TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyวิเคราะห์โอกาสแว่น VR ของ Apple ความสำเร็จที่มีมากกว่าคู่แข่งในตลาด

วิเคราะห์โอกาสแว่น VR ของ Apple ความสำเร็จที่มีมากกว่าคู่แข่งในตลาด

แม้จะปล่อยให้ Meta ของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ชิงเปิดตัวอุปกรณ์สวมใส่ VR (Virtual Reality) ไปเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งกลับลงความเห็นว่า ชุดอุปกรณ์สวมใส่ VR จาก Apple ที่จะเผยโฉมในวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายนนี้น่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์มากกว่าคู่แข่งขันรายอื่น ๆ ในตลาด 

ความเชื่อมั่นดังกล่าวอ้างอิงจากความสำเร็จของ Apple ในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ท้องตลาดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า การเปิดตัวอุปกรณ์สวมใส่ VR ของ Apple ครั้งนี้จะเป็นการเปิดตัวสินค้าใหม่อย่างแท้จริงของทางค่ายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เปิดตัว Apple Watch ในปี 2014

Zuckerberg ชิงเปิดตัว Meta Quest 3 ก่อน Apple 

ทั้งนี้ Apple ได้แง้มเรื่องที่จะเปิดตัวอุปกรณ์สวมใส่ VR ในระหว่างการประชุมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ WWDC ของ Apple แต่ยังคงอุบเรื่องรายละเอียดของอุปกรณ์ชิ้นนี้ไว้ โดยเบื้องต้นเท่าที่บรรดาสาวกจะเสาะหามาได้ พบว่า อุปกรณ์ VR ดังกล่าวของ Apple จะมาพร้อมหน้าจอความละเอียดสูงอยู่ในระดับสายตาผู้ใช้งานที่ทำให้มองเห็นภาพในโลกเสมือนได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็สามารถเห็นและโต้ตอบโลกแห่งความเป็นจริงได้ผ่านกล้องกำลังสูงที่ติดตั้งบนอุปกรณ์ 

ขณะที่กระแสอีกส่วนหนึ่ง อ้างอิงจาก Ming-Chi Kuo นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ TFI คาดว่า อุปกรณ์ VR ของ Apple จะมีหน้าจอความละเอียด 4K สำหรับตาแต่ละข้างและชิปอันทรงพลังที่ออกแบบโดย Apple 

การเปิดตัวของอุปกรณ์สวมใส่ VR ของ Apple มีขึ้นในช่วงที่อุตสาหกรรม VR กำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า “ความท้อแท้ผิดหวัง” (disillusionment) เนื่องจาก หลายบริษัทที่ก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรมดังกล่าวพบว่า อุปกรณ์ VR ไม่ได้เปรี้ยงปร้างตามที่คาดหวังเอาไว้  

Wamsi Mohan นักวิเคราะห์จาก Bank of America ระบุว่า แม้การครอบครองตลาด AR/VR จะขาดความแจ่มใสและความกระตือรือร้นชั่วคราว หลังจากกระแส Metaverse ซาลงไป จนกลายเป็นฉากหลังความท้าทาย แต่ให้จำไว้ว่าที่ผ่านมานั้น Apple คิดค้นหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งหมดที่มีศักยภาพด้วยการสวนกระแสตลาดที่มีอยู่ จนสามารถสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาได้สำเร็จ 

ทั้งนี้ กระแสของ VR ได้รับการจับตามองเมื่อทาง Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta ในเดือนตุลาคมปี 2021 ซึ่งปลุกให้ทั่วโลกหันมาสนใจ VR และ Metaverse รวมถึงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่จะเชื่อมโยงเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในชีวิตประจำวัน 

อย่างไรก็ตาม ชุดอุปกรณ์สวมใส่ VR ที่มีอยู่นั้นไม่ค่อยดีนัก การใช้งานน้อยลง และความหวังที่จะเห็นบริษัทบริษัทซอฟต์แวร์ VR ดังเปรี้ยงปร้างประสบความสำเร็จกลับไม่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ความจริงเสมือน (Augmented reality: AR) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงกราฟิกคอมพิวเตอร์ผ่านเลนส์โปร่งใสพิเศษราคาแพงก็ล้มเหลวเช่นกัน ตัวอย่างเช่น Hololens ของ Microsoft ประกาศข้อตกลงระดับสูงในการผลิตชุดอุปกรณ์สวมใส่ VR สำหรับกองทัพสหรัฐฯ ในปี 2014 แต่โครงการดังกล่าวก็หยุดชะงักเมื่อไม่นานมานี้ หรือกรณีของ Magic Leap สตาร์ทอัพด้าน AR ได้ปรับโฟกัสจากการสร้างอุปกรณ์เกมที่มุ่งเน้นผู้บริโภคเป็นการพัฒนาเครื่องมือสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดเล็กแทน

หลายฝ่ายคาดว่า อุปกรณ์สวมใส่ VR ของ Apple จะมีประสิทธิภาพมากกว่าผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันที่มีอยู่ในตลาด แม้กระทั่งรุ่นที่แพงที่สุดในปัจจุบัน (ราคา 6,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 226,187 บาท) 

กระนั้น เมื่อเทียบกับคุณสมบัติและคุณภาพที่ Apple นำเสนอสู่ตลาด สิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันก็คือว่า อุปกรณ์สวมใส่ VR ของ Apple ราคาไม่เบาแน่นอน โดยน่าจะมีราคาขายปลีกอยู่ที่เครื่องละ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว (ราว 104,394 บาท) 

Krish Sankar นักวิเคราะห์จาก TD Cowen ประเมินว่า ในช่วงปีแรกที่เปิดตัวผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อุปกรณ์ AR ของ Apple น่าจะขายได้เพียงไม่กี่ร้อยเครื่องเท่านั้น ซึ่งค่อนข้างห่างไกลกับช่วงที่เปิดตัว Apple Watch ในปีแรกที่ Apple สามารถขายได้หลายล้านเรือน 

กระนั้น หลายคนในวงการอุตสาหรรมเทคโนโลยีกลับเชื่อว่า การประกาศของ Apple จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคและนักพัฒนาซอฟต์แวร์กลับมาให้ความสนใจกับ VR/AR อีกครั้ง รวมถึงทำให้เทคโนโลยีเข้าใกล้คุณสมบัติสูงสุดตามที่เคยลั่นวาจาไว้ นั่นคือเป็นอุปกรณ์ VR ที่สวมใส่ได้ทุกวัน เป็นเสมือนแว่นตาน้ำหนักเบาคู่หนึ่งที่จะเป็นผู้ช่วยสำคัญในการเข้าถึงเชื่อมโยงโลกออนไลน์ในบริบทข้อมูลต่าง ๆ 

Peggy Johnson ซีอีโอของ Magic Leap กล่าวกับทางสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า เป็นเรื่องดีที่ได้เห็นผู้อื่นเข้ามาทำธุรกิจนี้ โดยเฉพาะ Apple ที่ไม่กระโดดเข้าสู่ตลาดเร็วเกินไป โดย Apple เข้ามาในจังหวะที่เหมาะสม และดีต่อระบบนิเวศด้วย 

จากประวัติของ Apple ที่ผ่านมา Apple พิสูจน์ให้เห็ฯความว่า สามารถนำพาผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดและกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดวงกว้างทั่วโลกได้ 

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของ Apple ไม่ใช่สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน เพียงแต่ Apple จะต่อยอดและปรับแต่งด้วยวิถีของ Apple ที่ทำให้ “ของ” ชิ้นนั้น น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับผู้บริโภค

ยกตัวอย่างเช่น ก่อน iPod เปิดตัว ในตลาดก็มีเครื่องเล่น MP3 แบบฮาร์ดแวร์อยู่หลายตัว และก่อนที่ iPhone จะวางจำหน่ายก็มี Blackberry ที่รวมการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายแบบเซลลูลาร์และคอมพิวเตอร์พกพาเข้ากับสิ่งที่ยังเรียกว่าสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว ขณะที่บริษัทอื่นก็กำลังสร้างสมาร์ทโฟนโดยใช้ระบบ Windows Mobile ของ Microsoft นอกจากนี้ เมื่อ Apple เปิดตัว Apple Watch ก็มีสมาร์ทวอทช์อื่น ๆ มากมายในท้องตลาดเช่นกัน 

เรียกได้ว่า ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่า Apple ใช้แบรนด์ของตัวเองในการอธิบายเหตุผลว่าทำไมผู้บริโภคจึงต้องการ gadget รุ่นล่าสุดนี้ 

Jarrett Webb ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยีของ Argodesign ผู้พัฒนาแอพความเป็นจริงผสานกล่าวว่า Apple ได้รับสิทธิ์และความเชื่อมั่นแบบที่ไม่มีใครเทียบได้ เรียกได้ว่า Apple มีตำแหน่งผู้นำและความสามารถที่จะช่วยกำหนดและให้ความมั่นใจกับรูปแบบใหม่ของการอุปกรณ์คอมพิวติ้งทั้งหลาย 

สำหรับตอนนี้ โลกของเทคโนโลยีสวมใส่ VR กำลังอยู่ท่ามกลางความสับสนและไม่มีกรณีการใช้งานที่ชัดเจน ผู้ปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมใช้เวลามากมายในการอธิบายความแตกต่างระหว่างความจริงเสมือนจริง (Augmented Reality) และความเป็นจริงผสาน (Mixed Reality) ดังนั้น หาก Apple สามารถไขปริศนาของอุตสาหกรรมทั้งหมดให้คนทั่วไปเข้าใจได้ อาจจบลงด้วยชุดอุปกรณ์ VR กลายเป็นผลิตภัณฑ์กระแสหลักตัวแรกที่ผู้บริโภคทั่วไปเข้าใจและต้องการ

นอกจากนี้ Apple มีนักพัฒนาประมาณ 34 ล้านคนสำหรับโทรศัพท์ปัจจุบัน นั่นเป็นทรัพยากรขนาดใหญ่ที่ Apple สามารถกระตุ้นให้สร้างแอปพิฆาตที่จะเปลี่ยนชุดอุปกรณ์สวมใส่ VR ให้กลายเป็นสิ่งที่ต้องมี

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อได้เปรียบอีกอย่างของ Apple ก็คือ อุปกรณ์ VR ของ Apple จะมาพร้อมกับ เทคโนโลยีที่ Apple ซุ่มพัฒนาขึ้นมานานหลายปี รวมถึง โครงสร้างพื้นฐานของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่ Apple สั่งสมมานาน 

รายงานระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2016 Tim Cook ซีอีโอของ Apple เริ่มพูดถึงประโยชน์ของความเป็นจริงเสริมอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งมักจะขัดแย้งกับข้อจำกัดของความเป็นจริงเสมือน ซึ่งในช่วงเวลานั้น Apple ก็เริ่มลงมือเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีความจริงเสมือนที่ว่านี้ทันที ซึ่งรวมถึงการซื้อบริษัทหลายแห่งที่เน้นเทคโนโลยีเฉพาะที่มีแนวโน้มจะนำมาใช้พัฒนา VR/AR ได้ 

— ในปี 2013 Apple ซื้อ PrimeSense ซึ่งในที่สุดเซ็นเซอร์กล้อง 3 มิติก็เป็นส่วนหนึ่งของพื้นฐานสำหรับ Face ID ระบบจดจำใบหน้าของบริษัทสำหรับ iPhone และมีอิทธิพลต่อกล้องตรวจจับความลึกในปัจจุบันของบริษัท

— ในปี 2015 Apple ซื้อ Metaio ซึ่งผลิตซอฟต์แวร์ AR สำหรับอุปกรณ์พกพา

— ในปี 2016 บริษัทได้ซื้อ Flyby Media ซึ่งทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีการมองเห็นด้วยคอมพิวเตอร์

— ในปี 2017 บริษัทได้ซื้อ SensoMotoric Instruments ซึ่งพัฒนาการติดตามการมอง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลัก VR และ Vrvrana ซึ่งพัฒนาชุดหูฟัง VR

— ในปี 2018 บริษัทได้ซื้อ Akonia Holographics ซึ่งพัฒนาเลนส์ใสสำหรับแว่นตา AR 

— ในปี 2020 ซื้อ NextVR ซึ่งถ่ายทำเนื้อหาวิดีโอสำหรับความจริงเสมือน รวมถึงงานด้านกีฬา

นอกจากนี้ Apple ยังได้เริ่มปล่อยชุดเครื่องมือสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับความเป็นจริงเสริม (augmented reality) ซึ่งรวมถึงชุด ARKit ที่สามารถใช้ฮาร์ดแวร์ของ iPhone เพื่อสร้างประสบการณ์ AR บนโทรศัพท์ที่จำกัด เช่น การโต้ตอบกับสัตว์เลี้ยงเสมือนจริง หรือลองใช้เฟอร์นิเจอร์ดิจิทัลในห้องนั่งเล่น

เรียกได้ว่า ขณะนี้ Apple มีคลังซอฟต์แวร์ทั้งหมดเพื่อทำงานยาก ๆ ที่ชุดอุปกรณ์สวมใส่ VR จำเป็นต้องทำได้เพื่อรวมโลกจริงและโลกเสมือนเข้าด้วยกันอย่างลงตัวไร้รอยต่อ 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องยกเครดิตให้ Apple มากที่สุด ก็คือการที่ Apple ไม่เคยยอมแพ้อะไรง่าย ๆ 

ย้อนไปเมื่อ Apple Watch เข้าสู่ตลาด Apple ไม่รู้ทั้งหมดว่ามันจะเป็นอย่างไร ขณะที่ Cook ยังกล่าวในการเปิดตัวว่า บริษัท รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้ว่านักพัฒนาจะทำอย่างไรกับ Apple Watch นี้ 

โดยความคิดในช่วงแรก ๆ ก็คือ มองว่า Apple Watch จะเป็นแฟชั่นที่ต้องมี ทำให้ในช่วงเวลานั้น Apple ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการติดต่อกับสื่อแฟชั่นและหว่านผลิตภัณฑ์กับบรรดา tastemakers หรือผู้กำหนเทรนด์ในสังคม ตัวอย่างเช่น การเห็น Beyonce ศิลปินสาวชื่อดังสวมนาฬิกา Apple Watch สีทองพร้อมสาย ก่อนที่ผลิตภัณฑ์จริงจะออกวางจำหน่าย

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ Apple Watch มาถึงมือผู้บริโภค  Apple ก็พบว่าผู้คนสนใจ Apple Watch มากที่สุดในฐานะอุปกรณ์ติดตามสำหรับฟิตเนส ทำให้ Apple Watch ในรุ่นต่อ ๆ มาไม่ได้เน้นรุ่นทองหรูหราและเปิดตัวด้วยการร่วมมือกับแบรนด์ Nike

ในที่สุด เมื่อ Apple เปิดตัว Apple Watch รุ่นพรีเมียมใหม่ Apple Watch Ultra จุดขายคือคุณสมบัติที่อุปกรณ์ติดตามการออกกำลังกายต้องมีโดยเฉพาะ เช่น อายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่ยาวนานและหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างเอาจริงเอาจังในทุกสุดสัปดาห์ 

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า Apple น่าจะสร้างกระแสความเคลื่อนไหวที่เคยเกิดขึ้นกับ Apple Watch ในชุดอุปกรณ์ VR นี้ โดยแม้รุ่นแรก ๆ จะมีราคาแพงและขายไม่ดี แต่ Apple ก็กำลังวางแผนผลิตรุ่นต่อ ๆ ไปในราคาที่ถูกลงและปริมาณที่มากขึ้น โดยบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่คาดหวังว่าชุดอุปกรณ์ VR ของ Apple จะกลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของบริษัทในทันที แต่เชื่อว่า Apple กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดที่วันหนึ่งอาจมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

Gene Munster ผู้ก่อตั้ง Deepwater Asset Management บริษัทบริหารจัดการการลงทุน ประเมินว่า ภายในปี 2030 กลุ่มอุปกรณ์สวมใส่ VR สามารถคิดเป็น 10% ของยอดขายของ Apple  ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีขนาดใกล้เคียงกับ Mac และ iPad ในปัจจุบัน

ที่มา CNBC

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ