TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness“โดรนม้าบิน” ยกระดับคุณภาพพืชเศรษฐกิจ และทรานส์ฟอร์มภาคเกษตรไทย

“โดรนม้าบิน” ยกระดับคุณภาพพืชเศรษฐกิจ และทรานส์ฟอร์มภาคเกษตรไทย

หากเอ่ยชื่อ “ม้าบิน”​ แวดวงเกษตรไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะ “ม้าบิน” เป็นสินค้าที่ส่วนแบ่งทางการตลาดติด Top3 ของตลาดเกษตรไทย ในขณะที่เมื่อเอ่ยถึง Bug Away ในแวดวงคนบินโดรนในเมืองไทยไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะ Bug Away เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายโดรนคนไทยมากว่า 5 ปี และครองส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดโดรนเพื่อการเกษตรอยู่ไม่น้อย 

ล่าสุดสองแบรนด์ที่มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน แต่มีจุดแข็งที่ตลาดภาคการเกษตรเหมือนกัน ได้จับมือกับจัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ “บริษัท ไอซีพี เอ็กซ์ จำกัด” ร่วมทุนกันระหว่าง บริษัท ไอ ซี พี เฟอทิไลเซอร์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ “ม้าบิน” และ บริษัท ดีจีไอ โปรดักชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์ “Bug Away” ในสัดส่วน 70:30 เพื่อผลิตและจำหน่ายโดรนเพื่อการเกษตรแบรนด์ “โดรนม้าบิน” (Mah Bin)

โดยมีงบลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท เพื่อให้บริการโดรนเพื่อการเกษตรครบวงจร ภายใต้แบรนด์ “ม้าบิน” คือ ให้บริการโดรนเพื่องานเกษตร โดยเริ่มจากบริการฉีดพ่นสารเคมี หรือยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลงให้เกษตรกรโดยใช้โดรน บริการให้เช่าโดรนเพื่อการเกษตรที่รวมถึงสารเคมียาฆ่าหญ้าฆ่าแมลง สอนและฝึกอบรมการใช้งาน 

ส่วนการจัดจำหน่ายโดรนเพื่อการเกษตร จะจัดจำหน่ายผ่านเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายที่จำหน่ายปุ๋ยและยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลงที่ประมาณ​ 2,000 – 3,000 ร้านค้าทั่วประเทศ 

ภายใต้งบลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาทของบริษัทร่วมทุน จะมีการตั้งโรงงานผลิตโดรน (เพราะออกแบบและพัฒนาโดรนโดยคนไทย) นำเข้าสารเคมี (ยาปราบศัตรูพืช) รวมถึงการเปิดศูนย์บริการทั่วประเทศสำหรับการให้บริการโดรน (บริการหลังการขาย) และการสอนการบินโดรน ซึ่งยังไม่รวมงบการตลาดและการจัดจำหน่าย 

คณิน สุวรรณนภาศรี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ไอ ซี พี เฟอทิไลเซอร์ จำกัด กล่าวว่า ไอ ซี พี ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรมา 40 ปีเริ่มจากปุ๋ยตราม้าบิน จากนั้นขยายสู่ตลาดเคมีภัณฑ์ อาทิ ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า เพื่อให้ครบวงจรมมากขึ้น ต้องการหาผลิตภัณฑ์ที่ดีเพื่อช่วยเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ล่าสุด คือ โดรนที่จะเข้ามมาช่วยเพิ่มคุณภาพ ความเร็ว ความปลอดภัยให้เกษตรกร 

“เราสนใจเรื่องโดรนตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้ว จนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาโควิดทำให้เกษตรกรมีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะมือถือ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะเข้ามาจับตลาดโดรนเพื่อการเกษตร ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งในเรื่องนี้ เพื่อความรวดเร็วในการบุกตลาดร่วมกัน” คณิณ กล่าว

ธุรกิจเกษตรไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต สภาพอากาศและน้ำที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งทางกลุ่มบริษัท ไอ ซี พี มีประสบการณ์ในธุรกิจเกษตรมา 40 ปี ทั้งปุ๋ยและยา บวกกับการบริหารโรงงานและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ส่วนทาง Bug Away จุดแข็งคือ ประสบการณ์การสร้าง พัฒนา รวมถึงการเทรนโดรน และการทำให้โดรนเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายในประเทศไทย อาทิ การนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อการผลิต การติดตามได้ และการขอใบอนุญาตต่าง ๆ รวมถึงการตลาดโดรนที่ Bug Away ทำได้ดีมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เติบโตได้รวดเร็ว เป็น 2 จุดแข็งที่นำมารวมกันเพื่อผลิตและทำตลาดโดรนเพื่อการเกษตร “Mah Bin” (ม้าบิน) 

คณิณ กล่าวถึงโอกาสทางธุรกิจสำหรับ “โดรนม้าบิน” ว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ทางเกษตร 130 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ 1 ไร่มีความต้องการในการฉีดพ่นสารน้ำมากกว่า 1 ครั้ง ขึ้นกับประเภทของพืช เช่น ข้าวปลูกรอบหนึ่งอาจจะฉีด 4-5 ครั้ง (ฆ่าหญ้า 2 ครั้ง ฆ่าแมลง 1 ครั้ง เชื้อโรค/เชื้อรา 1 ครั้ง) อ้อยจะฉีดน้อยลงมา แต่โดยรวม ๆ แล้วคิดเป็นพื้นที่ฉีดประมาณ 700 กว่าล้านไร่ที่เป็นตลาดเป้าหมาย

กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ต่าง ๆ เช่น ข้าว อ้อย ข้าวโพด มัน สำปะหลัง พืชสวน ทุเรียน ปาล์ม ส้ม ลำไย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทย นิยมนำโดรนเกษตรมาเป็นเครื่องมือการฉีดพ่นแทนการใช้แรงงาน 

แต่ปัจจุบันมีโดรนเพื่อการเกษตรอยู่ไม่ถึง 5,000 ตัว ตลาดความต้องการโดรนเพื่อการเกษตรในประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้ถึง 20,000-30,000 ตัวเป็นอย่างน้อย ซึ่งอายุการใช้งานของโดรนจะต้องเปลี่ยนทุกประมาณ 3-4 ปี จะทำให้มี turn over ของความมต้องการอยู่เสอ ซึ่งยังไม่รวมถึงตลาด AEC ที่มีความต้องการด้วยเช่นกัน และทาง “ม้าบิน” มีธุรกิจปุ๋ยตรา “ม้าบิน” อยู่ในพม่าและกัมพูชาอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น 

สำหรับเป้าหมายสำหรับการผลิตและจำหน่ายโดรนม้าบินภายในประเทศไทย อย่างน้อย 2,000 ตัวในปี 2565 นี้ โดรนเพื่อการเกษตรแบรนด์ Mah Bin (ม้าบิน) ตั้งเป้าขยายพื้นที่การใช้งานให้ครอบคลุมกว่า 60% (จากปัจจุบันที่มีเพียง 20%) พร้อมเดินหน้าขยายศูนย์บริการครอบคลุม 40 แห่ง ทั่วประเทศ ทะยานสู่รายได้รวม 2,500 ล้านบาท ภายในปี 2566

โดรนเพื่อการเกษตร แบรนด์ “ม้าบิน”

รัตยา เฉลิมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท ดีจีไอ โปรดักชั่น จำกัด ผู้ผลิตโดรนภายใต้แบรนด์ Bug Away ซึ่งวิจัยและพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตรมามากกว่า 5 ปี กล่าวว่า Bug Away โดรนการเกษตรในประเทศไทย ที่มีต้นกำเนิดธุรกิจอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี พบเห็นการใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นสารเคมีของเกษตรกรที่เสี่ยงอันตรายตอนปฏิบัติหน้าที่ จึงประยุกต์โดรนจากโดรนเพื่อการถ่ายภาพมาเป็นโดรนเพื่อการเกษตร เน้นฟังก์ชันการใช้โดรนเพื่อการพ่นยาหรือสารเคมีในการฆ่าหญ้าฆ่าแมลงแทนการใช้แรงงานเกษตรกร ช่วยลดอันตรายจากการสัมฟัสใกล้ชิดสารเคมี ใช้แรงงานเกษตรกรจำนวนน้อยลง ใช้ได้สำหรับหลากหลายประเภทของพืชเกษตร ประยุกต์ใช้กับสารน้ำอื่น ๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำการเกษตรของเกษตรกร

“โดรนเกษตร คือ อากาศยานไร้คนขับ ที่ใช้งานทางการเกษตร ปัจจุบันมีทั้งการฉีดพ่นสารน้ำ การหว่านปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ การถ่ายภาพเพื่อสำรวจคุณภาพผลผลิต กว่า 90% ของโดรนเกษตรจะอยู่ในรูปแบบของการพ่นสารน้ำ การหว่านปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์”

โดรนเกษตรมีแนวโน้มเติบโตในตลาดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2564 เติบโตขึ้นถึง 200% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งโดรนเกษตรเข้ามาทดแทนการทำงานเดิมที่เกษตรกรต้องแบกเครื่องพ่นสะพายหลัง ที่มีขนาดถังบรรจุถึง 25 กิโลกรัม ส่งผลเสียต่อเกษตรกรในด้านสุขภาพ และใช้ระยะเวลานานในการทำงาน ไม่สม่ำเสมอ 

รวมทั้งมีข้อจำกัดในบางช่วงอายุของพืช เช่น ช่วงข้าวออกรวง หรือพืชสูง เป็นต้น โดรนเกษตรจึงเข้ามาตอบโจทย์ ลดระยะเวลาการทำงานให้แก่เกษตรกร เพิ่มคุณภาพการฉีดพ่นที่ทั่วถึงด้วยระบบการวางแผนงานอย่างครอบคลุม และสามารถใช้งานกับพืชได้หลากหลายชนิด ทุกช่วงอายุของพืช พร้อมสร้างอาชีพให้แก่คน รุ่นใหม่ ที่หันมาทำการเกษตรผ่านเทคโนโลยีกันมากขึ้น

สำหรับประเภทของโดรนเกษตรแบรนด์ Mah Bin (ม้าบิน) ประกอบด้วย โดรนฉีดพ่นขนาดเล็ก สำหรับกลุ่มเกษตรกรระดับครัวเรือน โดรนฉีดพ่นขนาดใหญ่สำหรับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ รวมทั้งผู้ให้บริการ และโดรนสำรวจพื้นที่ สำหรับวิเคราะห์รูปแบบแปลง รวมถึงตรวจสอบและประเมินคุณภาพของผลิต

โดยมีจุดเด่นที่เป็นแบรนด์แรกของประเทศไทย ซึ่งคิดค้น ออกแบบ และผลิตโดยคนไทย พร้อมรับรองรูปแบบจากกรมวิชาการเกษตร ปั๊มแรงดันสูง รองรับการติดตั้งหัวพ่นทุกรูปแบบ ขนาดเล็ก เบา ง่ายต่อการขนย้าย สีสันสวยงามโดดเด่น  ไม่ซ้ำใคร ราคาไม่แพง พร้อมรับประกัน 1 ปีเต็ม

รัตยา กล่าวว่า โดรน “ม้าบิน” ถูกออกแบบมาให้เกษตรกรใช้งานง่าย ดูแลบำรุงรักษาง่าย ในขณะที่ช่วยเกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกและดูแลพืชเกษตรรวมถึงลดความเสี่ยงจากอันตราย โดยยกตัวอย่าวว่า เกษตรกร 1 คนแบกเป้บรรจุถังสารเคมีน้ำเพื่อพ่นฉีดพืชในไร่จะใช้เวลาประมาณ​ 20-40 นาที แต่หากใช้โดรนจะใช้เวลาเพียง 1-3 นาทีต่อพื้นที่ 1 ไร่ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์เรื่องความปลอดภัย และความสม่ำเสมอของสารน้ำที่พ่นฉีดอย่างทั่วถึงมากกว่าแรงงานของเกษตรกร 

ยกระดับคุณภาพการเกษตรและเกษตรกรไทย 

คณิณ กล่าวว่า pain point ของเกษตรกรมี 3 เรื่อง คือความรู้ในเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ดี องค์ความรู้ในการปลูกและดูแลพืช และการสร้างแบรนด์และการทำการตลาด การร่วมมือกันเพื่อทำตลาดโดรนมม้าบินเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะแก้ปัญหาให้เกษตรกรในเรื่องของการปลูกและการดูแลพืช ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกหลายเรื่องในอนาคต

ที่ผ่านมายังไม่มีผู้ให้บริการรับฉีดพ่นยา/สารเคมีสารน้ำ มีแต่เกษตรกรที่ซื้อปุ๋ยน้ำมาแล้วจ้างคนบินโดรนมาบินฉีดให้ โดรนม้าบินจะเป็นรายแรกที่ให้บริการโดรนเพื่อการเกษตรแบบครบวงจร คือ บริการทั้งตัวโดรน สารน้ำ บริการฝึกสอนการบิน บริการฉีด (หากลูกค้าต้องการ) รวมถึงบริการหลังการขายสำหรับดูแลโดรน 

บริษัทเตรียมงบการลงทุนสำหรับการทำลีสซิ่งและงบการตลาดไว้อีกจำนวนหลายร้อยบาท ไม่รวมงบในการบุกไปตลาด AEC 

รายได้แตะ 10,000 ล้านบาท สำหรับรายได้จากโดรนม้าบินคาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5-6% ของรายได้รวม แต่ทว่าธุรกิจโดรนม้าบินจะมีศักยภาพในการทำกำไรสูงกว่า ทำให้รับรู้รายได้ประมาณ 10% ของรายได้รวมในปี 2565 ก่อนขยับเป็น 15% ในปี 2566 

นอกจากโดรนม้าบินแล้วบริษัทยังมีแผนจัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพเพื่อทำ AgriTech Startup เพื่อช่วยยกประสิทธิภาพภาคการเกษตรของไทย ที่มีแรงงาน (เกษตรกร)  จำนวน 12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนแรงงานประมาณ 30% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศจำนวน 38 ล้านคน ในขณะที่สร้างรายได้ให้ประเทศเพียง 8% ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับภาคเกษตร

“เราอยากสร้างอนาคตใหม่ให้กับเกษตรกรไทยด้วยผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมและองค์ความรู้ ภาคเกษตรคือ ตลาดและชีวิตของม้าบิน” คณิณ กล่าว

ปัจจุบันตลาดปุ๋ยเคมี และผลิตภัณฑ์อารักขาพืช ในประเทศไทยมีมูลค่ารวมประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยกลุ่มบริษัทไอ ซี พี มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณอยู่ที่ 15% มูลค่ายอดขายรวมมากกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี และมีฐานลูกค้าที่ให้ความไว้วางใจผลิตภัณฑ์อยู่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยมากกว่า 2,000 ร้านค้า   พร้อมนำเข้า ผลิตและจัดจำหน่าย สินค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรครบวงจรมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย 

“มั่นใจว่าจากศักยภาพและความชำนาญของกลุ่มบริษัทไอซีพี และ Bug Away Thailand (บัค อะเวย์) จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับเกษตรกรไทย พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ  ยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด” คณิน กล่าวทิ้งท้าย

กลุ่มบริษัทไอซีพี ประกอบด้วย บริษัท ไอ ซี พี เฟอทิไลเซอร์ จำกัด และบริษัท ไอซีพี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย “ปุ๋ยตราม้าบิน” และ “ปุ๋ยท็อปวัน ตราไอซีพี” ผู้เล่น TOP3 ในตลาดผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเคมีในประเทศไทย 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ