TH | EN
TH | EN

ESG for SME

ขณะที่ธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่มารุมเร้า ทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งแยกสายอุปทานโลก ปัญหาเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งจากปัจจัยภายในที่เป็นความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจ จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทักษะความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การบริหารแรงงานและความหลากหลาย รวมทั้งช่องว่างระหว่างวัยในที่ทำงาน

ดังนั้น ประเด็นของ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) จึงกลายเป็นเรื่องที่จำเป็น และได้ถูกยกระดับความสำคัญ อย่างมากในปี 2023 จนเป็นเงื่อนไขหลักสำหรับการดำเนินธุรกิจไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน คนตัวเล็กอย่างเอสเอ็มอี ที่มีสายป่านไม่ยาวไกล ต้นทุนทางธุรกิจก็มีอยู่อย่างจำกัด…

….แล้วเอสเอ็มอี จะใช้โอกาสนี้ ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่แนวคิด ESG ต้องทำอย่างไร และถ้าทำตามแนวคิด ESG แล้วดีอย่างไร? … อะไรคือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากไม่ปรับตัวสู่แนวคิด ESG และอยากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้นต้องทำอย่างไร…

ร่วมฟังกรณีศึกษา SME ที่ปรับใช้แนวคิด ESG แล้วประสบความสำเร็จและยั่งยืนได้ กับ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์

ดร.พิพัฒน์ กลาวว่า ปี 2566 เป็นปีที่นักวิเคราะห์ นักวิชาการ จะพยากรณ์ยากสุด เพราะมีความหลากหลายของสถานการณ์  เริ่มจากข้างนอกเข้ามา 2 คำที่ผมคิดว่า เราอาจจะใช้แทนความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลก คือ วุ่นวาย กับถดถอย คือ ตอนนี้มันมีการเผชิญหน้ากัน ทำให้เกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามรัฐเซีย-ยูเครน ลากมาข้ามปีแล้ว  

ในส่วนของสหรัฐ-จีน ก็จะเป็นความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ พยายามรักษาความเป็นเจ้าตลาด ความเป็นเบอร์ 1 มหาอำนาจโลก จีนก็ออกมาอาจหาญท้าชิง พยายามไปรวบรวมประเทศพันธมิตร ไปทำความร่วมมือกับตะวันออกกลาง ทวีปแอฟริกา ก็มีหลายความร่วมมือที่ส่อเค้าว่า สหรัฐฯ น่าจะมีความเพลี้ยงพล้ำ เรื่องของการสูญเสียการเป็นมหาอำนาจโลก เบอร์ 1 ไป ลากมาถึงเรื่องการแบ่งแยกสายอุปทานของโลก ใครที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องสินค้าส่งออก-นำเข้า จะต้องจับตา ติดตามดี ๆ เพราะว่า บางทีสั่งของวัตถุดิบไม่ได้ เพราะว่ามีการกีดกันกัน

ส่วนถดถอย เป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย หลายสำนักก็ฟันธงกว่าครึ่ง ว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอย หลายบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของโลก ก็เริ่มมีการประกาศลดค่าใช้จ่าย ลดคน ลดการลงทุนใหม่ หุ้นของบริษัทเหล่านี้ก็จะตกลงไปสู่สภาพที่เป็นจริงมากขึ้น พรีเมี่ยมที่เคยไปซื้อหุ้น ในอดีต 2-3 ปีที่ผ่านมาก็อาจจะลดลง 

สำหรับคนที่ลงทุนไปแล้ว อาจจะใช้คำพูดชาวบ้านว่าติดดอย สำหรับคนที่ยังไม่ได้ลงทุน โอกาสตอนนี้ก็อาจจะเป็นการเข้าไปซื้อของถูกได้ แต่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะยังไม่รู้ว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจขาลง ถึงจุดต่ำสุดหรือยัง นี่เป็นภาพภายนอกคร่าว ๆ ภาพภายในประเทศมีความน่าสนใจตรงที่ว่าไทยเองดูเหมือนจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกประมาณหนึ่ง เพราะว่าอยู่ในสังคมโลก แต่ว่าเนื่องจากประเทศไทย มีเอกลักษณ์ที่เป็นแรงดึงดูดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องแหล่งท่องเที่ยว  

ก่อนหน้านี้ แม้โควิดยังไม่คลี่คลายดีนักไทยก็ได้กลุ่มนักท่องเที่ยวจากอินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรปเข้ามา และล่าสุด จีนก็มีสัญญาณในการเปิดประเทศ จะเห็นว่าบรรดาบริษัททัวร์ต่าง ๆ เริ่มรับคำสั่งจากทัวร์จีนเข้ามาทั้งในกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่เอง ก็ทำให้สถานการณ์ความถดถอยทางเศรษฐกิจ อาจจะไม่ได้คล้อยตามภาวะเศรษฐกิจโลกเท่าใด เพราะปัจจัยเรื่องของการท่องเที่ยว มีผลสืบเนื่องในหลายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งเรื่องโรงแรม อาหาร ที่พัก เรื่องของมัคคุเทศก์ การบริการขนส่งต่าง ๆ  

สำหรับ SME อาจต้องประเมินดูว่าอยู่รายสาขาอุตสาหกรรมไหน จะได้ผลพวงจากเรื่องของการท่องเที่ยวเท่าไหร่ หรือในกลุ่มที่อาจจะไม่ได้มีอานิสงส์พวกนี้มากนัก อาจจะต้องมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม  

นอกจากนี้ การต้องภาวะโควิดมา 2 ปี กว่า SME ก็เผชิญภาวะขาดสภาพคล่อง มีหนี้เสียช่วงโควิด เป็นส่วนที่ยืมมาใช้ในกิจการ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องสภาพคล่อง เรื่องของการลงทุน การขยายกิจการ การที่เราจะไปพาร์ทเนอร์กับธุรกิจใหม่ ๆ การลงทุนที่ผ่านมาอาจจะยังไม่เกิดดอกออกผล 

หนี้อีกส่วน มีผลกระทบในฝั่งทาน หรือ demand อย่าง หนี้ครัวเรือน หนี้เสีย หนี้นอกระบบ อาจทำให้กำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของ SME ลดลง อาจจะมีการชะลอการใช้จ่าย  ทำให้ตัว SME เองที่ดูเหมือนว่าอาจจะขายได้เป็นปกติหรือขายดี ก็อาจจะไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะว่ากำลังซื้อในตลาดลดลง

ตรงนี้ดร.พิพัฒน์แนะนำว่า มีสถาบันการเงิน โดยเฉพาะของรัฐ ที่ทางแบงค์ชาติสนับสนุนผ่านโครงการคลินิกแก้หนี้  มีโครงการสินเชื่อเพื่อการปรับตัว มีการเทงบลงมาเป็นแสนล้าน ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ของปีแรก เป็นของ SME โดยตรง ในเรื่องของการปรับโครงสร้างธุรกิจ ทั้งเรื่องการเอาดิจิทัลมาใช้ การทำให้เป็น Green แล้วก็เรื่องของการสร้างนวัตกรรมอะไรต่าง ๆ ยังมีเวลาจนถึงเดือนเมษายนปีนี้

มายด์เซ็ตของเอสเอ็มอีอาจจะบอกว่าเข้าไม่ถึง ติดต่อยาก ทำให้ล้มเลิกความพยายามที่จะเข้าไปหา แต่มันก็เป็นช่องทาง ที่สามารถจะทุเลาในเรื่องภาระในอดีต และเรากำลังจะโปรเจคท์ไปในอนาคตว่ามีโอกาสอะไร 

ทำไมต้อง ESG  for smes  

ESG ย่อมาจาก ปัจจัยสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล แนวคิดของ SME ต่อ ESG จะแตกออกเป็น 2 กลุ่ม ส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นเรื่องของบริษัทใหญ่ กับ SME ส่วนน้อยที่พยายามมองหาโอกาสท่ามกลางสิ่งที่บริษัทใหญ่ๆ ทำ และสามารถใช้ ESG เป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสทางธุรกิจในแง่ของการเติบโต และการลดภาระค่าใช้จ่ายของกิจการลงด้วย 

โดยการประยุกต์ใช้ในระยะสั้นที่ SME ทุกกิจการสามารถใช้ประโยชน์จาก ESG ได้ทันที ประเด็นแรก คือ การลดค่าใช้จ่าย จากการที่เราทำตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจะทำให้สังคมมีการต้อนรับธุรกิจของเรามากยิ่งขึ้น ซึ่งมีตัวอย่างจาก บริษัทใหญ่หลายแห่ง ทุกวันนี้มีการใช้ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายกระดาษไปได้มหาศาล เพราะฉะนั้น ส่วนแรก SME ยังเขียนมือ ยังพิมพ์ใบเสร็จอยู่ อาจจะปรับเปลี่ยนสู่การใช้ดิจิทัลมาใช้  ลดปริมาณการใช้เอกสาร ซึ่งมันก็ทำให้เราลดขั้นตอน ลดระยะเวลาในการทำงานลง ลดค่ากระดาษ  

สอง เปลี่ยนหลอดไฟ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นหลอดไส้แล้ว ส่วนใหญ่ใช้หลอดตะเกียบฟลูออเรสเซนส์ แต่น้อยแห่งที่จะเริ่มใช้หลอด LED มันมีตัวเลขเปรียบ ระหว่างหลอดไส้กำลังไฟ 100 วัตต์ มันจะสามารถใช้หลอดตะเกียบ 28 วัตต์ได้ แล้วก็ใช้ LED 23 วัตต์โดยให้ความสว่างเท่ากัน ปัจจุบัน ค่าไฟหน่วยละ 4 บาท เปิดหลอดเดียวทั้งเดือนเราจะมีค่าไฟจากหลอดไส้ ประมาณ 288 บาทต่อเดือน หลอดตะเกียบ compact fluorescent จะเสียที่ 52 บาทต่อเดือน ส่วน  LED เสียค่าไฟ 37 บาทต่อเดือน ลดลงจากหลอดไส้ปกติถึง 7.7 เท่า เปลี่ยน  LED แทนหลอดตะเกียบเดิม เราลดค่าไฟไปถึง 1.4 เท่า อายุการใช้งาน 30,000 – 50000 ช.ม. มันก็ไม่เสื่อมสภาพตามการกดสวิทช์ จะกดกี่ครั้งก็ได้ ขณะที่หลอดตะเกียบมีอายุการใช้งาน 8,000 ช.ม. หลอดไส้น้อยกว่าเยอะ 800 ถึง 1000 ชั่วโมงเอง

จินตนาการในสำนักงาน ในโรงงานของเรา มีหลอดไฟกี่ดวง หลอดตะเกียบ 1 ดวง ค่าไฟ 50 บาทเนี่ยเรามี 100 ดวง ก็ 5,000 บาทต่อเดือน ถ้าใช้หลอด LED ลดลงไปเกือบ 2,000 บาท ราคา LED ช่วงหลังลดลงพอสมควรแล้ว ไม่ได้แพงเหมือนสมัยก่อน ถ้าคิดอายุการใช้งานกับค่าไฟที่ลดได้ ผมว่าเราคำนวณดูได้เลยครับเราจะคืนทุนภายในกี่ปี เป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องของพลังงานที่ลดลงได้แบบง่าย ๆ เลย 

การลดสต๊อกของใช้สำนักงาน หลายกิจการจะมีการสต๊อคอุปกรณ์อะไรต่าง ๆ ไว้ในออฟฟิศ เปรียบเทียบกับการขับรถ ทุกคนไม่ได้มองท้ายรถเรานะว่า เรามีเก็บของอะไรบ้างอยู่ท้ายรถแต่ไม่ได้ใช้เกิน 1 เดือน กลายเป็นน้ำหนักบรรทุกและเป็นภาระค่าเชื้อเพลิง ถ้าในแง่ของ SME เราอาจจะมีรถบริษัท รถพนักงานที่บรรทุกพนักงานมาทำงาน เราก็มีค่าใช้จ่ายน้ำมัน ลองรณรงค์ดู อาจจะทำให้ค่าเชื้อเพลิงต่อบิลลดลงประมาณหนึ่ง หลาย ๆ คน หลาย ๆ คันก็อาจจะลดลง รวมไปถึงสินค้าหรือสต๊อคที่อยู่ในโกดังด้วย อันไหนที่คิดว่า มันเผื่อเหลือเผื่อขาดเยอะ ทำให้เงินจมลดลง มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น  เป็นเรื่องของการลดการใช้พลังงาน ลดการใช้เชื้อเพลิง ในมิติของ ESG อย่างง่าย ๆ ที่ SME ทุกกิจการสามารถทําได้เลย ไม่จำกัดว่าอยู่ในอุตสาหกรรมไหน 

กรณีศึกษา SME ที่ปรับใช้แนวคิด ESG

เรื่องของพลังงาน จะเห็นว่ามันมีบริษัท SME ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการใช้ประเด็น ESG ในการทำธุรกิจผลิตสินค้าและบริการออกมา อย่างเช่น บริษัทเจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นหม้อแปลงสัญชาติไทย ที่ทำนวัตกรรม ที่เรียกว่าหม้อแปลงชนิดจมน้ำได้ immiscible transformer ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ เรื่องของระบบไฟ มีความพยายามจะเอาระบบไฟฟ้าลงดิน หม้อแปลงที่ห้อยโตงเตงตามเสาไฟฟ้า ก็จะต้องถูกจัดระเบียบลงดินด้วย ออกหม้อแปลงไฟฟ้าอย่างไรให้อยู่ใต้ดินได้ เจอน้ำท่วมได้ และมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เป็นตัวอย่างบริษัทที่เอาประเด็น ESG เข้ามาใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับเรื่องของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 

“อี-ทราน (Etran) ทำเรื่องมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า สองอันดับแรกในบ้านเราเป็นนำเข้า แต่อี-ทรานเป็นรายที่ 3 ที่สามารถผลิตได้ ตอนนี้รู้สึกว่ากำลังการผลิตของเค้าอยู่ที่ประมาณ 600 คัน ก็เป็นทางเลือกที่ดีในอนาคตสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเข้ามาเรื่อยๆ ตลาดตรงนี้จะใหญ่กว่ารถยนต์ไฟฟ้าด้วยซ้ำ เพราะถ้าตลาดมันเปิด ทุกมุมเมือง มีการบิดมอเตอร์ไซค์ไปเติมน้ำมัน ต่อไปนี้จะเห็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่มีทั้งรูปแบบการซื้อขาด เช่า ผ่อน ไม่นับวินมอเตอร์ไซค์ต่าง ๆ ที่ตอนนี้ก็เริ่มเปลี่ยนไปบ้างแล้ว นี่ก็เป็นการที่ SME นำ ESG มาใช้ให้เกิดเป็นโอกาสทางธุรกิจได้”

อีทราน ระดมทุน Series A เดินหน้าเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ สู่พลังงานสะอาด

อีทราน เปิดตัว ETRAN MYRA ผุดโมเดลเช่า เปลี่ยนแบตฟรี

ในแง่มุมของอาหาร มีตัวอย่างเยอะ บริษัทมันตรา แพลนต์เบส ซีฟู้ด อี๊ด สรเชษฐ์ บริษัทใหญ่ ๆ เขาทำแพลนต์เบส แต่ส่วนใหญ่ทำเพื่อทดแทนเนื้อหมู เนื้อวัว แต่ SME รายนี้ไปเจาะนิช ทำเป็น แพลนต์เบส ซีฟู้ด ส่งออกด้วย 

อีกบริษัทหนึ่งที่ผมคิดว่ามีเรื่องให้เล่าเยอะเลย คือบริษัท Civic agrotech การปลูกผักด้วยแสงประดิษฐ์ นะครับ ใช้หลอด LED ในการทำ Plant Factory ประวัติของเขาน่าสนใจตรงที่อยู่ในธุรกิจที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องปลูกผักเลย ทำป้ายไฟโฆษณามาก่อน แล้วมาผลิตหลอดไฟ นี่คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ใครว่าปรับตัวไม่ได้ SME อยู่คนละธุรกิจยังปรับมาเรื่องนี้ได้เลย เค้าไปเห็นว่า ธุรกิจผลิตหลอดไฟ เริ่มอิ่มตัว มีคู่แข่งขันเยอะ เอาหลอดไฟที่ประดิษฐ์ได้มาทำในเรื่องของการปลูกผัก ซึ่งตอนแรกก็ล้มเหลว ทำ LED Factory เปิดหน้าร้านให้คนมาซื้อผักไม่มีใครมาเลย แต่พอไปตั้งบูธในห้าง ไปทำเป็น Factory ในห้าง ซื้อได้เดี๋ยวนั้น ถล่มทลาย ยอดขายมาตรึมเลย

ถามว่าเป็น ESG แง่ผลิตภัณฑ์มันตอบโจทย์คนรุ่นใหม่คนที่ต้องการมีคุณภาพชีวิต คนที่กระจุกตัวอยู่เมือง สามารถใช้ระบบนี้ในการลดการใช้ปุ๋ย ลดพื้นที่ปลูก  ลดการใช้ยาฆ่าแมลง มีความสามารถในการควบคุมน้ำ ควบคุมแสง สารอาหาร ก่อให้เกิดธุรกิจ Functional Food ได้ คนที่กินผักไม่ได้เพราะมีโพแทสเซี่ยมสูง เค้าสามารถออกแบบว่าผักอะไร สำหรับคนโรคไต มีการเพิ่มวิตามินในผัก เพิ่มแคลเซี่ยมในผัก ดีไซน์เฉพาะกลุ่มเฉพาะตัวได้ รวมถึง Seasonal Food ผลไม้ตามฤดูกาล พอปลูกด้วย Plant Factory ก็ขายได้ทั้งปี ราคาพรีเมี่ยมด้วย ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมตรงที่ว่า การใช้ Plant Factory มีการปลูกโดยท้องถิ่น บริโภคโดยคนในชุมชน ไม่ต้องมีการขนส่ง ลด Food milage ลดการใช้เชื้อเพลิงจากการขนส่ง ใช้ Fresh Produce ความสดใหม่ของตัวสินค้า สามารถปลูกเป็นหย่อมๆ ตามห้าม ตามชุมชนต่างๆ เป็นตัวอย่างที่คนอยู่นอกธุรกิจมาทำเรื่องอาหาร เรื่องผักปลอดสารพิษ และธุรกิจเติบโตได้ด้วย สอดคล้องกับแนวคิด ESG ทั้งในเชิง social ที่คนต้องการสุขภาวะที่ดี และเรื่อง environmental ที่ลดคาร์บอนฟุตปรินต์ 

อีกตัวอย่างเรื่องอาหาร คือบริษัท สุขทุกคำ โดยคุณสมศักดิ์ ตัวอย่างที่ดีของการดิลิเวอรี่อาหารสุขภาพ ผมก็ได้ใช้บริการ ที่เว็บไซต์ healthmedelivery มีกิมมิคทั้งเรื่องสินค้าที่เป็นออร์แกนิค คัดสรรมาจากแหล่งที่เป็นอินทรีย์จริงๆ บรรจุภัณฑ์ห่อด้วยใบตอง ปิ่นโต ลดโลกร้อน มีช่องทางรับคืน มีรถส่งเป็นรอบๆ ลาดพร้าว รัชดา ก็ส่ง แก้ปัญหาการใช้ดิลิเวอรี่แพลตฟอร์มราคาสูง มีระบบจัดส่งของเขาเอง ราคาสูงกว่าท้องตลาด 20-30 % แต่ตอบโจทย์ให้ลูกค้าในแง่อาหารสุขภาพ การจัดปิ่นโต มีมื้ออาหารเหมาะสำหรับคนสูงอายุ และเป็นออร์แกนิค และมีบริการจัดเลี้ยง สำหรับงานทำบุญ ขึ้นบ้านใหม่ วันเกิด ผมสั่งผักสด หมู ไก่ ออร์แกนิคมาปรุงเอง และทดลองสั่งอาหารว่างที่ห่อด้วยใบตอง ผมว่าออฟฟิสที่มีการประชุม อาจจะออกไปจัดกิจกรรมภายนอก ใช้บริการได้เลย เนื่องจากเค้ามี supply chain ที่ต่อถึงชาวสวนชาวไร่ ที่ทำฟาร์มอินทรีย์ ทำให้กระจายเศรษฐกิจสู่ชุมชนท้องถิ่น เป็น homegrown จริงๆ ไม่ใช่บริษัทใหญ่มาลงทุนให้ แต่โตจากสิ่งที่เป็นธุรกิจครัวเรือนโดยตรง และจะมีลักษณะเป็นฤดูกาลด้วย ช่วงนี้มีกุ้งจากใต้ ปลาจากตะวันออก ทำโปรโมชั่น เป็นโลคอล ที่ใช้ ESG มาใช้ในการจัดการ การดูแลเศรษฐกิจฐานราก 

บริษัทหนึ่งที่มองความเป็นมิตรต่อสังคม แต่เป็นสังคมสัตว์เลี้ยง มีบริษัทเฮลตี้มอกกี้ ทำผลิตภัณฑ์ไฮด์และซีก ที่เป็นแบรนด์ทรายแมวจากมันสำปะหลัง เจ้าของกิจการเป็นอดีตนักบิน รักแมว ก็มาทำ ปกติทรายแมวส่วนใหญ่นำเข้า เค้าก็ไปเอาวัตถุดิบจากท้องถิ่นมาทำเอง เป็นตลาดตอบโจทย์ คนโสด คนเหงาไม่มีแฟน คนสูงอายุ กลุ่ม pet humanization เริ่มมองสัตว์เลี้ยงเป็นสมาชิกในครอบครัว 

ลิงค์ไปสู่อีกบริษัทคือ โคโฟกุ คือ โรงแรมแมว เป็นธุรกิจบริการรับฝากสัตว์เลี้ยง ปีใหม่ที่ผ่านมา คนจำนวนไม่น้อยน่าจะได้ใช้บริการฝากสัตว์เลี้ยง เปิดสองสาขาแล้ว เหมือนโรงแรมจริง ลงทุน 2 ล้าน คืนทุน ใน 2 ปี เป็นเซกเมนท์ที่ค่อนข้างเติบโต 

อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของธุรกิจSME ที่เติบโตนอกสายอาชีพตัวเอง และประสบความสำเร็จ จริง ๆ โมเดลธุรกิจแบบนี้ก็มีฐานอยู่บนการนำ ESG มาประยุคได้  สามารถทำให้โมเดลธุรกิจนี้เติบโตไปได้ในอนาคต ตามเทรนด์ ที่เกิดขึ้นในสังคม   

คำถาม: พวกเขาเหล่านั้นอาจไม่ได้คิดว่าเป็น E S หรือ G แต่สามารถผนวกธุรกิจของเขาให้กลายเป็น E S หรือ G หรือทั้ง ESG อย่างกลมกลืน

จริง ๆ ESG ก็เป็นวิธีการแบ่งกลุ่มให้เราเห็นว่าธุรกิจยุคใหม่จะทำในเรื่อง สังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล ได้ยังไง แต่โดยธรรมชาติของตัวธุรกิจ มันจะต้องอาศัยการผสมผสานเข้าไปในเนื้อธุรกิจอยู่แล้ว ถ้าเราพูดภาษา SME เขาอาจจะไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เขาทำมันเป็นเรื่องของ ESG อยู่โดยนัย เขาก็คำนึงอยู่ว่าจะช่วยสิ่งแวดล้อมจะช่วยโลกยังไง จะทํายังไงให้คนมีสุขภาวะที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มันคือการคิดโดยธรรมชาติ แต่ว่าเวลานักวิชาการไปจับมันก็ต้องจับกลุ่ม Social ในแบบที่เป็นเรื่องของ Health นะ ทำให้รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันกลายเป็นทฤษฎีกลายเป็นวิชาการ แต่จริง ๆ แล้วมันก็คือการไปเอาสิ่งที่ผู้ประกอบการเขามีสามัญ สำนึก มี DNA อยู่แล้วในเรื่องของ การช่วยเหลือสังคม การดูแลสิ่งแวดล้อม เข้าไปทำธุรกิจของเขา เราเป็นเพียงแต่ไปให้ไลค์หรือชี้ให้เขาเห็นว่า ธุรกิจเหล่านี้มันมีองค์ประกอบเรื่องของ ESG อยู่ ผมเชื่อว่า SME ที่ฟังอยู่ อาจจะหันกลับไปมองธุรกิจของท่านเอง ดึงเอาไฮไลท์บางอย่าง ของตัวธุรกิจมาขาย ในมุม ESG ยังได้เลย เราไม่จำเป็นจะต้องไปซื้อตำรา ESG มาอ่านแล้วดูว่ามันจะทำให้เข้ายังไง ดูว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และต้องปรับอะไร

สินค้าทั่วไปถ้าจะมองในมุม ESG ทุกสินค้าที่เป็นสินค้าจะต้องได้จะต้องมีบรรจุภัณฑ์ เอาแค่ว่าคุณคำนึงถึงการลดบรรจุภัณฑ์ หรือใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็เป็นมุมหนึ่งของ ESG ท่านอาจจะบอกว่ามัน Impact น้อยหรือเปล่า ท่านลองคิดดูว่าแต่ละปีสินค้าท่านขายออกไปกี่ชิ้น เป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นชิ้น บางเจ้าเป็นแสนชิ้น บรรจุภัณฑ์ที่ลดไป ต่อชิ้นถึงแม้จะดูน้อย แต่ Impact ระยะยาวต่อปี อาจจะคุ้มค่าในการที่จะเอามาพูดถึงได้ ไม่ยากจนเกินไปที่จะลงมือทำ 

มีธุรกิจอีกลักษณะหนึ่งเลย เป็น เอสโค่ เซอวิส เขาจะมีที่ปรึกษาเข้าไปตรวจตราดูระบบ ของเราในสำนักงาน ในโรงงาน ว่ามีจุดไหนที่ลดได้ เรื่องของระบบทำความเย็น ระบบการทำงานระบบเชื้อเพลิง เครื่องจักร อันนั้นก็เป็นอีกหมวดหนึ่งซึ่งเราอาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการลงทุน เพื่อที่จะทำและมีแผนการคำนวณ ว่าจะคืนทุนอะไรยังไงเท่าไหร่ ซึ่งผมคิดว่ากรณี Solar ที่เป็นโรงงานระดับกลางขึ้นไป มันไม่ใช่เพียงแต่ว่าจะทำให้เขาประหยัดค่าไฟไปได้เท่านั้น ผมได้ยินว่าหลายโรงงานพอผลิตไปผลิตมา ลดการใช้ไฟในโรงงานลง และมีไฟเหลือ เขาสามารถเจรจาขายไฟกลับให้การไฟฟ้าได้ หลายโรงงานในตอนนี้มีรายได้รายรับจากค่าไฟ ที่มาจากการผลิตเอง เป็นการเปลี่ยนจากการลดค่าใช้จ่ายกลายเป็นเพิ่มรายได้มีรายรับจากการขายไฟได้อีกด้วย 

คำถาม: ปีนี้แนวโน้มทิศทางถ้าเราเอาESG เข้ามาจับ กับผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ สินค้าบริการของเรา ปีนี้ทิศทางมันไปอย่างนั้นแน่ ๆ เป็นคำอธิบายที่อยากให้ทุกคนลองดูตัวเองว่าจะเข้ามาสู่ กระบวนการ ESG ได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ไม่งั้นจะถือว่าตกขบวนไหม

มันกลายเป็น Norm ของธุรกิจไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีตัวตน อย่างน้อยมันต้อง สื่อความไปว่าเกี่ยวข้องกับ ESG มากน้อยแค่ไหนยังไง ผมคิดว่าหลักที่จะให้กับการมองไปข้างหน้า ในปีนี้เอาง่ายๆถ้าเป็น btob ลองไปติดตามแนวทางจากบริษัทใหญ่ๆดู ใน supply chain ของท่านต้องมีตัวอย่างให้ดูแน่ ๆ ผมใช้คำว่ามอนิเตอร์ คือ Monitor สิ่งที่มันเป็น guideline หรือแนวทางจากคู่ค้า ที่ท่านไปส่งสินค้าให้เขาในฐานะซัพพลายเออร์ บริษัทเหล่านี้เขาจะเริ่มมีแนวทางบางอย่างออกมาเช่น คุณต้องมีการตรวจประเมินเรื่องสิทธิมนุษยชน ในโรงงานของท่าน เรื่องค่าแรงค่าจ้างสวัสดิภาพสวัสดิการ ต่างๆ อันนี้ผมว่า SME ที่อยู่ในบีทูบีเขาจะคุ้น พอเริ่มมีข้อมูลข่าวสารจากคู่ค้าของเขาเอง ป้อนเข้ามาให้เรื่อย ๆ 

แต่สำหรับพวก B to C หรือเป็น SME stand alone ที่ไม่ได้อยู่ใน supply chain ของบริษัทใหญ่ ท่านสามารถดูตัวอย่างจากบริษัทใหญ่ๆแล้วมาดัดแปลง ผมใช้คำว่า modify ถ้าบีทูบีเป็น Monitor B to C เป็น modify ยังกันลดการพิมพ์บิลการเปลี่ยนหลอดไฟมันเห็นตัวอย่างอยู่แล้วในบริษัทใหญ่ ๆ ที่เขาทำและประสบความสำเร็จ ในเรื่องการคืนทุน ท่านก็เพียงจะไปจำลองมา ไม่ต้องไปลงทุนใหญ่โตแบบเขา แต่ไปจำลองมาว่ามันมีส่วนไหนที่ธุรกิจใช้ ESG ในการลดค่าใช้จ่ายแล้วเราก็ทำได้เหมือนกัน นำมาดัดแปลงให้เข้ากับของเรา

บางทีเราไปเห็นบริษัทใหญ่ ๆ มีการแยกขยะ จัดเป็นขยะแห้งขยะเปียก ขยะมีพิษ ทุกสิ้นเดือนจะมีบริษัทมารับซื้อรับจัดการขยะ เราก็เห็นช่องทางบางอย่างก็มาดูว่าขยะของเรามันเยอะมั้ย ถ้าเรามีการจัดระเบียบเราจะสามารถเอาขยะพรุ่งนี้ไปขายได้ไหม บางธุรกิจเห็นช่องทางตัวนี้ก็กลายเป็นว่า ดำเนินการกิจการรับเอาขยะไปจัดการด้วยซ้ำไป ขยายไลน์ธุรกิจไปได้อีกแบบหนึ่ง 

ถ้าเป็นครัวเรือนก็ขึ้นอยู่กับ Logistics เหมือนกัน มีหลายปัจจัย แต่ในแง่ของธุรกิจหรือกิจการ เป็นบริษัทใหญ่หรือ sme เนื่องจาก Volume หรือจำนวนของขยะ ที่ถูกบริโภคในโรงงาน อาจจะมีปริมาณมาก พอ ที่คุ้มค่า ในการคัดแยก

ESG ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

สำหรับ SME ที่มีภาระมาจากปีเก่า ๆ ขอเป็นกำลังใจให้พยายามขวนขวาย หาช่องทางที่จะไป หนึ่ง พักสอง ยก และไปดูช่องทางฟื้นฟูหนี้สินที่คั่งค้างไว้อย่างไร มันมีช่องทางอยู่ คิดว่าหลายๆหน่วยงานก็มี Funding ที่ช่วยตรงนี้ 

สำหรับ SME ที่ ปลอดภาระสามารถที่จะมอง ไปข้างหน้าได้อย่างคล่องตัว ESG เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าจะช่วยท่านในปีใหม่นี้ ถ้าท่านทำและมีความสำเร็จอะไรบางอย่าง เราก็ยินดีเป็นช่องทางในการเผยแพร่ และสื่อสารให้กับ SME รายอื่น ให้รับรู้อย่างทั่วถึง 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจของผู้เขียน

เปิดผลสำรวจ ESG ธุรกิจไทยปี 65

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับที่มา และ ตลาดคาร์บอนเครดิต 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ