TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewCEO Story“กร เธียรนุกุล” ลูกไม้ที่หล่น (ไม่) ไกลต้นของทายาทรุ่น 3 แห่งนิวไวเต็ก

“กร เธียรนุกุล” ลูกไม้ที่หล่น (ไม่) ไกลต้นของทายาทรุ่น 3 แห่งนิวไวเต็ก

“นิวไวเต็ก” ชื่อนี้ถือเป็นตำนานหนึ่งของอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่ยืนยงมายาวนานกว่า 6 ทศวรรษ ผ่านการส่งต่อกิจการจากรุ่นบุกเบิกสู่รุ่น 2 ที่สร้างความรุ่งเรืองจนเป็นที่รู้จักและยอมรับของวงการ ขนาดมีบทบาทเป็นนายกสมาคมสิ่งพิมพ์ไทยหลายสมัย วันนี้ทายาทรุ่นที่ 3 กำลังกลายเป็นลูกไม้ที่พยายามหล่นไกลต้น ไม่ใช่เพราะอยากจะหนีห่างจากร่มเงาของไม้ใหญ่ หากเพราะจำเป็นต้องปรับตัวรับกับกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าในนิเวศแบบใหม่ที่เป็นผลกระทบมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล

ข่าวร้ายของทายาทรุ่นที่ 3 

กร เธียรนุกุล นักธุรกิจหนุ่มวัย 31 ปี ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัท นิวไวเต็ก จำกัด เจ้าของกิจการการพิมพ์เก่าแก่ของไทยที่ก่อตั้งมานาน 65 ปี บอกกับ The Story Thailand ว่าในปี พ.ศ.2556 เขาเพิ่งเรียนจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องเข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัวทันทีเนื่องจากคุณน้าของเขาซึ่งดูแลทีมขายเสียชีวิตลง

“ตอนเริ่มเข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัวได้รับมอบหมายให้ทำงานดูแลฝ่ายขาย ผมก็ไปแนะนำตัวกับลูกค้ารายใหญ่เป็นชาวอินเดียท่านหนึ่ง ลูกค้าบอกข่าวร้ายว่างบการตลาดที่จะใช้กับงานพิมพ์ถูกลดลง 80 เปอร์เซ็นต์จากเดิม เนื่องจากเอางบประมาณไปใช้กับสื่อออนไลน์เป็นสำคัญ”

เขาบอกว่าหลังจากตระเวนไปแนะนำตัวกับลูกค้ารายใหญ่อื่น ๆ ก็พบว่าข่าวร้ายนั้นน่ากลัวกว่าที่เขาคาดคิดมาก เพราะบริษัทลูกค้าทุกแห่งมีการปรับลดการใช้งบการตลาดไปในทิศทางเดียวกันหมด โดยลดงบการใช้โฆษณาของสื่อสิ่งพิมพ์ที่เคยเป็นงานพิมพ์ของโรงพิมพ์ทั้งหมดลงไปอย่างมาก หันไปใช้สื่อออนไลน์แทนเพราะมีประสิทธิภาพมากกว่าสื่อแบบเดิม

“ช่วงเวลานั้นคนนิยมใช้เฟซบุ๊กและยูทูบกันมากแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่เห็นว่าช่องทางการทำการตลาดออนไลน์มีประสิทธิภาพมากกว่า ตรวจสอบได้เลย ก็เทเงินไปการตลาดออนไลน์กัน วันนั้นผมรู้เลยว่า สิ่งที่เราทำอยู่ไม่ทันสมัยแล้ว มันไม่ใช่แล้วล่ะ”

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปทำให้เขามองเห็นว่าการดำเนินธุรกิจโดยอาศัยตลาดเดิมเป็นหม้อข้าวใบใหญ่มีความเสี่ยงมากขึ้นทุกที จึงคิดหาทางเลือกใหม่เพื่อพาธุรกิจของครอบครัวให้ก้าวเดินต่อไปได้

ตำนานของวงการการพิมพ์ไทย

โรงพิมพ์นิวไวเต็กก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2500 โดยมี ไว เธียรนุกุล คุณปู่ของเขาเป็นผู้บุกเบิกกิจการ เริ่มจากกิจการโรงพิมพ์ที่เติบโตจากงานประเภท security printing หรือสิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลงที่เป็นเอกสารสำคัญทางธุรกิจ โดยมีลูกค้าเป็นสถาบันการเงินชื่อดังหลายแห่งเนื่องจากเวลานั้นมีโรงพิมพ์เพียงไม่กี่แห่งที่สามารถรับงานพิมพ์ประเภทนี้ได้ ต่อมาขยายตลาดสู่งานประเภท commercial printing รับพิมพ์งานให้กับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้กิจการครอบครัวเติบโตกว่าเดิม

“ยุคบุกเบิกของคุณปูเน้นงานพิมพ์ security printing เวลานั้นมีส่วนแบ่งในตลาดมากถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาขยายตลาดมาเป็น commercial printing ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีส่วนแบ่งตลาดราว 20-30 เปอร์เซ็นต์ แต่ขนาดตลาดใหญ่มาก ตอนนั้นยังมีการแข่งขันไม่มากนัก จึงเป็นช่วงที่กิจการของเรารุ่งเรืองมาก”

กรเล่าว่าช่วงรุ่นที่สองคือคุณพ่อของเขา “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ในฐานะลูกชายคนโตที่เข้ามาเป็นกำลังสำคัญตั้งแต่วัยหนุ่มอายุประมาณ 20 ปี เริ่มขยายตลาดรับพิมพ์สิ่งพิมพ์ธุรกิจการตลาดและโฆษณา เช่น โบรชัวร์ นามบัตร แผ่นปลิว คู่มือใช้งานสินค้าและอีกสารพัด ให้กับบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมาก ทำให้มีการลงทุนเครื่องพิมพ์ใหม่ ๆ เข้ามาเพื่อรองรับงานพิมพ์ที่ต้องการคุณภาพสูง จนโรงพิมพ์นิวไวเต็กกลายเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการการพิมพ์แถวหน้าของเมืองไทย

“ในยุคที่สื่อโฆษณาสิ่งพิมพ์เฟื่องฟู การลงทุนเครื่องพิมพ์ออฟเซ็ทคุณภาพสูงเพื่อผลิตงานพิมพ์คุณภาพดีในราคาเครื่องละ 30-40 ล้านบาท ไม่ใช่ภาระใหญ่เพราะใช้เวลาเพียง 2-3 ปีก็สามารถคืนทุนได้ไม่ยาก”

กิจการโรงพิมพ์ของนิวไวเต็กในช่วงนี้รุ่งเรืองขนาดที่มีเครื่องพิมพ์ออฟเซ็ทคุณภาพสูงมากถึง 4 เครื่อง และเป็นที่รู้จักยอมรับกันในวงการการพิมพ์จนทำให้คุณพ่อของเขาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการพิมพ์ไทยหลายสมัย และมีบทบาทในการผลักดันให้เกิด Print City ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ธุรกิจการพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ทั้งยังมีบทบาทในองค์กรภาคธุรกิจหลายแห่ง โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จนปัจจุบันได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ คนที่ 16 วาระปี 2565-2567 

หาหนทางใหม่เพื่อไปต่อ

อุตสาหกรรมการพิมพ์เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ถูกท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเกิดการพิมพ์แบบดิจิทัลออฟเซ็ทขึ้นเมื่อราวยี่สิบปีก่อน และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการดั้งเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเครื่องพิมพ์แบบดิจิทัลมีราคาถูกลงจนหน้าตกใจ

“เครื่องพิมพ์ดิจิทัลรุ่นใหม่ราคาถูกเพียงเครื่องละล้านกว่าบาทเท่านั้น ทำให้เกิดผู้ประกอบใหม่มากมาย การแข่งขันด้านราคาก็ดุเดือดตามมา” กรเล่าว่าแม้นิวไวเต็กจะมีความแข็งแกร่งจากการประกอบธุรกิจมานาน แต่ก็ได้รับผลกระทบ ทำให้ช่วงนั้นคุณพ่อของเขาจึงไปลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็นเทรนด์ใหม่ ๆ รวมถึงการร่วมลงทุนในกิจการกับบริษัทอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง

จนเมื่อธุรกิจดำเนินมาถึงรุ่นของเขา ความเปลี่ยนแปลงนั้นสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงจนไม่อาจนิ่งเฉยทำอะไรแบบเดิม ๆ ต่อไปได้ เขาจึงหารือกับคุณพ่อในฐานะ CEO บริษัท นิวไวเต็ก จำกัด และเป็นผู้นำธุรกิจของครอบครัวว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง

เวลานั้นมี 3 ทางเลือกที่ต้องพิจารณา ทางเลือกแรก มุ่งไปทำงานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ แต่พบข้อจำกัดว่างานประเภทนี้ต้องใช้เครื่องพิมพ์อย่างน้อย 8 สี เพราะต้องใช้สีพิเศษมาก ขณะที่เครื่องพิมพ์ที่มีอยู่เป็นแบบพิมพ์ 4 สี นั่นหมายความว่าถ้าเลือกทางนี้ต้องลงทุนเครื่องพิมพ์ใหม่ พร้อมกับลงทุนเครื่องจักรใหม่สำหรับงานหลังพิมพ์ที่มีขั้นตอนอีกมาก ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก 

ทางเลือกที่สอง เน้นไปที่งานพิมพ์ประเภท security printing เช่นงานพิมพ์ passport หรืองานพิมพ์แสตมป์สะสมค่าอย่างแสตมป์ร้าน 7-11 แต่งานกลุ่มนี้ก็เริ่มเห็นแนวโน้มเปลี่ยนไปในรูปอิเล็กทรอนิกส์ เช่น e-passport หรือกรณีแสตมป์ของร้าน 7-11 ก็เปลี่ยนไปเป็นการสะสมในรูปอิเล็กทรอนิกส์ all member จึงไม่น่าเป็นทางเลือกที่ดี 

ส่วนทางเลือกสุดท้ายคือ การหา new s-curve หรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมโดยตรง ซึ่งส่วนตัวเขาเลือกแนวทางนี้

คลิกไอเดีย e-marketplace บรรจุภัณฑ์

“ตอนนั้นผมมีเพื่อนที่ทำร้านกาแฟติดต่อมาจะจ้างพิมพ์ packaging แต่เราไม่ได้ทำจึงแนะนำให้เขาลองค้นหาจาก google ดู เพื่อนบอกว่าหาแล้วไม่มี ผมลองเสิร์ชหาดูพบว่าโรงพิมพ์ส่วนใหญ่ไม่มีสื่อออนไลน์เป็นช่องทางตลาดของตัวเอง”

แต่การค้นหาสินค้าผ่านทางออนไลน์เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ เขาจึงเกิดความคิดทดลองทำบริการ e-marketplace ในชื่อ Wawa Pack สำหรับงานรับพิมพ์บรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะ โดยอาศัยจุดแข็งที่รู้จักผู้ประกอบการในแวดวงนี้จำนวนมาก

“คุณพ่ออยู่ในสมาคมการพิมพ์ไทยซึ่งมีสัมพันธ์กับสมาคมบรรจุภัณฑ์อยู่แล้ว ผมก็เอาไอเดียนี้ไปปรึกษาท่านให้ช่วยเจรจากับบรรดาเจ้าของโรงพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่รู้จักกัน”

เขานำผลงานบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ จากผู้ผลิตที่รู้จักมาถ่ายภาพด้วยตัวเอง แล้วอัปโหลดขึ้นเว็บไซต์สำเร็จรูป เน้นทำแบบง่าย ๆ เพื่อทดลองไอเดีย เริ่มต้นจากทำงาน 2 คน โดยขอพนักงานจากโรงพิมพ์มาช่วยงาน 1 คน ตั้งเป็นหน่วยงานเล็ก ๆ ในพื้นที่ของโรงพิมพ์

“ระหว่างสองปีนั้นผมยังคงช่วยคุณพ่อรันธุรกิจโรงพิมพ์ต่อไป ควบคู่กับการทดลองหาไอเดียธุรกิจใหม่ พอไอเดียใหม่ชัดเจนมากขึ้น ผมก็คุยกับทางบ้านว่าจะขอเวลามาทุ่มเทให้ Wawa Pack มากขึ้นกว่าเดิม”

นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของกระบวนการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ของธุรกิจเก่าแก่ที่ดำเนินมาสู่เจนเนอเรชั่นที่ 3 ด้วยการลองผิดลองถูกเป็นเวลา 2 ปีเพื่อหาแนวทางที่น่าจะดำเนินเป็นธุรกิจใหม่ได้อย่างแท้จริง

พิสูจน์ไอเดียสร้างความเชื่อมั่น

เขายอมรับว่าช่วงเริ่มแรกค่อนข้างยากลำบาก กว่าจะใช้เวลาคุยกับซัพพลายเออร์ให้เข้าใจและสนับสนุนต้องใช้ความพยายามมากเพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน แม้แต่คนในครอบครัวของเขาเองก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าไอเดียนี้จะเป็นไปได้

จนเขาเกิดความคิดว่าในเมื่อตัวเองไม่สามารถทำให้เกิดความเชื่อมั่นและยอมรับได้ ก็ต้องหาคนที่สามมาช่วยทำให้เกิดการยอมรับ จึงตัดสินใจไปเสนองานฟิทชิ่งของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในงาน Pitching Day โดยไม่บอกให้ใครรู้

“งานครั้งนั้นจัดขึ้น 3 วัน ผมหายไป 3 วันโดยอ้างว่าไปหาลูกค้า แอบทำสไลด์พรีเซนเทชันเพื่อไปเสนอไอเดียเว็บไซต์ www.wawapack.com ที่เป็นธุรกิจ B2B สำหรับอุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์”

ผลปรากฏว่าไอเดียของเขาได้รางวัลที่ 2 เมื่อเอารางวัลมาโชว์ให้คุณพ่อเห็นว่าคนอื่นยังยอมรับไอเดียนี้ ถ้าทำเป็นธุรกิจจริงก็น่าจะเป็นไปได้ จึงได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนเพิ่มพร้อมกับมีทีมงานเพิ่มให้อีก 1 คน รวมเป็น 3 คน เพื่อลุยธุรกิจใหม่ต่อไป ส่วนฝั่งซัพพลายเออร์ก็เช่นเดียวกัน เขาก็ใช้รางวัลที่ได้จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นใบเบิกทางสร้างความเชื่อมั่นกับบรรดาผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์

ทำให้เขารู้สึกว่าวิธีนี้ได้ผลดี ช่วยให้ความคิดใหม่ได้รับการยอมรับง่ายขึ้น จึงจัดแบ่งเวลาไปลุยงานอีเวนต์ของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และที่อื่น ๆ อีกมากมาย

กว่าจะรู้ตัวว่าเดินผิดทาง

แนวคิดหลักของธุรกิจใหม่เริ่มต้นจากการตอบโจทย์ pain point ของตลาด คือค้นหาแหล่งซื้อ-ขายบรรจุภัณฑ์ไม่พบ จึงตั้งเป้าหมายว่าจะต้องรวบรวมสินค้าบรรจุภัณฑ์เข้ามาไว้ในแพลตฟอร์ม Wawapack ให้ได้มากที่สุด

“พอไอเดียนี้เริ่มเป็นที่ยอมรับ ผมไปหาซัพพลายเออร์ได้ผลตอบรับดีมาก ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนสามารถรวบรวมสินค้าเข้าระบบได้ถึงกว่า 3,000 sku จากซัพพลายเออร์ราวหนึ่งร้อยราย”

แม้ในเรื่องการรวบรวมสินค้าจะประสบความสำเร็จอย่างดี หลังจากใช้เวลานาน 6 เดือนในการเตรียมความพร้อมทั้งระบบและจำนวนสินค้า แต่ในแง่การขายกลับไม่ง่าย เขาต้องใช้เวลาอีก 3 เดือนในการทำตลาดจนได้ออร์เดอร์แรกเข้ามา

“ผมจำได้เลยออร์เดอร์แรกเป็นกระป๋องเหล็กราคาใบละ 54 บาท ความที่ลูกค้ายังไม่ไว้ใจเราก็ลองสั่งซื้อเพียง 1 กระป๋องก่อน” 

เขานึกย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2563 เมื่อแรกเริ่มธุรกิจใหม่ที่หวังสร้างให้เป็น new s-curve ของนิวไวเต็ก “ตอนนั้นผมดีใจมาก แม้จะได้เงินแค่ 54 บาท แต่มันมีความหมายว่ามีคนยอมรับความคิดของเรา”

ช่วงแรกระบบการซื้อขายออนไลน์ของ Wawapack ยังไม่ใช่อีคอมเมิร์ชที่มีระบบพร้อม เพียงเน้นการแสดงข้อมูลสินค้าให้ลูกค้าค้นหาเท่านั้น ส่วนการสั่งซื้อจะผ่าน LINE Official 

“ตอนแรกยังไม่กล้าลงระบบอีคอมเมิร์ชเต็มตัวเพราะการลงทุนสูงกว่ามาก เราใช้วิธี redirect มาที่ LINE แล้วให้แอดมินตอบ เรียกว่ายังเป็นแบบซื้อมาขายไป”

เขาบอกว่าวิธีนี้เป็นการลงทุนน้อย สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุด ทำให้มียอดทรานส์แซกชันเข้ามามากพอสมควร แต่กลับพบปัญหาที่ไม่คาดคิด

“ปีแรกเรามีรายได้เพียงไม่กี่แสนบาท แต่จำนวนทรานส์แซกชันมีหลายพันเพราะออร์เดอร์ยังเป็นลักษณะเบี้ยหัวแตก เป็นยอดเล็ก ๆ น้อย ๆ ยังไม่มีการซื้อขายจำนวนมาก”

ผลงานที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเขาวางบทบาทเป็นการขายปลีก เนื่องจากตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่า B2B ที่แท้จริงคืออะไร จึงออกแบบระบบการขายให้เหมือนกับผู้ค้าปลีกอีคอมเมิร์ซรายใหญ่เช่น Lazada กว่าจะรู้ว่าลูกค้าตัวจริงที่เขาควรโฟกัสคือโรงงานและเจ้าของสินค้าที่ต้องการบรรจุภัณฑ์จำนวนมากไปใช้ผลิตสินค้า ก็ใช้เวลาผ่านไปเกือบ 1 ปี

“เรารู้จากการที่ลูกค้าไม่มีการซื้อซ้ำ สั่งซื้อครั้งเดียวแล้วหายไปเลย เรากลายเป็นช่องทางที่โรงงานผลิตสินค้าสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์ทีละน้อยไปทดลองใช้ก่อน ถ้าโอเคก็ไปสั่งซื้อจำนวนมากจากผู้ผลิต แต่พอมีออร์เดอร์ใหญ่เข้ามา เราต้องใช้เวลาสั่งผลิตจากซัพพลายเอร์อีกที ซึ่งเป็นกระบวนที่ต้องใช้เวลาพอควรทำให้ไม่เวิร์ก”

เขาบอกว่าข้อจำกัดอีกอย่างคือการไม่มีความเข้าใจในตัวสินค้าอย่างแท้จริง การขายแบบนี้จำเป็นต้องมีคำตอบเมื่อลูกค้าสอบถามว่าบรรจุภัณฑ์แต่ละชนิดเหมาะกับการใช้งานแบบไหน จึงต้องเสียเวลากับการทำความเข้าใจตัวสินค้าซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้เขารู้ตัวว่าธุรกิจที่ทำอยู่ไม่ใช่แนวทางที่ดี

เปลี่ยนสู่แพลตฟอร์ม B2B เต็มตัว

เขาเริ่มทบทวนไอเดียธุรกิจใหม่โดยใช้เวลาศึกษาหาข้อมูลและเข้าคอร์สหาความรู้ว่า B2B คืออะไร แตกต่างจากการซื้อมาขายไปที่กำลังทำอยู่อย่างไร จนได้คำตอบชัดเจนว่าสิ่งที่ทำในนาม Wawapack ยังไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง

“ช่วงแรกเราทำเป็นเหมือนไดเร็กทอรี เมื่อศึกษารูปแบบการทำธุรกิจของแพลตฟอร์ม B2B ยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา (Alibaba.com) ทำให้รู้ว่าแพลตฟอร์มที่สร้างมายังขาดเสาหลัก 2 เสา คือระบบเพย์เมนต์ และระบบโลจิสติกส์ จึงตัดสินใจหยุดพัฒนาระบบไว้แค่นี้”

หลังจากสรุปแนวทางได้ชัดเจนแล้ว เขาตัดสินใจหา CTO (Chief Technology Officer) มาช่วยสร้างทีมพัฒนาระบบขึ้นเอง และหาพาร์ทเนอร์ด้านไฟแนนซ์กับโลจิสติกส์มาสนับสนุนระบบที่เหลือทั้งสอง โดยใช้เวลาหนึ่งปีพัฒนามาเป็น B2B e-marketplace ที่มีระบบบริการครบวงจร ทั้ง e-Commerce, e-Finance และ Logistic ให้ชื่อว่า MyWaWa (mywawa.me)

“สิ่งที่เปลี่ยนไปคือระบบใหม่จะทำให้ผู้ซื้อสามารถเจรจากับซัพพลายเออร์ได้โดยตรงแบบ end-to-end โดยมีระบบสนับสนุนทั้งการสั่งซื้อ การชำระเงิน และบริการจัดส่งสินค้าแบบครบวงจร ถือเป็นการ pivot เลย”

ด้านโลจิสติกส์เขาตัดสินใจเชื่อมระบบกับ We move และ Vialink เพราะจากประสบการณ์ที่เคยส่งสินค้าให้ลูกค้า พบว่าถ้าเชื่อมระบบกับบริการขนส่งแบบค้าปลีกเวลาส่งสินค้าจำนวนมากต้องจ่ายค่าส่งสินค้าแพงมาก จากวิธีคิดค่าบริการแบบรายกล่อง ต่างจากบริการ We move และ Vialink ที่คิดราคาแบบเหมาเป็นคันรถ มีทั้งอัตราแบบเต็มคันและแบบครึ่งคัน โดยระบบสามารถคำนวณค่าขนส่งรวมอยู่ในใบเสนอราคาได้เลย นอกจากนี้ยังมีแผนความร่วมมือกับ Flash Express ในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ร่วมกันอีกด้วย

ส่วนระบบการชำระเงินได้พัฒนา payment gateway ของตัวเองชื่อว่า Wawa Pay ทำงานเชื่อมระบบกับธนาคารออมสิน โดยเงินที่ลูกค้าชำระค่าสินค้าจะพักไว้ที่บัญชีธนาคารเป็นเวลา 4 วัน เพื่อให้ลูกค้ามีเวลาตรวจสอบคุณภาพสินค้าและจำนวนให้ถูกต้องเสียก่อน ระบบจึงค่อยจ่ายเงินในกับซัพพลายเอร์ 

“หมายความว่าแม้แต่ทางเราเองก็ไม่สามารถแตะต้องเงินจำนวนนี้ได้เลย จนกว่ากระบวนการซื้อขายจะเป็นไปตามที่ตกลงอย่างสมบูรณ์ สิ่งนี้เป็นอัลกอริธึมที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม MyWaWa”

ทั้งนี้ ระบบทั้งหมดออกแบบจากเทคโนโลยีทันสมัย เช่น AI, Machine Learning และ Big Data โดยเน้นให้มีประสิทธิภาพและใช้งานง่าย นอกจากนี้สัญญาซื้อขายแบบดิจิทัลจะทำขึ้นในระบบ blockchain เพื่อความปลอดภัยและน่าเชื่อถือด้วย

ก่อเกิดกลุ่มธุรกิจใหม่ยุคดิจิทัล

การตัดสินใจเปลี่ยนแนวคิดธุรกิจที่เพิ่งเริ่มก่อร่างได้ไม่นานนักจากรูปแบบ B2C เป็น B2B ในลักษณะที่เรียกว่า Business Architecture Pivot นับเป็นก้าวย่างสำคัญของทางยาทรุ่นที่ 3 แห่งนิวไวเต็ก โดยทั้งหมดนี้เป็นการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการรองรับการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม MyWaWa เพื่อมุ่งสู่การเป็นแพลตฟอร์ม B2B e-marketplace สำหรับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจแบบ Business to Business ของทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

“เป้าหมายของเราคือรวบรวมซัพพลายเออร์เข้ามาให้ครบทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ภายในเวลา 3 ปี เพื่อสร้างให้เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ผลิตและผู้ค้าส่ง มากที่สุดของประเทศไทย”

แพลตฟอร์ม MyWaWa เริ่มเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้ามาอยู่ในบริการแพลตฟอร์ม B2B แห่งนี้แล้วประมาณ 100 ราย มีทั้งธุรกิจการพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้สำนักงาน อุปกรณ์การศึกษาและแบบเรียน บ้านและวัสดุก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ แฟชั่นและเครื่องนุ่งห่ม เคมีภัณฑ์ เป็นต้น เมื่อมีครบทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ก็จะมีจำนวนซัพพลายเออร์นับหมื่นราย นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายแพลตฟอร์มนี้ให้ครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตด้วย

การปรับเปลี่ยนใหญ่ครั้งนี้ไม่ใช่แค่การสร้าง new s-curve ให้ธุรกิจเก่า แต่เป็นการเริ่มต้นสร้างอาณาจักรธุรกิจใหม่ในโดยอาศัยฐานทุนจากธุรกิจเดิมของครอบครัวกับการร่วมทุนจากภายนอก จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งชื่อ “วาวา อินโนเวชั่น กรุ๊ป โฮลดิ้ง” ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัท นิวไวเต็ก จำกัด (กงสี) กับทายาทรุ่นที่ 3 “กร เธียรนุกุล” ในสัดส่วน 30/70 โดยส่วน 70 เปอร์เซ็นต์มีผู้ร่วมทุนอีก 2 ราย

ในเบื้องต้นบริษัทโฮลดิ้งที่จัดตั้งใหม่จะลงทุนในกิจการ 3 บริษัท หนึ่งคือ บริษัท วาวา เซอร์วิส แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด ที่มีพันธกิจดูแลธุรกิจอีคอมเมิร์ซผ่านแพลตฟอร์ม MyWaWa เป็นหลัก สองคือ บริษัท วาวา ไฟแนนเชียล กรุ๊ป เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการด้านการเงิน เช่น Wawa Pay และอื่นๆ และสามคือ บริษัท วาวา โลจิสติกส์ กรุ๊ป จะลงทุนด้านโลจิสติกส์โดยเฉพาะ

ในฐานะ CEO และ Founder บริษัท วาวา เซอร์วิส แอนด์ มาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป จำกัด กรบอกว่า แพลตฟอร์ม MyWaWa จะเป็นธุรกิจสำคัญที่สร้างรายได้ในช่วงแรกให้กับกลุ่มบริษัทใหม่ 

ลูกไม้ที่หล่น (ไม่) ไกลต้น

ในวันที่ทายาทรุ่นที่ 3 ได้กรุยทางสร้างธุรกิจใหม่จนเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง แม้ยังเป็นเพียงก้าวแรก ๆ ที่ต้องใช้เวลาพิสูจน์อีกไม่น้อยว่าจะประสบความสำเร็จอย่างที่วาดหวังหรือไม่ แต่ก็ไปไกลกว่าที่เขาเคยถูกคาดหวังไว้

กรเล่าว่า แม้จะเติบโตมากับธุรกิจการพิมพ์ แต่เขากลับรู้สึกไม่สนใจงานโรงพิมพ์นัก ช่วง 5 ปีแรกที่เข้ามาช่วยกิจการครอบครัวจะมุ่งไปที่งานขายเป็นหลัก ส่วนงานโรงพิมพ์มีคุณอาคนเล็กเป็นคนดูแลงาน operation ระหว่างนั้นเขาก็มองหางานที่ใช่สำหรับตัวเอง

“ผมเคยทดลองงานร้านอาหารด้วย แต่รู้สึกว่าไม่ใช่ก็หยุดไป” เขาบอกว่าคุณพ่อของเขาลงทุนในธุรกิจหลายอย่าง มีทั้งอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอาหาร เช่น ร้านนม Milk Plus ร้านอาหาร Café’ de Lao รวมไปถึงร่วมลงทุนในกิจการอื่น ๆ แต่ทั้งหมดล้วนไม่ใช่สิ่งที่เขามองหาสำหรับตัวเอง

เดิมคุณพ่อให้โจทย์กับเขาว่าให้มองหา new s-curve มาแทนธุรกิจเดิม ที่กำลังถูก disrupt โดยอยากให้ทำภายใต้นิวไวเต็ก นั่นเป็นที่มาของไอเดียทำ Wawa Pack แต่พอเป็นไอเดีย MyWaWa เขาบอกว่ามีลักษณะเป็นสตาร์ตอัพที่ต้องการการลงทุนอย่างต่อเนื่อง หากดำเนินการภายใต้ร่มเงาของธุรกิจครอบครัวจะมีข้อจำกัดในการระดม สุดท้ายจึงเห็นร่วมกันว่าจัดตั้งเป็นบริษัทโฮลดิ้งขึ้นมาเพื่อลงทุนในธุรกิจใหม่ดีที่สุด

หากมองเผิน ๆ เส้นทางการเติบโตของทายาทรุ่นที่ 3 แห่งนิวไวเต็ก อาจไม่เข้ากับสำนวนไทยที่ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” เพราะดูเหมือนลูกไม้พยายามที่จะหล่นไกลต้นออกไป โดยไม่ต้องการอยู่ภายใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่ แต่เมื่อเราถามเขาถึงจุดแข็งของแพลตฟอร์ม MyWaWa ที่เขาทุ่มเทผลักดันเต็มกำลัง เขาบอกว่า

“เราอยู่ในตลาดนี้มานาน มีความสัมพันธ์อันดีกับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้สามารถเข้าถึงซัพพลายเออร์ที่คนอื่นอาจเข้าไม่ถึงได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะผู้ประกอบรายใหญ่”

สิ่งนี้ถือเป็นทุนสำคัญที่อาจทำให้เขาได้เปรียบผู้ประกอบการอื่นที่จะเข้ามาในตลาดเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเพราะเขาคือทายาทรุ่นที่ 3 ของนิวไวเต็ก ซึ่งมีผู้บริหารดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน

เส้นทางธุรกิจใหม่ของเขาแม้จะออกห่างจากธุรกิจเดิมของครอบครัว แต่ก็ยังคงถูกร่มเงาของไม้ใหญ่ทาบทับอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สมชัย อักษรารักษ์ – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ