TH | EN
TH | EN
หน้าแรกCIO Series3 ทศวรรษเส้นทาง CIO: "ความรู้" คู่ "จินตนาการ" นำสู่โลกดิจิทัล

3 ทศวรรษเส้นทาง CIO: “ความรู้” คู่ “จินตนาการ” นำสู่โลกดิจิทัล [EP5]

บทความชุด “กว่า 3 ทศวรรษบนเส้นทาง CIO” จำนวน 5 ตอน เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมองของ ‘สมคิด จิรานันตรัตน์’ ผู้นำความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาสู่องค์กรธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชนในฐานะ Chief Information Officer (CIO) มืออาชีพ จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการการเงิน และตลาดทุน รวมถึงบริการภาครัฐภายใต้แอปชื่อดังว่า “เป๋าตัง”

ทุกยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซีไอโอ หรือ Chief Technology Officer ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในการรับผิดชอบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กร ตลอดจนเรื่องของการให้บริการแก่ลูกค้า ต้องไม่พลาดความเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ รวมถึงยุคเมตาเวิร์ส (Metaverse) ก็เช่นกัน

สมคิด จิรานันตรัตน์ อธิบายเมตาเวิร์สว่า เป็นจินตนาการ ไม่มีกายภาพแม้แต่นิดเดียว ไม่ว่า AR/VR/AI ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้คนทำกิจกรรมในโลกดิจิทัลร่วมกัน แล้วยังไปใช้ชีวิตร่วมกันในโลกดิจิทัลได้อีกด้วย

แต่… จินตนาการนี้จะได้รับความนิยมมากน้อยแค่ไหน ประสบการณ์นั้นคนเข้าไปแล้วมีความคุ้นเคยไหม ได้รับคุณค่าแค่ไหน ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ ๆ ที่เล่นเกมเป็นกิจวัตรก็จะมองว่า คล้าย ๆ เกมที่เขาเล่น การไปใช้ชีวิตในนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมชาติมาก

อาจสวนทางกับคนรุ่นเก่า เช่น คนที่เกิดยุคเบบี้บูมเมอร์ การจะไปใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลอาจไม่ตรงกับธรรมชาติความเคยชิน เพราะฉะนั้น จินตนาการแบบนี้เหมาะกับคนแบบไหน รุ่นไหน จะสามารถไปใช้ประสบการณ์ตรงนั้นได้จริงหรือไม่ ก็ขึ้นกับความยอมรับของคนแต่ละกลุ่ม

“ผมเชื่อว่าโลกใหม่แบบเมต้าเวิร์สจะได้รับการยอมรับจากคนรุ่นใหม่มากขึ้น ๆ มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงมาก”

จากความรู้สู่จินตนาการ

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมีจินตนาการ จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีเสียก่อนว่า เทคโนโลยีในโลกยุคหน้าเอื้อให้เกิดอะไรขึ้น มีองค์ประกอบหรือผลกระทบที่จะทำให้เกิดโลกลักษณะแบบไหน

สมคิดมีความเห็นว่าความรู้ในเทคโนโลยีและความเข้าใจถึงผลกระทบของมันสำคัญมาก แต่จินตนาการก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยีนั้นสามารถสร้างบริการที่เป็นที่ยอมรับได้

ก่อนจะสร้างบริการที่ลูกค้ายอมรับ ต้องขึ้นอยู่กับคน ความสนใจ และลักษณะของแต่ละคนว่าชอบศึกษา ติดตามเรื่องใหม่ๆ และชอบจินตนาการแค่ไหน แต่ละบุคคลจะเป็นแต่ละบุคลิก แตกต่างกัน บางคนชอบความชัดเจน บางชอบความคลุมเครือ

“จริง ๆ แล้ว จินตนาการเกิดจากความคลุมเครือ แต่เป็นความคลุมเครือที่มีหลักบางอย่างรองรับ ความคลุมเครือจะเกิดเป็นความชัดเจนเมื่อความคลุมเครือนั้นเกิดเป็นบริการที่มีการยอมรับมากขึ้น ๆ ถึงจะชัดเจนมากขึ้น ๆ”

จินตนาการยิ่งใหญ่ตามโจทย์

สมคิดอธิบายอีกว่า จินตนาการไม่ใช่วิสัยทัศน์เสียทีเดียว ด้วยวิสัยทัศน์บอกว่าเราต้องการเห็นธุรกิจเป็นแบบไหน ทำอะไรได้บ้าง สิ่งที่ธุรกิจจะเป็นในสายตาของลูกค้าคืออะไร แต่จินตนาการต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่า สิ่งที่ทำมีผลกระทบต่อมนุษยชาติอย่างไร หรือจะทำให้มนุษยชาติเปลี่ยนไปอย่างไร

“นั่นคือการมองปัญหาเป็นปัญหาเชิงซ้อน จะทำให้ตั้งโจทย์ เมื่อโจทย์ใหญ่เพียงพอจะทำให้สร้างจินตนาการใหญ่พอด้วย”

จินตนาการเกิดกับทุกคน

“บางสิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ ๆ เรื่องใหญ่ ๆ ไม่ได้เกิดจากผู้นำ แต่เกิดจากคนที่รู้ผลกระทบ คนที่รู้ผลกระทบของเทคโนโลยีแล้วไปจินตนาการให้เกิดผลในมุมที่ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป หรือในมุมที่จะไปแก้ปัญหา”

เขากล่าวว่าโดยหลักแล้ว ผู้นำในองค์กรต้องมีวิสัยทัศน์ แต่ในส่วนของจินตนาการนั้นแตกต่างไป ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำก็มีจินตนาการได้

ส่วนขององค์กรอาจจะอยู่กับปัจจุบัน หรืออยู่กับสิ่งที่คนอื่นคิดออกมาให้ก็ได้เช่นกัน แต่ถ้าองค์กรต้องการติดตามสิ่งใหม่ ๆ ที่อาจเกิดจากความคิด หรือประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ ๆ หรือคนที่เป็น digital native ซึ่งเคยชินกับโลกยุคใหม่ ๆ ที่อาจคิดอะไรไม่เหมือนกับสิ่งที่คนรุ่นเก่าเคยทำ แต่จะกระตุ้นให้เกิดจินตนาการต่อเนื่องได้

ในหลายองค์กรจึงต้องส่งเสริมความคิดใหม่ ๆ และส่งเสริมให้มีความคิดใหม่ ๆ จากคนรุ่นใหม่ และส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ทดลองอะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ ได้ โดยที่ไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดหรือถูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สมคิดเห็นว่า ‘สำคัญ’

วิสัยทัศน์เกิดจากผู้นำ

ขณะที่วิสัยทัศน์ของผู้นำจะเป็นตัวกำหนดทิศทางขององค์กร เช่นหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคแถบนี้ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ Alphago เป็น AI deep learning แข่งขันเอาชนะแชมป์โลกโกะของเกาหลีได้ เหตุการณ์นี้ทำให้จีนตื่นกลัว AI มาก และตั้งเป้าว่าประเทศจีนต้องเป็นที่หนึ่งด้าน AI ให้ได้

จากวิสัยทัศน์ของผู้นำจีนที่ต้องการไปทิศทางนี้ ทำให้จีนพยายามชักจูงคนที่เก่งด้านเอไอเข้าไปอยู่ในประเทศ และมอบแรงจูงใจให้คนเหล่านั้นทำงานด้านเอไอในจีน

หรือกรณีอินโดนีเซีย มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ก้าวล้ำไประดับโลก สนใจในประเด็นของโลกมากขึ้น มีผู้ประกอบการในประเทศได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างดี มีสตาร์ทอัพดีๆ และเป็นระดับยูนิคอร์นหลายตัว ได้รับการส่งเสริมให้ไปร่วมมือกับบริษัทระดับโลก เช่น การร่วมทุนระหว่างกูเกิลกับ gojek (แพลตฟอร์มเรียกรถส่งของ-อาหาร) โดยกูเกิลนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมเทคโนโลยีของโกเจ็ก

ส่วนเวียดนามนั้น ทั้งรัฐบาลและเอกชนต่างตื่นตัวและมีความกระตือรือร้นเรื่องเทคโนโลยีสูงมาก จากอดีตเทคโนโลยีเคยล้าหลังไทยประมาณ 20 ปี จากข้อจำกัดด้านการปกครองและการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้ขาดโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีจากประเทศตะวันตก แต่เวียดนามดิ้นรนเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ จนปัจจุบันจึงเห็นเทคคัมปานีในเวียดนามพัฒนาไปใหญ่โตกว่าประเทศไทยมาก

หวังคนรุ่นใหม่พัฒนาประเทศ

กลับมามองประเทศไทย ภาครัฐอาจยังล้าหลัง มุมมองและวิธีการยังคงรูปแบบเดิมค่อนข้างมาก แต่สมคิดเชื่อว่า หากคนรุ่นใหม่มีโอกาสเข้าไปทำงาน หรือภาครัฐเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมทำงาน หรือเป็นรูปแบบรัฐเอื้อเอกชน เอกชนเอื้อรัฐ และมีผู้นำที่เข้าใจผลกระทบของเทคโนโลยี ประเทศไทยก็จะสู้ได้เพราะมีคนเก่งมาก เพียงแต่ขาดโอกาส และระบบราชการหลายแห่งกลายเป็นอุปสรรคแทนส่งเสริม จากขั้นตอน วิธีคิด กฎระเบียบต่างๆ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไปสู่อนาคต

“ถือเป็นสิ่งท้าทายสำหรับประเทศไทย แต่หวังว่าผู้นำใหม่ คนรุ่นใหม่ ที่มีโอกาสเข้าไปในการเมือง แวดวงราชการ จะสามารถปรับวิธีคิด ปรับโครงสร้าง ปรับระเบียบแบบแผน พาให้ประเทศไทยเกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และเอื้อประโยชน์สร้างเป็นระบบนิเวศให้เจริญเติบโตไปด้วยกันได้”

แอปเป๋าตังเบิกทางรัฐร่วมงานเอกชน

ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนนั้น สามารถยกตัวอย่างแอปเป๋าตังที่เอกชนกึ่งรัฐร่วมมือกัน จากกระทรวงการคลังที่เป็นหน่วยงานที่มีความคิด มีบุคลากรที่ค่อนข้างก้าวหน้าและมีความเข้าใจในเทคโนโลยีพอสมควรระดับหนึ่ง

“การจะก้าวหน้าแข่งขันได้ต้องมองในภาพรวม หลายๆ กระทรวงต้องทำได้เหมือนกระทรวงการคลัง มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีเช่นเดียวกันจะนำพาประเทศไปได้”

ที่ผ่านมา เราอาจได้เห็นความพยายามจะทำให้เกิดรัฐบาลดิจิทัล เกิดบริการของรัฐที่มีความทันสมัย แต่ความพยายามนั้นยังไม่พอ เพราะมีข้อติดขัดมาก ถ้ากระจายโครงสร้างแต่ละหน่วยงานไปหาวิธีให้บริการเอง ก็ยากที่จะปรับเปลี่ยน

ซึ่งสมคิดเห็นว่าการจะทำให้บริการของรัฐไปสู่ประชาชนต้องมีประชาชนเป็นที่ตั้ง เป็นศูนย์กลาง ซึ่งควรร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชนแล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์

“สิ่งต่างๆ หลายอย่างไม่ได้เกิดขึ้นทันที หรือไม่ได้เกิดจากความตั้งใจและการสั่งงาน แต่เกิดจากความเข้าใจและการวางแผน รวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและระเบียบแบบแผน”

การจะหวังพึ่งพิงซีไอโอภาคเอกชนฝ่ายเดียวคงเป็นไปไม่ได้ เพราะพวกเขาต้องโฟกัสหน่วยงานในองค์กรธุรกิจของตัวเอง มีน้อยหน่วยงานที่จะมาทำอะไรให้เกิดผลต่อส่วนรวม

แม้สตาร์ทอัพบางส่วนมีความตั้งใจดีที่จะทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่กำลังและทรัพยากรอาจไม่เพียงพอที่จะกระชาก หรือกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น ต้องมองหาแนวทางว่าเอกชนจะร่วมมือกับภาครัฐอย่างไร ภาครัฐจะสามารถนำสิ่งที่เอกชนทำอยู่แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศได้โดยไม่ต้องไปสร้างระบบใหม่ (reinvent the wheel)

“ซีไอโอภาครัฐเป็นซีไอโอที่เข้าใจเทคโนโลยี เข้าใจผลกระทบและต้องการเปลี่ยนประเทศ หรือเป็นคอนเน็กชั่น แต่ผมยังไม่เห็นถึงขั้นว่ามีความสามารถพิเศษอะไรที่จะดันให้ภาครัฐก้าวไปหลายๆ ขั้นได้”

การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากผู้นำ

สมคิดยังมองคำว่า Chief information officer ไม่จำเป็นต้องมาจาก Chief information officer อย่างเดียว อาจมาจากซีอีโอ หรือผู้นำประเทศก็ได้

“จริง ๆ ผมก็คาดหวังจากผู้นำประเทศค่อนข้างมาก เพราะได้ฟังผู้นำประเทศหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่อยู่ใกล้บ้านเราที่สุดคือสิงคโปร์ ฟังนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง แม้กระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยว หรือกระทรวงอื่นๆ หรือกระทั่งคนที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว พอเขาออกมาพูดก็รู้ว่าเขารู้จริง ทำจริง และสามารถต่อสู้ผลักดันสิ่งที่เขาต้องการทำให้เกิดผลลัพธ์ได้”

“ส่วนประเทศไทยยังไม่ค่อยเห็นอะไรที่เป็น message จากภาครัฐ จากผู้นำหรือรัฐมนตรี หรือผู้นำในภาครัฐต่าง ๆ ที่ออกมาพูดแล้ว บอกได้ว่านี่คือสิ่งที่ประเทศจะเปลี่ยน”

แม้จะมีบุคลากรภาครัฐออกมาพูดได้ตรงประเด็นถึงความรู้ ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี แต่ยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือจะนำไปปฏิบัติได้อย่างไร ซึ่งผู้นำระดับสูงของประเทศต้องคิด เข้าใจ และเปลี่ยนทั้งโครงสร้าง วิธีคิด ระเบียบแบบแผนต่าง ๆ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
มรกต รอดพึ่งครุฑ – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ