซึ่ง ณ วันนี้ประเทศไทยยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจดิจิทัล ให้เกาะติดไปกับเทรนด์ของโลกเศรษฐกิจยุคใหม่

ประกอบด้วย 1) การกำกับดูแล Digital Service ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ทุกประเทศในโลกก็เผชิญอยู่เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น อี-คอมเมิร์ซ ในยุโรปเก็บภาษี เพราะมิเช่นนั้นการซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้ก็จะไม่มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบ เพราะแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ๆ เป็นบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศ

นอกจากนี้ จากบริบทที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลแล้ว มีการใช้บริการดิจิทัลต่าง ๆ มากกว่าแทบทุกประเทศ ทั้งโซเชียล โมบายแบงกิ้ง อี-คอมเมิร์ซ มีการถือครอง Crypto อันดับต้นๆ ของโลก จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแล ซึ่งต้องยอมรับว่า กฎหมายของประเทศไทยยังไม่ dynamic พอที่จะรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้นหากพบว่า เรื่องใดที่ยังมีช่องว่าง หรือขาดเจ้าภาพ ก็ต้องรีบดำเนินการปิดช่องว่างนั้น

“พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะประกาศใช้ภายในปี 65 จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยกำกับดูแล และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการดิจิทัล” นางสาวอัจฉรินทร์ฯ กล่าว

2) การป้องกันภัยจากการหลอกลวงออนไลน์ (Scammer) ซึ่งเป็นปัญหาที่พบมาก และดิจิทัลถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหลอกลวง ในมุมของกระทรวงฯ ก็อยากปิดให้เร็วที่สุด แต่อำนาจกำกับดูแลเรื่องปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตอยู่อีกหน่วยงานหนึ่ง นอกจากนี้ ประเทศไทย ไม่มี single gateway แต่มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์หลายราย ทั้งระดับในประเทศ และต่างประเทศ หน่วยงานกำกับดูแลแตกต่างกัน กระทรวงฯ จึงบล็อกไม่ได้ ดังนั้นจึงอยากขอความร่วมมือจากสื่อ “ขอฝากสื่อเตือนประชาชนให้มีสติและรอบคอบ”

3) ประเทศไทยเป็นสังคมดิจิทัลแล้ว แต่เศรษฐกิจดิจิทัล ยังไม่ค่อยเห็น คนไทยใช้แพลตฟอร์มกันมาก แต่ไม่ใช่แพลตฟอร์มไทย เงินและข้อมูลจึงไหลออกสู่เจ้าของแพลตฟอร์มในต่างประเทศ ดังนั้น โจทย์คือ จะสร้าง value added ให้อยู่ในประเทศไทยได้อย่างไร

“เป็นเรื่องที่ต้องทำงานกันต่อ ถือเป็นงานใหญ่ ๆ ของกระทรวงฯ ที่ต้องทำต่อ และต้องฝากปลัดกระทรวงฯ ท่านใหม่สานต่อ เราต้องสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่ม เพราะปัจจุบันคือยุคของ Data is the power ข้อมูล value ยิ่งใหญ่ ดังนั้น Data ต้องอยู่ในประเทศไทย เพื่อนำมาใช้งาน ทำการวิเคราะห์ได้” อัจฉรินทร์ฯ กล่าว

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

สร้างจิตสำนึกในใจ หรือบังคับใช้กฏกติกา วิธีไหนแก้ปัญหาไซเบอร์บูลลี่ ได้ดีกว่ากัน

AIS ยกระดับมาตรฐานนักพากย์กีฬาอีสปอร์ต สู่การเป็น CASTER มืออาชีพ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ