TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessการลงทุนเพื่อความยั่งยืน คือ“ทางรอด” ไม่ใช่ “ทางเลือก”

การลงทุนเพื่อความยั่งยืน คือ“ทางรอด” ไม่ใช่ “ทางเลือก”

ความยั่งยืน (sustainability) ไม่ใช่วาทกรรมทางการตลาดขององค์กรธุรกิจ แต่คือพันธกิจที่ไม่เฉพาะภาคธุรกิจเท่านั้นที่ให้ความสำคัญ แต่ธนาคาร สถาบันการเงิน และนักลงทุน ต่างล้วนตระหนักอย่างแท้จริงว่าพันธกิจเรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอด ไม่เฉพาะของธุรกิจแต่ของมวลมนุษยชาติและของโลกใบนี้ และต้องเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ ซึ่งกระบวนการที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับโลก คือการทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ดังนั้นทุกคนในโลกจึงมีส่วนในภารกิจ Net Zero นี้ร่วมกัน

KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) ชวนสังคมเปลี่ยนมุมมองไปสู่การลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) แนะนักลงทุนปรับพอร์ตเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงผ่าน 3 ขั้นตอน ได้แก่ ปรับแนวคิดการลงทุนมุ่งสู่ Net Zero พิจารณาพอร์ตการลงทุนใหม่ และเสริมพอร์ตด้วยกองทุนเปลี่ยนโลก ผ่านเวทีเสวนา “การลงทุนเพื่อความยั่งยืน: “ทางรอด” ไม่ใช่ “ทางเลือก” (Investment for Sustainability: Transition or Extinction)” เพื่อย้ำว่า ความยั่งยืนของโลกสามารถสร้างการเติบโตที่มั่นคงให้กับทั้งธุรกิจและการลงทุนในระยะยาว 

ถนนทุกสายมุ่งสู่ความยั่งยืน” 

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารเป็นหนึ่งใน 4 กำลังหลักในการขับเคลื่อน ความเปลี่ยนแปลง โดยอีก 3 แรงขับเคลื่อน ประกอบด้วย ผู้กำหนดกฎเกณฑ์ (Policy Maker and Regulatory Body) แรงกดดันจากตลาด (Market Force) ผู้บริโภค และนักลงทุน

ผู้กำหนดกฎเกณฑ์ (Policy Maker and Regulatory Body) ในต่างประเทศมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนมากว่าใครก็ตามที่ยังทำลายสิ่งแวดล้อม ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่เกินกำหนด หรือไม่มีทิศทางไปสู่ Net Zero ภายในปี 2050 บริษัทเหล่านั้นจะถูกลงโทษ ตั้งแต่การเก็บภาษี อาทิ ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ที่เริ่มเก็บภาษีนี้กันแล้วในต่างประเทศ ในไทยเองกรมสรรพสามิตเริ่มพูดถึงเรื่องนี้แล้ว โดยบทลงโทษอาจรุนแรงไปจนถึงการเรียกคืนใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจทำให้บริษัทเอกชนในต่างประเทศตื่นตัวว่าจะต้องมีแผนยุทธศาสตร์สู่การเป็น Net Zero 

แรงกดดันจากตลาด (Market Force) ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้ความสะอาดถูกลง (Clean is cheaper) กำลังที่ 3 คือ ผู้บริโภคที่มีส่วนผลักดันสำคัญที่เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตที่ปฎิบัติตามแนวทางเรื่องการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero) หากไม่ทำจะบอยคอตสินค้า ตรงนี้จะเป็นแรงกกดดันที่สำคัญ ในตลาดยุโรปมีการรวมกลุ่มเป็น Consumer of the world ได้ออกกฎว่าภายในไม่กี่ปีข้างหน้าผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหภาพยุโรปหากไม่ดำเนินการเรื่อง Net Zero จะถูกสั่งห้ามไม่ให้ส่งออกสินค้าไปขายในยุโรป คือจะไม่มีการนำเข้าสินค้าเหล่านั้นเข้าในสหภาพยุโรป 

“ผู้ผลิตไทยหลายคนยังรู้สึกว่าเรื่อง Net Zero ยังไกลตัว ยังมาไม่ถึงและยังไม่ปรับตัว ในขณะที่ผู้บริโภคในต่างประเทศทำแล้ว ในอนาคตจะเห็นป้ายสัญลักษณ์คล้าย ๆ ประหยัดไฟเบอร์ 5 ติดอยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์ว่าผลิตโดยผู้ผลิตที่ลดการปล่อยมลพิษต่อโลกจะได้ฉลากอะไรบางอย่างและเป็นการรับรองบอกว่าผู้บริโภคควรบริโภคสินค้าเหล่านั้น” จิรวัฒน์ กล่าว

กำลังสุดท้าย คือ นักลงทุน (Investor) KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) เป็นตัวแทนของนักลงทุน เป็นที่ปรึกษาของนักลงทุน หากนักลงทุนร่วมกันแบนไม่ลงทุนในบริษัทที่ไม่สร้างความยั่งยืนให้โลก บริษัทที่ไม่ปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและไม่มีแผนที่จะไปสู่ Net Zero ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะทุกบริษัทต้องการเงินทุนไปลงทุนประกอบธุรกิจ ไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน หากนักลงทุนร่วมกันไม่ลงทุนจะทำให้เกิดการขาดทรัพยากรอย่างยิ่ง ธนาคารกสิกรไทยเองได้ออกมาประกาศเรื่องนี้อย่างจริงจังว่าในอนาคตจะปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์มาก ๆ ไม่ได้อีกต่อไป ซึ่ง KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) ในฐานะที่ปรึกษาของนักลงทุน จะไม่แนะนำและจะไม่นำเข้ากองทุนที่ลงทุนในบริษัทที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์มาก ๆ 

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานักลงทุนสถาบันทั่วโลกของธนาคารกสิกรไทย จะสอบถามถึงมาตรการลด/งดการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทที่สร้างมลพิษให้กับโลก สอบถามถึงมาตรการการเปลี่ยนแปลงนโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่จะให้การสนับสนุนบริษัทที่รักษ์โลกหรือไม่ หากธนาคารไม่มีในอนาคตพวกเขาจะขายหุ้นของธนาคารทิ้ง เพราะจะไม่สามารถถือหุ้นของธนาคารที่ปล่อยกู้หรือให้สินเชื่อกับบริษัทที่ทำร้ายโลกได้อีกต่อไป

“และเชื่อว่าแรงขับเคลื่อนของนักลงทุนจะขับเคลื่อนไปในทุก ๆ อุตสาหกรรมไม่เฉพาะกับธนาคาร เพราะฉะนั้นทั้ง KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) และ PTT GC ต้องเอาจริงกับเรื่องนี้ เพราะราคาหุ้นจะดิ่ง จะออกหุ้นเพิ่มทุนก็จะไม่ซื้อ เพราะฉะนั้นจะระดมทุนก็ไม่ได้ ไม่มีใครอยากอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น” จิรวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) มีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ สร้างผลตอบแทนและปกป้องพอร์ตฟอลิโอของนักลงทุน และการให้ความรู้แก่นักลงทุน

ปกป้องผลตอบแทนการลงทุนควบคู่การให้ความรู้

ในฐานะที่ปรึกษาการลงทุนให้กับนักลงทุน KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) มีหน้าที่หลัก 2 เรื่อง หน้าที่แรกคือ สร้างผลตอบแทนและปกป้องพอร์ตฟอลิโอของนักลงทุน สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากนักลงทุนลงทุนในบริษัทที่อนาคตมีแนวโน้มถูกแบนจากผู้บริโภค หรือถูกยกเลิกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ หรือถูกแบนจากนักลงทุน บริษัทเหล่านั้นจะเป็นผู้แพ้ในธุรกิจ (looser) ในโลกยุคที่ทุกคนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นอันดับแรก ในฐานะที่ปรึกษานักลงทุน KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) จะต้องสามารถบอกนักลงทุนได้ว่าบริษัทไหนจะเป็นผู้ชนะ (winner) ซึ่งผู้ชนะคือธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนตัวเองและไม่ถูกแบนจากผู้มีส่วนได้เสียในระบบนิเวศธุรกิจ 

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

Lombard Odier ซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจของ KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) เขาสร้างแนวคิดนี้เป็น DNA ของผู้จัดการการลงทุนทุกคน และพร้อมจะนำมาตรการเรื่องความยั่งยืนและ ESG เข้ามาดำเนินการ เพื่อลดขนาดของจักรวาลการลงทุนลงจาก 10,000 บริษัทผ่านกองทุนที่บริหารอยู่ เหลือ 3,500 บริษัท เป็นการยอมลดจำนวนของบริษัทที่เป็นเป้าหมายในการลงทุนลง 65% เป็นการยอมที่จะมีตัวเลือกในการลงทุนที่น้อยลง เพราะเชื่อมั่นว่าบริษัทที่เหลือ 3,500 บริษัทจะไม่มีทางถูกริบใบอนุญาต จะไม่ถูกแบนจากผู้บริโภคและนักลงทุน การกระทำเช่นนี้คือการปกป้องพอร์ตการลงทุน เพราะบริษัทเหล่านี้จะเป็นผู้ชนะและให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระยะยาว

“ในฐานะผู้ให้คำแนะนำด้านการลงทุน KBank Private Banking จึงมีหน้าที่ต้องสร้างผลตอบแทนและปกป้องผลประโยชน์ให้กับลูกค้า” จิรวัฒน์ กล่าว

สิ่งที่ Lombard Odier ทำคือนอกจากปรับลดจำนวนบริษัทที่จะไปลงทุนลงจาก 10,000 รายเหลือ 3,500 ราย แล้วจะนำข้อปฏิบัติที่ดีในเรื่อง Net Zero ของ 3,500 รายไปเผยแพร่ให้บริษัทจำนวน 6,500 ราย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เพื่อนำมาปฎิบัติ และได้ไปเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด (University of Oxford) ตั้งทีมวิจัยด้านความยั่งยืนเพื่อมาประเมินบริษัทและให้ความรู้บริษัทว่าหากตกการประเมินแล้วถูกคัดออกจากรายชื่อบริษัทที่จะลงทุน จะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อที่จะได้กลับเข้ามาอยู่ในรายชื่อบริษัทที่จะลงทุน เพราะในฐานะที่ปรึกษาด้านการลงทุนต้องการมีจำนวนบริษัทที่สามารถลงทุนได้จำนวนมาก 

“พวกเราต้องช่วยกันขับเคลื่อน เราต้องให้ความรู้ทั้งฝั่งผู้ประกอบการ มีทีมวิจัยและพัฒนาด้านความยั่งยืนเข้าไปให้การแนะนำ นำตัวอย่างของบริษัทที่ปฎิบัติดีอย่าง PTT GC มาเผยแพร่ และให้ความรู้แก่นักลงทุนในการเปลี่ยนชุดความคิดของนักลงทุน และเสนอทางออก” จิรวัฒน์ กล่าว

หน้าที่ที่สองคือการให้ความรู้ด้วยการชี้แนะว่าวิธีปฎิบัติของเศรษฐกิจปัจจุบัน W.I.L.D. (wasteful สิ้นเปลือง, idle เหลือเกินเหลือใช้ lopsided เอียง ไม่เท่าเทียมกัน และ dirty สกปรก) ไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป ในอดีต มีการใช้วัตถุดิบเป็นหมื่นล้านตันต่อปี มีเพียง 9% เท่านั้นที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ นอกนั้นใช้แล้วทิ้ง จำนวนรถยนต์ที่ผลิตและใช้นั้นเหลือเกินการใช้ เพราะราว 92% ของรถยนต์ที่มีอยู่ทั้งโลกจอดอยู่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มีรถยนต์ที่วิ่งอยู่ตลอดเวลาเพียงแค่ 8% เท่านั้น มีคนเข้าถึงโอกาสต่ำมาก มีคนยากจนเข้าถึงบริการพื้นฐานได้ไม่ดี และสกปรก และสร้างมลพิษ ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ไปต่อไม่ได้แล้ว แต่จะต้องเป็นระบบเศรษฐกิจแบบ C.L.I.C. คือ circular, lean, inclusive และ clean ซึ่งตรงกันข้ามกับระบบเศรษฐกิจแบบ W.I.L.D. เพราะไม่สิ้นเปลือง ใช้แล้วใช้อีก ไม่เหลือทิ้ง ทั้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ใช้เท่าที่จำเป็น ใช้วัตถุดิบให้น้อยลงเท่าที่จำเป็นแต่ผลิตสินค้าได้เท่าเดิม ให้โอกาสกับทุกคน และไม่ทิ้งมลพิษให้กับโลก 

ความรู้นี้ ประชาชนต้องตระหนักรู้ว่าจะอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบป่าเถื่อน (W.I.L.D.) อีกต่อไปไม่ได้ ที่เอาประโยชน์ ผลิต และทิ้งเหลือใช้ ต่อไปไม่ได้ ต้องเปลี่ยนเป็น C.L.I.C. และเมื่อให้ความรู้แล้วต้องให้แนวทางด้วย เมื่อตระหนักรู้แล้ว ควรจะทำอย่างไร ควรจะลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในระบบเศรษฐกิจแบบ C.L.I.C. 

โชว์ผลตอบแทน 3 ปีกองทุนเปลี่ยนโลก

KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) ได้ออกกองทุน K-CLIMATE TRANSITION กองทุนเปลี่ยนโลก เกณฑ์ในการลงทุนอยู่ภายใต้กลยุทธ์ที่เรียกว่า K-CLIMATE STRATEGY จะลงทุนในธุรกิจ 3 ประเภท คือ บริษัทที่เสนอแนวทางและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษ (Solution Provider) บริษัทที่เคยมีรูปแบบธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมแต่ต้องการเปลี่ยนกระบวนการผลิตและเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจไปเป็นธุรกิจที่ลดการปล่อยมลพิษ (Transition Candidates) และบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกระบวนการเปลี่ยนแปลง (Adaptation Opportunities) 

ตัวอย่างของบริษัทในกลุ่มที่เสนอแนวทางและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษ (Solution Provider) อาทิ TSMC บริษัทไต้หวันเซมิคอนดักเตอร์ ผลิตชิปที่ใช้ในรถยนต์อีวีที่ทำให้รถอีวีใช้พลังงานแบตเตอรี่น้อย ทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงานจากก๊าซและน้ำมัน และบริษัท Darling Ingredients บริษัทที่รวบรวมกากน้ำมันที่เกิดจากการผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา เก็บรวบรวมน้ำมันที่ใช้ในการบริโภคมาผลิตเป็นน้ำมันดีเซลหมุนเวียน และเก็บเศษอาหารโครงกระดูกสัตว์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ กลับไปเป็นเจลาตินอาหารสัตว์ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน 

ตัวอย่างของกลุ่มธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมแต่ต้องการเปลี่ยนกระบวนการผลิตและเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจไปเป็นธุรกิจที่ลดการปล่อยมลพิษ (Transition Candidates) อาทิ NextEra Energy บริษัทที่ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นอเมริกาเหนือ ซึ่งแต่เดิมผลิตโดยใช้ก๊าซและนำมัน และบริษัท Cumming บริษัทที่ผลิตหัวรถจักรรถไฟ ที่เดิมต้องใช้พลังงานจากน้ำมัน ปัจจุบันใช้พลังงานไฮโดรเจน 

ตัวอย่างของกลุ่มบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกระบวนการเปลี่ยนแปลง (Adaptation Opportunities) อาทิ Accenture ได้ประโยชน์จากการที่เกือบทุกบริษัทต้องไปปรึกษาว่าต้องการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ต้องปรับตัวเพื่อลดการก๊าซเรือนกระจกต้องทำอย่างไร เป็นต้น

“นี่คือ “ทางออก” ที่เราเสนอให้นักลงทุน ซึ่งเป็นทางออกที่ไม่ใช่เป็นการช่วยโลก แต่เป็นการช่วยตัวคุณเอง” จิรวัฒน์ กล่าว

เพราะผลงานของกองทุนเหล่านี้ประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ กองทุน K-CLIMATE TRANSITION มีผลงานโดดเด่นกว่า MSCI All Country World Index ที่ 3 ปีที่ผ่านมา MSCI All Country World Index มีผตอบแทน 62.5% แต่กองทุน K-CLIMATE TRANSITION มีผลตอบแทน 64.7% แม้ว่าจะยังไม่ได้ดีกว่ามาก แต่ก็ไม่ได้เป็นการ “เสียสละ” ใด ๆ ดังนั้น การลงทุนในกองทุนเพื่อความยั่งยืน ไม่ได้เป็นการลงทุนเพื่อช่วยโลกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการลงทุนเพื่อช่วยตัวนักลงทุนเอง ซึ่งเชื่อว่าช่องว่างของผลตอบแทนระหว่าง MSCI All Country World Index กับผลตอบแทนของกองทุนเพื่อความยั่งยืนจะเพิ่มมากขึ้น

เตรียมออกกองทุนเพื่อความยั่งยืนกองใหม่ต้นปี 2566

Lombard Odier และ KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) กำลังจะออกกองทุนเพื่อความยั่งยืนกองใหม่ชื่อว่า กองทุนการใช้พลาสติกแบบหมุนเวียน (Plastic Circularity Fund) เซ็นสัญญากับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ประมาณ 70 กว่าบริษัทระดับโลก อาทิ ผู้ผลิตพลาสติก ผู้ผลิตวัตถุดิบพลาสติก ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก ผู้ใช้งานพลาสติก (อาทิ P&G) เป็นต้น จะร่วมกันใช้พลาสติกที่รีไซเคิลได้ 

ความร่วมมือต้องการร่วมกันทำ 3 เรื่อง คือ วิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ ช่วยพัฒนาเรื่องกระบวนการใช้ให้เกิดการใช้ซ้ำ (reused) เติมใหม่ (refilled) และซ่อมแซม (repair) เพื่อให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยความสบายใจ และปรับปรุงกระบวนการจัดเก็บกลับคืนมาเพื่อจะทำการรีไซเคิลจะทำให้เกิดการรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น 

“เชื่อว่ากองทุนนี้จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ย และเชื่อว่าจะมีการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดี” จิรวัฒน์ กล่าว

GC ตัวอย่างธุรกิจ Transition Candidates ในไทย

เป็นความเชื่อของ GC ว่าความยั่งยืนเป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจ สายงานที่ทำคือเป็นพันธมิตรกับทุกหน่วยธุรกิจในบริษัทในการนำองค์ความรู้และช่วยกันพัฒนาให้เกิดรูปแบบธุรกิจที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในขณะที่ยังรักษาการเติบโต ซึ่งเป็นการหาโอกาสกับธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต

ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC

ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC ทำเรื่องความยั่งยืนมา 10 ปี ก่อนที่จะมีสนธิสัญญาปารีสที่มีมากกว่า 200 ประเทศร่วมให้คำมั่นและถือเป็นพันธสัญญาร่วมกันในการขับเคลื่อนสู่ Net Zero ในปี 2050 และล่าสุดเมื่อปี 2021 การประชุม COP26 ภาคธุรกิจมีการตื่นตัวในเรื่องความยั่งยืนในหลายภาคส่วน ซึ่งเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ มีมาหลายปีแล้วทั้งกำแพงการค้า ซึ่งหากใครไม่ทำ Net Zero จะมีต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น 

“คนที่บังคับให้เราทำไม่ใช่ภาครัฐเท่านั้น แต่เป็นคนที่เป็นคู่ค้าเรา เป็นลูกค้าเรา พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปเยอะมาก ในอดีต GC ลงทุนใน eco-product ทำไบโอพลาสติก ขาดทุนมาตลอดหลายปี แต่ช่วง 3-4 ปีหลัง ผลิตไม่ทันขาย ในอดีตเวลาไปขายไบโอพลาสติก ทุกคนอยากใช้แต่ไม่มีใครอยากจ่าย แต่ปัจจุบันพฤติกรรมเปลี่ยน ต่อให้ต้นทุนเพิ่ม 20-30% คนก็อยากใช้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยโลก และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต จนถึงผลิตภัณฑ์ที่ออกมา จะต้องมีที่มาที่ไป ทำให้ธุรกิจของเราต้องเร่ิมปรับตัว จะทำธุรกิจแบบเดิมไม่ได้” ดร.ชญาน์ กล่าว

มีการดำเนินการภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมา 2-3 ปีแล้ว ซึ่งไม่ใช่การเพิ่มต้นทุน แต่เป็นการลดต้นทุน ลดการใช้วัตถุดิบใหม่ ๆ มีการรีไซเคิลทุกอย่างในกระบวนการผลิต ทำให้ลดต้นทุนได้มาก และลดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาด้วย หลายบริษัทมีเป้าหมายที่ชัดเจนที่มุ่งไปสู่ Net Zero ในปี 2050 แต่มีไม่กี่บริษัทที่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าระยะสั้นกลางและยาวต้องทำอะไรบ้าง 

GC ศึกษามา 2-3 ปี ก่อนประกาศพันธกิจ และประกาศแผนการดำเนินการในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพราะการตั้งเป้าไม่ยาก แต่การทำให้ได้ตามเป้าเป็นเรื่องที่ท้าทาย เป้าหมายระยะกลางปี 2030 PTT GC จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ที่ลดได้ 20% เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี เหล็กปูนซีเมนต์ เป็นอุตสาหกรรมต้นทางที่ผลิตวัตถุดิบเพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมปลายทางทั้งหมด ทำอย่างไรจะลดให้ได้มากที่สุดในกระบวนการผลิต ทำให้ลดอย่างไรก็ไม่เป็นสุทธิศูนย์ ซึ่งต้องหาเทคโนโลยี แนวทางใหม่ ๆ มาช่วย ซึ่ง 20% แรกนี้ PTT GC ลดด้วยตัวเองด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่เพิ่มประสิทธิภาพให้ดีที่สุด นำพลังงานสะอาดพลังงานทดแทนมาใช้ และในอนาคตจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในอนาคต อาทิ การดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) เป็นต้น 

ในสหรัฐอเมริกาและในยุโรปมีการใช้เทคโนโลยีนำหน้าไปพอสมควรและมีการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง และเพิ่งมีการประกาศร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) ประมาณ 700 กว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะช่วยอุดหนุนธุรกิจที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน ซึ่งเป็นตัวช่วยในเรื่องต้นทุนอุตสาหกรรมสามารถเดินหน้าสู่ Net Zero ได้ในอนาคต 

ใน 20 ปีข้างหน้า CCS จะเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ เพื่อจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์ เชื่อว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้นที่จะช่วยลดและกักเก็บคาร์บอนทำได้ดีขึ้น

“หากเราทำได้ดีเป็นการลดต้นทุน และทำก่อนได้เปรียบในการแข่งขัน ต้องหาโอกาสให้ถูก โอกาสคือเดี๋ยวนี้” ดร.ชญาน์ กล่าว

Net Zero เป็นโอกาสที่จะทำให้บริษัทเติบโตได้ เหมือนการหา S-Curve ตัวใหม่ให้ธุรกิจ เดิมที่ทำธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้เงินทุนจำนวนมาก (capital incentive) แต่เห็นโอกาสในธุรกิจคาร์บอนต่ำมากขึ้น อาทิ ธุรกิจไบดอพลาสติกมา 10 กว่าปี ล้มลุกคลุกคลานมาจนเมื่อไม่กี่ปีนี้แนวโน้มเริ่มดีขึ้น จนมีแผนจะตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกที่ประเทศไทยซึ่งเป็นโรงที่สองของโลกที่จะมาตั้งที่จังหวัดนครสวรรค์ ตลาดเติบโตขึ้นมาก หากสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตลาดจะมีโอกาสที่จะลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยและมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจด้วย 

แนวคิดเศรษฐกิจนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ (circular economy) มีแนวโน้มเติบโตสูงมากทั่วโลก เพราะผู้บริโภคทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก คนที่ผลิตเส้นใยที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% มีจำนวนจำกัด และไม่ได้ทำครบวงจร GC มองเห็นโอกาสตรงนี้ หากระบบบริหารจัดการแยกขยะได้รับการพัฒนา และสามารถรวบรวมขยะมาได้ในปริมาณที่มากพอ จะสามารถสร้างโรงงานเม็ดพลาสิตกรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพได้มาตรฐานระดับโลกได้ โรงงาน Envicco รวบรวมเม็ดพลาสติกใช้แล้ว (post-consumer plastic) เข้ามาในระบบได้ประมาณ 60,000 ตัน และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเป็นโรงงงานแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลระดับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์อาหาร (food grade)

“หากเราเลือกเทคโนโลยีที่ถูกต้อง ปริมาณขวดพลาสติกรีไซเคิลมีความต้องการใช้งานจำนวนมาก กลุ่มอุตสาหกรรม FMCG อยากใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิล แต่มีข้อแม้ว่าอยากจะเป็นพลาสติกใช้แล้วในประเทศ จุดนี้จึงเป็นทั้งโอกาสและเป็นธุรกิจที่ช่วยสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ลดทั้งขยะ ลดทั้งคาร์บอน” ดร.ชญาน์ กล่าว

GC มุ่งไปในธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น ในขณะที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ตัวอย่างเช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคลราว 30% ของทั้งคันรถเป็นพลาสติก เมื่อเปลี่ยนเป็นรถยนต์อีวีจะมีสัดส่วนพลาสติกมากขึ้น เพราะจากเดิมรถใช้นำมันต้องแบกน้ำหนักน้ำมัน 50 ลิตร แต่รถยนต์อีวีมีแบตเตอร์รี่ขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก หากจะให้รถยนต์อีวีมีประสิทธิภาพเท่าเดิมต้องมีน้ำหนักรถที่เบาขึ้น ดังนั้นจะต้องใช้วัสดุที่เป็นเหล็กลดลง พลาสติกจะมากขึ้น เป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับบริษัทที่สามารถผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่เบาขึ้นแต่แข็งแรงขึ้น GC จึงขยายมาทำธุรกิจคาร์บอนต่ำ (low-carbon business) ทำเรื่องวัสดุวิศวกรรมที่ไปอยู่ในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ รถพลังงานไฟฟ้า ทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าและคู่ค้าที่สามารถลดคาร์บอนได้ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ของ GC 

“เป็น win-win เราได้ธุรกิจใหม่ ลูกค้าได้ลดการปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมได้” ดร.ชญาน์ กล่าวทิ้งท้าย

ทางรอดไม่ใช่ทางเลือก

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย (ซ้าย) ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC (กลาง) สุทธิชัย หยุ่น (ขวา)

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา KBank Private Banking ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของภาคการลงทุนและบริหารทรัพย์สินให้กับบุคคลสินทรัพย์สูงในประเทศไทยจำนวนกว่า 13,000 ราย มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมดประมาณ 9 แสนล้านบาท 

ได้ผลักดันการลงทุนในกองทุนที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลก (Impact Investing) กองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และกองทุนเพื่อความยั่งยืนของโลก จนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าภาคธุรกิจที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้โลก สามารถสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงให้กับพอร์ตการลงทุนได้ แม้ในภาวะผันผวน 

อีกทั้งยังมีพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง Lombard Odier ผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ที่ให้ความสำคัญและคำนึงถึงความยั่งยืนในทุกมิติของการให้คำแนะนำด้านการลงทุน มีแนวปฏิบัติและผลิตภัณฑ์ที่มีความครอบคลุมทุกมิติของความยั่งยืน และยังได้ตั้งเป้าหมายว่ากระบวนการดำเนินธุรกิจจะบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจุกสุทธิเป็นศูนย์ ย่อมการันตีความสำเร็จของ KBank Private Banking ได้เป็นอย่างดี

KBank Private Banking เชื่อว่าหนทางไปสู่ Net Zero สามารถสร้างโอกาสการลงทุนมากมายให้กับนักลงทุนจากการที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวและเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจแบบ W.I.L.D. (Wasteful, Idle, Lopsided, Dirty) สู่เศรษฐกิจในรูปแบบ C.L.I.C. (Circular, Lean, Inclusive, Clean) เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและเชื่อว่าการลงทุนเพื่อความยั่งยืนคือทางรอดไม่ใช่ทางเลือก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ