TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLife‘เดือนเต็ม วรเดชวิเศษไกร’ วิศวกรขุดเจาะหญิงสุดแกร่งของเชฟรอน ฉีกกรอบความคิดสู่ความท้าทายในอาชีพสาขา STEM

‘เดือนเต็ม วรเดชวิเศษไกร’ วิศวกรขุดเจาะหญิงสุดแกร่งของเชฟรอน ฉีกกรอบความคิดสู่ความท้าทายในอาชีพสาขา STEM

ในวันที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างรวดเร็ว  ผู้คนต่างเชื่อว่านวัตกรรม เทคโนโลยี และความรู้ใหม่ ๆ ถือกำเนิดขึ้นทุกวัน เราเดินหน้าไปสู่ความเท่าเทียม เปิดรับ แลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น ทุกคนมีโอกาสและทางเลือกที่หลากหลายในการใช้ชีวิต แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงโอกาสนั้นได้อย่างเท่าเทียมกัน

จากข้อมูลขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สำนักงานภาคพื้นเอเชีย (USAID) แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีบทบาทไม่มากนัก โอกาสในการเลือกอาชีพของพวกเธอมีข้อจำกัดจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม โอกาสทางการศึกษาน้อยกว่าเด็กชาย ขาดการแนะแนวและให้ความรู้ด้านวิชาชีพว่าผู้หญิงก็สามารถยืนหยัดในแวดวงนี้ได้ ขาดผู้หญิงต้นแบบให้ยึดถือและเดินรอยตาม รวมทั้งขาดความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวในระดับภูมิภาค

ยิ่งหากมองลึกไปที่อาชีพสาขา STEM สายงานที่ต้องใช้องค์ความรู้และจุดเด่นโดยรวมของศาสตร์ 4 สาขาวิชาไม่ว่าจะ Science (วิทยาศาสตร์) Technology (เทคโนโลยี) Engineering (วิศวกรรมศาสตร์) และ Mathematics (คณิตศาสตร์) เข้าไว้ด้วยกัน ไม่แปลกเลยหากความซับซ้อน ข้อจำกัดของพละกำลังหรือความคล่องตัว จะชวนให้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดและตีกรอบทางความคิดว่า STEM เป็นสาขาอาชีพที่ผู้หญิงเติบโตได้ยาก  ทำให้ผู้หญิงในอาชีพสาขานี้มีจำนวนน้อย จากรายงานฉบับหนึ่งของ The World Economic Forum ระบุว่า เมื่อเทียบกับแวดวงสาธารณสุข การศึกษา องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือกฎหมาย ผู้หญิงจะได้รับการว่าจ้างงานและมีพื้นที่ในอาชีพมากกว่ากลุ่มอาชีพ STEM อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น ซอฟต์แวร์ ไอที สายการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน และเหมืองแร่ หรือในกลุ่มวิศวกรรมปิโตรเลียม มีผู้หญิงคิดเป็นเพียงราว 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  

ปัญหาภาวะความเหลื่อมล้ำทางเพศนี้ ไม่ได้ส่งผลแค่ในเชิงอัตลักษณ์หรือตัวตนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อธุรกิจอย่างมาก เพราะนำไปสู่ระบบเศรษฐศาสตร์ที่ขาดประสิทธิภาพ รวมถึงชะลอการพัฒนาและเติบโต ในทางตรงกันข้าม ความเท่าเทียมทางเพศนั้นสามารถเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจโลกได้มากถึง 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ไม่เพียงเพิ่มพูนชื่อเสียง แต่ยังแสดงถึงความเป็นผู้นำขององค์กรและเป็นตัวอย่างให้แก่คนรุ่นใหม่ รวมทั้งดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ได้อย่างน่าทึ่ง

เชฟรอน เชื่อในความสามารถและศักยภาพของผู้หญิง อีกทั้งสนับสนุนให้ผู้หญิงรับหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กรในตำแหน่งสำคัญมาโดยตลอด วันนี้เราจึงจะพาคุณมารู้จัก มูน “เดือนเต็ม วรเดชวิเศษไกร” ผู้หญิงคนแรกในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการขุดเจาะหลุม (Wells Manager) ของบริษัท เชฟรอนเอเชียเซ้าท์ จำกัด ผู้นำทีมการขุดเจาะของไทยที่ทำการขุดเจาะเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและจัดหาพลังงานให้กับประเทศสำเร็จจำนวนหลายร้อยหลุมในแต่ละปี ทำลายสถิติการจัดการแท่นขุดเจาะที่เร็วที่สุดในโลก และเป็นตัวแทนวิศวกรหญิงในประเทศไทยที่ได้รับเกียรติเข้าร่วมพูดคุยในงาน USAID E4SEA ภายใต้หัวข้อ Girls and STEM for a Sustainable Energy Sector in Southeast Asia ตอกย้ำศักยภาพและความเป็นผู้นำของผู้หญิงในอาชีพสาขา ‘STEM’ ได้อย่างเด่นชัด 

เพราะเชื่อว่า ‘ผู้หญิงก็ทำได้’ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนของครอบครัว แม้พ่อหรือแม่จะไม่เคยทำงานสาย STEM มาก่อน แต่พวกเขาก็ไม่เคยปิดกั้นหรือมีความเชื่อในค่านิยมแบบเดิม ๆ ที่ว่า เด็กผู้ชายมีจุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากกว่า ในขณะที่เด็กผู้หญิงมีจุดแข็งด้านการใช้ภาษา ซึ่งค่านิยมเหล่านี้อาจจะส่งผลให้เด็กผู้หญิงให้ความสนใจในการเรียนรู้ด้าน STEM น้อยลงได้  

ยิ่งไปกว่านั้น คุณครู มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยผลักดันความสนใจในการเรียนรู้ด้าน STEM เธอเล่าว่า “สมัยประถมศึกษาไม่ได้ชอบวิชาคณิตศาสตร์เป็นพิเศษ แต่พอย้ายมาเรียนชั้นมัธยมศึกษาได้เจอคุณครูที่ทำให้วิชาเลขเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและเรียบง่าย จึงเกิดเป็นความชื่นชอบในวิชานี้ จากที่ไม่ได้โดดเด่นด้านคณิตศาสตร์ ก็ทำได้ดีขึ้น”  

นอกจากครูซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการศึกษา ทั้งในแง่การต่อยอด การสร้างแรงบันดาลใจและความมั่นใจให้กับนักเรียนหญิงแล้ว เธอยังมีพี่สาว ผู้ทำงานในอาชีพสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็น Role Model หรือ ต้นแบบที่มีส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์จริงและสร้างแรงบันดาลใจ  โดยพามูนไปพบเจอประสบการณ์ที่ดีและน่าตื่นเต้นต่าง ๆ เช่น การเยี่ยมชมเครื่องจักรในโรงงานกระดาษ

“เรายืนอยู่หน้าเครื่องพวกนั้น แล้วจินตนาการว่าตัวเองสามารถซ่อมเครื่องพวกนี้ แก้ปัญหาให้มันทำงานได้แบบสด ๆ ทันเวลาตอนนั้นเลย สำหรับเรามันน่าตื่นเต้นมาก เป็นเรื่องสำคัญที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งได้มีโอกาสได้เห็นสิ่งต่าง ๆ และจับต้องความฝันได้แบบเป็นรูปธรรม ทำให้เห็นว่าเรารู้ว่าเราอยากทำอะไรในชีวิต ในอนาคตของเรา” มูนกล่าวในงาน USAID E4SEA

จนกระทั่งความฝันเป็นจริง เธอได้เข้าทำงานกับทางบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และเติบโตในสายนี้ จนได้รับการโปรโมทเป็นหนึ่งในผู้บริหารของ บริษัท เชฟรอนเอเชียเซ้าท์ จำกัด ซึ่งที่เชฟรอน มีวัฒนธรรมองค์กรที่ให้คุณค่าด้านความหลากหลายภายในองค์กร (Diversity and Inclusion)  พร้อมทั้งสร้างโอกาสในการทำงานในแวดวงพลังงานให้กับผู้หญิงผ่านระบบขั้นตอนการทำงานและการสร้างสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิดความพร้อมและความสบายใจ แม้เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย แต่ก็ไม่เป็นปัญหา ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นและทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ทำให้งานดำเนินอย่างราบรื่นและเกิดเป็นผลสำเร็จร่วมกัน 

“ถึงแม้วันนี้เราไม่ได้ทำงานในโรงงาน แต่เราได้ทำงานกับทางเชฟรอน เป็นงานที่เน้นการลงพื้นที่ เรายังเป็นคนเดิมที่มีความสุขกับการทำให้เครื่องจักรทำงาน เราอยากตัดสินใจช่วยแก้ปัญหาในหน้างาน และทำให้งานเดินต่อไปได้ สิ่งเหล่านี้เป็นจริงได้เพราะการสนับสนุนผู้หญิงให้มีโอกาสเข้าถึงงานในสาย STEM นั่นเอง”

ครู กุญแจสำคัญผู้สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อผู้หญิงสาย STEM 

เด็กส่วนใหญ่มักไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์เพราะคิดว่าเป็นวิชาที่ยากการจูงใจให้เด็กทุกคนรวมถึงเด็กผู้หญิงมาสนใจเรียนวิชาที่ก้าวไปสู่วิชาชีพสาขา ‘STEM’ นั้นจึงต้องเริ่มจากห้องเรียนที่สนุก ครูจึงมีบทบาทสำคัญที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ แก้โจทย์ปัญหาที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอก สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเรียนและก้าวหน้าในอาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางด้าน STEM โดย ดร. เกศรา อมรวุฒิวร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO – STEM-ED) กล่าวในงาน USAID E4SEA ถึงโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งร่วมมือกับทางบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ว่าเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนด้าน STEM โดยมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของครูผู้สอนให้มีทักษะการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (inquiry-based approach) ใช้โครงงานเป็นฐาน (project-based approach) และส่งเสริมการเรียนรู้ STEM ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนให้กับเยาวชน ผ่านการพัฒนาครูที่เน้นการลงมือปฏิบัติ  

ผลของโครงการทำให้คุณครูที่เข้าร่วมโครงการ 100% สามารถเชื่อมโยงคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้ากับชีวิตประจำวัน โดย 72% ของครูผู้สอนสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ได้ส่งผลให้เด็กนักเรียน 92% ตั้งใจเรียนและทำงานที่ครูมอบหมายให้และยังสะท้อนว่าได้เรียนรู้แนวคิดหลักทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จากแผนการสอนที่ครูออกแบบมาอย่างดี นักเรียนถึง 90%ใส่ใจและสนุกกับการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากขึ้น และที่สำคัญนักเรียนหญิงที่เข้าร่วมโครงการมีสัดส่วนที่สนใจเรียนต่อในสาขา STEM สูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ นับเป็นอีกความมุ่งมั่นที่พยายามทำเพื่อให้ผู้หญิงมีโอกาสและความมั่นใจมุ่งสู่อนาคตสาย STEM มากขึ้น 

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า ‘ผู้หญิง’ ก็สามารถเข้ามามีบทบาท เติบโต และประสบความสำเร็จในอาชีพสาขา ‘STEM’ ได้ เพียงได้รับการส่งเสริมให้มีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ เชื่อมั่นในศักยภาพ พัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ สั่งสมประสบการณ์ที่ได้รับพร้อมก้าวข้ามขีดจำกัดมุ่งสู่ความท้าทายในความสามารถ และกล้าที่จะแสดงออกอย่างมั่นใจให้โลกรับรู้ว่า ‘ผู้หญิงก็ทำได้’ 

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ปรากฏการณ์ “ข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์” วันเดียวพูดถึงกว่า 30,000 ข้อความ ได้รับเอ็นเกจเมนต์กว่า 16 ล้านครั้ง

ส่องอนาคตยานยนต์พลังงานสะอาด จากผู้นำอุตสาหกรรมในงาน Future Mobility Asia

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ