TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกSustainability“Small but Meaningful” ก้าวเล็ก ๆ ของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนให้ประสบความสำเร็จ  

“Small but Meaningful” ก้าวเล็ก ๆ ของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนให้ประสบความสำเร็จ  

การดำเนินธุรกิจในโลกปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับปัญหารอบด้าน ทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติขาดแคลน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกเพราะการมาของเทคโนโลยี คำว่า “ยั่งยืน” จึงเป็นคำตอบที่ทุกบริษัทพยายามนำมาใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหา ผู้ประกอบการบางคนอาจจะคิดว่าความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนสามารถทำได้ถ้ามีเงินมากพอ แต่จริง ๆ แล้วทุกอย่างเริ่มต้นได้จากก้าวเล็ก ๆ เราไม่จำเป็นต้องคิดแคมเปญใหญ่โตหรือทุ่มเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งความยั่งยืน

ภายในงาน Earth Jump 2024 ที่จัดขึ้นโดยธนาคารกสิกรไทยเพื่อยกระดับธุรกิจและสังคมไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการจัดเวทีพูดคุยในหัวข้อ Practices, Challenges, and Opportunities in Tourism & Hospitality โดยได้เชิญผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการมาพูดคุยถึงแรงบันดาลใจและความท้าทาย พร้อมทั้งให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ถึงแนวทางของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนให้ประสบความสำเร็จ

ดวงพร ทรงวิศวะ หรือเชฟโบ ผู้ก่อตั้งร้านอาหาร โบ.ลาน กล่าวถึงแรงบันดาลใจของการเปิดร้านอาหารเมื่อ 8 ปีที่แล้วว่า เธออยากทำให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เพราะไม่มีใครอยากทานอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี 

เชฟโบ เล่าว่า ตอนเปิดร้านแรกๆ เธอคิดเหมือนเชฟทั่วๆ ไปคืออยากทำอาหารให้อร่อยที่สุด แต่พอเห็นกองขยะขวดพลาสติก ทำให้เธอเปลี่ยนความคิดทันที

“เพราะโบเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดี จะเอาอาหารหรือวัตถุดิบดีๆ ที่ไหนกิน ถ้าดินหรือน้ำไม่ดี ไม่มีทางได้ผัก หมู ปลา ไก่ที่ดี” เชฟโบกล่าว

เชฟโบบอกว่า ตอนนี้ที่ร้านใช้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคเป็นวัตถุดิบถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันวัตถุดิบหาได้ง่ายขึ้นและราคาไม่แพงเพราะมีคู่แข่งขันที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น  

ร้านโบ.ลาน เป็นร้านอาหารไทยประดับดาวมิชลิน และเป็นหนึ่งใน 50 ร้านอาหารที่ดีที่สุดของเอเชีย 

ให้ขยะจบที่เรา

ต้องยอมรับว่าร้านอาหารเป็นแหล่งผลิตเศษอาหารจำนวนมาก ซึ่งเชฟโบเล่าว่าร้านของเธอมีนโยบาย Zero waste หรือ ให้ขยะจบที่เรา เธอพยายามคุยกับคู่ค้าวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ปศุสัตว์ หรือชาวประมง ว่าขอให้มีแพกเกจจิ้งมาถึงร้านน้อยที่สุด นั่นคือดีที่สุด โดยอาจจะแลกกันใช้ หรือถ้าวัตถุดิบบางอย่าง เช่น เนื้อสัตว์ ที่ต้องใช้ถุงพลาสติกบรรจุมา ก็จะนำถุงพลาสติกไป Upcycling ประดิษฐ์เป็นของอย่างอื่น 

ปัญหาต่อมาคือเรื่องขยะเศษอาหาร ในแต่ละวันที่ร้านมีเศษตะไคร้ หอม กระเทียมจำนวนมากเพราะเตรียมวัตถุดิบเอง ทางร้านมีการแยกถังขยะถึง 12 ถัง  แต่ละถังจะเป็นถังใส่เศษขยะแต่ละประเภท เช่น ถังขยะใส่เปลือกไข่ ถังใส่เปลือกมะนาวหรือถังใส่ขยะผลไม้รสส้ม ส่วนน้ำมันเหลือใช้ก็นำมาผลิตเป็นสบู่ล้างมือให้แขก หรือน้ำยาล้างจาน ซึ่งช่วยลดต้นทุนและรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

ยั่งยืนเพื่อลูกหลาน

สำหรับคุณพ่อที่มีลูกเล็กอย่าง จรูญโรจน์ เทพที ประธานบริหารสายงาน-ซัพพลายเชน บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหาร Bar B Q Plaza เล่าว่า แรงบันดาลใจหลักที่อยากทำธุรกิจแบบยั่งยืนเพราะต้องการปกป้องโลกเพื่อลูก ซึ่งเขาและซีอีโอของฟู้ดแพชชั่นล้วนแต่มีลูกเล็ก ทางบริษัทจึงผนวกนโยบายความยั่งยืนเข้ากับการทำธุรกิจ โดยเปลี่ยนธุรกิจที่แข็งแรงให้เป็นธุรกิจที่ยั่งยืน

Bar B Q Plaza ดำเนินนโยบายเรื่องความยั่งยืนโดยไม่ต้องออกแคมเปญใหญ่ๆ ซึ่งจรูญโรจน์ เล่าว่า ทางร้านมีวิธีทำธุรกิจแบบยั่งยืนง่าย ๆ นั่นคือ บอกพนักงานที่ทำงานอยู่แล้วให้ทำมากขึ้นอีกเล็กน้อย เช่น บอกพนักงานที่กำลังแยกขยะว่า เมื่อแยกขยะเสร็จแล้ว ขอให้ชั่งน้ำหนักและจดบันทึกก่อนจะนำไปทิ้งในจุดที่เจ้าของอาคารกำหนด เพราะขยะที่ถูกแยกจะไม่ถูกนำไปทิ้งในที่ฝังกลบหรือนโยบายการจัดการขยะฝังกลบให้เป็นศูนย์ หลังจากทำไปแล้วช่วยลดขยะได้ 28 กิโลกรัมต่อวันต่อสาขา ซึ่งตอนนี้ทำได้ทั้งหมด 150 สาขาแล้ว

“เราใช้วิธีชวนน้อง ๆ พนักงานแบบใช้การส่งเสียง ไม่ต้องไปทำแคมเปญใหญ่ๆ อะไร เราก็สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ปีละ 1,500 ตันคาร์บอน เหมือนไม่ต้องทำอะไร แต่ได้อะไรกลับมา หรือที่เรียกว่า Small but meaningful” จรูญโรจน์กล่าว

หรืออย่างการเสริฟ์กะหล่ำปลีแบบรีฟิลหรือเติมฟรี ทางร้านใช้กะหล่ำปลีปีละ 2.1 ล้านกิโลกรัม จึงเข้าไปช่วยเกษตรกรที่ปลูกผักชนิดนี้ให้รวมตัวกันตั้งวิสาหกิจชุมชน จนสามารถลดการใช้ปุ๋ยลงได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้ลดต้นทุน และทำให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น เวลาพนักงานเสิร์ฟจานแรกจะให้ปริมาณมากหน่อย พอจานที่ 2 ก็จะลดปริมาณลงเพราะส่วนมากลูกค้าจะทานเหลือ ก็สามารถช่วยลดปริมาณเศษอาหารเหลือทิ้งได้

ยกระดับรถเมล์ไทย

รถเมล์ไทยขึ้นชื่อในเรื่องการก่อมลภาวะให้สิ่งแวดล้อม ถ้ารถเมล์ได้รับการปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนมากยังต้องพึ่งพารถขนส่งสาธารณะก็น่าจะดีขึ้นด้วย และเมื่อไม่นานมานี้ รถเมล์น้ำเงินหรือเมล์ไฟฟ้า ขนส่งสาธารณะยุคใหม่ที่มีดีไซน์และระบบการชำระค่าบริการที่ทันสมัยก็กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการรถเมล์ไทย

กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทย สมายล์ บัส จำกัด เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นที่มาทำธุรกิจรถเมล์พลังงานไฟฟ้าเพราะต้องการเปลี่ยนแปลงการคมนาคมโดยใช้รถเมล์ของไทยให้เป็นอันดับ 1 ในอาเซียนให้ได้ เธอไม่ได้เปลี่ยนแค่โฉมหน้ารถเมล์แต่ยังพยายามยกระดับอาชีพที่เกี่ยวกับรถเมล์ด้วย

“เราต้องการยกระดับอาชีพคนในวงการรถเมล์ให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีความทัดเทียมไม่น้อยกว่าคนอาชีพอื่น อย่างพนักงานขับเราก็จะเรียกว่ากัปตันเมล์ ส่วนกระเป๋ารถหรือพนักงานเก็บค่าโดยสารที่เมื่อก่อนคนจะเรียกกระเป๋า กระปี๋ เราก็เรียกพวกเขาว่า บัส โฮสเตส” กุลพรภัสร์เล่าถึงความตั้งใจ

ไทย สมายล์ บัส เป็นผู้ดำเนินธุรกิจรถเมล์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% มีรถให้บริการ 2350 คันครอบคลุม 123 เส้นทาง รวมทั้งเรือเมล์ไฟฟ้า 40 ลำ ในแม่น้ำเจ้าพระเจ้ายาทั่วกรุงเทพฯ

เริ่มจากก้าวเล็ก ๆ

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็น 1 ในวงการแรกๆ ที่ผู้ประกอบการหันมาดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่าง วินชนะ พฤกษานานนท์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของเกาะมันนอก รีสอร์ท ที่มารับช่วงต่อกิจการและดูแลที่พักส่วนตัวบนเกาะเล็กๆ กลางทะเลอ่าวไทย เขาเริ่มต้นจากการเดินเก็บขยะตามชายหาดบ้าง ว่ายน้ำเก็บขยะบ้าง ตอนนี้เขาทำงานร่วมกับชุมชน ทำโครงการล่องเลแบบไม่ต้องลังเล ชวนชาวบ้านที่อยู่แถวริมชายฝั่งและเด็ก ๆ มาเก็บขยะ และสอนให้พวกเขารู้จักสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ โดยการนำขยะสะอาดมาแลกกับไข่หรือน้ำมันพืช

วินชนะมีคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการในการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนว่า เริ่มให้เล็ก อย่าทำให้ตัวเองลำบาก แต่ใจต้องมาก่อน ใจต้องสู้ เราต้องเชื่อและรู้ก่อนว่าจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรให้เหมาะสมและอยู่ในโลกอย่างมีความสุขได้อย่างไร

“ตัวผมเริ่มจากการเดินเก็บขยะ ว่ายน้ำเก็บขยะ แรกๆ คนก็มอง แต่หลังๆ คนก็มาร่วมเก็บด้วย ผมทำมา 8 ปีแล้ว แต่ขยะก็เพิ่มขึ้นทุกวัน ผมก็จะเดินเก็บต่อไป” วินชนะกล่าว

ส่วนเชฟโบ แนะว่า อยากให้ผู้ประกอบการ SMEs เริ่มสตาร์ตในโครงการอะไรก็ได้ที่ตัวเองทำได้ ไม่ต้องทำใหญ่ หรือ ก้าวเล็ก ๆ ทำน้อย ๆ 

คนคือความท้าทาย

เมื่อถามถึงความท้าทายของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ผู้ร่วมเวทีเห็นตรงกันว่าเรื่องคนสำคัญที่สุด 

เชฟโบเล่าว่า เธอจะคัดกรองพนักงานโดยเริ่มตั้งแต่ตอนรับสมัคร โดยในแบบบรรยายลักษณะงานจะเขียนชัดเลยว่าหน้าที่ของเชฟมีอะไรบ้าง ตั้งแต่ต้องแยกขยะระหว่างวันด้วย ไม่ใช่แค่ทำอาหารอย่างเดียว ทำให้คนที่มาสมัครรู้ว่าเขาต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง

ในมุมของวินชนะ มนุษย์เป็นสาเหตุหลักของการทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะคนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว จึงต้องสร้างแรงจูงใจให้เขาถึงเห็นมูลค่าของสิ่งที่ทำ

กุลพรภัสร์ ยอมรับว่า ในการทำธุรกิจไม่มีอะไรยากเท่ากับการบริหารคน ซึ่งไทย สมายล์ บัส มีพนักงาน 5000 คน ในจำนวนนี้เป็นกัปตันเมล์ 3000 คน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะอาชีพของพวกเขาไม่ได้รับการยกย่องจากคนในสังคม จึงไม่รู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรหากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นระหว่างทำงาน หลายคนก็กลัวและหลบหนีไป ทางบริษัทจึงต้องการยกระดับอาชีพให้พวกเขา มีการจัดเทรนนิ่งและปรับกรอบความคิดและทัศนคติ การรีสกิลทักษะใหม่ ๆ และสอนให้รู้จักใช้เทคโนโลยีใหม่ที่มาช่วยงานได้

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ธุรกิจยั่งยืนยิ่งขึ้น ด้วยการใส่ใจสิ่งแวดล้อม เปิดประสบการณ์เรื่องราว 4 ธุรกิจ แบบอย่างการรักโลกที่ยั่งยืน

ทำเนียบบริษัทกลุ่ม ESG Emerging ปี 2567

ไทยพัฒน์ เปิดโผ 19 หุ้น ESG เข้าใหม่ปี 2567

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ