TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessทอม-เครือโสภณ ปั้นธุรกิจ Hemp House รับโอกาสตลาดกัญชงแสนล้าน

ทอม-เครือโสภณ ปั้นธุรกิจ Hemp House รับโอกาสตลาดกัญชงแสนล้าน

แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่ในที่สุดรัฐบาลไทยก็ดำเนินการอนุมัติผลักดันกรอบกฎหมายเปิดทางอนุญาตให้มีการนำพืชที่เข้าข่ายยาเสพติดอย่าง กัญชงและกัญชา สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว แต่สำหรับ ทอม-จุลภาสเครือโสภณ ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท โกลเด้น ไตรแองเกิลเฮลท์ จำกัด ในฐานะหนึ่งในผู้ที่สนใจและศึกษาการทำธุรกิจกัญชงมาอย่างจริงจังหลายปีกลับมองว่า ยังคงเร็วเกินไปที่จะดีใจ เพราะยังมีกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมายอีกมากที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อช่วยไม่ให้ไทยโดนเพื่อนบ้านรอบด้านตัดหน้าคว้าโอกาสทำรายได้มหาศาลเข้าประเทศ 

ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบระหว่าง กัญชา กับ กัญชง แล้ว ทอม-จุลภาส เน้นย้ำว่า พืชที่ประเทศไทยควรใส่ใจมากที่สุดก็คือ กัญชง เพราะในขณะที่กัญชานำมาใช้ประโยชน์ด้วยการสกัดสารจากดอกเพื่อการรักษาทางการแพทย์ กัญชงกลับสามารถนำใช้ประโยชน์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่า ครอบคลุมทั้งส่วนของสินค้าที่รับประทานได้หรือสัมผัสได้ ไปจนถึงสินค้าที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างที่ใครหลายคนอาจคาดไม่ถึง 

กัญชง … อุตสาหกรรมใหม่ของไทย 

“ต้องเข้าใจว่า กัญชาที่มีสาร THC สูงยังคงเป็นตัวที่ผิดกฎหมายอยู่ ดังนั้น สิ่งที่เราควรหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจัง ก็คือ กัญชง สำหรับพาณิชย์แล้ว กัญชงดีกว่า เพราะกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างแท้จริง คนไทยเรามองแคบมาก เรามองแต่เพียงกัญชงเพื่ออาหาร เครื่องสำอาง แต่สำหรับเรา เรามองว่ากัญชงเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศไทย”

ทั้งนี้ ทอม-จุลภาส ชี้แจงว่า ในความเป็นจริงแล้ว ในหลายประเทศมีการนำกัญชงมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้านและใช้มาอย่างยาวนาน อย่างจีนนำกัญชงมาใช้หลายพันปีแล้ว โดยประยุกต์นำกัญชงมาทำเป็นเสื้อกันกระสุน สีและฝาผนัง โดยทุกวันนี้ จีนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกวัตถุดิบกัญชงทั่วโลกที่ทำมูลค่าเกือบ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่มีส่วนไหนเกี่ยวข้องกับอาหารหรือเครื่องสำอางเลย 

ขณะที่ในส่วนของสหรัฐอเมริกา กัญชง ถือเป็นพืชที่ถูกกฎหมายมานานกว่า 10 ปีแล้ว และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการผลิตคิดค้นพัฒนาอย่างจริงจัง เริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การคัดเมล็ดและสายพันธุ์มาเพาะปลูก ไปจนถึงผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคได้ใช้งาน 

ดังนั้น ในทัศนะของทอม-จุลภาส หากคนไทยคิดจะปลูกหรือผลิตสินค้าจากกัญชง ย่อมสามารถค้นคว้าศึกษาทำความเข้าใจในเบื้องต้นได้ จากงานวิจัยของชาวต่างชาติเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนชาวไทยทั้งหลายมีแนวทางในการนำกัญชงมาประยุกต์ใช้ ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้ใช้หรือสัมผัสกัญชง ไม่ว่าจะเป็นการรับประทาน หรือใช้ผ่านเครื่องสำอาง ก่อนที่ไทยจะสามารถก้าวไปถึงจุดที่จะสามารถผลิตและส่งออกกัญชงให้เป็นสินค้าทำเงินของประเทศไทยและเป็นประโยชน์ต่อชาวนาหรือคนปลูกอย่างแท้จริงได้ 

“เป็นที่น่าเสียดายว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังมองกัญชงเป็นเพียงแค่ของเล็ก ๆ ทั้ง ๆ ที่ในอเมริกานำกัญชงไปสร้างบ้านแล้ว แล้วมีคุณสมบัติดีกว่าคอนกรีต เรียกว่า เฮมป์-กรีต ที่มีน้ำหนักเบากว่าคอนกรีตแต่กลับแข็งแกร่งมากกว่า ขณะที่ โตโยต้า BMW ก็นำกัญชงมาทำ dashboard แล้ว” 

ทอม-จุลภาส กล่าวย้ำว่า คนส่วนใหญ่ยังคงขาดความเข้าใจในอุตสาหกรรมกัญชงว่าภาพรวมจริง ๆ แล้ว กัญชงเป็นมากกว่าสินค้าที่นำมาใช้เพื่อการผ่อนคลายสนุกสนาน 

ทำให้เป้าหมายหลักในขณะนี้ ก็คือ การดันให้คนเปิดใจและมองกัญชงเป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาสร้างอุตสาหกรรมใหม่ของไทย 

กฎหมายและความเข้าใจ

มาถึงจุดนี้ หลายฝ่ายคงอดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้ากัญชงจะมีคุณสมบัติที่ดีขนาดนี้ ทำไมที่ผ่านมาถึงไม่มีใครคิดทำ คำตอบมีเพียงหนึ่งเดียว ก็คือ เพราะก่อนหน้านี้กัญชงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และในฐานะนักธุรกิจ ความคลุมเครือทางกฎหมายเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด แม้ว่าจะสามารถทำเงินได้มากแค่ไหนก็ตาม 

“เมื่อกฎหมายอนุญาตชัดเจนแล้วจึงเป็นโอกาสทอง ดูจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ตอนนี้ ใครทำกัญชงออกมา หุ้นก็ขึ้นเลย แต่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะในมุมมองพี่ ยังเห็นว่า มีบริษัทน้อยมากที่เข้าใจถึงภาพรวมขีดความสามารถของอุตสาหกรรมกัญชง”

ทอม-จุลภาส มองว่า ปัญหาของการทำธุรกิจกัญชงไทยในขณะนี้ ไม่ได้อยู่ที่โอกาส หรือการผลิตตัวสินค้าออกมาสู่ตลาด แต่เป็นรัฐบาลไทยว่าจะตั้งกฎหมายเพื่อสนับสนุนกัญชงได้เต็มที่หรือเปล่า เพราะท้ายที่สุดธุรกิจจะไม่สามารถขยายตัวเติบโตได้หากไม่มีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ

โดยเปรียบเทียบกับกรณีของสหรัฐอเมริกา ที่กัญชงสามารถเติบโตและได้รับความนิยมแจ้งเกิดขึ้นมาได้ในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง ทั้ง ๆ ที่มีมานาน เป็นผลงานของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ออกผ่อนคลายกฎระเบียบ และออกมาตรการต่าง ๆ ซึ่งเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจกัญชง หลังเล็งเห็นและตระหนักแล้วว่า กัญชงจะเป็นฐานภาษีที่ดีของภาครัฐ ทำให้รัฐบาลทรัมป์หันมาสนับสนุนกัญชง 

“ถ้ารัฐบาลไทยเข้าใจศักยภาพของธุรกิจนี้จริง ถ้าเป็นอย่างที่คิดจริง ๆ ภายใน 5 ปี กัญชงไทยน่าจะเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศได้สูงถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเทียบเมืองไทยกับรัฐใหญ่ ๆ รัฐหนึ่งในอเมริกา เช่น แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก ที่เราเห็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากบ้านเขา”

“ขณะที่ภาพรวมของตลาดโลก กัญชงจะมีมูลค่าสูงถึง 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อถามต่อว่าทำไมไทยถึงสามารถกินได้ 10% ของธุรกิจนี้ คำตอบง่ายมาก เพราะเราถูกกฎหมายอยู่ในคนเดียวในเอเชีย ไม่ต้องคิดมากเลย เมื่อถูกกฎหมายอยู่คนเดียว คุณจะไม่เอาเปรียบจากตรงนี้ได้เหรอ” 

นอกจากนี้ ไทยยังมีข้อได้เปรียบในฐานะประเทศท่องเที่ยวและมีชื่อเสียงในด้านกัญชงอยู่ก่อนแล้ว โดย ทอมอธิบายว่า หลายคนอาจไม่รู้ แต่พื้นที่ราบสูงทางตอนเหนือของไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จย่าในการพัฒนาปรับปรุงการเพาะปลูกฝิ่นของชาวเขามาเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ รวมถึง กัญชง มานานแล้ว และที่สำคัญ ด้วยความที่ดินอุดมสมบูรณ์ ทำให้ กัญชงที่ปลูกในไทยเป็นกัญชงสายพันธุ์เลิศ ที่ให้เส้นใยคุณภาพดี แต่เพราะกฎหมายไม่ชัดเจน ทำให้ไม่มีใครกล้าเข้าไปแตะกัญชง 

“วันนี้ กฎหมายชัดเจนแล้ว จึงนำเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่ปลูกบนพื้นที่ราบสูงมาเป็นวัตถุดิบได้หมดเลย ดังนั้น potential สูงมาก อีกทั้งไทยยังมีข้อได้เปรียบ เพราะเป็นประเทศแรกของโลกที่อนุมัติให้นำกัญชงมาใส่ในอาหารได้”

ทั้งนี้ทอม-จุลภาส มองว่า หากไม่มีอะไรผิดพลาด ธุรกิจกัญชงของไทยสัดส่วน 40% จะเป็นกัญชงสำหรับการก่อสร้างและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร 40% คือกัญชงสำหรับอาหาร และอีก 20% คือ กัญชงเพื่อเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม และมีขีดความสามารถในการเติบโตรายปีอย่างน้อย ๆ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากภาพรวมตลาดทั้งหมดที่อยู่ในระดับแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะความล่าช้าในการออกกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดปลีกย่อยของการนำกัญชงมาใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายการนำเข้าเมล็ดมาเพาะปลูก กัญชา-กัญชงถูกกฎหมายมา 3 เดือนแล้ว แต่กฎหมายนำเข้าเมล็ดกลับยังไม่ชัดเจน ทำให้คนที่สนใจทำธุรกิจไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มอย่างไร จะต้องสกัดอย่างไร หรือกรณีของตัวผลิตภัณฑ์ ที่ต้องมีการกำหนดอัตราส่วนที่อนุญาตให้ใส่กัญชงในผลิตภัณฑ์อย่างเครื่องสำอาง ซึ่งจนถึงขณะนี้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างองค์การอาหารและยา ยังไม่มีการกำหนดออกมา 

 “ประเทศไทยเราเก่งตลอด เก่งตลอดในการเริ่มได้ดีแต่จบไม่เป็น คือ เราเริ่มแล้ว แล้วไม่นึกหรือว่าประเทศอื่นเขามองเราอยู่ ดังนั้น ถ้าเราไม่รีบ first advantage mover ของเราจะหายไป เรื่องกฎหมายของเราช้ามาก” 

และความล่าช้านี้เองทำให้ ทอม เกรงว่า กรณีกัญชงอาจทำให้ไทยเดินตามรอยความผิดพลาดเดิมเหมือน กรณีซอสพริกศรีราชาที่แม้ไทยคิดค้นขึ้นมาได้ แต่เวียดนามกลับไปจดทะเบียนขายในระดับโลก 

ขณะเดียวกัน อีกเงื่อนไขหนึ่งที่จะส่งผลหรือขวางไม่ให้อุตสาหกรรมกัญชงของไทยก้าวขึ้นทัดเทียมในระดับโลกได้ ก็คือทัศนคติและความเข้าใจของคนไทยส่วนใหญ่ที่มีต่อกัญชาและกัญชง โดยส่วนใหญ่แทบจะไม่มีความรู้เลย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งแม้จะรู้ก็รู้แต่เพียงผิวเผิน ซึ่งทอมมั่นใจว่า ณ ตอนนี้ หากถามว่าใครมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกัญชง-กัญชามากที่สุด ตนย่อมเป็นหนึ่งในนั้นแน่นอน 

“อยากให้คนไทยเข้าใจสักทีว่า กัญชามันถูกกฎหมายเพื่อทางแพทย์อย่างเดียว คุณไม่มีสิทธิ์เอามาขายเลย กัญชาแตกต่างจากกัญชงอย่างหนึ่งตรงที่ ต้นกัญชาไม่มีเส้นใยที่มาทำเสื้อผ้า มาทำอย่างโน้นอย่างนี้ได้ ดังนั้น ตลาดกัญชาจะแคบมาก เพราะเป็นยา”

ขณะที่กัญชงมีประโยชน์แทบทุกส่วนเมื่อเทียบกับกัญชาที่ใช้ประโยชน์ได้แค่เพียงตัวดอกเท่านั้น ส่วนใบและลำต้นของกัญชา มีผลการศึกษาวิจัยจากต่างประเทศยืนยันแล้วว่า ไม่มีประโยชน์หรือสรรพคุณใด ๆ เลย ดังนั้น กระแสที่นำใบกัญชามาบริโภคจึงเป็นเพียงแค่ประโยชน์เพื่อการโฆษณาเสริมมูลค่าสินค้าให้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งถ้าคนไทยมีความรู้ความเข้าใจต่อกัญชง-กัญชาอย่างจริงจัง ย่อมจะมองเห็นและยินดีที่จะให้การสนับสนุนผลักดันอุตสาหกรรมนี้แน่นอน

“การนำใบกัญชามาใส่ในก๋วยเตี๋ยว มาใส่ในน้ำ แล้วบอกว่าคุณจะได้ความรู้สึกของกัญชาเลย คือ มั่ว ตัวใบกัญชาไม่มีผลประโยชน์อะไรเลย ที่อเมริกา เราเรียกใบกัญชาว่า คือ ขยะของต้นกัญชา ที่คนไทยนำมาใช้ตอนนี้เป็น placebo effect คือ เราเห็นแล้วนึกว่ามันดี เป็น gimmick เท่านั้น ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย” 

เป็นคนทำธุรกิจจึงยิ่งต้องใส่ใจ 

นอกจากปัจจัยด้านกฎหมายและความเข้าใจผิดของสังคมไทยที่มีต่อกัญชงแล้ว ทอม-จุลภาส ต้องการพื้นที่ในการทำความเข้าใจกับหน่วยงานรัฐและสังคม ก็คือ การปรับทัศนคติ ที่มองว่า คนทำธุรกิจเห็นแก่ประโยชน์ เอาแต่กอบโกย ไม่สนในผู้บริโภค ดังนั้น เมื่อเห็นว่ากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำเงินมหาศาล จึงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยไม่สนใจที่จะศึกษากัญชา-กัญชง ที่มีสถานะของยาเสพติดพ่วงท้ายมาอยู่อย่างรอบด้าน 

ทอม-จุลภาส กล่าวย้ำว่า ต่อให้เป็นคนธรรมดาทั่วไปไม่ใช่นักธุรกิจ หากสนใจประโยชน์และโทษของกัญชา-กัญชง ย่อมสามารถศึกษาหาความรู้ได้จากข้อมูลผลงานวิจัยจากต่างประเทศ ที่ศึกษามาก่อนประเทศไทยหลายปี ซึ่งข้อมูลที่ได้ในส่วนนี้อย่างน้อยก็เป็นหลักฐานยืนยันว่า กัญชง คือ ของดีมีประโยชน์จริง 

ในส่วนของตรรกะที่ว่า เป็นนักธุรกิจต้องกอบโกย ถือเป็นหลักของเหตุและผลที่ค่อนข้างเอียง มีอคติ และไม่เป็นธรรมสำหรับคนทำธุรกิจทุกคน 

“มันไม่แฟร์นะครับ เพราะผมเป็นนักธุรกิจ ผมต้องเป็นห่วงผู้บริโภคเยอะมาก เพราะถ้าเขาใช้สินค้าผมแล้วมีปัญหา คนที่ตายคือผมนะ คนที่ทำคือคนที่ต้องป้องกันผลประโยชน์ของสังคมที่สุด”

ทั้งนี้ ทอม-จุลภาส มองว่า กัญชง เหมือนลูกคนใหม่ที่ไทยกำลังจะเบ่งคลอดออกมา แต่ดันเจอปัญหาจากกลุ่มคนที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการนำเด็กคนนี้ออกมา ทั้ง ๆ ที่ กัญชงได้รับการพิสูจน์มาจากประเทศชั้นนำแล้วว่าไม่เป็นอันตราย แถมดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่ในสหรัฐอเมริกา ถึงกับเปิดทางให้นำสารสกัดจากกัญชงมาใช้ในรักษาอาการในเด็กที่มีสมาธิสั้นหรือออทิสติก 

ทั้งนี้ สิ่งนี้ทำให้ ทอม-จุลภาส อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ถึงไทยจะเดินนำหน้ามาเป็นที่หนึ่ง แต่เพราะการช้าของกฎหมาย และความไม่เข้าใจของคนส่วนหนึ่ง จะทำให้คนไทยสูญเสียประโยชน์ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่ขณะนี้ มีมาเลเซียและเวียดนาม ที่แสดงความสนใจในอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว

“อยากให้รัฐบาลไทยไม่มองประชาชนว่าคือเด็กอายุ 4 ขวบที่ต้องมานั่งดูแล และอย่ามองว่าธุรกิจทุกธุรกิจมีนโยบายเอาเปรียบประชาชน นี่เป็นสิ่งที่แปลกมาก ที่มองนักธุรกิจอยากเอาเปรียบประชาชน และรัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชน เพราะประชาชนโง่ มันต้องเลิก mind set นี้ได้แล้วว่าประชาชนโง่ คือ ประชาชนเขาตัดสินใจได้เอง” 

เตรียมความพร้อมด้วย Hemp House 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเผชิญกับปัญหาที่น่าหน่ายใจจนชวนให้ถอดใจไม่ไปต่อ แต่เพราะเชื่อมั่นว่า ทุกปัญหาย่อมมีทางออกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทำให้ในระหว่างที่รอความชัดเจนทางกฎหมาย ทอม-จุลภาส พร้อมด้วย ณัฎฐิฎา ภูมิภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลเด้น ไตรแองเกิลเฮลท์ จำกัด จึงสร้าง Hemp House ควบคู่ไปกับการเข้าไปจับกัญชงในส่วนที่กฎหมาย ณ ปัจจุบัน อนุญาตให้ทำได้ นั่นคือ ในส่วนของกลิ่นและรสของกัญชงที่เรียกว่า “เทอรพีน” (Terpenes)

ในกัญชาและกัญชงจะมีสารสำคัญอยู่ 3 ชนิด ตัวแรก คือ THC ที่มีสรรพคุณในเรื่องการมึนเมา ตัวที่สอง คือ CBD ที่เกี่ยวกับประโยชน์ของการป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ และตัวที่สาม คือ Terpenes ซึ่งเป็นสารตัวหนึ่งที่ช่วยกำหนดกลิ่นและรสกัญชาและกัญชง โดยสารตัวนี้จะมีผลช่วยให้ร่างการผ่อนคลาย 

เรียกได้ว่าตัวกลิ่นของกัญชงมีสรรพคุณประหนึ่งกลิ่นต่าง ๆ ที่ใช้ในการนวดน้ำมันในสปา เช่น อยากนอนหลับก็ใช้กลิ่นลาเวนเดอร์ อยากตื่นอยากสดชื่นก็ใช้กลิ่นตะไคร้ ขณะที่กลิ่นของกัญชงจะทำให้ร่างกายผ่อนคลายจนส่งผลให้คุณภาพของการนอนดีขึ้น 

จุดเริ่มต้นของกลิ่น ทำให้เกิดธุรกิจแฟรนไชส์อย่าง Hemp House โดย ทอม-จุลภาส อธิบายว่า กลยุทธ์ของบริษัท คือ เริ่มด้วยการจองกลิ่นและรสชาติของกัญชงก่อน เพราะเป็นส่วนที่ถูกกฎหมาย และกลยุทธ์ที่สองเกิดจากความเชื่อมั่นว่าในอีก 7-8 เดือนข้างหน้าจะมีคนมีสินค้าที่ใส่กัญชง-กัญชาจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาที่ตามมา ก็คือ การหาร้านขายผลิตภัณฑ์กัญชง-กัญชา 

เนื่องจากกัญชง-กัญชา เป็นสินค้าที่มีคุณสมบัติเฉพาะ ไม่สามารถวางขายตามท้องตลาดทั่วไปได้ และจำเป็นที่จะต้องมีผู้ขายมาคอยให้ข้อมูลหรือคำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชง-กัญชา ดังนั้น Hemp House จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว 

“วัตถุประสงค์ของการสร้าง Hemp House คือ สถานที่ที่ให้คนนำสินค้ากัญชงมาขายได้”

ขณะที่ ณัฎฐิฎา กล่าวเสริมว่า ในเรื่องของสินค้าที่นำมาขายใน Hemp House จะมีทั้งส่วนที่เป็นอาหาร อย่าง ไอศกรีม ช็อคโกแลต และชา และส่วนที่ไม่ใช่อาหาร เช่น น้ำมันหอมระเหย กลิ่นกัญชง ครีมทาตัวกลิ่นกัญชง ไปจนถึงยาสีฟันกลิ่นกัญชง เรียกได้ว่า เป็นสินค้าที่ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในตลาด 

“เราพยายามที่จะใช้กลิ่นตัวนี้จับตลาดก่อนเพื่อที่จะให้คนรู้ว่า Hemp House คือ ออริจินัลในแง่ของการเป็นผู้นำเรื่องกัญชง ด้วยการทำให้คนไทยรู้จักกลิ่นและรสของกัญชงก่อน”

“พอเฟสถัดมา เมืองไทยสามารถปลูกได้ มีการสกัดได้ ด้วยบริษัทเราที่พี่ทอมเข้าไปลงทุนมีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำอยู่แล้ว พอสกัดได้แล้ว เราก็เอาส่วนผสมตรงนี้ที่สกัดได้มาใส่ในวัตถุดิบของเรา” ณัฎฐิฎา กล่าว

เรียกได้ว่า เป็นการลงมือทำในส่วนที่กฎหมายอนุญาตให้ทำ ก่อนค่อย ๆ ขยับขยายตามขอบเขตที่กฎหมายจะเอื้ออำนวย ทำให้ใน Hemp House จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา โดยมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทว่าในส่วนของแฟรนไชส์แห่งแรกคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายเดือนเมษายน 

ทั้งนี้ บริษัทวางแผนเปิด Hemp House เป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกเริ่มดำเนินการปลายเดือนเมษายน ก่อนขยายให้ได้ 20 ร้านทั่วประเทศ ก่อนเข้าสู่เฟส 2 ในเดือนกรกฎาคมที่ 50 ร้าน และเฟสสุดท้ายอีก 100 ร้าน รวมทั้งหมด 170 ร้านภายในสิ้นปี 2021 นี้ 

ขณะที่ในส่วนของรายได้ จะเป็นรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ไม่ใช่การทำแฟรนไชส์ร้าน ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์จะเป็นส่วนกลางของ Hemp House ที่ทำหน้าที่ผลิตเองส่วนหนึ่ง และคัดเลือกผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตรายอื่นเข้ามาขายในร้าน 

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือ Hemp House เป็นร้านค้าที่เปิดขายผลิตภัณฑ์ที่ทำผลิตจากกัญชงโดยเฉพาะนั่นเอง โดยปีแรกตั้งเป้ายอดเติบโตไว้ที่ 300 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม นอกจากตั้ง Hemp House เพื่อเป็นช่องทางจัดจำหน่าย (Distribution) แล้วบริษัทยังมองไปถึงการสร้างสถานะทางธุรกิจให้เป็นผู้ป้อนวัตถุดิบ (Raw Material) ส่งผลให้บริษัทมีแผนที่จะเข้าเมล็ดและผู้เชี่ยวชาญจากต่างแดนเพื่อนำสายพันธุ์กัญชงที่คัดสรรมาอย่างดีแล้วมาปลูกในประเทศไทย พร้อม ๆ กับที่มีการจับมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการช่วยทำวิจัยและพัฒนากัญชงร่วมกัน

“คนนึกว่ากัญชงปลูกง่าย ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น ทักษะในการปลูกนี้คนไทยยังเข้าใจผิดอยู่มาก มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ที่ได้เปรียบเพราะมีไร่อยู่ที่อเมริกาเป็นพันไร่ จึงตัดสินใจกับทีมที่อเมริกาแล้วว่าต้องนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตั้งระบบ เพราะเราไม่ได้ทำให้เพื่อนกินกัน 6 คน เรากำลังทำให้คนใช้เป็นแสนเป็นล้าน” ทอม-จุลภาส กล่าว

ในฐานะผู้ที่ลงมือศึกษาและทำธุรกิจกัญชงมาก่อนใคร จนเรียกได้ว่ามีประสบการณ์ทั้งทางบวกและทางลบกับกัญชงอยู่ในระดับที่ไม่เป็นสองรองใครในเมืองไทย ทอม-จุลภาส กล่าวว่า หากจะปลูกกัญชงเพื่ออาหารต้องปลูกในร่มพื้นที่ปิด หากจะปลูกเพื่อเครื่องสำอางต้องปลูกในเรือนกระจก และสิ่งสำคัญที่สุดในการปลูก นอกจากการให้ความสำคัญกับสายพันธุ์หรือเมล็ด เพราะมีผลต่อ Yield ที่ได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังอย่างมาก ก็คือ แมลง เพราะกัญชงถือเป็นพืชที่แมลงรักมาก รองลงมา ก็คือ เรื่องของน้ำและสภาพแวดล้อม

ทั้งนี้ แม้จะมองเห็นว่ายังมีงานอีกมากในอุตสาหกรรมกัญชงที่ต้องดำเนินการ แต่ ทอม-จุลภาส ก็ยอมรับว่า อย่างน้อยในเวลานี้ก็บรรลุเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งใจไว้ ก็คือ การผลักดันให้ กัญชง พืชที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ส่วนภารกิจหลังจากนี้ ก็คือ การทำให้คนไทยเข้าใจกัญชงให้ถูกต้องมากที่สุด เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างน้อย ก็คือ การได้นอนหลับอย่างมีคุณภาพ

“สำหรับพี่ กัญชงทำให้พี่นอนหลับ แล้วการที่พี่นอนหลับมันทำให้พี่มีความสุข พี่ถึงเชื่อว่าทุกอย่างมันเริ่มด้วยการนอนหลับ สำหรับพี่กัญชงก็คือ ซูเปอร์ เมลาโทนิน เท่านั้นเอง” ทอม-จุลภาส กล่าวทิ้งท้าย

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ