TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness‘รถรับส่งพัสดุด่วนไร้คนขับ’ ตัวช่วยเทศกาล ‘ช้อปปิ้ง’ รุกขยายโอกาสในไทย

‘รถรับส่งพัสดุด่วนไร้คนขับ’ ตัวช่วยเทศกาล ‘ช้อปปิ้ง’ รุกขยายโอกาสในไทย

หลังเทศกาลชอปปิง 11.11 (Double Eleven) ซึ่งเป็นมหกรรมลดราคาสินค้าออนไลน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกสิ้นสุดลง ช่วงเวลาที่คึกคักที่สุดสำหรับการขนส่งพัสดุด่วนก็หวนกลับมาอีกครั้ง ในครั้งนี้ ผู้บริโภคชาวจีนเริ่มพบเห็นยานพาหนะขนส่งพัสดุไร้คนขับที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามามีบทบาทในชีวิต สร้างความตื่นตาตื่นใจไม่น้อย

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา เมืองหยางเฉวียน มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน ซึ่งเปิดให้มีการขับขี่อัตโนมัติทั่วทุกพื้นที่ มีการใช้รถขนส่งพัสดุด่วนไร้คนขับ 12 คันขนส่งพัสดุให้ผู้บริโภค โดยปริมาณการขนส่งสูงถึงเกือบ 10,000 รายการต่อวัน

เฝิง ไห่ปิน เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จีนกล่าวว่ารถขนส่งเหล่านี้ช่วยลดเวลาการทำงานของเขาลงได้ 1 ชั่วโมง แถมช่วยให้ขนส่งพัสดุด่วนได้มากกว่าร้อยละ 30

ยานพาหนะเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติระดับ 4 (L4) มีขนาดตัวรถใกล้เคียงกับสมาร์ท (Smart) แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในเครือเมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) ทำงานด้วยความเร็ว 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รับน้ำหนักได้ 600 กิโลกรัม และสามารถขนส่งพัสดุได้สูงสุดเกือบ 800 ชิ้นต่อวัน

นอกจากนี้ยังติดตั้งเทคโนโลยีไลดาร์ (lidar) 2 ตัว พร้อมกล้อง 11 ตัว ทำให้ตรวจจับไฟจราจร ยานพาหนะ คนเดินเท้า ฯลฯ ภายในระยะ 120 เมตรได้ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งชิปสมรรถนะประมวลผล 254 TOPS หรือประมวลผลเทระต่อวินาที (tera operations per second) จึงสามารถปรับแผนการเดินทางให้เข้ากับสถานการณ์บนท้องถนน แต่หากเผชิญเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ประจำการอยู่ก็ยังสามารถควบคุมยานพาหนะฯ จากระยะไกลได้แบบเรียลไทม์ผ่านสัญญาณ 5G

รายงานระบุว่าตลาดขนส่งพัสดุของจีนมีขนาดใหญ่มาก โดยในปี 2022 ปริมาณการขนส่งด่วนของจีนพุ่งทะลุ 1.1 แสนล้านชิ้น ครองอันดับหนึ่งของโลก 9 ปีติดต่อกัน และการใช้งานยานพาหนะไร้คนขับได้ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังช่วยขยายโอกาสทางการตลาด

ไชน่า อินเตอร์เนชันนัล แคปิตัล คอร์ปอเรชัน (CICC) คาดการณ์ว่าตลาดการขนส่งด้วยเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติของจีนจะสูงถึง 1.7 แสนล้านหยวน (ราว 8.51 แสนล้านบาท) นอกจากนี้ ในเมืองต่างๆ อาทิ ปักกิ่ง เซินเจิ้น และเหอเฝยต่างกำลังพัฒนาเทคโนโลยียานพาหนะไร้คนขับอย่างแข็งขันเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ยานพาหนะไร้คนขับของจีนได้ออกเดินทางสู่ทั่วโลกแล้ว หนึ่งในนั้นคือที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการใช้งานยานพาหนะไร้คนขับเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คณาจารย์และคณะนักศึกษา สามารถส่งของกินเล่นมาถึงที่แบบไม่ต้องเดินไปไหนไกล

คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ กล่าวว่ายานพาหนะคันนี้ไม่เพียงแค่ช่วยให้นักศึกษาและบุคลากรของสถาบันฯ มีช่องทางจับจ่ายซื้อสินค้าได้สะดวกสบายขึ้นเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีในการพัฒนาชีวิตนักเรียนและบุคลากรในรั้วมหาวิทยาลัย อีกทั้งระบบนำทางอัจฉริยะและระบบรักษาความปลอดภัยของรถ ช่วยให้ความมั่นใจในการใช้งาน

จ้าว ซินสุย รองประธานของนีโอลิกซ์ (Neolix) ผู้ผลิตยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ กล่าวว่าปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ถูกส่งออกไปยัง 12 ประเทศในเอเชีย ยุโรป และถูกใช้งานครอบคลุมทั้งในโรงเรียน ชุมชน โรงพยาบาล และสถานประกอบการ โดยบริษัทฯ คาดการณ์ว่าภายในปี 2025 จะมียานพาหนะไร้คนขับเช่นนี้เข้าสู่ไทยมากกว่า 50 คัน และเข้าสู่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 100 คัน

ผลสัมฤทธิ์จากการพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ครบวงจรอย่างการสื่อสาร 5G การผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ช่วยให้ต้นทุนการผลิตยานพาหนะขนส่งไร้คนขับของจีนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานระบุว่านับตั้งแต่ยานพาหนะไร้คนขับรุ่นแรกออกจากสายผลิตเมื่อปี 2018 ความเร็วออกแบบสูงสุดของรถเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นจาก 5 กิโลเมตรเป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวนเรดาร์ลดลงจาก 5 ตัวเป็น 2 ตัว และต้นทุนรวมของยานพาหนะลดลงมากกว่าร้อยละ 50

จ้าวทิ้งท้ายว่าโมเดลการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรจะกลายเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพแก่ผู้ประกอบการ พร้อมย้ำว่าบริษัทฯ จะเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์อย่างรอบด้านต่อไป

อ้างอิง: Xinhuathai

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ