TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistค่าปกติใหม่ของ “เงินบาท” และทิศทางที่ยากคาดเดา

ค่าปกติใหม่ของ “เงินบาท” และทิศทางที่ยากคาดเดา

ตลาดการเงินโลกป่วนต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้ว หลังค่าเงินหลายสกุลเข้าสู่สภาวะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง นับจากเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ค่าเงินหลายสกุลทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่สกุลเงินหลายประเทศอ่อนค่าทำสถิติสูงใหม่ เช่น เงินวอนเกาหลีใต้   อ่อนค่าหลุดระดับ 1.400 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรก นับจาก ปี 2552 (23 ก.ย.65) เงินปอนด์ที่อ่อนค่ามาพักใหญ่ รอบนี้อ่อนยวบลงลึกไปที่ 1 ปอนด์ต่อ 1.9382 ดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งต่ำเป็นประวัติการณ์หลังรัฐบาลของนางทรัสส์ ประกาศนโยบายลดภาษีครั้งใหญ่ (26 ก.ย. 65 ) 

ต่อมา เงินบาทของเราอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบ 16 ปี (28 ก.ย. 65) ถัดมาเงินเยนอ่อนค่าทำสถิติอ่อนค่าสูงสุดใหม่ในรอบ 20 ปี ลงไปที่ระดับ 144 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นทุ่ม 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตัดสินใจเข้าแทรกแซงค่าเงิน (เยน) เป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี นอกจากนี้ ยูโรของสหภาพยุโรปตกอยู่ในสภาพอ่อนค่าเช่นกัน โดย 1 ยูโรลงมาเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ฯในรอบ 20 ปี

การอ่อนค่าของเงินสกุลต่าง ๆ เป็นผลมากจากการสปีดขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด (ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ นับจากเดือนมีนาคมถึงปัจจุบันเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 5 ครั้ง ครั้งล่าสุดขึ้น 0.75% ขึ้นมาที่ระดับ 3.00-3.75% (21 ก.ย. 65) และเฟดยังส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะยังขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก

นักวิเคระห์บอกว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯ มีความต้องการในตลาดมากขึ้นในฐานะแหล่งลงทุนที่ผลตอบแทนดีกว่า เป็น หลุมหลบภัยในช่วงเวลาที่มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจถดถอยกำลังจะมา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งให้สกุลเงินทัวโลกอ่อนลงถ้วนหน้ารวมถึง “ บาท” ของเรา แต่ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นราว 11%  เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ทั่วโลก 

สิ่งที่เกิดกับ “ค่าเงินบาท” เวลานี้ นับว่าเหนือความคาดหมายของสำนักวิเคราะห์ต่าง ๆ มาก เมื่อเดือนมกราคม ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) ประเมินแนวโน้มค่าเงินบาทเอาไว้ว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในกรอบ 33.5-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ      และคาดว่าค่าเงินบาทจะทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ตอนสิ้นปี การคาดการณ์ดังกล่าวประเมินบนสถานการณ์ที่ โควิดระบาดรุนแรงในต่างประเทศ โอมิครอนเริ่มโจมตีประเทศไทย และก่อนที่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครน 

การอ่อนค่าของบาทเริ่มถูกจับตามาตั้งแต่เดือนเมษายน และถูกจับตามากขึ้นเมื่อ “บาท” อ่อนค่าต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสกุลเงินอื่น ๆ ของหลายประเทศ ขณะที่ธนาคารกลางของหลายแห่งเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งตามราคาน้ำมันที่แพงขึ้นตามความร้อนแรงของสงครามยูเครน  

ช่วงนั้นนักวิเคราะห์ประจำแบงก์พาณิชย์หลายคนชี้ว่าส่วนต่างที่มากไป ระหว่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บาทอ่อนค่าจากการไหลออกของเงินทุน แต่ระยะนั้นแบงก์ชาติยังยืนนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ก่อนกนง.มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.75% ในการประชุมเดือนสิงหาคม และอีกครั้งในการประชุมเดือนกันยายน อีก 0.25% เป็น 1.00% ซึ่งวันเดียวกันนั้น ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปแตะที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯตามที่กล่าวข้างต้น 

นับจากต้นปีถึงปัจจุบัน ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบสกุลเงินอื่น ๆ แล้ว แข็งค่าขึ้นราว 12% ส่วนบาทอ่อนค่าลงเกือบ 8% ซึ่งแบงก์ชาติยืนยันเสมอมาว่าเป็นการอ่อนค่าในระดับกลางเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศต่าง ๆ ผลของการอ่อนค่าของบาท นอกจากราคาสินค้านำเข้าที่แพงขึ้นแล้ว ในส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศที่แบงก์ชาติดูแลอยู่มูลค่าลดลงตามค่าเงินที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน   

รายงานแบงก์ชาติระบุตัวเลขสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 199,444 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปี เฉพาะเดือนกันยายนเดือนเดียว ตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง 14,017 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทุนสำรองที่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากค่าบาทที่ลดลง และอีกส่วนแบงก์ชาติเข้าไปดูแลค่าเงินอย่างใกล้ชิด

สำหรับทิศทางของเงินบาทจากนี้ไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งภายนอกและภายใน อาทิ  ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ กับไทย ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อความเป็นไปของค่าเงินบาท ทั้งนี้ เฟดประกาศจะขึ้นดอกเบี้ยยาวไปถึงปีหน้า เพื่อขึ้นสู่ระดับ 4.50-4.75% ในปี 2566 ประเด็นนี้ผู้ว่าแบงก์ชาติ ดร.เศรษฐพุฒิแสุทธิวาทนฤพุฒิ แย้งว่า ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจะไม่กระทบจนเงินไหลออกมาก   

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี หากตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าไทยแตะหลักใกล้ ๆ 2 ล้านคนต่อเดือน รายได้จากการท่องเที่ยวจะช่วยลดตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ที่ขาดทุนต่อเนื่องมาหลายเดือนหรืออาจจะกลับมาเป็นบวก ซึ่งมีผลเชิงบวกต่อค่าเงินบาท และปัจจัยต่อมาคือเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย จะฉุดการค้าส่งออกและกระทบกับการส่งออกไทย ซึ่งจะส่งแรงกดดันไปถึงค่าเงินบาทในที่สุด ฯลฯ แน่นอนว่าการคาดการณ์ คือ การคาดการณ์ สิ่งที่เห็นตอนนี้อาจจะไม่เป็นไปในอนาคต

ทั้งนี้ วันอังคารสัปดาห์ที่แล้ว (4 ต.ค. 2565) บาทอ่อนค่าลงมาปิดที่ 38.16 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ดูท่าว่า ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ กำลังจะเป็น “ปกติใหม่” ของ ค่าเงินบาทไปแล้ว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ