TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewวิถี WEDO สู่ SCG Digital ... S-Curve ใหม่ของ 'เอสซีจี'

วิถี WEDO สู่ SCG Digital … S-Curve ใหม่ของ ‘เอสซีจี’

เมื่อ “เก่ารวมใหม่” กลายเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาขององค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคต การเผชิญหน้าระหว่าง “วัฒนธรรมแบบธรรมเนียมปฏิบัติ” (Operative Culture) ซึ่งเหมาะกับงานปฏิบัติการ หรือสายการผลิตในโรงงานที่หวังผลถึงประสิทธิภาพประสิทธิผลภายใต้วินัยเดียวกัน กับ “วัฒนธรรมนวัตกรรม (Innovative Culture) ซึ่งกล้าท้าทายตัวเอง คิดนอกกรอบ และพร้อมริเริ่มสิ่งใหม่ The Story Thailand จึงชวน อาร์ท อภิรัตน์หวานชะเอม Chief Digital Officer เอสซีจี มาแชร์วิสัยทัศน์สไตล์ SCG WEDO ที่พร้อม “กระตุกต่อม หลอมความต่าง สร้างนวัตกรรม ทำให้ดู เพื่อโตต่อไปเป็นคลื่นธุรกิจใหม่ของเอสซีจี ที่ “เก่งคนเก่งงาน ในอนาคต 

ลูกผสมทางวัฒนธรรม

“เราไม่จำเป็นต้องเลือกว่า อะไรดีกว่ากันเพราะทั้งสองวัฒนธรรมสามารถเดินคู่ขนานกันไปแบบไฮบริด แค่ต้องปลูกฝังชุดความคิดเพื่อถมช่องวัยของพี่เก่าและน้องใหม่ให้ยอมรับซึ่งกันและกัน ผ่านการมองเห็นแง่งามในความแตกต่าง (Diversity) หลอมรวมความหลากหลายอย่างเท่าเทียม (Inclusiveness) และมองมุมบวกเพื่อค้นหาโอกาสในทุกอุปสรรคที่เกิดขึ้น (Optimism)”

อภิรัตน์ เล่าว่า ถึงแม้เอสซีจีจะเริ่มต้นธุรกิจจาก Zero to One เมื่อร้อยปีที่แล้วแต่ยังทำได้ดีมาโดยตลอดและควรทำต่อไป ส่วนการเริ่มต้นเดินใหม่อีกครั้งในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็ต้องสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมขึ้นมาให้สำเร็จ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเปลี่ยนผ่านองค์กรทั้งหมด วัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมก็เติมเทคโนโลยีเข้าไปให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ด้านฝั่งนวัตกรรมก็ใส่คนรุ่นใหม่เข้ามาเพื่อสร้างโจทย์ใหม่ให้กับธุรกิจไว้รับเทรนด์โลกดิจิทัล และเข้าถึงกระแสความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้คนและสังคม เช่น อีเอสจี สมาร์ทโฮม หรือ อีวี เป็นต้น 

ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านจึงเกิดจาก “การทำงานร่วมกันท่ามกลางความต่างอย่างสร้างสรรค์” พยายามสร้างโอกาสและศักยภาพที่ประสานการทำงานจากข้อดีของสองวัฒนธรรม อย่างหน่วยงาน WEDO ณ ปัจจุบัน มีคนทำงานตั้งแต่รุ่นเบบี้บูมเมอร์ไปจนถึงเด็ก Gen Z ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างคนรุ่นเก่าที่ผ่านวิกฤติหนัก ๆ เช่น ต้มยำกุ้ง จึงมีความระมัดระวังและคิดเป็นอย่างดีก่อนเดิน ขณะที่น้องรุ่นใหม่จะมีไอเดียบรรเจิดจากการตามติดเทคโนโลยี พร้อมขยับตามความเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งใบ และด้วยความที่เอสซีจีเป็นองค์กรที่สั่งสมประสบการณ์มายาวนานกว่า 110 ปี มีความแข็งแกร่งเรื่องแบรนด์ เงินทุน และฐานการผลิต ส่วนสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ซึ่งมองเห็นเทรนด์แต่ขาดประสบการณ์และเงินทุนในการขยายสเกลทางธุรกิจ หากจับมัดรวมน่าจะเสริมศักยภาพทางธุรกิจ หรือมุมมองใหม่ ๆ ไปสู่การเติบโตร่วมกัน

“เวลาประชุม ผมสนับสนุนให้เถียงกันเอาเป็นเอาตายเรื่องงานแต่อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่เอาชนะ เราจะไม่โอ๋กัน เพื่อให้ทุกคนแสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่ น้องทุกคนสามารถเดินเข้ามาบอกว่า พี่อาร์ทคิดผิดแล้วเรามาคุยมาถกเถียงกัน การคิดเหมือนกันทำให้สังคมเป็นระเบียบและสงบสุขก็จริง แต่ก็ต้องกระตุกต่อมนิดนึงว่า ความต่างก็ดีนะ ลองท้าทายตัวเองจากจุดเดิมที่ยืนอยู่ แล้วสร้างเรื่องราวความสำเร็จขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ว่า ทำไมความต่างจึงเป็นโอกาส พอผลงานมันเกิด ทุกคนจะยอมรับและเข้าใจ” 

ภารกิจเฟ้นหาทาเลนต์ที่ “ใช่

ในโลกของนวัตกรรม “คนที่ใช่มาก่อนคนที่เก่ง เพราะทักษะด้านเทคนิคัล เช่น การเขียนโปรแกรม งานวิทยาศาสตร์ข้อมูล เอไอ เป็นสิ่งที่ฝึกฝนหรือเรียนรู้ได้แม้จากยูทูป มีเกรดไว้คัดความเก่ง แต่การตัดสินว่า ใคร “ใช่ กว่ากัน เขาวัดรวมตั้งแต่การมีชุดความคิดที่ดี มีทักษะพร้อมทั้งซอฟต์สกิลและเทคนิคัลศกิล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนรุ่นใหม่รวมถึงคนไอทียุคนี้อยากได้มากกว่า คือ “โอกาส เพราะโอกาสหาไม่ได้จากยูทูป และ “การได้รับการยอมรับและเห็นคุณค่า จากการทำอะไรก็แล้วแต่ภายใต้โอกาสที่ได้รับแล้วมันมีความหมายหรือเกิดประโยชน์ได้จริง 

การริเริ่ม WEDO Young Talent Program เพื่อเฟ้นหาทาเลนต์จึงไม่ต่างจากการสร้างสนามไว้ให้ “ม้าดี มีที่วิ่ง การเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ยากลำบากในทุกกิจกรรมของเด็กร่วม 100 คนจากโครงการ ไม่ใช่แค่การได้ชัยชนะในภารกิจ แต่เพื่อปลูกฝังให้น้อง ๆ เรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเอง เข้าใจภารกิจและสื่อสารสิ่งที่ต้องการออกไป มองเห็นคุณค่าในความต่าง และพร้อมรับฟังคนอื่น โดยปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดกว้างให้เด็กมัธยมศึกษาเข้าร่วมโครงการ และผ่านเข้ารอบมาได้ถึง 17 คน 

“เรามีการพูดคุยกับทีมเอชอาร์ถึงความต้องการของธุรกิจที่เปลี่ยนไป และคนแบบไหนที่องค์กรต้องการมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว รวมถึงค่อยปรับโครงสร้างรายได้เพื่อดึงคนจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเข้ามาในองค์กรและสร้างแรงจูงใจให้เขาอยู่ต่อ จนเมื่อมาทำ Young Talent กับเด็กมหาวิทยาลัยลงมาถึงระดับมัธยมปลายที่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ ทำให้เห็นฐานของทาเลนต์ที่กว้างขึ้น”

จึงเป็นที่มาของการออกแบบ “On Campus Working” แพ็คเกจการทำงานสำหรับน้อง ๆ นักศึกษาที่สามารถเรียนและทำงานให้เราไปด้วย แพ็คเกจ “Work from Where You Are” ภายใต้สโลแกน “ชีวิตที่เลือกกับงานที่ใช่” สำหรับคนรุ่นใหม่หรือกลุ่ม Digital Nomad ที่ทำงานผ่านออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ ขอเพียงสามารถส่งงานได้ตามระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “Young at Heart เปิดโอกาสให้คนที่เกษียณอายุแต่มีประสบการณ์ในตลาดที่เรามองว่า สามารถสร้าง S-Curve ต้วใหม่ให้กับธุรกิจมาแบ่งปันประสบการณ์พร้อมไปกับการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ร่วมกับน้อง Gen Z เพื่อต่อยอดธุรกิจจากคนที่มีประสบการณ์มาแล้ว ทั้งยังตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัยให้ยังคงเห็นคุณค่าในตัวเอง หรือมีโครงการสอนน้อง ๆ ที่อยู่นอกระบบการศึกษาแล้วจ่ายงานให้ทำเป็นขั้นบันไดตามทักษะและความสามารถ เมื่อน้องมีประสบการณ์มากขึ้นก็จะสอนทักษะและให้งานที่ยากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นได้ในปลายปีนี้ เป็นต้น

อภิรัตน์ กล่าวว่า หากการขยายทีมของเราสามารถตอบโจทย์สังคมและธุรกิจได้นับว่าเป็นเรื่องดี เพราะจากประสบการณ์ที่เคยทำโครงการ “พรวนฝัน” ที่เชียงราย การได้พบเด็กชาวเขาที่เก่งคณิตศาสตร์มากแต่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อเพราะต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ดังนั้น ถ้าสามารถสอนให้คนนอกระบบการศึกษาเขียนโค้ดโปรแกรมเป็นแล้วหยิบยื่นโอกาสและงานให้ จึงเป็นทั้งแพสชั่นและความสะใจส่วนตัว 

“หากผมจะไปขยายธุรกิจที่อินเดีย แล้วเทรนคนบังกะลอร์จบปีเดียวก็ได้กำลังคนเท่ากับทั้งตลาดของไทยที่มีอยู่ แต่ถ้าผมสอนน้องชาวเขาให้เขียนโปรแกรม ทำให้เขามีรายได้พอที่จะหลุดจากโหมดอดตาย และกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ทำให้เรามีบุคลากรเพิ่มขึ้นในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ผมมองว่าเวอร์ชันนี้มันว้าวกว่าเยอะ” 

เห็นต่างสร้างโอกาส 

ความพยายามปลดแอกความคิดเพื่อหลุดจากเรดโอเชียนที่ว่า ต้องรับคนที่มีเกียรติและมีเกรดคือใบปริญญาเข้ามาทำงานไปเป็นการได้คนที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจที่เปลี่ยนไป และได้ผลลัพธ์ที่วิน-วินกันทุกฝ่ายตรงที่สามารถกระจายการทำงาน กระจายรายได้ไปยังทุกที่ทั่วไทย ทั้งได้มูลค่าทางธุรกิจ และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับทุกคน ซึ่งสิ่งที่ WEDO ทำกำลังได้รับการถอดบทเรียนเพื่อไปใช้ในหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะฝั่งของการพัฒนานวัตกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้ได้เลย”

อภิรัตน์ เผยว่า เป็นความจำเป็นที่ต้องทำให้ผู้บริหารเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ทำให้องค์กรมีบุคลากรด้านเทคโนโลยีเยอะขึ้น และได้ยื่นโอกาสให้กับคนได้กว้างขึ้น เป็นการตอบโจทย์ทั้งสองด้านสำหรับเอสซีจีซึ่งมีทุนมากพอที่จะจ้าง และมีคนด้อยโอกาสที่กำลังหางาน  และด้วยยุคสมัยที่เทคโนโลยีสามารถปลดล็อคข้อจำกัดบางอย่าง เช่น สมัยก่อนถ้าอยากทำเพลง คุณต้องเดินเข้าไปที่ค่ายเพลง ทำให้เขาชอบและอยากลงทุนกับคุณ แต่สมัยนี้ถ้าคุณร้องเพลงเพราะ คุณแค่อัดเพลงอยู่ที่บ้านลงยูทูป แล้วคุณก็อาจเป็นเหมือนจัสติน บีเบอร์ หรือถ้าคุณมีเรื่องเล่าและเล่าได้ดี คุณสามารถทำพอดแคส ทำยูทูปเผยแพร่เรื่องราวได้โดยไม่ต้องเข้ากระบวนการสอบใบผู้ประกาศ ไม่ต้องไปสมัครงานตามสถานีโทรทัศน์หรือวิทยุจึงจะได้จัดรายการ

เทคโนโลยียุคนี้ยังให้โอกาสคนมีของ เช่น ปั้นคอนเทนต์เก่ง มีแรงผลักดันในการทำสิ่งที่หลงใหลหรือชื่นชอบ สามารถเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่โดยที่ไม่ต้องผ่านวิธีปกติเหมือนอดีต ซึ่งพาเรามาถึงจุดที่ไม่ต้องสนใจว่า คนนี้ต้องจบดีกรีอะไร GPA เท่าไหร่ ตราบใดที่เมื่อมานั่งอยู่ต่อหน้าเราแล้วสามารถโคดดิ้งโปรแกรม เขียนไพทอน (Python) ให้เราได้ หรืออย่าง Young At Heart ที่เราริ่เริมทำกับคนในวัยเกษียณแล้วนำไปเสนอผู้ใหญ่ ซึ่งได้รับอนุมัติให้ลองทำเป็นแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมา 

“ความตลก คือ ผู้ใหญ่ก็จะ เอ๊ะ…ทำไมไม่เคยคิด สุดท้ายก็ อ๋อ..ไม่มีใครถามเลยไม่ได้ลอง เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าผิดกฏก็เลยหยุดแค่นั้น แต่เราคิดต่างจึงถามว่าทำไม่ทำไม่ได้ ผมว่ามีประโยชน์”  

กลยุทธ์มัดใจนวัตกร

แม้องค์กรอยากให้คนเก่งอยู่ทำงานไปนาน ๆ แต่ก็ไม่สามารถห้ามการมีคนเข้าและออกจากองค์กรไปเรื่อย ๆ ทำให้เกิดต้นทุนและขาดความต่อเนื่อง องค์กรจึงต้องพยายามสร้างคุณค่าในหลากหลายรูปแบบที่เหมาะกับนักสร้างนวัตกรรมหรือนวัตกรแต่ละคน บางคนอาจเป็นเรื่องผลตอบแทนและความมั่นคง บางคนต้องการโอกาสในการแสดงออกและได้รับการยอมรับและรับฟัง ขณะที่บางคนอยากได้ประสบการณ์และได้ทำในสิ่งที่ถ้าไปที่อื่นอาจไม่มีโอกาสได้ทำ ขณะเดียวกัน การทำงานนานเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป การเติมมุมมองใหม่ ๆ หรือหย่อนคนใหม่ ๆ ลงไปในทีม มีโอกาสที่ทีมจะมีศักยภาพมากขึ้น ถ้าพูดแบบภาษาเอไอ คือ อย่าทำให้ทีม overfit เกินไป เพราะทีมเมื่ออยู่ด้วยกันมานานอาจเข้าสู่โหมดรู้ใจ เริ่มคิดเหมือนกัน กลายเป็นความเสี่ยงขององค์กรที่ “หากคุณคิดผิดเหมือนกันหมดแล้วใครจะค้าน

“การที่พนักงานออกก็ไม่ได้เป็นลบเสมอไป พนักงานที่ไม่มีประสบการณ์ก็ไม่ได้เป็นลบเช่นกัน ขอให้เรามีชุดความคิดที่ยอมรับความหลากหลาย เราจะมองเห็นขาวในดำ เห็นโอกาสในวิกฤต ซึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวผมมาตั้งแต่เรียนสถาปัตย์ฯ คือถูกสอนให้เรียนรู้การคิดต่าง” 

เราพยายามปลูกฝังน้อง ๆ ว่า หากคุณคิดอยากทำอะไรใหม่ ๆ แล้วเดินเข้ามาแบบไม่มีคอนเซ็ปต์ ไม่รู้ว่าผลลัพธ์ที่ต้องการคืออะไร ก็ไม่ต้องนำเสนอ เพราะที่ WEDO มีความโหด มีความนรก ยิ่งในยุคที่นวัตกรรมสำคัญ ความรู้สึกสำคัญ แบรนด์สำคัญ เราไม่ชอบของง่าย และวัฒนธรรมของ WEDO ไม่ใช้ความเก่งนำหน้า แต่เรา “เลือกสร้างความต่างแล้วใช้เทคโนโลยีทำให้ความต่างนั้นมีพลังขึ้นมา“

จาก WEDO สู่ SCG Digital

ประสบการณ์จากการพัฒนานวัตกรรมภายใต้ SCG WEDO สอนให้อาร์ทรู้ว่า เทคโนโลยีนั้นมาหลังจากที่เราขบคิดจนได้คำตอบว่า จะทำอะไรเพื่อรับมือการดิสรัปชัน องค์กรที่เป็นเทคโนโลยีหรือวางแผนนำเทคโนโลยีมาใช้ จึงไม่ควรทำแต่เทคโนโลยี เช่น ถ้าคุณทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ “คุณต้องเข้าใจมนุษย์ก่อน เข้าใจลูกค้า เข้าใจคนรุ่นใหม่ว่าอยากได้อะไร แล้วนำ “กระบวการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)” มาตีความความอยากให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการ เกิดเป็น S-Curve ตัวใหม่ทางธุรกิจ ส่วน “เทคโนโลยีคือเครื่องมือที่ช่วยคุณสร้างนวัตกรรมหรือลดต้นทุน 

“ผมชอบเปรียบไม้สอยมะม่วงเป็นเทคโนโลยีที่ต้องมีหากมือของเราไม่ยาวพอ แต่ก็ไม่จำเป็นหากบ้านเราไม่มีต้นมะม่วง อย่างกูเกิลที่เติบโตขึ้นมาเพราะเจอจุดเจ็บปวดของผู้ใช้ในเวลาที่โลกอินเทอร์เน็ตโตมาก ๆ แล้วเราค้นหาอะไรกันไม่เจอ ก็เลยใช้เทคโนโลยีมาสร้างเเสิร์ชเอนจินกันดีกว่า จะเห็นว่า ความคิดมาก่อน เทคโนโลยีมาทีหลัง”

อภิรัตน์ กล่าวว่า WEDO เองก็กำลังเปลี่ยนผ่านบทบาทการทำงานจากการเป็นแค่หน่วยงานดิจิทัลออฟฟิศในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความได้เปรียบทางดิจิทัลให้กับบริษัทแม่จนเกิดแบรนด์ใหม่หลายตัว มาเป็น “SCG Digital” ที่พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการเป็นของตัวเอง ทำให้หลายคนจับตามองว่า WEDO กำลังกลายเป็น S-Curve ตัวใหม่ทางธุรกิจของเอสซีจี  เพราะเป็นปีแรกที่จะเริ่มเปิดตัวสินค้าในกลุ่มสมาร์ทโฮมโซลูชัน โดยเป็นการออกแบบร่วมกับดีไซเนอร์คนไทยภายใต้แบรนด์ใหม่ให้มีรูปลักษณ์ที่ลงตัวระหว่างความเป็นออร์แกนิคและไฮเทคสำหรับตอบโจทย์คนที่ไม่สันทัดการใช้เทคโนโลยีเท่าไรนัก แต่ยังต้องการใช้ประโยชน์เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิต ซึ่งจะเปิดตัวในไทยเร็ว ๆ นี้ ก่อนจะออกสู่ตลาดต่างประเทศในช่วงปลายปี รวมถึงแผนการไปร่วมงานดีไซน์ วีค ที่มิลานในต้นปีหน้า

ปัจจุบัน WEDO มีพนักงานมีมีประเภทการจ้างงานรูปแบบต่าง ๆ รวม 500 คน ในไทยและอินเดีย มีเป้าหมายอยากเปลี่ยนการว่าจ้างประจำไปสู่รูปแบบการจ้างงานแบบทำจากที่ไหนก็ได้มากขึ้น จะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนไทย 

“อย่างที่บอกว่า เราไม่ชอบของง่ายเพราะมันอาจตอบโจทย์คนแค่ไม่กี่คน แล้วบางทีท่าง่ายก็ไม่ใช่คำตอบ เรายอมเหนื่อยยอมลำบาก เราไม่เลือกทางลัด เพราะคาแรคเตอร์ของ WE คือชอบที่จะ DO หากคุณอยากทำให้นวัตกรรมมันเกิด ไม่ว่าจะท่าไหน คุณต้องลงมือทำ ไม่ใช่แค่พูด” 

สิ่งที่ภูมิใจ คือ ต่อให้ตนเดินจากไป WEDO ก็ยังอยู่ในเอสซีจี หรือคนที่ออกจาก WEDO ไป สามารถเอาแนวคิดไปขยายผลในองค์กรใหม่เพื่อให้เขาเติบโตต่อไป เราพอใจที่ได้ปลูกฝังอะไรใหม่ ๆ ในสังคม แล้วสิ่งที่ทำนั้นยั่งยืนและมีประโยชน์

จากจุดเริ่มต้นแค่เพียงหน่วยงานหนึ่งในเอสซีจี วันนี้ WEDO หรือ SCG Digital กำลังขึ้นแท่น S-Curve ที่อยากโตต่อไปเป็นบริษัทพัฒนานวัตกรรมสำหรับตลาดสมาร์ทโฮมในอนาคต ที่อาร์ทตั้งธงจะทำสำเร็จก่อนเกษียณ ซึ่งคาดหวังจะเกิดขึ้นได้ในอีกราว 3 ปีข้างหน้า

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ