TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessKincentric เผย 9 เทรนด์สร้างสุดยอดนายจ้างดีเด่น ดึงดูดคนเก่งหนุนองค์กรโตยั่งยืนในระยะยาว

Kincentric เผย 9 เทรนด์สร้างสุดยอดนายจ้างดีเด่น ดึงดูดคนเก่งหนุนองค์กรโตยั่งยืนในระยะยาว

HIGHLIGHT

  • Great Resignation คือ Talent Uprising หมายความว่า อำนาจในการเลือกทำงานไม่ได้อยู่ที่นายจ้างแต่อยู่ที่พนักงาน
  • คนทำงานส่วนใหญ่ ไม่ได้มองว่างานเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตอีกต่อไป เทคโนโลยีทำให้คนทำงานมีทางเลือกมากขึ้นในการทำงาน
  • องค์กรทั้งหลายต้องปรับเปลี่ยนตัวเพื่อดึงดูดจูงใจให้พนักงาน ไม่เช่นนั้นองค์กรก็จะไม่มีคนเก่งมาทำงานด้วย
  • ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้องค์กรกลายเป็นสุดยอดนายจ้างดีเด่น คือ ความยืดหยุ่น (Flexibility) และ ความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust)

คินเซนทริค ประเทศไทย (จำกัด) บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลชั้นนำของโลก เปิดเผย 9 เทรนด์สู่การเป็นสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นประจำปี 2022 พร้อมแนะให้บริษัททั้งหลายเร่งปรับตัว โดยมุ่งให้ความสำคัญและเอาใจใส่กับประสบการณ์ในการทำงานของบรรดาลูกจ้างให้มากขึ้น เปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วม มีช่องทางในการสื่อสารอย่างชัดเจนโปร่งใส และส่งเสริมสนับสนุนให้สามารถพัฒนาทักษะและก้าวหน้าในสายงานอาชีพได้อย่างเต็มที่ 

ดร. อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คินเซนทริค ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า จากการศึกษาสำรวจข้อมูลด้านทรัพยากรบุคคลขององค์กรชั้นนำทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี คินเซนทริกพบว่าภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกถูกบีบให้เปลี่ยนแปลงเพราะวิกฤติการระบาดครั้งใหญ่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เปลี่ยนวิถีชีวิตและพฤติกรรมของผู้คนเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการเปลี่ยนแนวคิด (mindset) ด้วย 

ขณะที่ เอย่า เสวนสัน ที่ปรึกษาอาวุโสและผู้จัดการสายงานด้านการประเมินและพัฒนาผู้นำองค์กร คินเซนทริค ประเทศไทย อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้เกิดบริบทที่เรียกว่า Great Resignation หรือ การลาออกครั้งใหญ่ ซึ่งในช่วงต้นเข้าใจว่าเป็นผลจากโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องปรับโครงสร้างองค์กร ลดคนออก แต่ผลปรากฎว่าจริง ๆ Great Resignation คือ Talent Uprising ที่หมายความว่า อำนาจในการเลือกทำงานไม่ได้อยู่ที่นายจ้างแต่อยู่ที่พนักงานหรือลูกจ้างแล้ว

เอย่าอธิบายว่า ไวรัสโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้คนทำงานตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำงานเพื่ออะไร และอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่ คื อเวลา ครอบครัว และการใช้ชีวิต ทำให้คนทำงานส่วนใหญ่ ไม่ได้มองว่างานเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตอีกต่อไป บวกกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาในการทำงานและใช้ชีวิต ทำให้คนทำงานมีหนทางในการสร้างทางเลือกในการทำงานหาเงิน ดังนั้น องค์กรทั้งหลายต้องปรับเปลี่ยนเพื่อดึงดูดจูงใจให้พนักงานในโลกยุคใหม่อยากทำงาน ไม่เช่นนั้นองค์กรก็จะไม่มีคนเก่งจนไม่สามารถอยู่รอดได้

ทั้งนี้ จากการศึกษาของคินเซนทริคพบว่า องค์กรใดก็ตามที่สามารถตอบโจทย์ต่อการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับบรรดาลูกจ้าง จะส่งผลต่อการขยายตัวเติบโตของธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการปรับปรุงองค์กรในครั้งนี้กล่าวได้ว่าเป็นการสร้างแบรนด์ (Employer Branding) ให้กับนายจ้าง และเมื่อนายจ้างมีแบรนด์ในทางบวก ย่อมเป็นตัวดึงดูดให้คนเก่งมีทักษะ (Talent) อยากเข้ามาทำงานกับองค์กร โดย

สำหรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างประสบการณ์การทำงานที่ดีให้กับลูกจ้างในปี 2022 ประกอบด้วย 9 เทรนด์หลักด้วยกันคือ 

  1. 1.Be intentional with your hybrid and talent strategy
  2. Triage your Talent Management Philosophy
  3. Explore new talent pools
  4. Ensure you have engaging leaders at all levels
  5. Act-Listen-Adjust
  6. Go deep in succession Planning 
  7. Create clear and creative career paths
  8. Invest in diversity, equity and inclusion
  9. Design and align your HR function for success

ดร.อดิศักดิ์ อธิบายว่า 3 เทรนด์แรกเป็นเรื่องของการบริหารจัดการคน (talent management) ซึ่งจะเห็นความชัดเจนที่หลาย ๆ องค์กรหันมาทบทวนเกี่ยวกับตัวยุทธศาสตร์ในการบริหารคนเก่ง ว่าจะเน้นเก่งในด้านไหน มีเกณฑ์วัดความเก่งอย่างไร แล้วเกณฑ์ในการคัดกรองคนเก่งจะตอบโจทย์ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร 

สำหรับเทรนด์ที่ 4 คือ การที่องค์กรให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างระหว่างผู้บริหารกับลูกจ้าง โดยที่องค์กรต้องมีผู้นำในทุกระดับเพื่อนำพนักงานให้มีส่วนร่วมกับองค์กร หรือการทำให้องค์กรเป็นแรงบันดาลใจให้กับลูกจ้าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลงานหรือผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการได้

ขณะที่เทรนด์ที่ 5 คือ องค์การเริ่มเปลี่ยนแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อรับฟังความเห็นของพนักงานให้มากขึ้น และถี่ขึ้น แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนแบบเรียลไทม์มากขึ้น

ส่วนเทรนด์ที่ 6 คือ การเริ่มสร้างผู้สืบทอดตำแหน่งในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น โดยผู้สืบทอดไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ระดับบน แต่สามารถคัดกรองจากทุกระดับที่มีคุณสมบัติทักษะตรงตามเงื่อนไข

ด้านเทรนด์ที่ 7 หมายถึงการวางแผนเส้นทางอาชีพ โดยที่องค์กรหันสร้างเส้นทางและโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อรองรับโอกาสในการเติบโตทางสายอาชีพของพนักงาน

สำหรับเทรนด์ที่ 8 คือการบริหารจัดการความหลากหลายของคน ส่งเสริมความเท่าเทียม เคารพในความแตกต่าง และใช้ประโยชน์จากกความหลากหลายของบุคคลมาพัฒนาองค์กร 

และเทรนด์ที่ 9 คือการสร้างนวัตกรรมหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในด้าน HR เพื่อช่วยในการเปลี่ยนผ่าน (transform) พลิกโฉมองค์กร ให้มีภาพลักษณ์ทางบวกมากในสายตาคนทำงานมากยิ่งขึ้น

ศาสตราจารย์ดร. เอียน เฟนวิค ผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมมือกับทางคินเซนทริคในการคัดสรรสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยตลอดช่วง 21 ปีที่ผ่านมา แนะให้มองการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นบรรทัดฐานทางสังคมที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะได้เผชิญกับความท้าทายใหม่ ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นก็คือการที่คนต้องเตรียมความพร้อมให้มีคุณสมบัติที่เรียกว่า ความยืดได้หดได้ (resilience) หรือก็คือความสามารถที่จะก้าวผ่านอุปสรรคท้าทาย ด้วยการเปลี่ยนความท้าทายเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด ภายใต้ความคิดสร้างสรรค์

“ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้คนไม่ลังเลที่จะกระโดดไปหาโอกาสที่ดีกว่าในอนาคต กระโดดไปลองทำสิ่งใหม่ ๆ  ซึ่งหากไปได้ก็ก้าวไปเรื่อย ๆ ขณะที่บางคนที่เห็นว่าไม่เวิร์ก ก็จะกระโดดกลับมาอยู่ในจุดเดิม และ 2 ปีที่ผ่านมาเปรียบเสมือนฝันร้าย เราจำเป็นต้องตื่นขึ้นมาเพื่ออ้าแขนรับโอกาสใหม่ๆ” ดร.เอียน กล่าว

ผู้อำนวยการศศินทร์ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันคือยุคของความคิดสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจคือขุมพลังของความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นองค์กรต้องสร้างแรงบันดาลใจเพื่อสร้างคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่คนเพียงคนเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ สิ่งที่องค์กรต้องทำต่อก็คือการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงคนสร้างสรรค์เหล่านี้ เพื่อให้คนเหล่านี้ช่วยปรับเปลี่ยน (ทรานส์ฟอร์ม) สังคมโลกโดยรวมให้ดีขึ้น ลึกล้ำขึ้น และยั่งยืนมากขึ้น

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ดร.ชัยพงษ์ พงษ์พานิช รองผู้อำนวยการด้านวิชาการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ลักษณะของคนทำงานในอนาคตภายใต้โลกที่พนักงานถือไพ่เหนือกว่านายจ้าง ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้องค์กรกลายเป็นสุดยอดนายจ้างดีเด่น คือ ความยืดหยุ่น (Flexibility) และ ความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) โดยความยืดหยุ่นหมายถึงการปรับเปลี่ยนเวลาและเนื้อหางานให้เหมาะชีวิตและการทำงานของลูกจ้าง ส่วนความไว้เนื้อเชื่อใจก็คือความไว้ใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่จะช่วยให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

ด้านเอย่า เสริมว่า สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ ไม่มีแนวทางปฎิบัตีที่เป็นสูตรสำเร็จที่จะช่วยสร้างสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นได้ เป็นสิ่งที่องค์กรต้องเปิดใจเรียนรู้รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดกับพนักงานแบบเอาใจใส่อย่างจริงจัง และกุญแจสำคัญที่จะทำให้เป็นองค์กรนายจ้างดีเด่นกก็คือการที่บริษัทนั้นๆ ต้องมีผู้นำที่ดี และผู้นำที่ดีไม่ใช่คนเก่ง แต่เป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ให้กับคนทุกคน 

ในส่วนของการประกวดคัดสรรสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นประจำปี 2022 นี้ ดร.อดิศักดิ์ กล่าวว่า เกณฑ์การประเมินตัดสินยังเข้มงวดและสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมเชิญชวนให้บริษัททั้งหลายเข้าร่วม เพราะต่อให้ไม่ได้รับรางวัล แต่การเข้าร่วมก็เป็นการช่วยประเมินตรวจสอบทำให้บริษัทตระหนักรู้ว่า มีข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงในส่วนไหน อย่างไรต่อไป

“เราหวังให้โครงการ Best Employers ปี 2022 นี้ จะเป็นหนทางส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ ที่มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการ ให้ตระหนักรู้ช่องว่างจนนำไปสู่การปรับปรุงวางแผนและยกระดับขีดความสามารถขององค์กรในระยะกลางและระยะยาวต่อไป” ดร.อดิศักดิ์ กล่าวปิดท้าย 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ