TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessเปิดวิสัยทัศน์ผู้นำ 2 รุ่น “กลุ่มบ้านปู” ในวันที่ต้องเปลี่ยนผ่านธุรกิจพลังงานสู่อนาคต

เปิดวิสัยทัศน์ผู้นำ 2 รุ่น “กลุ่มบ้านปู” ในวันที่ต้องเปลี่ยนผ่านธุรกิจพลังงานสู่อนาคต

 “นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้บริหาร 2 รุ่นทั้งจากธุรกิจดั้งเดิมและธุรกิจใหม่ที่จะเป็นอนาคตของกลุ่มบ้านปู มานั่งพูดคุยกับสื่อพร้อมกัน”

สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวก่อนเริ่มการสนทนากับ The Story Thailand ขณะที่มีผู้บริหารหนุ่ม สินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ผู้นำเรือธงลำใหม่ที่กำลังพาองค์กรไปสู่ธุรกิจยุคต่อไป ร่วมสนทนาด้วย

ช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มบ้านปูผ่านการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจหลายครั้งหลายหน จนเติบโตจากผู้ให้บริการพลังงานถ่านหินเล็ก ๆ สู่ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ และกำลังเชื่อมโยงธุรกิจแบบเก่าเข้ากับการขยายสู่ธุรกิจใหม่ในยุคดิจิทัลได้อย่างมีพลัง กลายเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานครบวงจรที่มุ่งไปสู่พลังงานที่ยั่งยืน จนผู้บริหารสูงสุดของบ้านปูได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 25 สุดยอดบุคคลหัวใจนวัตกรรมแห่งภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ประจำปี 2565 จากความสำเร็จของกลยุทธ์ greener & smarter

เหนืออื่นใดยังสร้างความสำเร็จทางธุรกิจด้วยผลประกอบการสูงสุด และผลกำไรสูงสุด เป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องจากปี 2564 มาถึงปี 2565 ด้วย 

ความสำเร็จทั้งหมดล้วนมีที่มาที่ไปน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อผู้บริหาร 2 รุ่นที่ร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านองค์กรอายุเกือบ 40 ปีให้ก้าวสู่ธุรกิจแห่งอนาคต ได้มาร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวและแบ่งปันประสบการณ์การทำงานอันท้าทายจากภารกิจ Banpu Transformation ด้วยกัน

ความท้าทายจาก 3 แนวโน้มใหญ่

สมฤดี ชัยมงคล CEO หญิงของบ้านปู ฉายให้เห็นภาพใหญ่ของธุรกิจพลังงานที่มีความท้าทายใหม่จาก 3 แนวโน้มใหญ่ของโลก คือ หนึ่ง Decentralization การเปลี่ยนรูปแบบการการผลิตและจำหน่ายพลังงานจากแบบรวมศูนย์ (centralized) ไปสู่ไม่รวมศูนย์ (decentralized)

“จากเดิมที่เราเคยขายให้กับรัฐบาลด้วยสัญญา 25 ปี ก็จะเปลี่ยนเป็นขายให้กับเจ้าของกิจการที่เป็นลูกค้ารายย่อย เช่น โรงงาน โรงเรียน โรงแรม ในรูปแบบผลิตเองใช้เองอย่าง solar rooftop”

สอง Digitization พลังงานจะถูกประยุกต์ไปสู่รูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ทำให้การซื้อขายเปลี่ยนไปเป็นแบบแพลตฟอร์ม เรียกว่า Virtual Power Plant (VPP) ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มี แต่ธุรกิจของกลุ่มบ้านปูในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หรือญี่ปุ่น เกิดขึ้นแล้ว

“มีรูปแบบ energy trading platform คล้ายการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาท ในฐานะที่กลุ่มบ้านปูดำเนินธุรกิจพลังงานหลากหลายแบบครบวงจรจึงจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการ แพลตฟอร์ม และ ecosystem ที่จะสนับสนุนการมุ่งไปตามทิศทางนี้ โดยมีบ้านปู เน็กซ์ เป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญ”

สาม Decarbonization หรือกระบวนการที่มุ่งสู่เป้าหมายเพื่อบรรลุการกำจัดคาร์บอนเป็นศูนย์ ตามข้อตกลงในการประชุม COP26 ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์จะบรรลุเป้า carbon neutrality ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) และบรรลุเป้า net zero emissions ภายในปี 2608 (ค.ศ.2065) ทำให้กลุ่มบ้านปูกำหนดเป็น พันธกิจที่มี ESG เป็นธงนำ โดยการทำงานจะต้องคำนึงถึงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสำคัญ

“ภาพรวมของการใช้พลังงานจึงต้องเน้นที่ sustainable energy หรือการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน แต่ไม่ได้หมายความการใช้พลังงานแบบเดิมจะหมดไป ส่วนผสมของการใช้ถ่านหิน ก๊าซ น้ำมัน นิวเคลียร์ ไฮโดรเจน และพลังงานหมุนเวียน จะยังคงอยู่ แต่ในสัดส่วนที่เปลี่ยนไป”

CEO หญิงแห่งบ้านปูชี้ให้เห็นภาพอนาคตว่า ทุกวันนี้การใช้พลังงานหมุนเวียนอาจมีสัดส่วนเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อไปถึงปี 2593 การใช้พลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 40-50 เปอร์เซ็นต์ ก๊าซธรรมชาติจากวันนี้ประมาณกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ การใช้จะลดเหลือกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ถ่านหินที่ใช้อยู่ 30-40 เปอร์เซ็นต์ จะลดเหลือไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนน้ำมันจะถูกเปลี่ยนแปลงรูปแบบ พลังงานนิวเคลียร์คงจะลดลงจากปัญหาความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นเนื่องจากสงครามหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจนัก

ดังนั้นบ้านปูจึงมองว่าธุรกิจพลังงานในอนาคตจะต้องเน้นที่ความยั่งยืน โดยเป็นพลังงานที่จัดหามาได้ด้วยราคาที่เหมาะสม มีความมั่นคงต่อเนื่อง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักสำหรับการดำเนินธุรกิจพลังงานในอนาคต

อย่างไรก็ตาม วิกฤติด้านพลังงานที่เป็นผลกระทบมาจากการเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ส่วนผสมของการใช้พลังงานมีการปรับเปลี่ยนไป ทำให้การใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะยังมีความจำเป็นเพราะเป็นพลังงานที่มีความเสถียรกว่าพลังงานอื่น ๆ เพียงแต่จะถูกทำให้สะอาดขึ้น

“ซึ่งตรงนี้บ้านปู เน็กซ์ จะเข้ามาทำหน้าที่ net zero provider เพื่อนำให้ทั้งหมดขององค์กรมุ่งสู่ภารกิจ net zero ได้ด้วยกลยุทธ์ greener & smarter”

เรือธงลำใหม่มุ่งสู่ธุรกิจแห่งอนาคต

สินนท์ ว่องกุศลกิจ CEO หนุ่มแห่งบ้านปู เน็กซ์ (Banpu NEXT) ผู้ก้าวขึ้นมารับผิดชอบบริษัทที่เน้นทำธุรกิจให้บริการโซลูชั่นพลังงานสะอาดและฉลาดตั้งแต่เมื่อกลางปี 2565 บอกว่า แนวโน้มการใช้พลังงานสะอาดจะมีความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งบ้านปู position ตัวเองได้ถูกจังหวะมาก โดยบ้านปู เน็กซ์ เป็นบริษัทลูกที่มีความยืดหยุ่นที่สุดในกลุ่มบ้านปูที่สามารถจะสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดให้กับกลุ่มบ้านปูได้

“เรามองตัวเองเป็น net zero provider ที่จะช่วยทำให้ธุรกิจของกลุ่มบ้านปูสะอาดขึ้น และเดินหน้าสู่ทิศทาง net zero ที่ชัดเจนขึ้น เราจึงต้องมีโซลูชั่นต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เพื่อจะช่วยสนองความต้องการของลูกค้าที่จะมุ่งไปสู่ net zero ในอนาคต”

บ้านปู เน็กซ์ ดำเนินธุรกิจใน 5 กลุ่ม ประกอบด้วย ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า ธุรกิจ e-mobility และธุรกิจพลังงานฉลาด โดยมีโซลูชั่นในแนวทางที่เรียกว่า smarter ได้แก่ โซลูชันฉลาดวิเคราะห์และจัดการพลังงาน (energy management) ฉลาดผลิต (solar rooftop) ฉลาดใช้ (e-mobility) ฉลาดเก็บ (energy storage) และฉลาดหมุนเวียน (waste management)

“จะเห็นว่าตั้งแต่การใช้ประโยชน์จากโซล่าเซลล์ไปถึงเก็บแบตเตอรี่ การใช้ e-mobility จนกระทั่งการจัดการขยะ ก็เป็นโซลูชั่นที่มีครบสำหรับลูกค้าที่ต้องการทำ net zero ในอนาคต และที่สำคัญต้องมีทีมงานพร้อมในการให้บริการ เนื่องจากมีงานตั้งแต่การออกแบบ การติดตั้งระบบ และการบริการหลังการขาย ซึ่งทั้งหมดจะอยู่บนหลักการที่ว่า smart energy for sustainability”

“โมเดลธุรกิจของบ้านปู เน็กซ์ จะแตกต่างจากบ้านปูเดิม เพราะพลังงานก๊าซและถ่านหินเป็นสินค้า commodity ราคาจะขึ้นลงตามความต้องการตลาด แต่พลังงานสะอาดจะขึ้นกับราคาไฟฟ้าของรัฐ อย่างการให้บริการ solar rooftop จะคิดราคาโดยมีส่วนลด 20-30 เปอร์เซ็นต์ จากราคาของรัฐ ส่วน e-mobility เช่น บริการเช่ารถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเราคิดตามระยะทางเป็นกิโลเมตร”

สมฤดีกล่าวเสริมว่า ทั้งสองส่วนมีกลุ่มเป้าหมายต่างกัน ลูกค้าของบ้านปูเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้า โรงงานปูนซิเมนต์ แต่ลูกค้าของบ้านปู เน็กซ์ เป็นโรงงาน ธุรกิจค้าปลีก เช่น ช็อปปิ้งมอลล์ ส่วนบ้านพักอาศัยเป็นเป้าหมายในอนาคต 

“บ้านปูเน้นที่การขายผลิตภัณฑ์ คือขายไฟฟ้า ขายถ่านหิน แต่บ้านปู เน็กซ์ เน้นขายโซลูชั่นแพลตฟอร์ม ถือเป็น new business model”

โดยในอนาคตการขายผลิตภัณฑ์และบริการจะค่อย ๆ ลดบทบาทลงไป เพราะคนจะนิยมซื้อบนแพลตฟอร์มมากกว่า “ธุรกิจโซลูชั่นแพลตฟอร์มของบ้านปู เน็กซ์ สำหรับ smart energy solution จะเข้ามาสนับสนุนธุรกิจเดิมของบ้านปูในลักษณะเสริมซึ่งกันและกัน 

“ทั้งสองส่วนมีจุดเชื่อมกันตรง energy generation เพราะบ้านปู เน็กซ์ มีธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด เช่น solar farm และ wind farm ทำให้บ้านปู เน็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบ้านปูไม่ได้แยกธุรกิจออกไปอย่างสิ้นเชิง แต่ในอนาคตจะสามารถขยายกิจการใหญ่ขึ้นได้อย่างมาก ดังนั้นบ้านปูมีหน้าที่สนับสนุนให้บ้านปู เน็กซ์ เติบโตต่อไปได้” CEO หญิงของบ้านปูอธิบายเพิ่มเติม

เธอบอกว่า “ถ้าเปรียบบ้านปู เน็กซ์ เป็นสตาร์ตอัพ ก็ถือเป็นสตาร์ตอัพที่มีพ่อแม่ที่ร่ำรวย มีผู้ถือหุ้นที่พร้อมจะใส่เงินเพิ่มทุนได้มากตามความต้องการ ไม่จำเป็นต้องไประดมทุนจากภายนอก

ขณะที่ CEO หนุ่มของบ้านปู เน็กซ์ ให้ความเห็นเสริมว่า “มองในอีกมุม บ้านปู เน็กซ์ เป็นแขนขาของบ้านปูในการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยี และเป็น 1 ในเสาหลักที่สร้างกำไรให้กับกลุ่มบ้านปู”

ทั้งนี้ เสาหลักหรือธุรกิจหลักของกลุ่มบ้านปูประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งมีการลงทุนใน 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยบ้านปู เน็กซ์ จะเป็นส่วนสำคัญช่วยทำให้กลุ่มธุรกิจบ้านปูทรานส์ฟอร์มไปสู่ greener & smarter ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

เริ่มต้นทรานส์ฟอร์มจากถ่านหินสู่ก๊าซ

ผู้บริหารหญิงแกร่งแห่งกลุ่มบ้านปูเล่าย้อนปูมหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจให้ฟังว่า เริ่มต้นขึ้นในปี 2558 หรือเมื่อกว่า 7 ปีก่อน ซึ่งเป็นปีแรกที่เธอรับไม้ต่อจาก ชนินทร์ ว่องกุศลกิจ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนแรกของบริษัท เนื่องจากปี 2554-2555 เป็นช่วงดิสรัปชันของธุรกิจถ่านหิน ราคาถ่านหินตกลงมาก ต่อเนื่องด้วยการเกิดข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 21 (Conference of the Parties ครั้งที่ 21) ในปี 2558 ที่มีสาระสำคัญเรื่องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ครอบคลุมถึงเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะส่งผลรุนแรงต่อความต้องการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะอย่างถ่านหินที่ถูกมองว่าไม่สะอาด

“ข้อตกลงปารีส หรือ COP 21 ออกมาตอนนั้น เรารู้ทันทีว่าจำเป็นต้องทรานฟอร์มธุรกิจแล้ว เป็นที่มาของ Banpu Transformation ด้วยแนวทางที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกฝ่าย และทำอย่างไรให้บริษัทยังคงเติบโตต่อไป เราจึงเลือกวิธีหยุดลงทุนในธุรกิจถ่านหิน และเพิ่มการลงทุนในธุรกิจที่เป็นพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นที่มาของเสาหลักแรกของธุรกิจแหล่งพลังงานหรือ energy resource”

“ธุรกิจถ่านหินเราไม่ลงเงินเพิ่มเลย แต่เติมพลังงานที่สะอาดกว่าเข้าไปคือก๊าซธรรมชาติ ส่วนในอนาคตก็คือ strategic mineral” เธอเน้นให้เห็นภาพชัด

เสาหลักที่สอง หยุดลงทุนใหม่ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ลงทุนเพิ่มในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ที่สำคัญคือการขยายพอร์ตของพลังงานหมุนเวียนในบ้านปู เน็กซ์ ด้วยเมกะเทรนด์ที่เป็น digitization

“เราคำนึงถึง ecosystem platform business จึงให้บ้านปู เน็กซ์ ลงทุนธุรกิจผลิตพลังงานด้วย”

เธอบอกว่าสิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนผ่านของบ้านปูด้วยความรับผิดชอบต่อมวลมนุษย์ ต่อการผลิตพลังงานให้กับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และด้วย passion ของบ้านปูที่มุ่งมั่นในการทรานส์ฟอร์มไปสู่พลังงานที่ยั่งยืน ที่ซื้อหาได้ ที่มีความมั่นคง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“การมีบ้านปู เน็กซ์ ขึ้นมาเป็นเพราะเราอยากจะเปลี่ยนโลกด้วยการทำให้พลังงานที่ใช้เป็นพลังงานที่สะอาดขึ้น และเปลี่ยนไปสู่พลังงานที่ยั่งยืน จึงเป็นที่มาของสโลแกนที่ว่า “พลังบ้านปู สู่พลังงานที่ยั่งยืน” และเป็นที่มาของ greener & smarter strategy”

สมฤดียืนยันว่าการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้าก๊าซที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ 8 ปีก่อนเป็นตัวเปลี่ยนสำคัญในเรื่องพลังงานที่สะอาดกว่า (greener) ของกลุ่มธุรกิจบ้านปูซึ่งเริ่มต้นจากทำเหมืองถ่านหินที่จังหวัดลำพูนในปี 2526 จนเติบโตเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจพลังงานถ่านหิน

“ถือเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องอย่างมากที่คุณชนินทร์มองไว้ตั้งแต่ปี 2557 ว่าถ้าจะถอยห่างจากพลังงานถ่านหินที่เป็นธุรกิจหลัก จำเป็นต้องมีสิ่งใหม่ที่ใหญ่พอที่จะทดแทนได้ และมีแนวโน้มที่ขนาดจะไม่ลดลง”

“จึงเป็นที่มาของเสาหลักใหม่คือแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นอนาคตอีกตัวหนึ่งแม้จะไม่ใช่พลังงานสะอาด แต่ก็สะอาดกว่า ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดการทรานส์ฟอร์มอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าที่ยังใช้พลังงานถ่านหินอยู่ ส่วนความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมตามมาด้วยการค่อย ๆ ถอยห่างออกจากพลังงานถ่านหินที่ทำอยู่เดิม”

ส่วนที่จะเป็นธุรกิจพลังงานสะอาดเต็มรูปแบบ เริ่มดำเนินการเมื่อ 4 ปีก่อน ด้วยการรวบรวมสินทรัพย์ทางธุรกิจที่เป็นพลังงานสะอาดของกลุ่มบ้านปู คือ บริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด และบริษัท บ้านปู รีนิวเอเบิล เอนเนอร์จี จำกัด ควบรวมกิจการกันจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563

โอกาสและศักยภาพของบ้านปูเน็กซ์

ผู้บริหารหนุ่มซึ่งทำหน้าที่กัปตันเรือธงลำใหม่ในฐานะ CEO ของบ้านปู เน็กซ์ เปิดเผยให้เห็นแนวโน้มของพลังงานทั่วโลกตามเป้าหมายปี 2568 ว่า กลุ่มพลังงานหมุนเวียนอย่าง solar farm และ wind farm จะมีการเติบโตประมาณ 3 เท่า ส่วนแบตเตอรี่จะเติบโตประมาณ 4 เท่า โดย EV เติบโต 4-5 เท่า

“ทางด้านยุโรปและอเมริกาการใช้พลังงานสะอาดมีการเติบโตไปพอสมควร ส่วนในเอเชียยังมีการใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติกันมาก แต่ในอนาคตจะมีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ถ้ามองโอกาสการเติบโตของบ้านปู เน็กซ์ คงไม่หนี 2-3 เท่าตัวตามแนวโน้มนี้”

เขาบอกว่า ปัจจุบันกลุ่มบ้านปูมีพอร์ตทางด้านพลังงานหมุนเวียนมากถึง 800-900 เมกกะวัตต์ ส่วนธุรกิจ net zero provider มีโอกาสเติบโตค่อนข้างมาก โดยเขามีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอีก 1 เท่าตัวภายในปีอีก 3 ปี

“เป้าหมายในปี 2568 จะมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 1.1 กิกะวัตต์ พอร์ตในส่วนไดนามิก ด้าน solar rooftop จะเพิ่มขนาดกำลังการผลิตเป็น 500 เมกกะวัตต์ แบตเตอรี่จะเพิ่มจาก 1 กิกะวัตต์ เป็นขนาด 3 กิกะวัตต์ ส่วนธุรกิจ energy management ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มขึ้นจาก 20 โปรเจ็กต์ เป็น 30-40 โปรเจ็กต์ เฉพาะในประเทศไทย”

สำหรับกลุ่ม e-mobility ซึ่งเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มด้าน ecosystem ที่ปัจจุบันลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพ 4 แห่ง ได้แก่ MuvMi บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชั่น, Haupcar ธุรกิจบริการ carsharing network, Evolt ธุรกิจ EV chargers และ Beyond Green ธุรกิจบริการรถกอล์ฟไฟฟ้า ซึ่งสามารถขยายเป็นธุรกิจบริการสำหรับรถ EV ได้ในอนาคต

“เรามีเป้าหมายต้องทำให้ธุรกิจทั้ง 4 เติบโตจนมีกำไร โดยใช้ ecosystem ไปเจาะตลาดที่เป็น fleet management ในอนาคตเราจะใช้แพลตฟอร์มของ MuvMi หรือ Haupcar กับบริการ EV charger เข้ามาผสมผสานกันเพื่อให้บริการลูกค้าที่เป็นโลจิสติกส์”

“ปัจจุบันธุรกิจโลจิสติกส์ในเมืองไทยยังใช้รถไฟฟ้าน้อยมาก เมื่อความต้องการของตลาดรถ EV มีมากขึ้น เชื่อว่าโมเดลธุรกิจของ e-mobility ก็จะเติบโตมากขึ้น ถ้าจะสรุปผมคิดว่าทุกส่วนที่มีโซลูชั่นจะสามารถเติบโตได้ค่อนข้างมากในอนาคต”

สินนท์กล่าวย้ำว่า “เฉพาะตลาดในประเทศไทยเรามีโอกาสเติบโตมาก ถ้ามองออกไปภายนอกเรามีตลาดในอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย เวียดนาม รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังสามารถเติบโตได้อีก”

“การขยายตลาดเราจะมองที่ผลตอบแทนกับความเสี่ยงเป็นอย่างแรก โดยดูจากนโยบายและกฎเกณฑ์ว่าประเทศไหนลงทุนได้ง่าย อย่างประเทศญี่ปุ่นมีความมั่นคงด้านนโยบายการลงทุนจากต่างประเทศ หรือประเทศเวียดนามก็มีนโยบายต้อนรับการลงทุนมากขึ้น หรือแม้แต่ประเทศไทยก็มีการเสนอเงื่อนไขจูงใจให้ลงทุนด้านแบตเตอรี่ และการนำเข้าเครื่องจักรการผลิต เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่เราพิจารณาในการลงทุน ส่วนเรื่องผลตอบแทนการลงทุนปกติเราจะมองว่าต้องได้อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี”

สมฤดีช่วยเสริมว่า “โดยนโยบายเราถือว่าบ้านปู เน็กซ์ เป็นบริษัทในเครือของบ้านปูทุกประเทศ การกระจายการลงทุนจะเน้นประเทศที่เราคุ้นเคยที่สุดก่อนเพราะมีทีมงานที่แข็งแรงอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ใช้สิ่งที่มีอยู่เป็น stepping stone อีกปัจจัยที่สำคัญคือประเทศขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูงก็จะเป็นเป้าหมายแรก ๆ ของบ้านปู เน็กซ์”

“ส่วนในเมืองไทย การเข้าหาลูกค้าทำได้ค่อนข้างง่ายเพราะด้วยแบรนด์ของบ้านปูที่อยู่ในธุรกิจพลังงานมานาน ประกอบกับบ้านปู เน็กซ์ มีทีมวิเคราะห์ตลาดมองหาว่ามีลูกค้ากลุ่มไหนที่มีความต้องการใช้พลังงานสะอาด”

การเดินทางสู่อนาคตของบ้านปู

สมฤดีกล่าวว่า “ภาพใหญ่ของกลุ่มบ้านปู เรามีธุรกิจก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ธุรกิจถ่านหินที่จะยังสามารถดำเนินต่อเนื่องไปได้อีก 15-20 ปี แต่ในอนาคตสัดส่วนธุรกิจของบ้านปู เน็กซ์ จะใหญ่ขึ้นมาก ๆ”

“ณ วันหนึ่งเมื่อโลกหันไปใช้พลังงานสะอาดกันหมด เราก็คงเห็นความเติบใหญ่ของบ้านปู เน็กซ์ ที่โตไปตามทิศทางใหม่ของโลก ในอนาคตอีก 20-30 ปีอาจจะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านนี้ ส่วนอื่น ๆ ในกลุ่มบ้านปูก็จะมีทิศทางของตัวเอง ตัวอย่างเช่นเรากำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจแร่แห่งอนาคต ดังนั้นเราอาจจะเห็นบ้านปูทำ strategic minerals ป้อนให้กับโรงงานแบตเตอรี่ของบ้านปู เน็กซ์ ก็เป็นได้”

เธอบอกถึงทิศทางที่จะพากลุ่มธุรกิจบ้านปูไปสู่อนาคตเมื่อโลกต้องการพลังงานสะอาด โดยการปรับเปลี่ยนธุรกิจอื่น ๆ ให้สอดรับและหนุนเสริมกับบ้านปู เน็กซ์

“เราจะเห็นส่วนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลค่อย ๆ เล็กลงเรื่อย ๆ แล้วไปโตในส่วนพลังงานสะอาด แต่ตราบใดที่ถ่านหินยังไม่หมดไปจากโลกนี้ ยังไงธุรกิจนี้ก็คงไม่สูญไป ดังนั้นการทรานส์ฟอร์มของบ้านปูจะเป็นการเปลี่ยนจากธุรกิจพลังงานปกติไปเป็นธุรกิจพลังงานที่ยั่งยืน”

นำจุดแข็งธุรกิจเดิมเสริมธุรกิจใหม่

CEO หญิงของบ้านปูให้ความเห็นว่า ในการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานชนิดหนึ่งที่ขายแบบรวมศูนย์ มี carbon emission เยอะ ไปเป็นธุรกิจพลังงานที่สะอาด อยู่บน ecosystem platform และเป็นพลังงานที่ยั่งยืน แม้จะมีความแตกต่างกันหลายประการ แต่ความเชี่ยวชาญที่บ้านปูมีอยู่ก็เป็นต้นทุนที่นำมาประยุกต์ใช้ได้ดี เช่น ความเชี่ยวชาญในการบริหารสัญญาระยะยาว การสร้างระบบการผลิตพลังงาน สร้างโซลูชั่นต่าง ๆ เป็นจุดแข็งของบ้านปูมาตั้งแต่เดิม เพียงนำมาสานต่อและต่อยอดกับบ้านปู เน็กซ์ โดยเน้นที่ greener & smarter

“จุดแข็งของเราคือเดิมบ้านปูทำโครงการแล้วเอามาให้ลูกค้าเช่า อย่างการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า BLCP แล้วจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับ กฟผ.ซึ่งจ่ายค่าใช้ไฟให้เราเป็นเดือน เหมือนกับที่บ้านปู เน็กซ์ ลงทุนสร้าง solar rooftop ให้ลูกค้าใช้โดยจ่ายค่าโซลูชั่นแพลตฟอร์มเป็นรายเดือน ธุรกิจลักษณะแบบนี้เป็น uniqueness ของเรา”

ซึ่งบ้านปู เน็กซ์ นำความเชี่ยวชาญด้านนี้มาสร้างเป็นจุดแข็งในการแข่งขัน โดยทำเป็นแพ็คเก็จลงทุนให้ก่อนสำหรับลูกค้าที่มีความต้องการใช้พลังงานสะอาดแต่ยังไม่พร้อมจะลงทุน

“เวลาเทียบราคาที่เสนอแข่งขันกัน บ้านปู เน็กซ์ มักถูกมองว่าราคาแพงกว่า แต่ถ้าดูลึกลงรายละเอียดจะพบว่าของเราใช้ของคุณภาพดีกว่า การบริการครอบคลุมทั้ง ecosystem มีการดูแลลูกค้าตลอดอายุสัญญา ที่สำคัญเรามีข้อเสนอเป็นแพ็คเก็จลงทุน up-front ให้ ลูกค้าสามารถจ่ายค่าบริการเป็นรายเดือนได้ตามกำลังการผลิตที่ใช้”

กุญแจสู่ความสำเร็จของการทรานส์ฟอร์ม

ในฐานะผู้ลงมือทรานส์ฟอร์มบ้านปูด้วยตนเองมาตั้งแต่ต้น CEO หญิงแกร่งแห่งบ้านปูบอกว่า การทรานส์ฟอร์มจะต้องปรับเปลี่ยนทุกส่วน ไม่ใช่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งบ้านปูเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจตามกลยุทธ์ greener & smarter เป็นการสร้าง portfolio mixed โดยมีการแตกเป็นบ้านปู เน็กซ์ และบ้านปู เพาเวอร์ จากนั้นปรับเปลี่ยนเรื่องคน โดยมีการเพิ่มเติมคนรุ่นใหม่เข้ามา

“อย่างบ้านปู เน็กซ์ คนทำงานมีอายุเฉลี่ย 30 ปี ขณะที่ภาพรวมพนักงานทั้งหมดของกลุ่มบ้านปูมีอายุเฉลี่ย 47 ปี ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเรื่องคนมีกุญแจสำคัญคือ Banpu Heart ซึ่งเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญ คือ passion innovation committed เป็นกรอบใหญ่ แต่ในองค์กรย่อยลงไปต่างก็มีวัฒนธรรมที่ customized .ให้ตรงกับจริตของตัวเองแตกต่างกันไป”

โดย CEO หนุ่มของบ้านปู เน็กซ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านองค์กรมาหลายปี กล่าวเสริมว่า “เรื่องคนสำคัญมาก เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีทำงานแบบใหม่ ต้องมีส่วนผสมของคนรุ่นใหม่เข้ามาเพื่อทำให้เกิดแรงผลักดันไปสู่สิ่งใหม่”

เขาบอกว่าเนื่องจากโมเดลธุรกิจของบ้านปู เน็กซ์ เป็นแบบ B2B2C เพราะมีส่วนผสมของคอนซูเมอร์มากขึ้น ตัวอย่างเช่นบริการ solar rooftop เริ่มขยายตลาดไปจับลูกค้าที่เป็นโรงงานประเภทธุรกิจครอบครัว หรือ e-mobility เริ่มเข้าไปจับลูกค้าที่เป็นนักศึกษา ตลาดออฟฟิศที่ใช้บริการรับ-ส่งพนักงาน ซึ่งในอนาคตตลาดคอนซูเมอร์จะมีขนาดโตขึ้นมาก

“การทำ digitalization เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเปลี่ยนความคิดของคนทำงานให้เป็นแบบทีมที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัว ทำงานฉับไว และปลูกฝังเรื่อง design thinking process เข้ามา”

โดยผู้บริหารทั้งสองอธิบายให้เห็นว่า การทรานส์ฟอร์มของบ้านปูมีสูตรที่เรียกว่า “สูตร 3 A” เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคนเพื่อให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และสามารถเปลี่ยนวิกฤตที่ต้องเผชิญให้เป็นโอกาสสร้างการเติบโต

A ตัวแรกเรียกว่า Antifragile mindset บ้านปูสอนให้ทุกคนตระหนักว่าดิสรัปชั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน ไม่อาจหลีกเลี่ยง “จะเป็น black swan หรือ gray rhino ยังไงก็ต้องมา เหมือนการมีโรคระบาด หรือสงคราม แต่เมื่อไรที่ผ่านพ้นไปจะมีโอกาสเกิดขึ้น”

ดังนั้นคนบ้านปูต้องมีทั้งความคล่องแคล่ว (agile) สามารถปรับเปลี่ยนได้ฉับไวทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และมีความยืดหยุ่น (resilience) “ล้มแล้วต้องลุกกลับขึ้นมาได้เร็ว และรู้จักฉวยโอกาสจากการดิสรัปนั้นได้ด้วย”

สมฤดี ซึ่งทำงานอยู่บ้านปูมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งเล่าว่า “บ้านปูผ่านวิกฤตมาหลายครั้งหลายหน คนของเราจึงถูกปลูกฝังด้วย antifragile mindset”

วิกฤตครั้งสำคัญเช่น ปี 2527 น้ำมันแพง ลดค่าเงินบาท ปี 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2551 เจอวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2558 ผลการประชุม COP21 หรือข้อตกลงโลกร้อนฉบับใหม่ ปี 2562 เกิดการระบาดของโควิด-19 และล่าสุดเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในปี 2565

“แต่เราสามารถฟื้นคืนกลับมาได้ แล้วดีกว่าเก่าตลอดช่วงกว่า 30 ปี เพราะเรามี antifragile mindset”

A ตัวที่สอง คือ Augmentation หรือการต่อยอด เธอบอกว่าไม่ได้เพียงต่อยอดธุรกิจเท่านั้น แต่รวมถึงการต่อยอดวัฒนธรรมองค์กร และภาพลักษณ์องค์กรด้วย

“แม้จะมีสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา แต่บ้านปูเดิมก็ยังอยู่ ไม่ได้ถูกทำให้หายไป แต่ถูกต่อยอดเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะด้านธุรกิจ มีการต่อยอดในทุก action plan ทุก strategic direction ที่เราทำ เรามีทีมงานหลายพันคนในธุรกิจบ้านปูไมนิ่ง ทำเหมืองถ่านหิน แต่ถ้าเราจะทรานส์ฟอร์มไปเป็น strategic mineral ทีมนักธรณีวิทยาเดิม ทีมวิศวกรเดิม ก็ยังใช้ได้ด้วยการ up-skill และ re-skill”

“การที่เราเอาธุรกิจก๊าซธรรมชาติเข้ามาก็เป็นอีกหนึ่งของการต่อยอดเพราะยังอยู่ในกลุ่มธุรกิจพลังงาน พลังงานก๊าซไปสร้างซินเนอยี่กับโรงไฟฟ้า การต่อยอดไปเป็นบ้านปู เน็กซ์ ก็ยังเป็นธุรกิจไฟฟ้า e-mobility ก็เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ทั้งหมดนี้เป็น A ตัวที่สอง”

A ตัวที่สาม คือ Acceleration เริ่มต้นปี 2558 เพราะเวลานั้นธุรกิจยังไม่ค่อยแข็งแรงหลังจากผ่านวิกฤตมาหลายระลอก ราคาถ่านหินยังไม่ดี จะขยายไปก๊าซธรรมชาติก็ขาดเงินลงทุน จึงต้องเน้นการสร้างงบดุลให้แข็งแรงเพื่อจะมีความสามารถต่อยอดไปธุรกิจก๊าซธรรมชาติให้ได้ เป็นสาเหตุให้ช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ต้องเร่งปรับเปลี่ยนธุรกิจสร้างการเติบโต กระทั่งธุรกิจแข็งแรงมากจนในช่วงปี 2564-2565 ประสบความสำเร็จสูงสุด

“ตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจของเราเผชิญภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ มาโดยตลอด แต่การที่มี antifragile mindset ทำให้แต่ละปีเรามี acceleration เพิ่มขึ้น ดังนั้น A ตัวที่ 3 กลายเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นตัวเร่งให้เราพยายามโตขึ้น ๆ ด้วยกลยุทธ์ greener & smarter”

ซึ่งผู้บริหารหนุ่มของบ้านปู เน็กซ์ กล่าวเสริมว่า ไม่เพียงเติบโตด้วยการต่อยอดจากของเดิม แต่ยังสร้าง new s-curve จากการพยายามเพิ่มพอร์ตที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ commodity เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญแรงเหวี่ยงตลอดเวลา ที่ผ่านมาจึงลงทุนด้านโรงไฟฟ้า หรือแม้แต่การขยายบ้านปู เน็กซ์ ที่เขาดูแลรับผิดชอบ

“ล่าสุดเราได้ลงทุนในธุรกิจกองทุน healthcare fund ของสหรัฐอเมริกา โดยมีทีมงานใหม่เข้ามาดูแล เพื่อสร้างให้บ้านปู antifragile มากขึ้น นอกจากนี้ยังลงทุนใน smart city fund ลงทุนในบริษัทเกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ ซึ่งจะช่วยเสริมธุรกิจของบ้านปู เน็กซ์ และเพิ่มความหลากหลายให้พอร์ตของกลุ่มบ้านปูทั้งหมด”

โดยปัจจุบันบ้านปูสนับสนุนเงินทุนสำหรับการลงทุนในสตาร์ตอัพไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ธุรกิจของบ้านปู เน็กซ์ ที่เป็นการลงทุนระยะยาวอย่างกลุ่มพลังงานทดแทนมีผลตอบแทนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนที่ไปลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพได้ผลตอบแทนสูงกว่าเช่นมี 2X มาแล้วรายหนึ่ง”

สมฤดีกล่าวสนับสนุนว่า การต่อยอดจากของเก่าที่มีอยู่ กับ new s-curve ที่เป็นของใหม่ ๆ สุดท้ายจะเชื่อมโยงเข้าหากันหมด “ธุรกิจใหม่ที่เราเข้าไปจับ ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์ healthcare fund หรือ smart city fund ล้วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานของบ้านปู แม้แต่ธุรกิจใหม่ก็ยังทำให้เรากลับมาเอาความชำนาญเดิมไปต่อยอดอีก ไม่ว่าจะต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรือเป็นสิ่งใหม่เลย สุดท้ายมันคอนเนคกันใน business model ของเรา”

“ดังนั้นอย่างแรกสอนคนให้พร้อมรับมือกับดิสรัปชั่น อย่างที่สองอยากบอกว่าทุกสิ่งล้วนเชื่อมโยงถึงกัน และอย่างที่สามคือ ESG ทุกอย่างจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเราไม่ยึดถือเรื่อง ESG หรือ sustainable energy solution สามสิ่งนี้จะอยู่ในธุรกิจบ้านปูตลอด”

เธอสรุปว่า “ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากกลยุทธ์ greener & smarter ที่เราทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 จนได้รับการยอมรับว่าเป็นธุรกิจ greener & smarter company ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากบริษัทถ่านหินเล็ก ๆ เติบโตกลายเป็น integrated energy solutions company”

สิ่งที่ช่วยยืนยันความสำเร็จดังกล่าว คือ การที่สมฤดีชัยมงคลประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทบ้านปูจำกัด (มหาชนได้รับการยกย่องเป็นหนึ่ง Innovator 25 Asia-Pacific 2022 หรือทำเนียบ 25 สุดยอดบุคคลหัวใจนวัตกรรมแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2565 ซึ่งจัดโดย PRovoke Asia สื่อระดับโลกในด้านอุตสาหกรรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้รับการคัดเลือกให้เข้าสู่ทำเนียบบุคคลตัวอย่างระดับโลกนี้

รายได้-กำไรสูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษ 

“ธุรกิจของบ้านปูมีการวางแผนระยะ 5 ปี ในทุกปีจะมีการกำหนด strategic direction และทำรีวิว strategic plan ทุกไตรมาส นั่นหมายถึงเรา agile อยู่ตลอดเวลา การที่บ้านปูคำนึงถึงการทำธุรกิจพลังงานแบบยั่งยืน เมื่อเกิดภาวะที่ไม่ปกติขึ้น ความต้องการด้านพลังงานมากขึ้น ราคาพลังงานสูงขึ้นเราก็ได้รับผลตอบแทนจากความไม่ปกตินี้”

สมฤดีกล่าวถึงเบื้องหลังปรากฏการณ์ที่ปี 2565 บ้านปูมีรายได้สูงสุด ทำกำไรสูงสุด และมีกระแสเงินสดสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2526

โดยผลดำเนินธุรกิจช่วงไตรมาส 3 ของปี 2565 มีรายได้จากการขายรวม 2,397 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 87,274 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 106 เปอร์เซ็นต์ และมีกำไรสุทธิ 487 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 17,744 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 360 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นมาก แต่ซัพพลายมีจำกัด ซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 ประกอบกับมีรายได้จากธุรกิจพลังงานสะอาดและธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน 

ซึ่งเธอยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการมองการณ์ไกลและการวางแผนที่ถูกต้อง โดยเล่าให้ฟังว่า ปี 2558 หลายคนบอกว่าบ้านปูไปไม่รอดแน่เพราะธุรกิจถ่านหินถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้แนะนำให้ถอนตัวออกจากธุรกิจถ่านหินและเข้าสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดเลย แต่ผู้บริหารบ้านปูไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้โลกสะอาดได้แบบทันทีทันใด

“เราพบว่าพลังงานหมุนเวียนให้ผลตอบแทนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติให้ผลตอบแทน 20-30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการลงทุนเทคโนโลยีพลังงานกว่าจะมีผลตอบแทนต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี”

จึงได้แต่หยุดการลงทุนถ่านหิน หันไปลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เมื่อธุรกิจก๊าซธรรมชาติเติบโตก็ค่อย ๆ ลดธุรกิจถ่านหินลง ทำให้ขนาดธุรกิจไม่ลดลงแต่สะอาดขึ้นกว่าเดิม โดยปัจจุบันหยุดทำธุรกิจไฟฟ้าจากถ่านหินไปแล้ว

เธอกล่าวว่า การตัดสินใจทำธุรกิจที่มีอยู่เดิมให้มีต้นทุนต่ำกำไรสูง เมื่อถ่านหินมีราคาสูงขึ้นมาก เป็นที่มาทำให้ปีนี้บ้านปูมีกระแสเงินสดจำนวนมหาศาล ซึ่งสิ่งนี้สร้างให้บ้านปูเข้มแข็งมีพลังที่จะขยายไปสู่พลังงานสะอาดได้อย่างมั่นคง ทำให้กลยุทธ์ greener & smarter เร็วยิ่งขึ้น

การตลาดเปลี่ยนเมื่อพลังงานเป็นทุกสิ่งในชีวิต

“ความสนุกของบ้านปู เน็กซ์ อยู่ที่เราเป็น energy provider ซึ่งทุกอย่างบนโลกนี้ต้องใช้พลังงาน ทุกอย่างจึงเป็นโอกาส เราสามารถทำ energy with healthcare ทำ energy with agriculture หรือ energy with fashion ก็ได้”

สินนท์กล่าวว่า ที่ผ่านมาธุรกิจของกลุ่มบ้านปูเน้นแบบ B2B เป็นต้นว่าขายไฟฟ้าให้รัฐ หรือขายถ่านหินให้กับลูกค้ารายใหญ่เป็นหลัก แต่บ้านปู เน็กซ์ จะเข้าถึงลูกค้ารายย่อยมากขึ้น เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ดังนั้นการตลาดของบ้านปู เน็กซ์ จึงปรับมาเป็น branch experience ให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่า green energy คืออะไร

แนวทางการตลาดของเขาเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนเมื่อออกแคมเปญ “เพลงรักจากพลังงานสะอาด” และใช้เพลง “เป็นเธอ” (Brighter Sky) ของ วีวิโอเลตวอเทียร์นักร้องสาวขวัญใจวัยรุ่น สื่อสารตรงถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ โดยไม่มีคำที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานอยู่ในเนื้อร้องเลยสักคำ

“เราสร้างการรับรู้ผ่านแคมเปญเพลงรักจากพลังงานสะอาด โดยใช้เพลงรักเป็นจุดเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ให้เข้าถึงพลังงานสะอาดมากขึ้น”

ด้วยความคิดที่ว่า “พลังงานเป็นทุกอย่าง เป็นแฟชั่น เป็นคอนเสิร์ต เป็นมิวสิค พลังงานเป็นวัฒนธรรม” การถ่ายทอดพลังงานสะอาดจากเพลงรักจึงน่าจะเข้าถึงได้ง่ายกว่าอย่างอื่น

แม้สาระในเนื้อเพลงไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับพลังงานสะอาดเลย แต่เบื้องหลังของการทำงานในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การบันทึกเสียง การถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ ตลอดจนกิจกรรมมินิคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ล้วนใช้พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานของบ้านปูทั้งสิ้น

“กิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนใช้พลังงานสะอาดที่จัดเก็บในแบตเตอรี่ เป็นการสื่อว่าพลังงานสะอาดสามารถสร้างความสนุกสนานให้กับชีวิตได้ สามารถสนองตอบในสิ่งที่ทุกคนชอบทำได้ ที่สำคัญทำสิ่งที่เป็นเทรนด์ของอนาคตได้”

“เราต้องการสื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าพลังงานสะอาดเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่พวกเขาคิด ทุกคนสามารถนำไปทำในสิ่งที่ตัวเองรักตัวเองชอบได้”

หัวใจของการตลาดสำหรับธุรกิจพลังงานยุคใหม่ในความคิดของผู้บริหารหนุ่มผู้เป็นทายากของผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจบ้านปู ก็คือ “เราต้องออกแบบให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีความทันสมัยและตรงใจลูกค้า ทำให้เขาชื่นชอบในแบรนด์ของเรามากขึ้น”

เขาบอกว่าบ้านปูให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ด้วยเหตุผลว่า “พวกเขาเป็นพลังแห่งอนาคตที่ต้องเข้าใจว่าโลกเราจำเป็นต้องทำให้สะอาดมากขึ้นเพราะเรามีโลกใบเดียวต้องช่วยกันรักษาไว้”

บทสนทนาระหว่าง The Story Thailand กับผู้บริหาร 2 รุ่นของกลุ่มบ้านปูจบลงแล้ว แต่การเดินทางบนเส้นทางแห่งอนาคตของกลุ่มธุรกิจพลังงานที่กำลังจะมีอายุครบ 40 ปี ในปี 2566 ยังอีกยาวไกล

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สมชัย อักษรารักษ์ – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ