TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessญี่ปุ่นมั่นใจเศรษฐกิจไทยยืนยันเดินหน้าลงทุนในไทยต่อ ร้องรัฐปรับนโยบายส่งเสริม Less Carbon และอุตสาหกรรม EV

ญี่ปุ่นมั่นใจเศรษฐกิจไทยยืนยันเดินหน้าลงทุนในไทยต่อ ร้องรัฐปรับนโยบายส่งเสริม Less Carbon และอุตสาหกรรม EV

อาเซียนคือฐานการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และประเทศไทยคือฐานการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน แม้ว่าจะเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนญี่ปุ่นยังให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจไทย 

อัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานเจโทร สำนักงานกรุงเทพ กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ “Thailand Post Covid..Rain or Sunshine?” จัดโดย ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับสมาคมไทย-ญี่ปุ่น (THAI-JAPANESE Association) ว่า ประเทศไทยยังคงมีความสำคัญมากสำหรับญี่ปุ่น จากผลสำรวจของเจโทรพบว่าบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ (66%) ยังคงยืนยันจะขยายการลงทุนในประเทศไทย มีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะตัดสินใจย้ายฐานการผลิตและธุรกิจออกจากประเทศไทย 

ในทางกลับกันประเทศไทยเองมีศักยภาพและอยู่ในลำดับต้น ๆ ของประเทศที่เป็นจุดหมายของการย้ายฐานการผลิต ในมุมมมองของบริษัทญี่ปุ่นมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตในระดับภูมิภาคได้ รวมถึงมีศักยภาพการเป็นสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคและศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และประเทศไทยมีโอกาสอย่างมากในอุตสาหกรรมม BCG (bio, circular green) สุขภาพ และโรโบติกส์ แต่อย่างไรก็ตามการจะทำให้โอกาสกลายเป็นจริงประเทศไทยจะต้องปรับเรื่องโครงสร้างภาษี และโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งและศุลกากร 

“ประเทศไทยสำคัญสำหรับบริษัทญี่ปุ่น เราจะร่วมมือกันทำงาน ประเทศไทยมีโอกาสที่ดีมากสำหรับอนาคต ญี่ปุ่นให้คำมั่นสัญญาว่าจะร่วมมือกับประเทศไทยเพื่อที่จะเติบโตไปด้วยกันในอนาคต” ทาเคทานิ กล่าว

อัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานเจโทร สำนักงานกรุงเทพ

ด้านโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยจำกัด กล่าวในงานเดียวกันว่า สำหรับโตโยต้าแล้วประเทศไทยยังถือเป็นฐานการผลิตที่ดี แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยอาจจะฟื้นตัวช้ากว่าตลาดโลกอยู่ราว 2 ปี คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์โลกจะฟื้นตัวในปี 2565 ในขณะที่ประเทศไทยจะค่อย ๆ ฟื้นจนกลับมาเท่ากับก่อนหน้าโควิดในราวปี 2567 

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยราว 1.68 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็น 12% ของจีดีพี ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นราวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 1.4 ล้านล้านบาท ในแง่ของการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นลงทุนราว 250,000 ล้านบาท (ปี 2559-2563) ซึ่งโตโยต้าเองลงทุนราว 100,000 ล้านบาท และมีการจ้างงานเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ราว 850,000 คน ซึ่งหากนับรวมการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์จำมีการจ้างงานมากถึง 5.6 ล้านคน

ยามาชิตะ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทุก 100 ปี ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่แนวโน้มของยานยนต์ที่เป็นรถไฟฟ้าและรถไร้คนขับ ซึ่งโตโยต้าเองจะรักษาระดับการขยายกำลังการผลิตเพื่อขายในประเทศและเพื่อส่งออก รวมถึงจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อนาคตใหม่ของโลกยานยนต์อย่างราบรื่น ทั้งนี้นโยบายภาครัฐมีส่วนสำคัญมากในการช่วยขับเคลื่อนเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน อาทิ นโยบายทางภาษีสำหรับ xEV รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

“โตโยต้ามีสองโครงการที่ทำอยู่คือ Pattaya Decarbonized Sustainable City และ Map Ta Phut  Smart Park ซึ่งเรายืนยันว่าจะลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป” ยามาชิตะ กล่าว

โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยจำกัด

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอมุ่งเน้นสร้างแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อเพิ่มการลงทุนใหม่และการขยายการลงทุนสำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว นอกจากเรื่องแรงจูงใจทางภาษีแล้วบีโอไอจะมีบทบาทมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการลงทุน อาทิ การเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาเพื่อตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงาน ทำการเชื่องโยง talent ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค

อย่างไรก็ดี หลังผ่านพ้นโควิดประเทศไทยจะต้องเจอความท้าทายใหญ่ คือ การขาดแคลนแรงงาน จากอัตราการเกิดที่น้อยลง ดนุชา อพิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่เติบโตจากอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการแบบดั้งเดิมสู่การอุตสาหกรรมที่มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัย ซึ่งการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและการใช้หุ่นยนต์จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานได้ นอกจากนี้ จะต้องมีการอัพสกิลของแรงงานให้มีทักษะและความสามารถที่มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งตรงนี้จะสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้มากขึ้น

ดนุชา กล่าวว่า ในภาคอุตสาหกรรมหลักจะต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพ ได้แก่ ภาคการเกษตรจะต้องเป็น smart farming เพื่อเพิ่มทั้งประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและคุณภาพของสินค้าเกษตร ภาคการท่องเที่ยวจะต้องปรับจากการเน้นนักท่องเที่ยวเชิงปริมาณสู่เชิงคุณภาพ ภาคยานยนต์ต้องอัพเกรดสู่อุตสาหกรรม EV รวมถึงโรงงานการผลิตแบตเตอรี่และสถานีชาร์จไฟ ภาคการแพทย์และสุขภาพ จะต้องส่งเสริมการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์รวมถึงยาและวัคซีน ภาคการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่จะต้องยกระดับเพื่อให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม EV และจะต้องขยายศักยภาพเหล่านี้ไปยังทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อสร้างงานสร้างเศรษฐกิจรวมถึงเป็นการสร้างจุดแข็งให้ประเทศไทย รวมถึงจะต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเรื่องความยั่งยืน 

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ประเทศไทยไปถึงจุดที่ตั้งเป้าไว้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงในหลายจุด โดยเฉพาะเรื่องนโยบายและกระบวนการทำงานของภาครัฐ จะต้องมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับปรุงกระบวนการทำงานของภาครัฐเพื่อให้เอื้อและส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น

“หลังโควิดเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่ดี แต่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากการพึ่งพิงอุตสาหกรรมเก่าสู่อุตสาหกรรมใหม่ทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัล EV smart electonics และเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเรากำลังทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จะเน้นเรื่องการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ ขยายศักยภาพการส่งออก และขยายตลาดมากขึ้น” ดนุชา กล่าว 

โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า

ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจ กล่าวเสริมว่า เพื่อที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลวางแผนจะผ่อนคลายกฎระเบียบภาครัฐเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve Industries) เช่น กฎระเบียบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในการขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานเพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ โดยหลักการในการปฏิรูปกฎหมายมี 3 ประการด้วยกัน คือ ความถูกต้อง ความจำเป็น และการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ

คาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวยืนยันว่า ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียนตะวันออกเฉียงในปี 2563 การลงทุนโดยรวมของบริษัทญี่ปุ่นในไทยมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็นมากกว่า 30% ของการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) 

“เราคาดหวังในสองเรื่องคือการเป็นพันธมิตรและร่วมมือกันพัฒนา กับการสร้างความแข็งแกร่งในความร่วมมือในอุตสาหกรรมเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน” นาชิตะ กล่าว

ทั้งนี้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาส 3 ตอนนี้คือจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2564 ส่งออกขยายตัว 15.5% รัฐบาลมีนโยบายและโครงการที่จะดึงดูดและเพิ่มการลงทุนด้วยแรงจูงใจทั้งในมิติของภาคอุตสาหกรรม อาทิ EV คลาวด์ ดิจิทัล พลังงานสะอาด และขนส่งสาธารณะ และในมิติของพื้นที่ทั้ง EEC ภูมิภาค และในกรุงเทพฯ (สำหรับเป็นสำนักงานใหญ่) 

กสิกรไทย ปักธงเวียดนามขยายเครือข่าย มุ่งสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคด้วยกลยุทธ์ดิจิทัลแบงกิ้ง

กสิกรไทย ชี้จุดเปลี่ยนเกมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ส่งไทย เป็น Medical Hub

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ