TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyวศ. อว. จับมือเอกชนผลักดันนวัตกรรม Eco Friendly Products จากกัญชง

วศ. อว. จับมือเอกชนผลักดันนวัตกรรม Eco Friendly Products จากกัญชง

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยถึงการปลดล็อก ‘กัญชง’ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลเมื่อปลายเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา

จากเดิมประชาชนทั่วไปจะขออนุญาตปลูกกัญชงไม่ได้ และปลูกได้เฉพาะหน่วยงานของรัฐและต้องเป็นสายพันธุ์ที่ใช้เส้นใยเท่านั้น ทำให้การปลดล็อกครั้งนี้ สามารถเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ประชาชนทั่วไป วิสาหกิจชุมชน หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนสามารถมาขออนุญาตปลูกกัญชงกับทาง อย. ได้ทุกสายพันธุ์ และเมื่อนำกัญชงมาแปรรูปจะสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เช่น ช่อดอกสกัดสรร CBD ใส่ในอาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพร เมล็ดสกัดน้ำมันทำอาหารเสริมและเครื่องสำอาง แกนลำต้นสามารถใช้ทำอิฐมวลเบาหรือฉนวนไฟเบอร์รถยนต์ หรือเส้นใยเป็นส่วนประกอบการทำเสื้อผ้า สินค้าหัตถกรรม เป็นต้น

การปลดล็อกกัญชง จะช่วยให้ประเทศไทยมีโอกาสในการพัฒนาและผลักดันให้กัญชาและกัญชงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะสร้างรายได้โอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน เร่งดำเนินการวิจัยและพัฒนากัญชงเพื่อสร้างสินค้าและนวัตกรรมจากพืชเศรษฐกิจดังกล่าว

-อั้ม อธิชาติ นำ “พาว มิราเคิล” บุกตลาดกัญชา-กัญชง เมดิคัล เกรด
-ทอม-เครือโสภณ ปั้นธุรกิจ Hemp House รับโอกาสตลาดกัญชงแสนล้าน

โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม Eco Friendly Products จากกัญชง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เพื่อมุ่งผลักดัน “กัญชง” พืชเศรษฐกิจใหม่สอดคล้องตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy โดย วศ. จับมือกับภาคเอกชนบูรณาการงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี Eco Friendly Products ซึ่งเป็นนวัตกรรมการแปรรูปและคอมพาวด์จากแกนของกัญชงเป็นวัสดุสัมผัสอาหารได้อย่างปลอดภัยและย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารที่ใช้ครั้งเดียวได้ เช่น หลอด แก้ว ช้อนและส้อม เป็นต้น นับเป็นการพัฒนากัญชงให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐานในระดับสากลเพื่อการส่งออกในอนาคต ตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานราก ช่วยสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการพัฒนานวัตกรรม Eco Friendly Products แล้ว วศ. ได้จัดทำโครงการแบบเชิงรุก เกี่ยวกับ “การพัฒนาเครื่องดื่มจากกัญชงและการควบคุมคุณภาพ” เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ โดยที่ผ่านมาได้ประชุมหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร และภาคเอกชน เพื่อให้ได้โจทย์วิจัยจากภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นการสร้างความร่วมมือแบบบูรณาการที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ ต้นน้ำ (แปลงปลูก) ร่วมกับบริษัทเฮมพ์ไทย จำกัด จังหวัดตาก และบริษัท บีเนสต้า จำกัด กลางน้ำ มีบริษัทผลิตสารสกัดที่ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อใช้ในอาหารและยาเข้าร่วมโครงการ และปลายน้ำจะมีบริษัทผลิตเครื่องดื่มร่วมวิจัยพัฒนา เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการภาคเอกชนให้สามารถดำเนินการผลิตเครื่องดื่ม CBD หรือ Cannabidiol ที่ได้คุณภาพ สามารถจดทะเบียนกับ อย. และจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว

ขณะนี้ มีบริษัทเอกชนที่พร้อมสร้างความร่วมมือกับ วศ. แล้วจำนวน 5 ราย โดยจะมอบหมายให้กองพัฒนาธุรกิจวิทยาศาสตร์บริการ เป็นผู้ประสานงานหลักในการเพื่อดำเนินการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ในเร็วๆ นี้ เพื่อกำหนดทิศทางการวิจัย สร้างองค์ความรู้และพัฒนาในระดับเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยใช้ความเชี่ยวชาญของหน่วยงานเป็นแกนหลักในการต่อยอดการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน และเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ทั้งนี้ ดร.จริยาวดี ศิริจันทรา ผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจวิทยาศาสตร์บริการ วศ. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กัญชาและกัญชง เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดจากสกุลเดียวกัน คือ แคนนาบิส (Cannabis) และจัดเป็นพืชเสพติดที่เคยใช้เป็นยารักษาโรค แต่ต่อมามีการห้ามใช้เนื่องจากทำให้เกิดการเสพติด การศึกษาต่อมาพบว่าสารสำคัญ กลุ่มแคนนาบินอยด์ มีฤทธิ์ต่อร่างกายหลายประการ โดยมีสารสำคัญที่ อย. ใช้จำแนกคือ ทีเอชซี (delta-9-tetra cannabinol, THC) ที่มีผลต่อจิตประสาท ทำให้หลอนหรือเมา ในขณะที่สารซีบีดี (cannabidiol, CBD) ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท สารทั้งสองชนิดสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคและอาการแสดงได้หลายชนิด ได้แก่ อาการปวดประสาท อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ต้านการชัก อาการคลื่นไส้อาเจียน เพิ่มความอยากอาหาร

อย่างไรก็ตาม การควบคุมกัญชาและกัญชง ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2562 ฉบับ 7 ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อยู่ และต่อมาเมื่อ อย. ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ที่ปลดล็อกให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้น ช่อดอก ใบที่ติดกับช่อดอก และเมล็ดกัญชา ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาและกัญชงได้ด้วยการตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการนำเอาไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยต้องรวมตัวกัน 7 คนขึ้นไปเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำสัญญาร่วมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อผลักดันให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ต่อไป

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ