TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness“หัวเว่ย” จับมือ “กสิกรไทย” ร่วมสร้างระบบนิเวศสีเขียว ลุยติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 30,000 หลังในปี 2565

“หัวเว่ย” จับมือ “กสิกรไทย” ร่วมสร้างระบบนิเวศสีเขียว ลุยติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 30,000 หลังในปี 2565

เมื่อประเทศประกาศกร้าวในเวทีโลกว่าจะมุ่งหน้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) เอกชนรายใหญ่ต่างทยอยตบเท้าออกมาประกาศจุดยืนไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของช่วยกันทำให้หมุดหมายของประเทศที่เป็นพันธสัญญาของมนุษยชาติกลายเป็นจริง 

พันธมิตรรายใหญ่สองรายอย่าง บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และ ธนาคารกสิกรไทย จึงจับมือกันนำเสนอเทคโนโลยีโซลูชันที่มาพร้อมโปรโมชันสินเชื่อเอื้อให้คนไทยสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันด้วยการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ผ่านการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยบริการทางเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางการเงินจากพันธมิตรสองรายนี้ 

อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีผู้ที่ต้องการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ราว 2.3 ล้านหลังคาเรือน ซึ่งในจำนวนนี้มีการติดตั้งไปแล้วในปีที่ผ่านมา 50,000 หลังคาเรือน ยังเหลือความต้องการ​ในตลาดอีกจำนวนมาก ซึ่งความร่วมมือกันระหว่างหัวเว่ยกับธนาคากสิกรไทยจะช่วยเร่งความเร็วในการส่งมอบระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับคนไทยได้มากขึ้น 

หัวเว่ยเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ให้ความสำคัญกับตลาดพลังงานสะอาดโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์​ หัวเว่ยมีโซลูชันระบบพลังงานแสงอาทิตย์ Smart PV โดยมีลูกค้าในกลุ่มโรงงาน ธุรกิจ และที่พักอาศัย ซึ่งได้ทำตลาดนี้ประเทศไทยมากว่า 5 ปี จนปัจจุบันมีมีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทยมากกว่า 50% อาเบล กล่าวว่า ในประเทศไทย หัวเว่ยใช้งบประมาณมากกว่า 50% ของรายได้ในแต่ละปีในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และระบบโซลูชัน Smart PV คือ ผลิตภัณฑ์หลักของงานวิจัยนี้ 

ในตลอดระยะเวลา 5 ปีที่หัวเว่ยทำตลาดนี้ หัวเว่ยได้สะสมพันธมิตรธุรกิจไว้มากกว่า 50 ราย และสะสมผู้รับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ยไว้ได้มากกว่า 300 ราย ซึ่งถือเป็นระบบนิเวศทางพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ เมื่อมาร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นธนาคารเบอร์ต้นและมีพันธกิจในการ Go Green อย่างหนักแน่นเช่นกัน จะยิ่งช่วยกันเพิ่มอัตราเร่งให้ประเทศไทยเคลื่อนไปสู่สังคมไร้คาร์บอนได้เร็วขึ้น 

เพราะการที่ครัวเรือนจะมีระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใช้นั้นจำเป็นต้องมีเงินลงทุน ขนาดระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขั้นต้นสำหรับบ้านพักอาศัยเริ่มต้นที่ 5 กิโลวัตต์ (kW) ต้องใช้เงินลงทุนราว ๆ 200,000 บาท หากมีการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารกสิกรไทยจะทำให้การขยายระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว 

พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยได้เตรียมเม็ดเงินเบื้องต้นไว้ 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้กับทั้งระบบนิเวศของพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ตั้งแต่วงเงินสำหรับผู้รับเหมาติดตั้ง วเงินกู้สำหรับเจ้าของบ้านและเจ้าของธุรกิจ และพร้อมที่จะเพิ่มวงเงินหากมีความต้องการมากเกินกว่านี้ 

ความร่วมมือกับหัวเว่ยในครั้งนี้เป็นก้าวล่าสุดของธนาคารกสิกรไทยกับพันธกิจ Go Green Together ด้วยความคาดหวังว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะสามารถช่วยให้มีการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 30,000 หลัง ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 265,000 ตัน 

พิพิธ กล่าวว่า พลังงานสะอาด คือ เศรษฐกิจคลื่นลูกใหม่ บทบาทของธนาคารกสิกรไทยในฐานะที่มีเงินทุนจำนวนมหาศาลคือการเป็นผู้สนับสนุนให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่นี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเศรษฐกิจโลก 

แม้ว่าเงินลงทุนตั้งต้นของการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะดูมีมูลค่าสูงราว 200,000 บาท (ที่ขนาดกำลังไฟ 5kW) แต่จะสามารถประหยัดค่าไฟได้ 36,000-40,000 บาทต่อปี มีจุดคุ้มทุนอยู่ที่ 4.7 ปี และหากนำมูลค่าคาร์บอนที่ประหยัดได้ไปขาย (carbon credit) สมมติที่ราคาตลาด ณ วันนี้จะได้เงินกลับมาอีกราว 2,000 บาทต่อเดือน จะยิ่งทำให้จุดคุ้มทุนลดเหลือเพียง 3 ปี 

เจ้าของบ้านที่มีความต้องการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพียงมายื่นขอสินเชื่อกับธนาคารกสิกรไทยผ่อนได้สูงสุด 30 ปี สำหรับเจ้าของธุรกิจโรงงานผ่อนได้สูงสุด 8 ปี ทั้งหมดฟรีดอกเบี้ 0% สำหรับ 3 เดือนแรก ได้รับการระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้มาตรฐานระบบโลกโดยหัวเว่ยและทีมพันธมิตรในการติดตั้ง ดูแล และบำรุงรักษา 

คาดว่าแม้จะเหลือเวลาอีกราว 6 เดือนเศษก็จะสามารถทำให้มีการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ราว 30,000 หลังคาเรือนและจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 265,000 ตัน หรือเท่ากับการปลูต้นไม้ 33 ล้านต้น 

“ในระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะมีเทคโนโลยีจัยข้อมูลการใช้ไฟฟ้าเพื่อช่วยบริหารจัดการไฟ ตั้งแต่การผลิต การจัดเก็บ และการใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงคำนวณ carbon credit สามารถนำไปเคลมเป็นเงินกลับมาได้อีก นอกจากจะประหยัดค่าไฟ ช่วยลดคาร์บอน และยังได้รางวัลเป็นเงินสดกลับมา”​ พิพิธ กล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าในปี 2565 ตลาดหลังคาโซลาร์เซลล์ภาคธุรกิจ มีการติดตั้งเพิ่มขึ้น 125.9 เมกะวัตต์ เติบโต 54.2% จากปีก่อน เทรนด์ตลาดบ่งชี้ว่าน่าจะมีการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์มากถึง 80,000 ครัวเรือนภายในปี พ.ศ. 2565 

หัวเว่ยทุ่มงบ R&D เพื่อ Green Tech 

อาเบล กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2564 หัวเว่ยได้ทุ่มเม็ดเงินลงไปในงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์  ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 20% ของรายได้ในปีที่แล้ว ผลของการทุ่มเทใน R&D ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยที่เกี่ยวกับ Digital Power ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด โดยเฉพาะโซลูชัน Smart PV ที่สามารถยึดส่วนแบ่งทางการตลาดมาได้มากกว่า 23% ในตลาดโลก 

ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ได้มีเฉพาะแผงโซลาร์เซลล์เท่านั้น แต่มาพร้อมระบบจัดเก็บไฟและโซลูชันอินเวอร์เตอร์ที่มีประสิทธิภาพจากหัวเว่ย ระบบจัดเก็บข้อมูลปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ และที่ใช้ไป รวมถึงข้อมูลคาร์บอนที่ลดลง ซึ่งเจ้าของบ้านสามารถดูข้อมูลกระแสไฟฟ้าผ่านมือถือได้ตลอดเวลา

หัวเว่ยลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อลดอัตราการปล่อยคาร์บอนสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการแบบ E2E ลงกว่า 80% เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นที่มีประสิทธิภาพเท่ากัน และยังมีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 2.7 เท่า 

สำหรับในประเทศไทย หัวเว่ยก็ได้จัดสรรงบประมาณในการทำ R&D และการสร้างระบบนิเวศของธุรกิจ Digital Power ในประเทศไทย โดยเฉพาะการฝึกอบรมเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับทั้งพันธมิตรและคู่ค้าเพื่อให้มีทรัพยากรมากพอที่จะให้บริการติดตั้งได้ตามความต้องการที่มีจำนวนมาก 

หัวเว่ยทำงานร่วมกับพันธมิตรในการฝึกอบรมเทคโนโลยีให้วิศวกรไฟฟ้าสามารถเรียนรู้ทักษะด้านการออกแบบ การติดตั้ง และการบำรุงรักษา จนเกิดความเชี่ยวชาญ

อาเบล กล่าวว่า ทั้งนี้หากกลุ่มลูกค้าที่เป็นตลดาเป้าหมายจำนวน 2.3 ล้านหลังคาเรือน มีความต้องการที่จะติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จะต้องใช้เวลาถึง 3 ปีถึงจะติดตั้งได้ครบทั้งหมด ซึ่งในประเทศไทยมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมดมากกว่ 10 ล้านหลัง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการร่วมมือกันระหว่างพันธมิตรที่มากกว่าแค่หัวเว่ยและธนาคารกสิกรไทย 

แม้ว่าหัวเว่ยจะเพิ่งตั้งหน่วยธุรกิจนี้ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา แต่หัวเว่ยดำเนินธุรกิจ digital power มาหลายปีแล้ว ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาได้ทำการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปแล้วมากกว่า 2.4 กิกะวัตต์ หรือคิดเป็นเกือบ 6.18 พันล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง (kilowatt hour: kWh) หรือคิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 6.1 ล้านตัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ซึ่งในปี พ.ศ.2564 หัวเว่ยได้ช่วยให้ลูกค้าทั่วโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 230 ล้านตัน 

รายละเอียดสินเชื่อ

ความร่วมมือการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวเพื่อสร้าง Green ecosystem มีรายละเอียดดังนี้

  • ผู้รับเหมาติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ ให้การสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้หมุนเวียนและเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ เพื่อให้ผู้รับเหมาสามารถรับงานได้อย่างคล่องตัวไม่สะดุด นอกจากนี้ ธนาคารจะให้การสนับสนุนวงเงินสินเชื่อแก่ผู้รับเหมาที่ดำเนินธุรกิจลงทุนติดตั้งโซลลาร์เซลล์บนอาคารและจำหน่ายไฟฟ้าระยะยาวในราคาประหยัดให้แก่เจ้าของอาคาร
  • เจ้าของบ้าน จะรับการสนับสนุนสินเชื่อบ้านเพื่อติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ โปรโมชั่นพิเศษ ดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน ผ่อนนานสูงสุด 30 ปี
  • เจ้าของธุรกิจ จะรับการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจเพื่อติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ โปรโมชั่นพิเศษ ดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน ผ่อนนานสูงสุด 8 ปี

ผู้รับเหมาติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ เจ้าของบ้านและเจ้าของธุรกิจที่สนใจ สามารถสมัครใช้บริการได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือผู้ดูแลความสัมพันธ์ หรือ K-Contact Center 02-888-8888     

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ